เกี่ยวกับผู้ล่อกัด

   มีผู้สอบถามกันมากเกี่ยวกับกฎของผู้ล่อ ( Helpers ) ความจริงแล้วไม่มี " กฎ " โดยเฉพาะสำหรับ " ผู้ล่อ " ยกเว้นที่กล่าวถึงในกฎสำหรับผู้จูงและสุนัขในการแข่งขัน อย่างไรก็ตามเราต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกรรมการในการแข่งขันอยู่แล้ว ดังนั้นบทความต่อไปนี้ ไม่ใช่กฎสำหรับผู้ล่อ แต่เป็นเพียงแนวทางการปฏิบัติสำหรับผู้ล่อกัดในการแข่งขันเท่านั้น

A) เงื่อนไขสำหรับการใช้ผู้ล่อกัด ( Helper ) ในงานต่อสู้ป้องกัน ( Protection ) มีดังนี้

  • ต้องทราบกฎระเบียบเกี่ยวกับงานของผู้ล่อกัดในงานแข่งขันหลายๆ ประเภท ( การแข่งขันของ VDH และการแข่งขันระดับนานาชาติ ( IPO ) )
  • ในวันแข่งขัน ผู้ล่อกัด ถือว่าเป็นผู้ช่วยกรรมการ
  • เพื่อความปลอดภัย ผู้ล่อกัดต้องสวมชุดป้องกันให้ครบถ้วน ตลอดเวลาการฝึกและการแข่งขัน
  • ผู้ล่อต้องสวมรองเท้าที่เหมาะสมกับสภาพอากาศและพื้นดินในเวลานั้น โดยรองเท้าต้องยึดพื้นได้มั่นคงไม่ลื่น
  • อุปกรณ์สำหรับตีสุนัขที่อนุญาตให้ใช้คือไม้เรียวหุ้มนวม ( Soft-stick )
  • ก่อนเริ่มงานต่อสู้ป้องกัน กรรมการจะซักซ้อมความเข้าใจกับผู้ล่อ ถึงวิธีการปฏิบัติงาน ซึ่งผู้ล่อจะต้องปฏิบัติตามนั้น
  • ผู้ล่อต้องทำตามคำสั่งจากผู้จูง ( Handler ) ในขั้นตอน ค้นตัว/ปลดอาวุธ ซึ่งจะเป็นไปตามกฎของการแข่งขัน และต้องสามารถทำให้ผู้จูงและสุนัขกลับมาอยู่ในท่าเตรียมพร้อมได้ก่อนเริ่ม ขั้นตอนควบคุมตัว ( Side and back transports )
  • ในการแข่งขันต้องทำเครื่องหมายระบุตำแหน่งต่างๆ ดังนี้ :-
    • ตำแหน่งยืนของผู้จูง เพื่อรอเรียกสุนัขในขั้นตอน เห่าเฝ้า ( Hold and bark )
    • ตำแหน่งยืนของผู้ล่อ จุดเริ่มขั้นตอน " หนี " ( Escape )
    • ตำแหน่งหมอบของสุนัข ในขั้นตอน " หนี " ( Escape )
  • ในการแข่งขัน, การสอบและการชิงตำแหน่งแชมเปี้ยน ต้องใช้ผู้ล่อ 2 คนสำหรับ SchH3


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150261730547781&set=a.10150261730472781.328324.532157780&type=3&theater

B) หลักการปฏิบัติตัวของผู้ล่อ

  1. การเฝ้าและเห่า ( Hold and Bark ) ผู้ล่อไม่ต้องแสดงอาการขู่สุนัขในขั้นตอนเฝ้า ( hold ) แต่ต้องมองที่สุนัขตลอดเวลาโดยไม่อนุญาตให้ทำท่ายั่วยุอย่างอื่น ปลอกแขน จะทำหน้าที่เป็นเหมือนเครื่องป้องกันลำตัว และต้องไม่ยกขึ้นสูง, ไม้เรียวต้องถือห้อยแนบข้างขา
  2. การป้องกัน ( Defense ) การป้องกัน เริ่มจากผู้ล่อแสดงอาการข่มขู่สุนัขด้วยการเงื้อไม้เรียวขึ้นเหนือปลอกแขน และเคลื่อนตัวไปในทิศทางเข้าหาสุนัข โดยดันสุนัขไปเป็นแนวเส้นตรง ขณะเดียวกัน ก็ต้องให้ปลอกแขนอยู่ในตำแหน่งยกขึ้นชิดลำตัว การดันสุนัขวนเป็นวงกลม ถือว่าไม่ถูกต้อง ในทุกขั้นตอนการต่อสู้ป้องกัน
  3. การป้องกัน การถูกจู่โจม ( Defense of a Surprise Attack ) ผู้ล่อแสดงอาการข่มขู่ ด้วยไม้เรียว ตลอดเวลาโดยห้ามหยุดก่อนสุนัขเข้ากัด เมื่อสุนัขเข้ากัด ผู้ล่อต้องออกแรงดันสุนัขไป สุนัขจะเคลื่อนที่ไปทางด้านข้างเล็กน้อยตามแนวการเคลื่อนไหวของผู้ล่อ ในการป้องกันทุกขั้นตอน ผู้ล่อต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้าเท่านั้นห้ามถอยหลัง ผู้ล่อต้องแน่ใจว่าสุนัขจะไม่เข้ามาชน ( ซึ่งจะเป็นอันตรายทั้งต่อตัวผู้ล่อเองและสุนัขด้วย )
  4. การป้องกัน การถูกจู่โจมระยะไกล ( Defense of an Attack on a Lookout Position ) กฎเกณฑ์เช่นเดียวกับข้อ 3 ในจังหวะสุนัขเข้ากัด ผู้ล่อต้องหันตัวไปตามแรงเหวี่ยงจากสุนัขเท่าที่จำเป็น, เพื่อเป็นการผ่อน แรงเหวี่ยงนั้น ในขั้นตอนนี้ ผู้ล่อต้องทำเสียงขู่ด้วย สำหรับการแข่งขัน IPO ทุกระดับ
  5. การหยุด การต่อสู้ ( Halting the Fighting Actions ) การเคลื่อนไหวของผู้ล่อ ในการหยุดจะต่างกับการดันต้านแรงสุนัขระหว่างต่อสู้ในช่วงนี้จะต้องลดแรงที่ดันต้านสุนัขลง ผู้ล่อต้องหยุดการเคลื่อนไหวโดยไม่ปล่อยปลอกแขนลงหรือยกงอขึ้นสูง แต่ให้คงอยู่ในตำแหน่งเดิมเหมือนขณะกัด ในช่วงนี้ ไม้เรียวจะต้องอยู่ในตำแหน่งที่สุนัขมองไม่เห็น
  6. สุนัขที่ขาดความมั่นใจและทำผิดพลาดในการ " กัด " ถ้าสุนัขไม่เข้ากัดในขั้นตอน " หนี " หรือเมื่อถูกจู่โจม หรือกัดแล้วปล่อยในขณะกำลังต่อสู้ ผู้ล่อต้องแสดงอาการเข้าจู่โจมสุนัขต่อไปจนกรรมการสั่งหยุด ถ้าสุนัขเข้ากระแทกหรือกัดซ้ำเมื่อ " ปล่อย " ผู้ล่อต้องไม่เคลื่อนไหวโต้ตอบ ( ถ้าเป็นไปได้ )


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10150261730722781&set=a.10150261730472781.328324.532157780&type=3&theater

C) การใช้ผู้ล่อในการแข่งขัน

  1. ทั่วไป : กรรมการจะต้องเป็นผู้ประเมินระดับการฝึกและคุณภาพของสุนัขที่เข้าแข่ง ( เช่น แรงขับ, ความสามารถในการทนแรงกดดัน, ความเชื่อฟังผู้จูง ฯลฯ ) ตามลักษณะของการแข่งขันนั้น โดยประเมินได้จากสิ่งที่ได้ฟังและเห็นในระหว่างการแข่งขัน ด้วยเหตุนี้ การทำงานของผู้ล่อ จึงต้องสามารถทำให้กรรมการเห็นภาพได้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในขณะเดียวกันก็ให้คงไว้ซึ่งลักษณะของการแข่งขันกีฬา ( เช่นให้ผู้เข้าแข่งขันได้เผชิญกับสภาวการณ์แบบเดียวกันทุกคน )
       ผู้ล่อควรจะต้องศึกษากฎเกณฑ์ และรูปแบบในการทำงานล่อกัด ทุกขั้นตอนไม่ใช่เป็นผู้กำหนดรูปแบบการทำงานเอาเอง กรรมการจะประเมินผลการทำงานต่อสู้ป้องกันในขั้นตอน เฝ้าและเห่า ( Hold and Bark ), การปฏิบัติการต่อสู้ ( Fighting Action หรือความเต็มใจเข้าต่อสู้ป้องกัน, แรงขับ, การอารักขา ), พฤติกรรมในการกัดและการควบคุม ดังนั้นผู้ล่อต้องจัดการให้สุนัขมีโอกาสแสดงการกัดได้ดีที่สุด เมื่อมีการประเมินคุณภาพในการกัด, หรือเมื่อประเมินความอดทนต่อแรงกดดันจากผู้ล่อ ซึ่งทั้งหมดเกิดได้โดยการกระทำของผู้ล่อทั้งสิ้น
  2. เฝ้าและเห่า ( Hold and Bark ) ทุกระดับ ( SchH1 - 3 )
        ผู้ล่อยืนนิ่งไม่ขยับเขยื้อนอยู่ในซุ้มโดยสุนัขและผู้จูงมองไม่เห็น ให้ปลอกแขนอยู่ในลักษณะงอเล็กน้อย ในท่าปกติไม่ยกขึ้นสูง ไม่แสดงอาการคุกคามให้น่ากลัว โดยปลอกแขนจะทำหน้าที่กำบังลำตัวไว้ ในขั้นตอนนี้ผู้ล่อต้องจับตามองสุนัขไว้ตลอดเวลา ถือไม้เรียวห้อยลงแนบข้างตัว
  3. การป้องกันเมื่อถูกจู่โจมแบบฉับพลัน ( Defense of Surprise Attack ) SchH1
       กรรมการให้สัญญาณ ผู้ล่อออกจากที่ซ่อนที่กำหนด แล้วตรงเข้าจู่โจมสุนัขและผู้ล่อ โดยเงื้อไม้เรียวขึ้นในลักษณะข่มขู่ ให้ไม้เรียวอยู่เหนือปลอกแขน ( ไม่ใช่อยู่ข้าง ๆ ) ปลอกแขนยกขึ้นในตำแหน่งขวางลำตัวด้านหน้าในทิศทางเดียวกับที่ผู้ล่อกำลัง วิ่งอยู่ เมื่อสุนัขเข้ากัดแล้ว ผู้ล่อหันตัวให้สุนัขเบี่ยงไปทางด้านข้างเล็กน้อย แล้วเริ่มดันสุนัขไปเป็นแนวตรง ผู้ล่อจะต้องเลือกทิศทางที่จะวิ่งไปในระหว่างการกัดและดันสุนัขนี้ ที่ทำให้กรรมการสามารถมองเห็นพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ชัดเจนที่สุด ในทุกอิริยาบท
       การตีด้วยไม้เรียวครั้งแรก หลังจากดันสุนัขไปข้างหน้าได้ประมาณ 4 ก้าว และครั้งที่ 2 หลังจากก้าวต่อไปอีก 4 ก้าว และต้องดันสุนัขต่อไปอีก 4 - 5 ก้าว โดยไม่ต้องตีด้วยไม้เรียว ขั้นตอนการกัดทั้งหมด ต้องกระทำโดยให้กรรมการได้เห็นการปฏิบัติงานของสุนัขโดยตลอด หลังจากการต่อสู้หยุดลง ผู้ล่อต้องหยุดยืนในแนวสายตาของผู้จูง โดยให้สุนัขอยู่ระหว่างผู้ล่อและผู้จูง หลังการต่อสู้สิ้นสุดลง ผู้ล่อต้องจับตามองที่สุนัขเช่นเดียวกับในขั้นตอนเฝ้าและเห่า ปลอกแขนอยู่ในตำแหน่งข้างหน้าลำตัว แต่ไม่ยกสูง ( ขวางลำตัว ) การจบขั้นตอนกัด ต้องแตกต่างกับการจู่โจมและการดัน ( ต่อสู้ ) กับสุนัขโดยต้องให้สุนัขรู้สึกได้ชัดเจนถึงความแตกต่าง
       ถ้าสุนัขกัดไม่ปล่อย ผู้ล่อต้องยืนนิ่งอยู่กับที่ไม่หันไปมา ให้ปลอกแขนยันกับลำตัวไว้ ผู้ล่อต้องไม่แสดงอาการรับรู้, ขยับตัวปิดป้อง เมื่อสุนัขกระโดดชนหรือกัด
  4. การป้องกันเมื่อถูกจู่โจมระยะไกล และการควบคุมตัว ( Defense against an Attack on a Lookout Position and the Subsequent Guarding ) SchH1 - 2
       เมื่อกรรมการให้สัญญาณ ผู้ล่อออกจากที่ซ่อน ( ซึ่งอยู่ห่างจากผู้จูงและสุนัขประมาณ 70 - 80 ก้าว ) และเดินข้ามสนามด้วยก้าวปกติ ผู้จูงสั่งให้ผู้ล่อหยุดโดยร้องบอกให้ " หยุด, ยืนนิ่ง " ผู้ล่อไม่สนใจคำสั่ง และหันเข้าจู่โจมผู้จูงและสุนัข โดยทำเสียงขู่ไปด้วย ( เฉพาะ IPO ) สุนัขต้องเข้ากัดปลอกแขนซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ยืดหยุ่นได้ โดยผู้ล่อไม่หยุดยืนนิ่ง ขณะสุนัขเข้ากัด ผู้ล่อต้องหันตัวตามแรงเหวี่ยงจากสุนัขไปด้วย เท่าที่จำเป็น เพื่อช่วยลดความรุนแรงของแรงเหวี่ยงจากสุนัข ผู้ล่อหันตัวให้สุนัขไปอยู่ทางด้านข้างเล็กน้อย และดันสุนัขไปประมาณ 6 ก้าว โดยไม่มีการตีด้วยไม้เรียว ผู้ล่อต้องทำให้กรรมการสามารถมองเห็นพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ชัดเจน เช่นเดียวกับในตอนที่ 3 ขั้นตอนสิ้นสุดเช่นเดียวกับตอนที่ 3 โดยผู้จูงจะปลดอาวุธ ( ไม้เรียว ) จากผู้ล่อ
  5. การหนีและการป้องกัน ( การจู่โจมซ้ำ ) ( Escape & Defense ( Reattack ) SchH2 และ 3
        หลังจากขั้นตอนเฝ้าและเห่า ( Hold & Bark ) ผู้ล่อเดินออกจากซุ้มด้วยก้าวปกติตามที่ผู้จูงสั่ง และไปหยุดยืนตรงจุดที่กรรมการกำหนด ตำแหน่งยืนของผู้ล่อต้องให้ผู้จูงสามารถสั่งสุนัขให้หมอบได้ ห่างจากด้านข้างของผู้ล่อประมาณ 4 ก้าว ด้านเดียวกับปลอกแขน ผู้จูงต้องรู้ทิศทางที่ผู้ล่อจะทำขั้นตอน " หนี " เพื่อจะได้สั่งสุนัขหมอบหันหน้าไปถูกทาง
        หลังจากถูกค้นตัวและผู้จูงไปซ่อนที่ซุ้มแล้ว ผู้ล่อต้องออกวิ่งหนีเป็นแนวตรงไปข้างหน้าอย่างเร็ว โดยไม่แกว่งปลอกแขน สุนัขจะได้มีโอกาสหาจังหวะกัดได้ถนัดที่สุด ห้ามผู้ล่อวิ่งเข้ามาทางสุนัขในขั้นตอน " หนี " ( แม้จะอยู่ในมุมที่มองเห็นสุนัขอยู่ในสายตา ) และห้ามกระชากปลอกแขนโดยเด็ดขาด เมื่อสุนัขเข้ากัด ผู้ล่อต้องดึงปลอกแขนเข้าหาลำตัวในจังหวะที่ก้าวเดินไปข้างหน้า
        กรรมการจะเป็นผู้กำหนดระยะปฏิบัติการของขั้นตอน " หนี " หากผู้ล่อมีการเคลื่อนไหวที่เหมาะสมขณะปฏิบัติการ กรรมการก็จะมีโอกาสดีที่สุดสำหรับประเมินผล ขั้นตอน " หนี " สิ้นสุดลงโดยผู้ล่ออยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นกรรมการได้ ซึ่งทำให้กรรมการสามารถสังเกตพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ชัดเจน ในระหว่างขั้นตอน " หนี " และต่อสู้ ( จู่โจมซ้ำ ) ในระดับ SchH2 และ 3 ผู้ล่อต้องมีการหยุดนิ่งระยะสั้น ๆ 1 ครั้ง    กรรมการเป็นผู้ให้สัญญาณการจู่โจมซ้ำ ระหว่างที่ผู้ล่อยกไม้เรียวขึ้นทำท่าขู่ แต่ไม่ได้ตีสุนัข, ขณะเดียวกับสุนัขเข้ากัด, ผู้ล่อต้องก้าวไปข้างหน้าต่อไป ( โดยไม่ขยับปลอกแขน ) ในท่าที่เหมาะสม เมื่อสุนัขกัดแล้ว ต้องให้สุนัขอยู่ในตำแหน่งด้านข้างของผู้ล่อแล้วเริ่มดันสุนัขเป็นแนวตรงไป ข้างหน้าขณะที่กำลังปฎิบัติการต่อสู้ ( กัด ) ผู้ล่อต้องเลือกทิศทางการวิ่งให้กรรมการสามารถมองเห็นพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน    ผู้ล่อต้องไม่ดันสุนัขไปทางผู้จูง แต่ต้องให้ค่อนไปทางมุมขวามือของแนวเส้นทางสมมติที่จะวิ่งหนี การตีด้วยไม้เรียวให้เริ่มตีครั้งแรกหลังจากเดินไป 4 ก้าว และตีอีกครั้งหลังจากเดินต่อไปอีก 4 ก้าว แล้วเดินต่ออีก 4-5 ก้าว โดยไม่มีการตีด้วยไม้เรียว การต่อสู้สิ้นสุดขั้นตอนเช่นเดียวกับขั้นที่ 3
  6. การควบคุมตัวจากด้านหลัง ( Back Transport ) SchH2 & 3
        กรรมการให้สัญญาณ ผู้ล่อออกเดินไปข้างหน้า ผู้จูงและสุนัขเดินตาม ( ห่างประมาณ 5 - 7 ก้าว ) ด้วยก้าวเดินปกติประมาณ 50 ก้าว มีการเลี้ยวหักมุม 1 ครั้ง ไม้เรียวและปลอกแขนอยู่ในลักษณะปกติ ซึ่งจะไม่แสดงอาการยั่วยุสุนัขมากขึ้น โดยไม้เรียวควรถือซ่อนไว้
  7. การป้องกันการจู่โจมแบบฉับพลัน ( Defense of Surprise Attack ) SchH2 & 3
        กรรมการให้สัญญาณ ผู้ล่อหันกลับอย่างเร็ววิ่งตรงมายังสุนัข เงื้อไม้เรียวขึ้นเหนือปลอกแขนทำท่าขู่ ปลอกแขนยกขวางลำตัวหันไปในทิศทางที่กำลังวิ่ง โดยไม่ต้องแกว่งไปมา เมื่อสุนัขเข้ากัด ต้องหันให้สุนัขอยู่ด้านข้างและเคลื่อนที่ตรงไปข้างหน้าอย่างน้อย 6 ก้าว ทิศทางการวิ่งของผู้ล่อ ต้องให้กรรมการสามารถมองเห็นพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ชัดเจนทุกขั้นตอน สิ้นสุดขั้นตอนการต่อสู้เช่นเกี่ยวกับขั้นตอน 3
  8. การควบคุมตัวด้านข้าง ( Side Transport )
        ผู้ล่อปฏิบัติตามผู้จูงสั่งด้วยการเคลื่อนไหวก้าวเดินในจังหวะปกติ หลีกเลี่ยงการรีบร้อนลุกลน หรือทำท่าลังเล
  9. การป้องกันการจู่โจมระยะไกลและการอารักขา กับการป้องกันการจู่โจมฉับพลัน ( จู่โจมซ้ำ ) SchH3 Defense of an Attack on a Lookout Position and the Ensuing Guarding as well as Defense of a Surprise Attack ( Reattack ) กรรมการให้สัญญาณ ผู้ล่อออกมาจากซุ้ม ( ซึ่งกรรมการกำหนดตำแหน่งให้ห่างจากผู้จูงประมาณ 70 - 80 ก้าว ) แล้ววิ่งข้ามสนาม ผู้จูงตะโกนสั่งผู้ล่อให้หยุดว่า " หยุด, อยู่นิ่ง ๆ " ผู้ล่อไม่สนใจคำสั่ง กลับตรงเข้าจู่โจมสุนัขและผู้จูง โดยทำเสียงขู่ไปด้วย ( เฉพาะ IPO ) สุนัขต้องเข้ากัดปลอกแขนซึ่งอยู่ในตำแหน่งที่ยืดหยุ่นได้ โดยผู้ล่อไม่หยุดยืนนิ่ง ขณะสุนัขเข้ากัด  ผู้ล่อต้องหันตัวตามแรงเหวี่ยงจากสุนัขไปด้วย เท่าที่จำเป็น เพื่อช่วยลดความรุนแรงของแรงเหวี่ยงจากสุนัข ผู้ล่อหันตัวให้สุนัขไปอยู่ทางด้านข้างเล็กน้อย และดันสุนัขไปประมาณ 6 ก้าว โดยไม่มีการตีด้วยไม้เรียว ผู้ล่อต้องทำให้กรรมการสามารถมองเห็นพฤติกรรมการกัดของสุนัขได้ชัดเจน เช่นเดียวกับในตอนที่ 3 ขั้นตอนสิ้นสุดเช่นเดียวกับตอนที่ 3 การป้องกัน ( การจู่โจมซ้ำ ) ปฏิบัติเช่นเดียวกับขั้นตอนที่ 5 ผู้ล่อต้องปรับทิศทางที่ดันสุนัขไปข้างหน้าให้เหมาะสมโดยไม่ดันไปในทางที่ผู้จูงยืนอยู่

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 48 ( มิถุนายน 2545 )
แหล่งที่มารูปภาพประกอบ : ขอขอบคุณ คุณ Sittichai Ualuecha

คลิปวิดีโอของสุนัขที่ทำได้ 100 คะแนนเต็ม ในการแข่งขันสุนัขอารักขา ตอน ค ( ต่อสู้ป้องกัน )

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/เกี่ยวกับผู้ล่อกัด/537222969648470