การฝึก "เฝ้าและเห่า (แต่ไม่กัด)"
เรียบเรียงจาก The Relationship Between the Helper & Dog in the Initial state of The Bark & Hold (http://leerburg.com/bh2.htm)
โดย : วิภาดา
ผู้ฝึกมือใหม่ที่เริ่มฝึกสุนัขหลักสูตรอารักขา (Schutzhund) หรือสุนัขใช้งานทั่วไป (Service Dog) มักจะเข้าใจไขว้เขวเกี่ยวกับความหมายของการเห่าและการเฝ้า (Bark & Hold) ซึ่งหากผู้ฝึกไม่เข้าใจอย่างลึกซึ่งจริงๆ ในจุดนี้ ก็มักจะหลงทางได้ง่าย ๆ ข้อเขียนนี้ จะช่วยให้คุณที่รักการฝึกสุนัข ได้เข้าใจความหมายที่ถูกต้องแท้จริงของการเห่าและการเฝ้า ว่าคืออย่างไรกันแน่
การเห่าและเฝ้าที่ถูกต้อง จะต้องพัฒนาขึ้นมาจากความสัมพันธ์ในด้านลบ คือ ความเป็นปฏิปักษ์ (หรือความเกลียดขี้หน้า) ระหว่างสุนัขกับผู้ล่อเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับแรงกระตุ้นในสัญชาตญาณการล่าเหยื่อ ที่สุนัขถูกฝึกให้เห่าเหยื่อของมัน (แม้ว่าวิธีนี้อาจจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยได้ สำหรับสุนัขที่จิตประสาทไม่มั่นคงพอที่จะทำขั้นตอนนี้ได้อย่างถูกต้อง)
สุนัขประเภทที่เห่าเหยื่อ จะเข้ามาหาผู้ล่อ และเห่าสั้น ๆ ด้วยเสียงค่อนข้างสูง หรือเสียงปกติแต่ไม่เต็มที่ (เห่ายั้ง ๆ), การแสดงออกดูไม่จริงจังเท่าที่ควร บางทีดูเหมือนว่าสุนัขเห่าและจ้องเฝ้าเป้าล่อหรือกระสอบแขน (ซึ่งสมมติเป็นเหยื่อ) ไม่ใช่จ้องเพื่อเฝ้าคน ปัจจุบันนี้ บรรดากรรมการตัดสินสุนัขอารักขาทั้งหลาย ต้องการให้สุนัขที่เข้าสอบ (หรือแข่งขัน) มีการแสดงออกในการเห่าอย่างเข้มแข็งจริงจัง แบบการเห่าเพื่อป้องกันตัว (Defensive bark) กรรมการจะดูออกได้อย่างง่ายดายว่าสุนัขที่เห่าไม่ดีนั้น เป็นเพราะจิตประสาทไม่มั่นคงพอ หรือเป็นเพราะฝึกมาไม่ดีกันแน่
** ก่อนที่สุนัขจะเริ่มการฝึกในขั้นตอนเห่าและเฝ้า (โดยไม่กัด) มันต้องผ่านการฝึกฝน และพัฒนาในการไล่ล่าและกัดเหยื่อเสียก่อน **
ในการฝึกให้ลูกสุนัขกัดเหยื่อ (Prey bite) เราฝึกโดยให้มันเห่าที่เหยื่อ (ของเล่น, ของที่ใช้ล่อ) ก่อน จึงจะอนุญาตให้มันได้กัด เราต้องฝึกมาตั้งแต่ลูกสุนัขยังเล็ก ๆ ให้เป็นเข้าใจว่าการเห่าของมันทำให้ผู้ล่อมีปฏิกริยาโต้ตอบต่อเสียงเห่านั้น เช่น อาจทำให้ผู้ล่อทำท่ายอมแพ้ หรืออาจทำให้ผู้ล่อวิ่งหนีและหยุด หรืออาจทำให้ผู้ล่อวิ่งผ่านมาใกล้ ๆ จนทำให้มันได้งับของเล่น
สุนัขวัยรุ่นจะได้เรียนรู้ว่าการเห่าจะทำให้ผู้ล่อวิ่งหนี และมันจะได้วิ่งไล่กวด แล้วก็ได้กัดผู้ล่อที่กำลังวิ่งหนี สิ่งสำคัญที่ผู้ฝึก (Handler) จะต้องเข้าใจให้ถูกต้อง คือ อาการทั้งหมดที่กล่าวมานั้น เป็นการแสดงออกโดยสัญชาตญาณการล่าเหยื่อ (Preydrive) ทั้งสิ้น
การเห่าและเฝ้าที่ถูกต้องจริง ๆ นั้น ไม่ใช่จะเริ่มได้เลยหลังการพัฒนาการไล่ล่าเหยื่อ แต่มันจะเริ่มได้ ก็ต่อเมื่อสุนัขโตขึ้นพอสมควร และมีความพร้อมที่จะฝึกป้องกันตัว (Defensive work) ได้แล้ว
เราจะเข้าใจกระบวนการนี้ได้โดยดูตัวอย่างจากลูกสุนัขและแมว (ดูจากรูปจะเข้าใจได้ชัดเจนขึ้น) เมื่อแมวออกวิ่ง (เปรียบเสมือนเหยื่อ) ลูกสุนัขก็ไล่กวด เมื่อแมวชักเบื่อที่จะวิ่งหนี ก็จะหยุดแล้วหันกลับมาเผชิญหน้า โดยทำขนพองขู่ลูกสุนัข (แสดงตัวว่าใหญ่กว่าและแข็งแรงกว่าด้วยการพองขนขึ้น) บางทีก็ง้างเล็บทำท่าตะปบลูกสุนัขด้วยก็มี
ลูกสุนัขถอยกลับไปตั้งหลัก เมื่อแมวหยุดแล้วทำขนพองขู่
ถึงตอนนี้ลูกสุนัขที่กำลังไล่กวดมาต้องเบรคอย่างแรง และถอยกลับไปตั้งหลัก มันจะสับสนอยู่สัก 2-3 วินาทีในช่วงแรก ว่าทำไมเหยื่อจึงกลับกลายเป็นมาข่มขู่ มันชักไม่แน่ใจว่าตัวเองจะแน่จริงเสียแล้ว เอาละเป็นไงเป็นกัน ลูกสุนัขเริ่มทำขนพองขู่แมวกลับบ้าง
ลูกสุนัขถอยหลัง หยุดชะงักดูเหตุการณ์
เมื่อเห็นว่าแมวต่างหากที่เป็นฝ่ายไม่แน่จริง ลูกสุนัขก็จะเริ่มเห่า ด้วยเสียงที่ค่อนข้างลึก, ก้อง และเข้มแข็งจริงจัง นี่คือการเห่าแบบป้องกันตัวนั่นเอง เสียงเห่านี้ทำให้แมวออกวิ่งหนี และการไล่ล่าก็เริ่มต้นอีกครั้ง การเห่าแบบนี้จะแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับการเห่าเมื่อต้องการของเล่น เช่น ลูกบอล หรือแม้แต่ม้วนกระสอบล่อกัด
ลูกสุนัขเริ่มมั่นใจและเห่าใส่แมว
เราใช้เทคนิคเดียวกันนี้ ในการฝึกสุนัขวัยรุ่น ที่อายุเกิน 1 ปี เพื่อพัฒนาวิธีการเห่าที่ซุ้มผู้ล่อจะต้องยั่วยุทำท่ากลัว, ยอมแพ้ให้สุนัขอยากไล่ และออกวิ่งหนี ตรงไปที่ซุ้ม ผู้ฝึกปล่อยสุนัขออกวิ่งไล่ (โดยแรงกระตุ้นของการไล่ล่าเหยื่อ) ช่วงที่ผู้ล่อกำลังก้าวเข้าไปในซุ้ม ให้หันกลับมาเผชิญหน้า ทำท่าขู่ (แบบแมวพองขน) เมื่อสุนัขวิ่งไล่ผู้ล่อ (เหยื่อ) มาถึงซุ้มก็มาจ๊ะเอ๋กับเหยื่อ ที่เมื่อกี้วิ่งไล่ล่าอยู่ดี ๆ ก็กลับหลังหันมาทำท่าจะสู้มัน สุนัขจะหยุดชะงักจ้องตากันเขม็ง ในจังหวะนี้เองเป็นเสียววินาทีทองของการฝึก เราต้องการให้สุนัขเปลี่ยนแรงกระตุ้นจากการล่าเหยื่อมาเป็นการป้องกันตัวทันที จะเห็นว่าสุนัขจะถอยกลับ 2-3 ก้าว, ทำท่าแข็งกร้าว และเริ่มเห่า วินาทีทอง ที่สุนัขกำลังเริ่มเห่า (หรือวิ่งหนีดีหว่า ?) นี้เอง ผู้ล่อต้องทำให้สุนัขรู้สึกเป็นต่อโดยเร็วที่สุด โดยขยับออกวิ่งหนีให้สุนัขวิ่งไล่ เปลี่ยนแรงกระตุ้นกลับมาไล่ล่าเหยื่อต่อ แล้วจึงให้สุนัขงับของล่อ (อาจจะใช้ม้วนกระสอบหรือปลอกแขนขนาดเล็กนิ่ม) และปล่อยของล่อให้สุนัขคาบไป โดยไม่ต้องขู่หรือยื้อแย่ง อย่าลืมว่า สุนัขต้องเป็นผู้ชนะเสมอในการฝึกทุกครั้ง
สุนัขได้งับของล่อ เมื่อเห่าผู้ล่อ (Helper)
สิ่งที่สำคัญมากที่สุดอีกข้อหนึ่ง คือ ในชั่วขณะที่สุนัขหยุดชะงักนั้นผู้ฝึกต้องอยู่เฉย ๆ อย่างสงบ ห่างจากสุนัขพอสมควร ช่วงนี้เป็นเรื่องของผู้ล่อกับสุนัขเท่านั้น ผู้ฝึกไม่เกี่ยว ถ้ามีอะไรผิดพลาดเกิดขึ้นในเวลานี้ ผู้ล่อจะเป็นผู้จัดการแก้ไขวิธีการฝึก เพื่อสร้างความมั่นใจให้สุนัขโดยให้มันไล่ล่าเหยื่อ (โดยผู้ฝึกปล่อยสาย) ให้มากขึ้นอีก
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญพอกัน สำหรับผู้ล่อมือใหม่ คือ การที่ผู้ล่อยืนอยู่ในซุ้มแล้วหวังให้สุนัขเห่า หรือ ปล่อยให้สุนัขเห่าแล้วเห่าอีกนาน ๆ นั้น เป็นสิ่งที่ผิดและไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง หัวใจของการฝึกบทเรียนบทนี้ คือ การมีปฎิกริยาโต้ตอบโดยทันที ที่เห็นสุนัขเปลี่ยนแรงกระตุ้นจากการไล่ล่ามาเป็นการตั้งรับ และเริ่มเห่าคำแรก ช่วงจังหวะนี้เองสำคัญมาก พอได้ยินเสียงโฮ่ง 1…….โฮ่ง 2…….ผู้ล่อต้องก้าวออกมาจากซุ้ม และพยายามแสดงอาการวิ่งหนีออกไปจากสุนัขทันที
การเริ่มต้นการฝึกขั้นตอนนี้ ต้องพิจารณาให้รอบคอบในทุก ๆ ด้าน ทั้งในแง่ของระดับความมั่นคงทางอารมณ์ ของสุนัข และระดับการพัฒนาของแรงกระตุ้นการไล่ล่าเหยื่อ สุนัขจะต้องมีความมั่นคงทางอารมณ์มาก พอที่จะทนแรงกดดันของการฝึกตั้งรับเพื่อป้องกัน สุนัขบางตัวที่มีการสืบทอดสายพันธุ์ (genes) ที่เด่นในด้านการใช้งาน และมีพื้นฐานพัฒนาการของแรงกระตุ้นการไล่ล่าที่ดี จะสามารถทนแรงกดดันในการฝึกตั้งรับเพื่อป้องกันตัวขั้นต้นได้เมื่ออายุเพียง 12 เดือน ในขณะที่ บางตัวอาจต้องรอให้อายุ 18-24 เดือน สุนัขในสายพันธุ์สำหรับการประกวดจากเยอรมัน บางตัวทนแรงกดดันตรงนี้ไม่ได้เลยก็มี
เมื่อเริ่มฝึกใหม่ ๆ สุนัขวัยรุ่นเกือบทุกตัว จะแสดงอาการไม่มั่นใจหรือถอยหนี ผู้ล่อ จะต้องคอยสังเกตุให้ดีด้วยความอดทน เมื่อเห็นสุนัขถอยหลัง, หยุดชะงักดูเหตุการณ์ ผู้ล่อต้องยืนนิ่ง ๆ และจ้องตาสุนัขไว้ตลอดเวลา การขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวที่ผิดจังหวะแม้เสียววินาที ก็อาจทำให้สุนัขหลุดเข้าไปสู่ขั้น หนีดีกว่า และเป็นฝ่ายออกวิ่งหนีไปก่อน สุนัขชั้นดีจะเห่าทันที หรือหยุดยืนและเห่าสัก 2-3 วินาที สุนัขที่หันหลังกลับและวิ่งหนีนั้น ต้องกลับไปสร้างความมั่นใจใหม่ในการฝึกโดยใช้แรงกระตุ้นการไล่ล่าเหยื่อ
ระหว่างการฝึกขั้นตอนนี้ ผู้ฝึกจะสังเกตได้ว่าสุนัขจะเห่าหนักแน่นและเสียงดังก้องขึ้นเรื่อย ๆ สุนัขบางตัวจะพองขนคอขึ้น บางตัวก็ไม่ ในขั้นนี้ไม่ถือเป็นข้อเสียหาย
แรก ๆ ผู้ล่อ ต้องให้รางวัลการที่สุนัขเปลี่ยนแรงขับ (จากการไล่ล่าเหยื่อมาเป็นป้องกันตัว) โดยให้สุนัขได้กัดเหยื่อ (ของล่อ) เมื่อสุนัขมั่นใจมากขึ้นจึงค่อยเปลี่ยนจากเหยื่อ (ของล่อ) มาเป็นการกัดโดยมีการยื้อแย่งและข่มขู่บ้างต่อมาจึงใช้ไม้ร่วมด้วย (ดูภาพประกอบ)
สุนัขที่มั่นใจมากขึ้นจะได้กัด เมื่อเห่าได้ดีพอ
ผู้ฝึกหลายคน อาจคิดว่า เป็นเรื่องไม่ถูกต้องที่ ผู้ล่อ จะเป็นผู้จัดการแก้ไข เมื่อสุนัขทำผิด แต่ผู้ฝึกต้องทำความเข้าใจในเรื่องของความสัมพันธ์ระหว่าง ผู้ล่อ กับ สุนัข ให้ดีเสียก่อนจึงจะเข้าใจในความหมายของการฝึกขั้นนี้ได้ดีขึ้น
ในสุนัขตำรวจพวกมันต้องเฝ้าระวังผู้ต้องสงสัยไว้อย่างดี เนื่องจากมีกฎที่ระบุไว้ชัดเจนว่า เมื่อใดมันจึงกัดได้หรือเมื่อใดห้ามกัดผู้ต้องสงสัย (เช่นเดียวกับกฎของการแข่งขัน Schutzhund) ซึ่งกฎนี้จะถูกควบคุมและบังคับใช้โดยผู้ล่อและผู้ฝึก
ผู้ล่อ ที่เฉื่อยชาเฉยเมยไม่แสดงอาการโต้ตอบสุนัขเลย สุนัขก็จะเห่าแบบไม่มีแรงกระตุ้น และตั้งท่าแต่จะกัดอย่างเดียว ไม่อยากเห่า เพราะเห่าแล้วไม่มีอะไรน่าสนใจเกิดขึ้น เหมือนสุนัขตำรวจที่ผู้ต้องสงสัยไม่แสดงท่าทีอยากจะหาทางหนี หรือคิดจะต้องสู้เลย สุนัขก็จะนั่งเฝ้าเฉย ๆ ไม่รู้สึกว่าต้องแสดงการควบคุม หรือข่มขู่ให้ยอมแพ้ เพราะผู้ต้องสงสัยยอมแพ้อยู่แล้ว
บทความนี้ได้กล่าวมาตลอดว่า การพัฒนาการกัดอย่างถูกต้องนั้นจะจำไปสู่การเห่าและเฝ้าที่ถูกต้องเช่นกัน ความสำเร็จขึ้นอยู่กับการฝึกฝนสุนัขให้ถูกต้องตามลำดับขั้นตอนทุกขั้นโดยละเอียดมาตั้งแต่ยังเป็นลูกสุนัขเล็ก ๆ ซึ่งวิธีการฝึกฝน และทบทวนบทเรียนที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นนี้ หากปฏิบัติตามอย่างจริงจังตามขั้นตอนก็จะเป็นทางหนึ่งที่เราจะได้รู้ว่า สุนัขเยอรมันเช็พเพอดของเรานั้นมีจิตประสาทมั่นคงแข็งแกร่งหรือไม่อย่างไร และจะเป็นประโยชน์ในการปรับเปลี่ยนวิธีการฝึกให้เหมาะสมกับสุนัขแต่ละตัว เพื่อพัฒนาจุดอ่อนและส่งเสริมจุดเด่นของสุนัขแต่ละตัวได้ถูกต้อง ให้สุนัขได้แสดงศักยภาพในจุดเด่นของตัวมันเองได้เต็มที่ท่าทีจะเป็นไปได้
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 47 (ตุลาคม 2544)
แหล่งที่มาบทความต้นฉบับและรูปภาพ : http://leerburg.com/bh2.htm
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/การฝึก-เฝ้าและเห่า-แต่ไม่กัด-/516918808345553