Skip to main content

ชุทซ์ฮุนด์ (Schutzhund) คืออะไร

   ถ้าพูดถึงชุทซ์ฮุนด์ เยอรมันหมายถึง กีฬาหมา ( Hundesport ) ถ้าแปลตรงตัว Schutz hund แปลว่า สุนัขอารักขา (Protection dog) หลายชั่วอายุมาแล้วที่ผู้คนจากทวีปยุโรป และอเมริกาเหนือต่างพากันติดอกติดใจในการแข่งขันกีฬา ประเภทกิจกรรมร่วมระหว่างคนกับหมา กีฬาชุทซ์ฮุนด์นี้ถือได้ว่าเป็นกีฬาในอุดมคติสำหรับการแข่งขันประเภทนี้อย่างไม่มีกีฬาใดจะเทียบได้ มันเป็นกีฬากลางแจ้งที่คุณต้องทุ่มเททั้งร่างกายและจิตใจให้กับมันอย่างสุดชีวิต แต่ก็จะเป็นกีฬาที่ให้ทั้งความท้าทายในการแข่งขัน และสร้างมิตรภาพใหม่ ๆ ในกลุ่มคนที่มีความสนใจในกีฬาชุทซ์ฮุนด์ เป็นรูปแบบที่กีฬาที่ดีควรจะเป็นคือ ต้องฝึกฝนอย่างหนัก เท่านั้น จึงจะได้รางวัล ที่คู่ควรกับความสามารถ

   ชุทซ์ฮุนด์ เริ่มมีขึ้นเมื่อประมาณต้นศตวรรษที่ผ่านมานี้ เพื่อการทดสอบหมาที่จะนำมาใช้ทำงาน จุดประสงค์หลักเริ่มแรก คือใช้สำหรับคัดเลือกหมาที่มีคุณภาพดีพอ สำหรับการทำพันธุ์และหมาที่มีความสามารถในการทำงานอย่างแท้จริง ความต้องการหมาสำหรับทำงานที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้จำเป็นต้องมีมาตการทดสอบ และการฝึกที่ละเอียดซับซ้อนเป็นระบบยิ่งขึ้น หมาเหล่านั้นต้องถูกฝึกสำหรับใช้ในงานตำรวจ, งานลาดตระเวณ, งานทหารและงานต้อนสัตว์ ในช่วงนี้ ผู้คนต่างก็พากันสนุกสนานที่จะได้ชื่นชมกับหมาของตนเองที่สามารถฝึกและใช้ทำงานได้จริงเหมือนพวก “ มืออาชีพ ” กฎข้อบังคับในการแข่งขันกีฬาชุทซ์ฮุนด์ฉบับแรกเขียนขึ้นเมื่อ 60 ปี มาแล้วปัจจุบันมีผู้สนใจ และนำหมาของตนเข้าแข่งขันในกีฬาชนิดนี้นับหมื่นคนในแต่ละปี

   ผู้คนมักจะเข้าใจไขว้เขวกันอยู่บ่อยๆระหว่างการฝึกต่อสู้ป้องกันของชุทซ์ฮุนด์ กับการฝึกต่อสู้ป้องกันของหมาตำรวจ หรือ การฝึกอารักขาเจ้าของตามปกติ หมาชุทซ์ฮุนด์ ต้องไม่แสดงท่าทีก้าวร้าว ยกเว้นเมื่อใดรับคำสั่งหรือภายใต้สถานะการณ์ที่จำเพาะเจาะจงให้ต้องเข้าจู่โจม มันถูกฝึกให้เผชิญหน้า โดยที่จะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของผู้ฝึกตลอดเวลา

   กีฬาชุทซ์ฮุนด์ แบ่งการทดสอบเป็น 3 ส่วนเพื่อทดสอบผลการฝึกและพฤติกรรมของหมา

  1. ส่วนแรก การสะกดรอย หมาจะต้องติดตามรอยเท้าไปในภูมิประเทศและทิศทางต่างๆ กันได้ โดยแสดงออกให้เห็นถึงความสามารถอย่างชัดเจน และแน่นอนในการตามรอย หมาต้องหาของที่วางไว้ให้พบ และแสดงตำแหน่งของนั้นให้ผู้ฝึกทราบ บ่อยครั้งที่การตามรอยมีปัญหาทัศนวิสัยทางอากาศที่ไม่อำนวยหรือรอยเก่าเกินไป หลายคนชอบการฝึกในขั้นตอนนี้มาก เนื่องจากมีเพียงหมากับผู้ฝึกเท่านั้นที่ตั้งใจทำงานด้วยกัน อาจกล่าวไว้ว่า เป็นขั้นตอนการฝึกที่สงบและมีสมาธิสูงสุดของชุทซ์ฮุนด์
  2. ส่วนที่สอง การเชื่อฟังคำสั่ง หมาจะต้องเดินไปกับผู้ฝึกในและนอกสายจูง ใช้คำสั่ง, ชิด, นั่ง, หมอบ, ยืน มีการทดสอบด้วยเสียงปืน และการคาบดัมเบลล์ กระโดดข้ามรั้วสูง 1 เมตร และกำแพงสูง 1.80 เมตร มีการสั่งไปข้างหน้าและหมอบคอย โดยผู้ฝึกอยู่ไกลออกไปหรือจนถึงลับสายตา
  3. ส่วนสุดท้าย การอารักขา ส่วนตอนนี้ เป็นส่วนที่สร้างความเข้าใจผิด ๆ ในหมู่สาธารณะชนทั่วไปอย่างมาก จุดที่สำคัญที่สุดที่ต้องทำความเข้าใจคือ การอารักขา หมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างหมากับผู้ฝึก หมาจะต้องไม่กัดผู้ล่อในการทดสอบ นอกจากเมื่อหมาหรือผู้ฝึกถูกจู่โจม มันจึงเข้าโต้ตอบโดยทันที ในจุดนี้เอง เมื่อผู้ฝึกสั่งหยุด หมาต้องหยุดกัดทันทีตามคำสั่งของผู้ฝึก   และเฝ้าระวังผู้ล่อ โดยไม่มีท่าทีก้าวร้าวคุกคามมากไปกว่านั้น

   การสอบชุทซ์ฮุนด์จะวัดผลโดยการให้คะแนน ซึ่งจะแบ่งเป็น ส่วนละ 100 คะแนน รวมคะแนนเต็ม = 300 คะแนน, ซึ่งหมาและผู้ฝึกจะต้องทำคะแนนให้ผ่านขั้นต่ำสุดของแต่ละส่วนคือ

  1. ส่วนแรก สะกดรอย ขั้นต่ำ 70 คะแนน
  2. ส่วนที่สอง เชื่อฟังคำสั่ง ขั้นต่ำ 70 คะแนน
  3. ส่วนที่สาม ต่อสู้ป้องกัน ขั้นต่ำ 80 คะแนน

   การทดสอบที่กล่าวข้างต้นทั้ง 3 ขั้น นั้นนับว่ายากพอสมควร แต่ก็ยิ่งทำให้เป็นที่นิยมมากขึ้น กีฬาชนิดนี้ได้จัดให้มีขึ้นเป็นประจำ ในระดับสโมสรท้องถิ่น, ระดับภาค, ระดับประเทศ และระดับโลก หมาแต่ละตัวต้องได้รับการพิจารณาตัดสินให้คะแนนแต่ละขั้นตอนอย่างละเอียด ตามกฎเกณฑ์ที่วางไว้เป็นระบบ เพื่อกลั่นกรองหาผู้ชนะเพื่อเป็นแชมเปี้ยนที่แท้จริงของแต่ละงาน

   เมื่อหมาสอบผ่านการทดสอบขั้นแรก ก็จะได้ตำแหน่งเป็นชุทซ์ฮุนด์ 1 ( SchH 1 ) ซึ่งสามารถพัฒนาการฝึกและสอบในขั้นสูงต่อไปเป็นชุทซ์ฮุนด์ 2 ( SchH 2 ) และขั้นสูงสุด คือ ชุทซ์ฮุนด์ 3 ( SchH 3 ) แต่ละขั้นจะต้องฝึกหนักขึ้นทั้ง 3 ส่วน ผู้ฝึกชุทซ์ฮุนด์ทุกคนจะกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า หมาที่สอบชุทซ์ฮุนด์ 3 ได้คะแนนสูงๆ นั้นหาได้ยากเย็นแสนเข็ญ ซึ่งจะมีเพียง 1ใน 1000 เท่านั้น ในจำนวนหมาใช้งานทั้งหมด

   เมื่อหมาสอบผ่านชุทซ์ฮุนด์ ทั้ง 3 ขั้นแล้ว ยังฝึกเพื่อสอบในขั้นสูงขึ้นของส่วนแรก คือ การฝึกสะกดรอยขั้นสูง ( FH ) ต่อไปได้อีก นอกจากนี้ยังมีการฝึกเพื่อสอบการอารักขา ( ต่อสู้ป้องกัน ) ขั้นสูง ( IP ) และการฝึกเพื่อทดสอบความสามารถในการใช้งานอเนกประสงค์ ( Aquility )

   ในประเทศเยอรมนีตะวันตก กีฬาชุทซ์ฮุนด์ มีการแข่งขันเป็นประจำทุกปีเรียกว่า Bundessieger การแข่งขันกีฬาชุทซ์ฮุนด์ครั้งแรกจัดขึ้นที่ประเทศเยอรมนีในปี 1901 เพื่อให้ผู้สนใจได้รู้จักลักษณะที่ถูกต้องทั้งในด้านจิตประสาท และความสามารถในการทำงานของหมาพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด โดยเฉพาะแรกเริ่มเดิมที เป็นการแข่งขันกันในกลุ่มหมาที่ใช้ต้อนแกะ ต่อมาความเป็นประเทศอุตสาหกรรมของเยอรมันทำให้มีการส่งเสริมให้นำหมาไปใช้ประโยชน์ให้หลากหลายขึ้น เช่นในงานตำรวจ, งานทหารและอื่นๆ สมาคม SV แห่งเยอรมัน เริ่มเป็นห่วงว่า ความต้องการหมาพันธุ์นี้แพร่หลายมากขึ้น จะทำให้การผสมพันธุ์เป็นไปเพียงเพื่อสนองความต้องการของตลาด โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ อันจะเป็นผลให้เกิดการสืบทอดลักษณะด้อยอันไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ เช่น จิตประสาทไม่มั่นคง ขลาดกลัว, หรือร่างกายไม่สมบูรณ์ ฯลฯ จึงเกิดการพัฒนาการทดสอบชุทซ์ฮุนด์ขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรฐานในการคัดเลือกพ่อ,แม่พันธุ์ที่ดี สำหรับนำไปแพร่พันธุ์ให้ได้หมาที่มีคุณสมบัติดีตามความต้องการ

   ต่อมาภายหลังบรรดาองค์กร ซึ่งเกี่ยวข้องกับหมาใช้งานในหลายประเทศ ก็ได้นำหลักสูตรการทดสอบชุทซ์ฮุนด์มาทดสอบความสามารถในการทำงานของหมาใช้งานพันธุ์ต่าง ๆ กันออกไปอย่างแพร่หลาย และจัดให้มีการแข่งขันในระดับนานาชาติขึ้น ภายใต้กฎเกณฑ์ของ VDH ( Verein fur Deutsche Hundesport )

   ดังได้กล่าวมาแล้ว ว่าจุดประสงค์ดั้งเดิมของการพัฒนาการทดสอบชุทซ์ฮุนด์ขึ้นนี้ ก็เพื่อใช้ในการคัดเลือกหมาที่นำมาใช้เป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ที่ดี และข้อมูลที่ได้จากผลการทดสอบนี้จะสามารถนำมาใช้พิจารณาการจับคู่พ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่เหมาะสมกันเพื่อให้ได้ลูกหมาที่มีคุณสมบัติทางการใช้งานและมีลักษณะที่สวยงามถูกต้องตามมาตรฐานพันธุ์อย่างสมบูรณ์ที่สุด ในพันธุ์ของเรา ( เยอรมันเช็พเพอด ) นี้จึงมีระเบียบปฏิบัติสำหรับการคัดพันธุ์กำหนดไว้เป็นมาตรฐานว่า หมาที่จะนำมาจดทะเบียนเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ได้ จะต้องผ่านการทดสอบชุทซ์ฮุนด์อย่างต่ำขั้นที่ 1 ( SchH1 ) แล้วเท่านั้น นอกเหนือไปจากการ X-RAY ข้อตะโพกและข้อศอก ( ได้ผลเป็นปกติ จนถึง ยังคงให้ผ่าน ) จึงเป็นที่เข้าใจกันดีในกลุ่มผู้เลี้ยงทั้งหลายว่า พ่อหรือแม่หมาตัวใดตัวหนึ่งหรือทั้งคู่ที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการทดสอบ ( ไม่ได้คัดพันธุ์ ) ย่อมถือว่ามีเปอร์เซ็นต์เสี่ยงสูงกว่า ที่จะถ่ายทอดยีนลักษณะด้อยทั้งด้านจิตประสาท, ลักษณะนิสัยตลอดจนลักษณะทางร่างกายไปสู่ลูก หมาที่ได้รับการจดทะเบียนเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์แล้ว จะให้ลูกที่ได้รับการรับรองมาตรฐานการคัดพันธุ์ โดยมีใบพันธุ์ประวัติที่ออกโดยสมาคมฯรับรองคุณสมบัติของพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์  ( เพดดีกรีสีชมพู หรือสีขาว ) ซึ่งทั้งนี้ยังไม่สามารถรับรองถึงตัวลูกได้ 100% ว่าจะมีคุณสมบัติเหมือนกับพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ของมันเอง เช่นเดียวกับสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในโลกนี้ ย่อมต้องมียีนส์เด่น ยีนส์ด้อยและยีนส์แฝง อยู่ในสายเลือด ที่ไม่สามารถระบุได้ชัดเจน ดังนั้น วิธีเดียวที่จะเป็นไปได้มากที่สุดในการลดความเสี่ยงนี้ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดการถ่ายทอดยีนส์ด้อย โดยไม่ผสมพันธุ์สุนัขที่มีลักษณะด้อย.

เรียบเรียงโดย : วิภาดา
จาก : What is Schutzhund ( website ของ Von der Hollenburg German Shepherd ) http://www.vdhollenburg.com/whatisschutzhund.html
เอื้อเพื้อข้อมูล : กนก บุญย้อยหยัด

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 46 ( มิถุนายน 2544 )

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ชุทซ์ฮุนด์-Schutzhund-คืออะไร/516838351686932

ข้อมูลเพิ่มเติม : ขณะนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการแข่งขันที่คล้ายกับ ชุทซ์ฮุนด์ ( Schutzhund ) เรียกว่า IPO

คลิปวิดีโอเกี่ยวกับ IPO ค่ะ ( ขณะนี้มีทั้งหมด 4 ตอน )

http://www.youtube.com/watch?v=hhN2fWZ7zE4