BH คืออะไร
(บทความนี้ เรียบเรียงจากกฎระเบียบการดำเนินการทดสอบสุนัขใช้งาน ซึ่งใช้อยู่ในประเทศเยอรมนี)
บทนำ
BH มาจากคำว่า Begleitshund ในภาษาเยอรมัน แปลเป็นภาษาอังกฤษได้ว่า Companion Dog หมายถึงสุนัขที่เจ้าของจะพาไปไหนมาไหนด้วยได้ โดยไม่ก่อปัญหาทั้งต่อเจ้าของและต่อผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา ตลอดจนสามารถนำมาเลี้ยงดูในครอบครัว และอยู่ร่วมกับสมาชิกในครอบครัวรวมถึงเด็ก ๆ โดยอย่างปลอดภัย
การทดสอบ BH เป็นการทดสอบลักษณะนิสัย, จิตประสาท และการแสดงออกของสุนัขในสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ กัน ก่อนที่จะนำสุนัขไปฝึกในขั้นต่อ ๆ ไป หรือนำไปใช้งานด้านต่าง ๆ รวมถึงการนำไปเลี้ยงเป็นสมาชิกในครอบครัว สุนัขจะต้องมีลักษณะนิสัย, จิตประสาท และการแสดงออกที่ดีพอเพียงเท่านั้น จึงจะสามารถผ่านการทดสอบนี้ได้
1. ข้อกำหนดทั่วไป
สุนัขที่จะเข้าสอบอารักขา (Schutzhund) จะต้องผ่านการทดสอบ BH ก่อนโดยได้รับการรับรองผลเป็นส่วนหนึ่งของการสอบอารักขา ซึ่งการทดสอบนี้ได้พัฒนาขึ้น สำหรับใช้ในการประเมินลักษณะนิสัยเบื้องต้นของสุนัข เพื่อคัดสุนัขที่มีลักษณะนิสัยไม่พึงประสงค์ เช่น ก้าวร้าว, ระแวง, ขี้อาย, ประสาทอ่อน เป็นต้น ออกจากการแข่งขันกีฬา และการนำไปใช้งานอื่น ๆ สุนัขจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีและมีจิตประสาทที่มั่นคงจริง ๆ เท่านั้นจึงจะสามารถลงแข่งกีฬาชุทซ์ฮุนด์ (Schutzhund) ได้
สุนัขทุกขนาดและทุกสายพันธุ์ สามารถเข้ารับการทดสอบ BH ได้ทั้งสิ้น โดยต้องมีอายุอย่างน้อย 15 เดือนขึ้นไป
ผลการทดสอบไม่มีการให้คะแนน มีเพียงการระบุว่า “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” การทดสอบจะถือว่า “ผ่าน” เมื่อได้คะแนน 70% ขึ้นไป ในขั้นตอน A และมีการแสดงออกที่อยู่ในขั้น “ใช้ได้” ในขั้นตอน B
การที่ได้รับตำแหน่ง BH ไม่ถือเป็นตำแหน่งระบุความสามารถเกี่ยวกับการฝึก ในแง่ของการใช้ในการผสมพันธุ์, การประกวด, การคัดพันธุ์, หรือนำไปใช้แสดงความเป็นสมาชิก VDH
สำหรับการทดสอบ BH ไม่มีการกำหนดช่วงเวลาที่จะทำการทดสอบซ้ำ (เมื่อการทดสอบครั้งแรกไม่ผ่าน)
2. การทดสอบจิตประสาทขั้นต้น (Temperament Test)
ก่อนที่จะนำสุนัขเข้าทดสอบขั้นตอนใด ๆ ก็ตาม สุนัขจะต้องผ่านการทดสอบ จิตประสาทขั้นต้นก่อนทุกครั้ง โดย ผู้จูงนำสุนัขเข้าไปรายงานตัวต่อกรรมการ ซึ่งกรรมการจะทำการตรวจเบอร์หูของสุนัข และสัมผัสทักทายกับผู้จูงและสุนัขไปด้วย เพื่อสังเกตปฏิกิริยาของสุนัข ก่อนจะเริ่มดำเนินการทดสอบ
3. การทดสอบ BH แบ่งเป็น 2 ตอนคือ
3.1 ตอน A: การทดสอบความเชื่อฟังคำสั่ง ทำในสนามฝึกหรือที่โล่งธรรมดา โดยมีสุนัขตัวอื่นหมอบอยู่ในบริเวณนั้นด้วย 1 ตัว คะแนนเต็ม 60 คะแนน ต้องได้ 70% (42 คะแนน) ขึ้นไปจึงถือว่า “ผ่าน”
- การเดินชิด ในสายจูง (15 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”
- การเดินชิด นอกสายจูง (15 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”
- การสั่งนั่งระหว่างเดิน (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”, “นั่ง”
- การสั่งหมอบระหว่างเดิน และเรียกมาหา (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “ชิด”, “หมอบ”, “มานี่” หรือชื่อสุนัข
- การหมอบคอยโดยมีสิ่งรบกวน (10 คะแนน) ใช้คำสั่ง “หมอบ”, “นั่ง”
แต่ละแบบทดสอบจะเริ่มและจบลงด้วยท่าเตรียมพร้อม (Basic Position) โดยสุนัขนั่งชิด ขนานกับผู้จูงทางด้านซ้าย ไหล่ขวาเสมอแนวเข่าของผู้จูง
การจบของแต่ละแบบทดสอบ ใช้เป็นท่าเริ่มต้นของแบบทดสอบต่อไปได้
กรรมการจะเป็นผู้ให้สัญญาณผู้จูง ให้เริ่มการทดสอบ การทำท่าต่อไป เช่น การหันกลับ, การหยุด, การเปลี่ยนจังหวะเดิน กระทำได้โดยไม่ต้องรอกรรมการให้สัญญาณทั้งนี้ ผู้จูงอาจขอให้กรรมการเป็นผู้ให้สัญญาณทั้งหมดเองก็ได้
การชมเชยสุนัข การะทำได้ ตอนสิ้นสุด ของแต่ละแบบทดสอบ หลังจากนั้นผู้จูงอาจเข้าสู่ท่าเตรียมพร้อมใหม่ หรืออาจหยุดนิ่งประมาณ 3 วินาทีหลังจากชมเชยสุนัขแล้วจึงเริ่มทำแบบทดสอบต่อไป
*** ปรับปรุงตามกติกาใหม่ เริ่มปี 2019 ศึกษาได้ที่ http://fci.be/medias/UTI-REG-IGP-en-10245.pdf หน้า 22 ***
3.2 ตอน B: การทดสอบในบริเวณที่มีการสัญจร เป็นการทดสอบจิตประสาท ในบริเวณที่มีการสัญจรไปมา, มีรถยนต์, จักรยานยนต์, มีคนเดินและวิ่งผ่านตลอดจนมีเสียงดังที่สุนัขไม่คุ้นเคย
การทดสอบนี้ จะกระทำ ในที่สาธารณะโดยไม่กีดขวางการสัญจรตามปกติ ในบริเวณดังกล่าว จะมีเฉพาะสุนัขที่เข้าทำการทดสอบ, กรรมการสอบและกลุ่มผู้ดำเนินการสอบซึ่งเตรียมพร้อมอยู่ในบริเวณนั้น
สุนัขและผู้จูงอื่นๆ ที่จะเข้าทดสอบในลำดับต่อไป ต้องคอยอยู่ในที่ที่กำหนดให้เท่านั้น
การดำเนินการทดสอบในส่วนนี้ ไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพแวดล้อมขณะนั้น และข้อจำกัดอื่นๆ ดังนั้นจึงกำหนดให้ มีการทดสอบสุนัขขั้นตอนนี้อย่างมากที่สุดเพียง 15 ตัวต่อการทดสอบ 1 ครั้ง
การพิจารณาให้การทดสอบ “ผ่าน” หรือ “ไม่ผ่าน” ในตอนนี้ กรรมการจะพิจารณาจากปฏิกิริยา และการแสดงออกโดยรวมของสุนัขต่อสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ในขณะนั้น
3.2.1 B-1 : การควบคุมสุนัขในบริเวณที่มีการสัญจรปกติ
กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูงนำสุนัขเดินในสายจูงบนทางเท้า (สายจูงต้องหย่อนตลอดเวลา) โดยมีกรรมการเดินตามไปในระยะที่เหมาะสม ระหว่างทางจะมีคนวิ่งผ่านสุนัขมาจากด้านหลังขึ้นหน้าไป 1 ครั้ง ต่อมามีรถจักรยานขับผ่านสุนัขมาจากด้านหลังพร้อมกับสั่นกระดิ่งหรือบีบแตร หลายครั้ง
ผู้จูงนำสุนัขเดินกลับมาที่กรรมการ ยืนพูดคุยทักทายด้วยการจับมือ ระหว่างนี้สุนัขอาจนั่ง, ยืน, หรือหมอบก็ได้ แต่ต้องอยู่ในอาการสงบ
3.2.2 B-2 : พฤติกรรมของสุนัขในบริเวณที่มีการสัญจรคับคั่ง
กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูงนำสุนัขเดินเข้าไปในบริเวณที่มีฝูงชนสัญจรคับคั่ง ระหว่างนี้มีการหยุด 2 ครั้ง ในฝูงชน
หยุดครั้งแรก สั่งสุนัข นั่ง สุนัขต้องนั่งลงตามคำสั่ง หยุดครั้งที่ 2 สั่งสุนัขหมอบ สุนัขต้องหมอบลงทันทีและคอยอยู่ในท่าหมอบ มีการพาสุนัขเดินเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังมาก ๆ ซึ่งสุนัขไม่คุ้นเคย สุนัขต้องสนใจในตัวผู้จูงและเดินติดตามไปด้วยความเต็มใจ โดยไม่แสดงอาการผิดปกติเมื่อผ่านฝูงชนและได้ยินเสียงดัง
3.2.3 B-3 : พฤติกรรมของสุนัขเมื่ออยู่ลำพัง ในบริเวณที่มีการสัญจรและมีสัตว์อื่น
กรรมการให้สัญญาณ ผู้จูง, จูงสุนัขเดินไปตามทางเท้าระยะหนึ่ง กรรมการชี้จุดให้หยุด ผู้จูงหยุดและล่ามสุนัขไว้กับเสา, รั้วหรือที่ล่ามที่เหมาะสมแล้ว ผู้จูงเดินเข้าไปในร้านค้าหรือที่ๆ ลับสายตาสุนัขประมาณ 2 นาที ระหว่างนี้สุนัขจะนั่ง, ยืน, หรือหมอบก็ได้
ขณะที่สุนัขถูกล่ามไว้ตามลำพัง มีคนจูงสุนัขตัวอื่น เดินผ่านหน้าสุนัขที่ล่ามไว้ในระยะห่างประมาณ 5 ก้าว สุนัขต้องอยู่ในอาการสงบ ไม่แสดงความก้าวร้าว เช่น กระโจนใส่หรือเห่าใส่ผู้จูงและสุนัขที่เดินผ่านเข้ามา
หมายเหตุ : กรรมการผู้ทดสอบจะเป็นผู้พิจารณาว่าจะดำเนินการทดสอบสุนัขแต่ละตัว ในบริเวณที่กำหนดจนเสร็จสิ้น หรือจะทดสอบสุนัขทุกตัวในขั้นตอนเดียว ณ บริเวณนั้น เสร็จแล้วจึงย้ายไปทดสอบขั้นตอนอื่น ๆ ที่อื่นต่อไป
เอกสารอ้างอิง : What is Schutzhund? By S. Barwig & S. Hillard, Howell. Base on the book “Schutzhund Theory & Training Methods”
แปลโดย .... สมาชิก 6098
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 49 (ธันวาคม 2545)
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/BH-คืออะไร/511705215533579