Skip to main content

หมาดีอยู่ที่ใจ (ตอนฝึกเก็บดัมเบล)

โดย : ภูมิพิทักษ์

   ผมได้รับปากกับผู้จัดทำนิตยสารของสมาคมฯ ว่าจะเขียนและแปลบทความเกี่ยวกับการฝึกหมา มาลงในวารสารฉบับนี้ แต่ความจริงประสบการณ์ของผมก็ค่อนข้างน้อย และเพื่อนฝรั่งที่แคนาดายังถือว่า ผมเป็นมือใหม่ ส่วนภาษาเยอรมันก็ไม่ใช่ถึงขั้นแตกฉาน เวลาอ่านบทความจากวารสาร SV ก็ต้องพึ่งพาพจนานุกรมเล่มใหญ่ และใช้วิธีเดาสุ่ม ตรงบ้าง ไม่ตรงบ้าง และแค่เพียงเพื่อจับใจความสำคัญเท่านั้น


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.germanshepherddog.com/samantha/100424-1610-SamDumbell.jpg

   ก่อนจะเข้าเรื่อง การฝึกหมาให้เก็บดัมเบล (ซึ่งจับใจความมาจากหนังสือ SV) ผมขอเล่าเกล็ดเล็กเกล็ดน้อย แต่แฝงด้วยปรัชญาให้ท่านผู้อ่านทราบเพื่อเป็นการปูพื้นให้ผู้อ่านเข้าใจทัศนะของผมเอง ซึ่งผมคิดว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับคนไทยพอสมควร
   ผมอาศัยอยู่ในประเทศแคนาดานาน 4 ปีเศษ และเป็นสมาชิกชมรมชุทซ์ฮุนด์ ภาคตะวันออกอยู่ในจังหวัดที่เรียกว่า Nova Scotia เป็นชมรมบ้านนอกเล็ก ๆ มีสมาชิก 7 - 8 คน และมีหมาทั้งสายใช้งานและสายประกวด และพันธุ์อื่น ๆ เช่น พิทบูลก็มี สมาชิกทุกคนฝึกหมาเป็นงานอดิเรกแต่ค่อนข้างจริงจัง ซึ่งหมายถึงว่า ทุกคนให้ความสำคัญกับงานอดิเรกนี้เป็นอันดับสาม รองจากครอบครัวและงานอาชีพที่ทำอยู่ เมื่อใดที่ว่างจากภาระหน้าที่อันดับหนึ่งและอันดับสอง ก็จะใช้เวลาฝึกหมากัน ดังนั้น การสังคมส่วนหนึ่งก็จะอยู่ในวงการผู้ฝึกหมาด้วยกัน
   เรื่องที่อยากจะเล่า... เป็นเรื่องของสมาชิกคนหนึ่ง ชื่อ Harry Alexander ซึ่งมีหมาเช็พเพอด สายใช้งาน 2 ตัว ตัวหนึ่งอายุ 11 ขวบ หูหนวก และตาก็มองไม่ค่อยเห็นแล้ว ส่วนอีกตัวหนึ่งอายุราว 4 ขวบ ซึ่งเขาเลี้ยงมาตั้งแต่เล็ก เพื่อนผมคนนี้ จะพาหมาทั้งสองมากับรถตู้ที่มีแต่ที่นั่งตอนหน้า ในรถคันนี้ จะมีอุปกรณ์ฝึกหมาแขวนอยู่เต็มไปหมด

   Harry เป็นนักกีฬาเล่นยกน้ำหนัก และก็ทำหน้าที่ผู้ก่อกวน (ผู้ล่อ) ด้วย
   หมาตัวเก่งของเขาชื่อ Condor von Leerberg เป็นหมาที่รูปร่างน่าเกลียดที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็น มันมีกระดูกเล็ก หัวเล็ก ผอมเรียวคล้าย ๆ ตัวเมีย Harry มักถูกเพื่อน ๆ ล้อเลียนว่า หมาเขาเป็นหมากระเทย
   ว่าไปแล้ว ผู้ที่เล่นสายฝึกเองก็ต้องการที่จะมีหมาที่มีรูปร่างบึกบึน กระดูกใหญ่ หัวโต น่าเกรงขาม แต่ Harry ไม่ใส่ใจกับสิ่งที่เป็นเปลือกนอกของหมา เขาเพียงต้องการฝึกให้มันเก่ง เท่าที่ทำได้ และใช้ความพยายามอย่างยิ่งยวดนานหลายปีจนประสบผลสำเร็จ ได้เป็นตัวแทนทีมแคนาดาไปชิงแชมป์ WUSV ที่เบลเยี่ยม เมื่อปีที่แล้ว เมื่อหมามีอายุ 7 ขวบ

   ปรัชญา ของ Harry เป็นปรัชญาของการกีฬาอย่างแท้จริง ซึ่งต้องอาศัยความมุ่งมั่นและทีมเวอร์คอย่างมาก ผมคิดว่าถ้าคนไทยเข้าใจปรัชญาของกีฬาชุทซ์ฮุนด์แล้ว วงการสุนัขใช้งานของเราจะพัฒนาไปได้มากมาย และรวดเร็วยิ่งขึ้น ขอให้ท่านเพียงนึกไว้เสมอว่า อะไรที่อยู่ในตัวและในใจหมานั้นต่างหากที่สำคัญกว่ารูปร่างหน้าตา เรื่องนี้เป็นเรื่องของการทำใจ ถ้าท่านทำใจได้ หมาก็จะมีใจให้ท่านอย่างแน่นอน


แหล่งที่มารูปภาพ : http://leerburg.com/Photos/NewDumbbells_01.jpg

   โอเคครับ.....ผมขอเข้าเรื่องการฝึกเก็บดัมเบล

   ในตอนแรกเลยหัวเรื่องตามภาษาเยอรมันแปลได้ว่า “ การเก็บสิ่งของ ” ต้องทำด้วยความดีใจ รวดเร็วและแม่นยำ การเก็บดัมเบลนี้ ค่อนข้างจะสำคัญ ในการสอบเชื่อฟังคำสั่งเฟส B กล่าวคือ มีการให้คะแนนถึง 40 คะแนนจากร้อย, 10 คะแนนจากการเก็บจากพื้นดิน 15 คะแนนจากการเก็บโดยการกระโดดข้ามรั้ว และ 15 คะแนนจากการเก็บโดยการปีนกำแพง

การกระโดดข้ามรั้ว
การกระโดดข้ามรั้ว
แหล่งที่มารูปภาพ : http://cdn2-b.examiner.com/sites/default/files/styles/image_content_width/hash/54/46/544607e3abcc5214cde35b018a9180db.jpg

การปีนกำแพง
การปีนกำแพง
แหล่งที่มารูปภาพ : http://cdn2-b.examiner.com/sites/default/files/styles/image_content_width/hash/81/c6/81c60463691351cd5f781727a5c4cd04.jpg

   ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า ในแบบฝึกหัดนี้ หมาจะต้องวิ่งออกไปโดยเร็ว คล้ายกับม้าควบ และเก็บดัมเบล โดยไม่ชักช้า และไม่เคี้ยวเล่นในปาก และกลับมานั่งตรงหน้าเกือบชิดหน้าขาของผู้คุม มันยังจะต้องรอคำสั่งให้คายดัมเบล และเข้าชิดข้างอีกด้วย ฟังแล้วดูง่ายแต่หมาไม่น้อยที่วิ่งออกไปชักช้า ไม่ยอมกระโดดข้ามรั้ว หรือปีนกำแพง ที่ร้ายกว่านั้น คือ เก็บดัมเบลไปเล่นเองจนผู้คุมต้องเรียก จนเสียงแหบเสียงแห้ง

ดัมเบล
ดัมเบล
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.albertaschutzhund.com/Igor%20with%20Dumbbell.jpg

   เทคนิคสำคัญของการฝึก คือการฝึกโดยการเล่น หรือที่เรียกว่า “ Spielmethoden ” โดยธรรมชาติ หมาที่มีแรงขับไล่ล่า จะชอบไล่อะไรที่เคลื่อนไหวอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น การโยนดัมเบล และสั่งให้หมาวิ่งออกไปมักไม่ค่อยเป็นปัญหา แต่ปัญหา คือ ตอนที่หมาคาบดัมเบลแล้ว มันไม่มีเหตุผลที่จะต้องวิ่งกลับมาหาผู้คุม เพราะมันจะต้องเสียดัมเบลในการนี้ เราจึงต้องใช้การฝึกโดยการเล่น เพื่อทำให้มันวิ่งกลับมาโดยเร็ว

   หมาหลายตัว วิ่งช้า และนั่งอย่างไม่มั่นใจ เพราะความกังวลและความไม่เต็มใจ สังเกตได้จากหูและตาของมัน ว่ามันใส่ใจในการทำงานหรือไม่ พฤติกรรมนี้เกิดจากการฝึก โดยการบังคับด้วยกำลัง

ดัมเบลที่ใช้ควรเป็นแบบที่ออกแบบพิเศษ โดยมียางห่อหุ้มก้านตรงกลางและมีเชือกยื่นออกมาจากข้างทั้งสองเพื่อการควบคุม
ดัมเบลที่ใช้ควรเป็นแบบที่ออกแบบพิเศษ โดยมียางห่อหุ้มก้านตรงกลางและมีเชือกยื่นออกมาจากข้างทั้งสองเพื่อการควบคุม
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.petworldindustry.com/img/products/562-492-50061.jpg

   ก่อนอื่น ในการฝึกเล่นนี้ต้องทำด้วยเวลาสั้น ๆ และไม่บ่อยครั้ง ดัมเบลที่ใช้ควรเป็นแบบที่ออกแบบพิเศษ โดยมียางห่อหุ้มก้านตรงกลางและมีเชือกยื่นออกมาจากข้างทั้งสองเพื่อการควบคุม นอกจากดัมเบลแบบพิเศษนี้แล้ว เรายังใช้ แท่งล่อกัด หรือแผ่นหนังหรือลูกบอลยางที่มีเชือกผูกติดอยู่ เป็นของเล่นในการฝึกด้วย อย่าลืมว่าของเล่น ดังกล่าวนี้ จะให้สุนัขเล่นเมื่อมันอยู่กับเรา และจะไม่ทิ้งไว้กับสุนัขเมื่อมันอยู่ตามลำพัง ตอนแรกจะไม่เริ่มสอนให้เก็บเลย แต่เป็นการเล่นโดยใช้ของเล่นนี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้สุนัขรู้สึกสนุกสนาน


ลูกบอลยางที่มีเชือกผูกติดอยู่
ลูกบอลยางที่มีเชือกผูกติดอยู่
แหล่งที่มารูปภาพ : http://leerburg.com/Photos/BallString_05.jpg

แท่งล่อกัดที่มีเชือกผูกติดอยู่
แท่งล่อกัดที่มีเชือกผูกติดอยู่
แหล่งที่มารูปภาพ : http://leerburg.com/Photos/MiniTug_09_03.jpg


การเล่นโดยใช้ของเล่นนี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้สุนัขรู้สึกสนุกสนาน
การเล่นโดยใช้ของเล่นนี้เป็นเครื่องกระตุ้นให้สุนัขรู้สึกสนุกสนาน
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.schutzhund-bite-sleeves-k9-store.com/images/dog-training-equipment/Puppy-working-jute-bite-rag-puppy-training-toys-Schutzhund-Training.jpg

   บทเรียนแรก คือ สอนให้หมาวิ่งมาหา เพื่อรับดัมเบลจากมือเรา เราจะต้องทำให้มันเข้าใจว่า ดัมเบล คือ เหยื่อ ซึ่งอยู่กับเจ้านายมัน และถ้ามันวิ่งมาหามันจะได้เหยื่อนั้น มิใช่วิ่งจากไป เราจะออกคำสั่ง “ Bring ” “ เก็บ ” หรือ “ เอามา ” ในขณะที่หมาวิ่งมาหาเรา มิใช่วิ่งออกไป การฝึกนี้อาจต้องอาศัยผู้ช่วยคอยดึงหมาไว้ แล้วเราเรียกให้หมามาหาเพื่อรับดัมเบลจากมือเรา

   สมมติเรา เริ่มฝึก หมาที่มีอายุระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน เราจะต้องหาที่ ๆ เงียบสงบ และมีแต่ผู้คุมกับหมาและผู้ช่วยฝึกคนหนึ่งเท่านั้น ใช้สายจูง ยาวประมาณ 1.20 เมตร ผู้ช่วยจะดึงหมาไว้ ในระยะห่างจากผู้คุมประมาณ 10 ถึง 15 เมตร ผู้คุมจะล่อให้หมาสนใจ หมาควรจะแสดงอาการตื่นเต้น ใจจดใจจ่อ และเห่า ผู้คุมจะหลอกล่อด้วยดัมเบล ซึ่งมีเชือกยาวประมาณ 3 เมตร ผูกติดอยู่เราจะเหวี่ยงมันไปทางซ้ายและขวา และด้วยจังหวะเร็วและช้า และสาวกลับเข้าหาตัว นี่คือขั้นตอนการปลุกเร้าหรือกระตุ้น
 
   เมื่อผู้คุมออกคำสั่ง “ Bring ” หรือ “ เก็บ ” ผู้ช่วยจะปล่อยหมาทันที หมาจะวิ่งตรงมากัดที่ก้านของดัมเบล และผู้คุมจะเล่นกับหมา ในลักษณะที่ดูเหมือนว่า แย่งดัมเบลกัน สักครู่หนึ่งผู้คุมจะปล่อยดัมเบล และ คว้าสายจูง พร้อมวิ่งไปกับหมา สัก 2 รอบใหญ่ ผู้คุม ต้องทำให้หมารู้สึกว่ามันชนะ โดยการคาบเหยื่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องทำเหมือนว่า การที่มันได้เหยื่อไปนี้เป็นผลของ ทีมเวอร์ค ซึ่งก็คือ การวิ่งด้วยกัน ผู้คุมต้องไม่ใช้คำสั่งอื่น หรือสั่งให้มันคายดัมเบล  จนกว่ามันจะ “ คาบ ” ได้อย่างมั่นคง และด้วยความใส่ใจ

   การสอนให้คาย หรือปล่อยดัมเบลมีหลายวิธี แต่วิธีที่จะนำเสนอในตอนนี้ คือ การทำให้หมาเข้าใจว่า ถ้ามันคาบเหยื่อไว้ และต่อสู้เพื่อได้เหยื่อ และแสดงความขยันขันแข็ง มันจะได้เหยื่ออีกครั้ง เราจะถือลูกบอล ( หรือของเล่นที่มันชอบ ) ในมืออีกข้าง เพื่อการนี้และให้หมาได้บอล ( หรือของเล่น ) เมื่อมันคายดัมเบล ตามคำสั่ง “ Aus ” หรือ “ ปล่อย ”

   ขอสรุปกระบวนการที่เพิ่งอธิบายข้างต้นในเชิงทฤษฎี ดังนี้ คือ : การปลุกเร้าหรือกระตุ้น การตอบสนอง และการเสริมแต่ง ซึ่ง ทั้ง 3 อย่างนี้ เป็นกระบวนการสร้างสถานการณ์ ให้เกิดการเรียนรู้และจดจำ ถ้าหมาสัมผัสน้ำเป็นครั้งแรกในฤดูหนาว มันก็จะนึกว่าน้ำนั้นเย็นจัดเกินไป และต้องหลีกเลี่ยง แต่ถ้ามันสัมผัสน้ำเป็นครั้งแรกในฤดูร้อน มันก็จะนึกว่าน้ำนั้นเย็นดี ช่วยผ่อนคลายความร้อนทำให้มันรู้สึกสบาย และต่อไปมันก็จะเรียนรู้ว่าน้ำนั้นมีร้อนมีเย็น

   ขั้นต่อมา คือ การสอนให้หมาเก็บดัมเบลจากพื้น เราจะสั่งให้หมาหมอบในสายจูงยาว และ ถอยห่างออกไปจากหมาประมาณ 10 ก้าว วางดัมเบลไว้บนพื้น พอออกคำสั่ง “ Bring ” หรือ “ เก็บ ” ฯลฯ หมาจะวิ่งมาเก็บดัมเบล แล้วผู้คุมจะวิ่งไปกับมันในสายจูง


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=10151392168682781&set=a.10150261730472781.328324.532157780&type=3&theater

   ขั้นต่อมา คือ การสอนให้นั่งขณะที่คาบดัมเบลอยู่ในปาก จุดสำคัญคือ หมาจะต้องคาบดัมเบล อย่างมั่นคง และอยู่ในอาการสงบ เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในขณะที่ หมาอยู่ในสภาพการที่ถูกปลุกเร้า ก่อนอื่น เราจะสอนสุนัขให้นั่งชิดข้างขณะคาบดัมเบล   ซึ่งจะทำให้สุนัขไม่รู้สึก กดดัน และทำให้สุนัขรู้สึกเป็นทีมเดียวกันกับผู้คุม
 
   ถึงขั้นนี้ เราจะยังไม่สั่งหมา ให้ออกไปเก็บดัมเบล ด้วยคำสั่ง “ Bring ” หรือ “ เก็บ ” แต่เรายังคงเน้นการทำงานเป็นทีม โดยเปรียบเสมือนว่า ผู้คุมกับหมาไปเก็บดัมเบลด้วยกัน ขอเรียกขั้นตอนนี้ว่าการเดินพาเรด เราจะสั่งหมาให้นั่งชิดข้าง แล้วค่อย ๆ เดินออกไปจากมันสัก 1 เมตรแล้ววางดัมเบลลงบนพื้น จากนั้นก็เดินกลับ มายังตำแหน่งเดิม แล้วจึงออกคำสั่ง “ Bring ” หรือ “ เก็บ ” แล้วก้าวตามมันไปเก็บดัมเบล และยืนชิดข้างในลักษณะเดิม เราจะชมเชยมันด้วยคำพูดและการลูบหัวหรือตัว แต่จะต้องไม่ทำให้มันรุกลี้รุกลย เราต้องการหมาที่ตื่นตัวแต่อยู่ในอาการสงบ เราจะต้องใช้การควบคุมทางจิตวิทยา ซึ่งหมายความว่า เราต้องทำจิตอารมณ์ของเราก่อน แล้วถ่ายทอดจิตอารมณ์นั้นให้หมาอีกทีหนึ่ง พูดง่ายๆ คือว่าถ้าผู้คุมเองรุกลี้รุกลนแล้ว หมาก็เป็นตามนั้นด้วย
   ขั้นตอนต่อไปคือ การเพิ่มระยะห่างจากดัมเบล เป็น 2 เมตร และ 3 เมตร ตามลำดับ และอาจวิ่งย้อนกลับทางเดิมด้วย ต่อมา ผู้คุมอาจยืนระหว่างหมากับดัมเบล ก่อนออกคำสั่ง “ Bring ” หรือ “ เก็บ ” สิ่งสำคัญระหว่างการฝึกนี้ คือ จะต้องทำให้หมาวิ่งด้วย ความรวดเร็ว และด้วยความดีใจ ถ้าทุกอย่างเป็นไปด้วยดี เราก็จะเริ่มฝึกให้มันนั่งคอยขณะคาบดัมเบลอยู่
   เราจะเริ่มสั่งให้คายหรือปล่อยดัมเบล เมื่อมันทำขั้นตอนแบบฝึกหัดข้างต้นได้ดี และไว้ใจได้แล้ว โดยเมื่อหมานั่งลงสักครู่หนึ่ง เราจะใช้มือจับดัมเบลข้างหนึ่งและออกคำสั่ง “ AUS ” หรือ “ ปล่อย ” พอมันปล่อย เราอาจให้มันคาบอีกครั้ง หรือไม่ก็ปาดัมเบลออกไปให้เก็บอีก
 

แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.facebook.com/photo.php?fbid=481781387780&set=a.481778592780.257599.532157780&type=3&theater

   ขั้นตอนสุดท้าย คือ การสั่งให้ไปเก็บดัมเบลแล้วมานั่งตรงหน้าซึ่งถ้าทุกอย่าง เป็นไปตามขั้นตอนข้างต้นทั้งหมด หมาจะเก็บดัมเบลมาโดยเร็ว และนั่งตรงหน้า โดยธรรมชาติ โดยไม่ต้องเพิ่มเติมการฝึกอะไรอีก

   หัวใจของการฝึกเก็บดัมเบล ตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนี้ คือการฝึกแบบไร้ความกดดัน ซึ่งจะทำให้หมาทำงานอย่างสงบ ไม่รุกลี้รุกลน ควรหลีกเลี่ยงการตบที่จมูกหรือคาง ในกรณีที่มันเคี้ยวดัมเบล เพราะจะทำให้มันขาดความมั่นใจ และถ้ามันขาดความมั่นใจ มันก็จะยิ่งเคี้ยวดับเบลมากขึ้น การทำงานเป็นทีมก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน ถ้าทำได้ถึงขั้นนี้เราก็อาจ “ พิสูจน์ ” หมาโดยการไปฝึกที่มีสภาพแวดล้อมที่รบกวนสมาธิ เช่น ที่ ๆ มีคนพลุกพล่าน และที่ ๆ มีหมาอื่นวิ่งเล่นอยู่

   เป็นอันว่าจบการแปลแบบจับใจความเรื่องการเก็บดัมเบล แต่ผมเองอยากขอเพิ่มเติม วิธีการฝึกตามประสบการณ์ของตนเอง กล่าวคือ เราอาจใช้สายจูงยาวสิบเมตร ดึงให้หมากลับมาหาโดยเร็ว หลังจากที่มันเก็บดัมเบลได้แล้ว อีกวิธีหนึ่ง คือ มีดัมเบลอีกอันไว้โยนลอดข้ามหว่างขา เวลามันวิ่งกลับมา กลเม็ดต่าง ๆ เหล่านี้ ขึ้นอยู่กับผู้คุมและหมา โดยมีเป้าหมายที่ให้มันทำงานได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำด้วยความร่าเริงยินดี

   ขอแถมท้ายนิดหนึ่งเกี่ยวกับ แผนการส่งเสริมกีฬาชุทซ์ฮุนด์ ว่าผมและเพื่อน ๆ อีกหลายคนอยากจะจัดสัมมนาสัก 2 ครั้ง ในปีนี้ โดยมีเงื่อนไขว่า ทุกคนที่มาจะต้องนำหมามาฝึกในสัมมนาด้วย เราจะเน้นภาคปฎิบัติ และจะเรียนรู้ระหว่างปฎิบัติ ในครั้งแรก จะใช้บุคลากรในประเทศก่อน และครั้งที่สอง จะใช้ผู้เชี่ยวชาญจากเยอรมัน เราอยากจะเปิดอบรมเทคนิคการก่อกวนด้วย
   ในต่างประเทศ การฝึกหมา ชุทซ์ฮุนด์ เป็นกีฬาอย่างหนึ่ง คล้าย ๆ กับ กอล์ฟ หรือ เทนนิส ซึ่งท่านจะฝากใครเล่นแทนไม่ได้ ถ้าอยากเล่นก็ต้องลงมือเอง ผมคิดว่าคนไทยไม่น้อยคิดว่า การเลี้ยงและฝึกหมาด้วยตัวเอง เป็นเรื่องต่ำต้อย แต่ถ้าท่านได้สัมผัสกีฬาที่ว่านี้อย่างจริงจังแล้ว ผมเชื่อว่า ทัศนะนี้จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอน และทุกคนจะมีหมาคู่ใจอย่างแท้จริง
   ผมได้แปลหนังสือ วิธีการฝึก ชุทซ์ฮุนด์ ขายในราคา 350 บาท และคู่มือกฎข้อบังคับ สำหรับการประเมินความสามารถของสุนัขใช้งาน ขายในราคา 200 บาท ( ค่าส่ง 50 บาท ) ท่านที่สนใจ โปรดโทรสั่งได้ที่ 081-8370214

หมายเหตุ : **Harry sinv Harols Alexander ได้เล่าประสบการณ์ของเขากับ Condor หมาตัวเก่งที่หอบหิ้วกันไปลงแข่งขัน ร่วมกับทีมชาติแคนาดา ในงาน WUSV 1999 ที่ เยอรมนี ซึ่งได้นำมาแปลลงในวารสารเช็พเพอดเล่มนี้ด้วยเช่นกัน คือเรื่อง “ ครั้งแรกในชีวิต ” และหวังว่าจะมี “ ครั้งที่สองในชีวิต ” ( หากเขาจะเล่าถึง ) เมื่อเขานำ Condor ลงแข่งขันในงาน WUSV 2000 ที่เบลเยียม และได้ลำดับที่ 73 จากหมาที่แข่งขัน รอบสุดท้าย 135 ตัว
 
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 46 ( มิถุนายน 2544 )

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :

คลิปตัวอย่างการฝึกคาบดัมเบล

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/หมาดีอยู่ที่ใจ-ตอนฝึกเก็บดัมเบล-/547296931974407