ความคิดเห็น จากสัตวแพทย์น้ำกร่อย
โดย : น.สพ.สายันต์ คงเพชร
มาคุยกันเรื่อง หนามยอกอกของสุนัขเช็พเพอดของพวกเราดีกว่า ซึ่งไม่รู้ว่าที่สุดของหนามจะหมดได้หรือไม่? หมดด้วยวิธีใด? หรือถ้าหนามที่ว่าไม่มีทางหมดได้แล้ว ที่สุดของที่สุดจะเหลือเท่าใด หนามยอกอกที่ว่านี้ เซียนเซ็พเพอดทั้งหลายคงจะเดาได้ไม่ผิด นั่นคือเรื่องของข้อตะโพก ซึ่งเราๆ ท่านๆ ทั้งหลายเป็นกระวนกระวายต้องคอยลุ้นกันว่า เมื่อหมาน้อยของเราอายุวัยเริ่มหนุ่มสาว คือ ประมาณ 12 เดือน เราต้องนำไปถ่ายเอ็กซ์-เรย์ แล้วก็คอยผลว่าการอ่านฟิล์มของทางสมาคมฯ ที่ใช้มาตรฐานทางวิชาการของสัตวแพทย์เป็นบรรทัดฐาน จะปรากฏผลอยู่ในขั้นใด ปกติ เกือบปกติ ยังคงให้ผ่าน หรือไม่ผ่าน
ณ ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีเซียนเช็พเพอดท่านใด สามารถชี้ชัดได้ก่อนการอ่านฟิล์ม แม้ว่าจะเกิดจากพ่อแม่ที่อยู่ในขั้นปกติทั้งคู่ ลูกก็ใช่ว่าจะต้องปกติทุกตัวตามไปด้วย นั่นก็เนื่องจากว่าหน่วยถ่ายทอดลักษณะ จากพ่อแม่ไปสู่ลูกมีความซับซ้อนมากไม่เหมือนเครื่องพิมพ์หนังสือ ซึ่งจะปั๊มออกมาเป็นร้อยเป็นพันชุด ก็เหมือนกันหมด แหม ถ้าเหมือนเครื่องพิมพ์เราๆ ก็หมดสนุกกัน หมดสิทธิ์ไปวิ่งหูตาเหลือกกลางแดดเปรี้ยงๆ
หน่วยถ่ายทอดลักษณะที่ว่านี้ มีความซับซ้อนมาก ถ้าจะเปรียบให้พอเข้าใจง่ายๆ ก็คือ ในสุนัขตัวหนึ่งจะมีตัวควบคุม ทั้งลักษณะดี และลักษณะเลวปนอยู่ สมมติว่า ทั้งหมดมี 10 ชุด ถ้าลักษณะดีมี 7 ลักษณะ เลวมี 3 ลักษณะ ก็จะออกมาค่อนข้างดี ถ้าเราต้องการให้มีตัวควบคุมลักษณะดีในรุ่นลูกดีกว่าตัวนี้ อย่างน้อยก็ต้องมีตัวควบคุมลักษณะดีเป็น 8 แล้วลักษณะเลวเหลือ 2 โดยตัวควบคุมลักษณะนี้ต้องมาจากตัวพ่อครึ่งหนึ่ง ตัวแม่ครึ่งหนึ่ง
ตัวอย่าง การถ่ายทอดลักษณะ จากพ่อและแม่สุนัข ที่มีลักษณะ ดี 7, เลว 3 ไปยังรุ่นลูก ซึ่งจะให้ลักษณะไปยังรุ่นลูกได้ต่างกันดังนี้
ลักษณะของพ่อแม่สุนัข
พ่อสุนัข แม่สุนัข
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว
1 2 3 4 5 6 7 1 2 3 1 2 3 4 5 6 7 1 2 3
ชุดยีนสืบพันธุ์แบ่งครึ่ง จากพ่อ และแม่
ดี ดี เลว เลว เลว ดี ดี เลว เลว เลว
ดี ดี ดี เลว เลว ดี ดี ดี เลว เลว
ดี ดี ดี ดี เลว ดี ดี ดี ดี เลว
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี
เมื่อรวมครึ่งหนึ่งจากพ่อ และแม่ จะได้เป็นยีนที่รุ่นลูก
ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว เลว เลว เลว ^
ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว เลว เลว | เลวลง
ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว เลว |
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว เลว เท่าพ่อและแม่
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว เลว |
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี เลว | ดีขึ้น
ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี ดี v
จากตัวอย่างจะเห็นว่า การถ่ายทอดลักษณะก็ยังคงสามารถให้ลักษณะดีขึ้นหรือเลวลงก็ได้ แต่โอกาสเกิดลักษณะดีหรือเลว ก็มากน้อยตามจำนวน นั่นคือ ถ้ากลุ่มที่มีลักษณะดี 9 ลักษณะเลว 1 ย่อมให้ลูกที่ดีกว่ากลุ่มที่มีลักษณะดี 7 ลักษณะเลว 3 หวังว่าคงจะงงมากขึ้นนะ
เมื่อเราหันกลับมาดูในปัจจุบัน ประเทศเยอรมนีที่มีประชากรเช็พเพอดมาก มีการเก็บข้อมูลเรื่องปัญหาข้อตะโพกได้อย่างดี ได้ทำการคัดเลือกจนปัญหาข้อตะโพกลดลงไป เหลือ 6-7 เปอร์เซ็นต์ ปรากฏว่ากลับย่ำอยู่กับที่ ปัญหาไม่ลดลงไปกว่านี้ นั่นก็เพราะความซับซ้อนของลักษณะการถ่ายถอดพันธุกรรม ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น และกรรมวิธีในการบีบให้ปัญหาลดลงยังไม่เข้มเพียงพอ
คราวนี้เราหันมาดูความสำคัญ และความสัมพันธ์ของข้อตะโพกกัน ก่อนอื่นเราดูโครงกระดูกทั้งร่างกายก่อน จาก หัว คอ กระดูกสันหลังยาวเหยียดไปกระดูกหาง เป็นแกนที่สำคัญของร่างกายสุนัข ถ้าสุนัขไม่ต้องเคลื่อนที่ไปไหน เราก็ไม่ต้องสนใจส่วนอื่นแล้ว แต่เมื่อสุนัขต้องเคลื่อนที่ จึงจำเป็นต้องมีตัวผลักแกนร่างกายให้เคลื่อนที่ นั่นคือ ขาทั้ง 4 ของสุนัข พลังจะเกิดการถ่ายออกมาจากกล้ามเนื้อเข้าสู่กระดูกขายันไปที่พื้น แล้วพลังย้อนกลับจะถ่ายจากปลายเท้าผ่านกระดูกขา เข้าสู่แกนที่สำคัญของร่างกายทำให้สุนัขเคลื่อนที่ได้ จุดผ่านของแรงที่สำคัญมากจุดหนึ่งคือ ข้อตะโพก ( จุดหมุนระหว่างขากับแกนร่างกาย ) จุดที่สำคัญนี้ จะมีการหมุนเป็นองศากว้าง มีแรงอัดมหาศาล ขณะขาถีบดิน และยังมีแรงดึงออกอีก ขณะขายันดินไปข้างหลัง จึงเป็นจุดที่มีความบอบช้ำเกิดขึ้นได้ง่ายมาก
ถ้าไม่ได้ตัวควบคุมลักษณะที่ดีๆ มาสร้างข้อตะโพกที่แข็งแรง ย่อมนำมาซึ่งปัญหาข้อตะโพกอย่างแน่นอน ลักษณะที่ดี ที่ทำให้ข้อตะโพกแข็งแกร่งนั้น กว้างๆก็จะประกอบด้วยเบ้าของข้อตะโพก ซึ่งแน่นอนเบ้าต้องลึก โค้ง ไม่แบน คอยประคองไม่ให้กระดูกท่อนบนหลุดหรือเคลื่อนไหวมากเกินไป ขอบเบ้าต้องเรียบมีกระดูกหนาแข็งแรง ไว้ลดแรงเสียดทาน จากการหมุนของหัวกระดูกขา ส่วนปลายบนที่จะมาเชื่อมกับกระดูกตะโพก จะประกอบไปด้วย ส่วนหัวกระดูกที่ต้องกลมมนสม่ำเสมอ และขอบเรียบ เพื่อให้เกิดความคล่องตัวมากที่สุด มีแรงเสียดทานน้อยที่สุด
แค่นี้ก็ยังไม่พอ เพราะหัวกระดูกขาส่วนปลาย ยังต้องมีเอ็นยึดส่วนปลายตรงกลางหัวกระดูกที่ต้องแข็งแรง ไม่หย่อนยานง่าย บังคับให้หัวกระดูกอยู่ในเบ้า เวลาเคลื่อนไหวจะไม่เปะปะ ชนหน้า ชนหลังการสึกหรอก็ไม่เกิดง่าย การวิ่งก็จะราบเรียบ แล้วที่สำคัญการดำรงชีพของเช็พเพอดเรา จะเดินหรือวิ่งก็ได้ตามปรกติทั่วไป จนแก่เฒ่าไม่เป็นภาระให้เจ้าของในกรณีเกิดโรคข้อตะโพกคราก
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด เข้าสู่จุดไร้ปัญหาเรื่องข้อตะโพกอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชากรของเช็พเพอดยังน้อย ทางสมาคมฯ จึงได้กำหนดนโยบายการตรวจรับรองข้อตะโพกของแม่สุนัขในปี 2545 เพื่อวันข้างหน้าที่ประชากรของเช็พเพอดมีมากขึ้น จะได้มากด้วยคุณภาพขึ้นตามไปด้วย
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 46 ( มิถุนายน 2544 )
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ความคิดเห็น-จากสัตวแพทย์น้ำกร่อย/516915541679213