BH คืออะไร

(บทความนี้ เรียบเรียงจากกฎระเบียบการดำเนินการทดสอบสุนัขใช้งาน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศเยอรมนี)

บทนำ

   BH มาจากคำว่า Begleitshund ในภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Companion Dog หมายถึงสุนัขที่เจ้าของจะพาไปไหนมาไหนด้วยได้ โดยไม่ก่อปัญหาทั้งต่อเจ้าของและต่อผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ตลอดจนสามารถนำมาเลี้ยงดูในครอบครัว และอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวรวมถึงเด็ก ๆ โดยอย่างปลอดภัย

   การทดสอบ BH เป็นการทดสอบลักษณะนิสัย, จิตประสาท และการแสดงออกของสุนัขในสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ กัน ก่อนที่จะนำสุนัขไปฝึกในขั้นต่อ ๆ ไป หรือนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำไปเลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัว สุนัขจะต้องมีลักษณะนิสัย, จิตประสาท และการแสดงออกที่ดีพอเพียงเท่านั้น จึงจะสามารถผ่านการทดสอบนี้ได้

1. ข้อกำหนดทั่วไป

   สุนัขที่จะเข้าสอบอารักขา (Schutzhund) จะต้องผ่านการทดสอบ BH ก่อนโดยได้รับการรับรองผลเป็นส่วนหนึ่งของการสอบอารักขา ซึ่งการทดสอบนี้ได้พัฒนาขึ้น สำหรับใช้ในการประเมินลักษณะนิสัยเบื้องต้นของสุนัข เพื่อคัดสุนัขที่มีลักษณะนิสัยไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว, ระแวง, ขี้อาย, ประสาทอ่อน เป็นต้น ออกจากการแข่งขันกีฬา และการนำไปใช้งานอื่น ๆ สุนัขจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีและมีจิตประสาทที่มั่นคงจริง ๆ เท่านั้นจึงจะสามารถลงแข่งกีฬาชุทซ์ฮุนด์ (Schutzhund) ได้

   สุนัขทุกขนาดและทุกสายพันธุ์ สามารถเข้ารับการทดสอบ BH ได้ทั้งสิ้น โดยต้องมีอายุอย่างน้อย 15 เดือนขึ้นไป

   ผลการทดสอบไม่มีการให้คะแนน มีเพียงการระบุว่า “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” การทดสอบจะถือว่า “ผ่าน” เมื่อได้คะแนน 70% ขึ้นไป ในขั้นตอน A และมีการแสดงออกที่อยู่ในขั้น “ใช้ได้” ในขั้นตอน B

   การที่ได้รับตำแหน่ง BH ไม่ถือเป็นตำแหน่งระบุความสามารถเกี่ยวกับการฝึก ในแง่ของการใช้ในการผสมพันธุ์, การประกวด, การคัดพันธุ์, หรือนำไปใช้แสดงความเป็นสมาชิก VDH

   สำหรับการทดสอบ BH ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาที่จะทำการทดสอบซ้ำ (เมื่อการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน)

2. การทดสอบจิตประสาทขั้นต้น (Temperament Test)

    ก่อนที่จะนำสุนัขเข้าทดสอบขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม สุนัขจะต้องผ่านการทดสอบ จิตประสาทขั้นต้นก่อนทุกครั้ง โดย ผู้จูงนำสุนัขเข้าไปรายงานตัวต่อกรรมการ ซึ่งกรรมการจะทำการตรวจเบอร์หูของสุนัข และสัมผัสทักทายกับผู้จูงและสุนัขไปด้วย เพื่อสังเกตปฏิกิริยาของสุนัข ก่อนจะเริ่มดำเนินการทดสอบ

3. การทดสอบ BH แบ่งเป็น 2 ตอนคือ

   3.1 ตอน A: การทดสอบความเชื่อฟังคำสั่ง ทำในสนามฝึกหรือที่โล่งธรรมดา โดยมีสุนัขตัวอื่นหมอบอยู่ในบริเวณนั้นด้วย 1 ตัว คะแนนเต็ม 60 คะแนน ต้องได้ 70% (42 คะแนน) ขึ้นไปจึงถือว่า “ผ่าน”

  1. การเดินชิด ในสายจูง (15 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”
  2. การเดินชิด นอกสายจูง (15 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”
  3. การสั่งนั่งระหว่างเดิน (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”, “นั่ง”
  4. การสั่งหมอบระหว่างเดิน และเรียกมาหา (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”, “หมอบ”, “มานี่” หรือชื่อสุนัข
  5. การหมอบคอยโดยมีสิ่งรบกวน (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “หมอบ”, “นั่ง”

   แต่ละแบบทดสอบจะเริ่มและจบลงด้วยท่าเตรียมพร้อม (Basic Position) โดยสุนัขนั่งชิด ขนานกับผู้จูงทางด้านซ้าย ไหล่ขวาเสมอแนวเข่าของผู้จูง

   การจบของแต่ละแบบทดสอบ ใช้เป็นท่าเริ่มต้นของแบบทดสอบต่อไปได้

   กรรมการจะเป็นผู้ให้สัญญาณผู้จูง ให้เริ่มการทดสอบ การทำท่าต่อไป เช่น การหันกลับ, การหยุด, การเปลี่ยนจังหวะเดิน กระทำได้โดยไม่ต้องรอกรรมการให้สัญญาณทั้งนี้ ผู้จูงอาจขอให้กรรมการเป็นผู้ให้สัญญาณทั้งหมดเองก็ได้

   การชมเชยสุนัข การะทำได้ ตอนสิ้นสุด ของแต่ละแบบทดสอบ หลังจากนั้นผู้จูงอาจเข้าสู่ท่าเตรียมพร้อมใหม่ หรืออาจหยุดนิ่งประมาณ 3 วินาทีหลังจากชมเชยสุนัขแล้วจึงเริ่มทำแบบทดสอบต่อไป

*** ปรับปรุงตามกติกาใหม่ เริ่มปี 2019 ศึกษาได้ที่ http://fci.be/medias/UTI-REG-IGP-en-10245.pdf หน้า 22 ***

   3.2 ตอน B: การทดสอบในบริเวณที่มีการสัญจร เป็นการทดสอบจิตประสาท ในบริเวณที่มีการสัญจรไปมา, มีรถยนต์, จักรยานยนต์, มีคนเดินและวิ่งผ่านตลอดจนมีเสียงดังที่สุนัขไม่คุ้นเคย

   การทดสอบนี้ จะกระทำ ในที่สาธารณะโดยไม่กีดขวางการสัญจรตามปกติ ในบริเวณดังกล่าว จะมีเฉพาะสุนัขที่เข้าทำการทดสอบ, กรรมการสอบและกลุ่มผู้ดำเนินการสอบซึ่งเตรียมพร้อมอยู่ในบริเวณนั้น

   สุนัขและผู้จูงอื่นๆ ที่จะเข้าทดสอบในลำดับต่อไป ต้องคอยอยู่ในที่ที่กำหนดให้เท่านั้น

   การดำเนินการทดสอบในส่วนนี้ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมขณะนั้น และข้อจำกัดอื่นๆ ดังนั้นจึงกำหนดให้ มีการทดสอบสุนัขขั้นตอนนี้อย่างมากที่สุดเพียง 15 ตัวต่อการทดสอบ 1 ครั้ง

   การพิจารณาให้การทดสอบ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ในตอนนี้ กรรมการจะพิจารณาจากปฏิกิริยา และการแสดงออกโดยรวมของสุนัขต่อสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในขณะนั้น

      3.2.1 B-1 : การควบคุมสุนัขในบริเวณที่มีการสัญจรปกติ

      กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูงนำสุนัขเดินในสายจูงบนทางเท้า (สายจูงต้องหย่อนตลอดเวลา) โดยมีกรรมการเดินตามไปในระยะที่เหมาะสม ระหว่างทางจะมีคนวิ่งผ่านสุนัขมาจากด้านหลังขึ้นหน้าไป 1 ครั้ง ต่อมามีรถจักรยานขับผ่านสุนัขมาจากด้านหลังพร้อมกับสั่นกระดิ่งหรือบีบแตร หลายครั้ง

      ผู้จูงนำสุนัขเดินกลับมาที่กรรมการ ยืนพูดคุยทักทายด้วยการจับมือ ระหว่างนี้สุนัขอาจนั่ง, ยืน, หรือหมอบก็ได้ แต่ต้องอยู่ในอาการสงบ

      3.2.2 B-2 : พฤติกรรมของสุนัขในบริเวณที่มีการสัญจรคับคั่ง

      กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูงนำสุนัขเดินเข้าไปในบริเวณที่มีฝูงชนสัญจรคับคั่ง ระหว่างนี้มีการหยุด 2 ครั้ง ในฝูงชน

      หยุดครั้งแรก สั่งสุนัข นั่ง สุนัขต้องนั่งลงตามคำสั่ง หยุดครั้งที่ 2 สั่งสุนัขหมอบ สุนัขต้องหมอบลงทันทีและคอยอยู่ในท่าหมอบ มีการพาสุนัขเดินเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังมาก ๆ ซึ่งสุนัขไม่คุ้นเคย สุนัขต้องสนใจในตัวผู้จูงและเดินติดตามไปด้วยความเต็มใจ โดยไม่แสดงอาการผิดปกติเมื่อผ่านฝูงชนและได้ยินเสียงดัง

      3.2.3 B-3 : พฤติกรรมของสุนัขเมื่ออยู่ลำพัง ในบริเวณที่มีการสัญจรและมีสัตว์อื่น           

      กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูง, จูงสุนัขเดินไปตามทางเท้าระยะหนึ่ง กรรมการชี้จุดให้หยุด ผู้จูงหยุดและล่ามสุนัขไว้กับเสา, รั้วหรือที่ล่ามที่เหมาะสมแล้ว ผู้จูงเดินเข้าไปในร้านค้าหรือที่ๆ ลับสายตาสุนัขประมาณ 2 นาที ระหว่างนี้สุนัขจะนั่ง, ยืน, หรือหมอบก็ได้

      ขณะที่สุนัขถูกล่ามไว้ตามลำพัง มีคนจูงสุนัขตัวอื่น เดินผ่านหน้าสุนัขที่ล่ามไว้ในระยะห่างประมาณ 5 ก้าว สุนัขต้องอยู่ในอาการสงบ ไม่แสดงความก้าวร้าว เช่น กระโจนใส่หรือเห่าใส่ผู้จูงและสุนัขที่เดินผ่านเข้ามา

หมายเหตุ : กรรมการผู้ทดสอบจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการทดสอบสุนัขแต่ละตัว ในบริเวณที่กำหนดจนเสร็จสิ้น หรือจะทดสอบสุนัขทุกตัวในขั้นตอนเดียว ณ บริเวณนั้น เสร็จแล้วจึงย้ายไปทดสอบขั้นตอนอื่น ๆ ที่อื่นต่อไป

เอกสารอ้างอิง : What is Schutzhund? By S. Barwig & S. Hillard, Howell. Base on the book “Schutzhund Theory & Training Methods”

แปลโดย .... สมาชิก 6098

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 49 (ธันวาคม 2545)

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/BH-คืออะไร/511705215533579