ทองแดง
ถอดความจาก The Causes & Concerns of Cryptorchidism http://connection.ebscohost.com/c/articles/1536215/causes-concerns-cryptorchidism
โดย: Patricia Gail Burnham
หมอไพบูลย์
เรียบเรียงเรื่องจากความอนุเคราะห์ของ K.Vipada
อวัยวะภายใน (ท่ายืน)
แหล่งที่มารูปภาพ : http://morgananimalhospital.com/2010/05/25/interesting-cases-laparoscopic-castration-cryptorchidism/
พื้นฐาน
Cryptorchidism คือสภาพที่ลูกอัณฑะลูกใดลูกหนึ่งหรือทั้ง 2 ลูก ไม่สามารถเคลื่อนลงและคงอยู่ในถุงอัณฑะได้
ผู้ผสมพันธุ์บางคนอาจเรียกภาวะนี้ว่า ไข่เม็ดเดียว (Monorchidism) ซึ่งไม่ค่อยถูกต้องนัก ความจริงควรเรียกว่า ไข่หลบใน (Unilateral Cryptorchidism) มากกว่า เพราะความจริงสุนัขที่มีอัณฑะเม็ดเดียวจริงๆนั้น มีน้อยมาก แต่อัณฑะอีกลูกที่หายไปยังคงอยู่ในช่องท้องของสุนัขมากกว่า และถ้าไม่ลงมาทั้ง 2 ข้างก็ไม่ได้หมายความว่า ไม่มีอัณฑะเลย แต่เป็นไข่หลบในทั้ง 2 ข้างมากกว่า (Bilateral Cryptorchidism)
ลูกอัณฑะ มีการพัฒนาขึ้นในช่องท้องเสมอ แต่ต้องอพยพออกมาอยู่ภายนอกร่างกาย เพราะเชื้ออสุจิไม่สามารถมีชีวิตอยู่ได้ในอุณหภูมิของร่างกาย มันต้องการอุณหภูมิที่เย็นกว่า
อัณฑะจึงเคลื่อนตัวผ่านรูเปิดในช่องท้อง ที่เรียกว่า (Inguinal ring) ออกมาตามช่องท้อง (ที่เรียกว่า Inguinal Canal) ลงสู่ถุงอัณฑะในที่สุด ในลูกสุนัขขบวนการนี้มีเมื่อสุนัขอายุได้เพียง 10 วัน แต่ลูกอัณฑะในขณะนั้นมักเล็กเกินกว่าจะสังเกตได้
อวัยวะภายใน (ท่านอนหงาย)
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.pet-informed-veterinary-advice-online.com/male-dog-neutering.html
การเคลื่อนลงของลูกอัณฑะ เริ่มจากอิทธิพลของฮอร์โมนเพศผู้ (Testosterone) การที่อัณฑะไม่ลงทั้ง 2 ข้าง อาจเกิดเพราะมี Testosterone ต่ำ แต่ “ อะไรที่ทำให้ลงเพียงข้างเดียว ”
ในข้อเท็จจริง อัณฑะที่ลงมาข้างเดียวนั้น มักเป็นข้างซ้าย ส่วนข้างขวามีโอกาสค้างอยู่มากกว่า
ลูกอัณฑะจะไม่มีการเจริญเติบโตอย่างเต็มที่ ถ้าไม่ได้ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ ลูกที่ค้างอยู่ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหน ก็ไม่เจริญเติบโตตามปกติ และจะมีขนาดเล็ก
ถ้าลูกอัณฑะไม่ลงมาเลย สุนัขตัวนั้นจะเป็นหมัน (ผสมได้แต่ไม่ติด) เพราะไม่มีเชื้ออสุจิ แต่ถ้าลงมาแม้เพียงข้างเดียว มันจะสามารถผสมติดได้ แต่จำนวนเชื้ออสุจิและอัตราการผสมติด จะต่ำกว่าตัวที่มีอัณฑะลงครบ ทั้ง 2 ข้าง
เรื่องที่ควรคำนึงอีกประการก็คือ ลูกอัณฑะที่ไม่ได้อยู่ในถุงอัณฑะนั้น มีโอกาสเกิดเป็นเนื้องอกได้มากกว่า แม้ การเกิดเนื้องอกที่ลูกอัณฑะจะไม่ได้มีอุบัติการมากนัก และข้อดีอีกอย่างของ การที่ลูกอัณฑะอยู่ในถุงอัณฑะคือ ทำให้เจ้าของสามารถเห็นการเปลี่ยนแปลงของลูกอัณฑะได้ง่ายกว่าลูกที่ซ่อนอยู่ ภายในช่องท้อง
ลูกสุนัขบางตัว ลูกอัณฑะได้เคลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะแล้ว แต่กลับถูกดึงกลับขึ้นไปในภายหลังเมื่อลูกสุนัขโตขึ้น ทำไมเมื่อมันเคลื่อนลงมาแล้ว ถึงไม่ค้างอยู่ในถุงอัณฑะเหมือนเดิม ? มันถูกจัดการให้กลับขึ้นไปได้อย่างไร ?
เพื่อเข้าใจคำตอบ คุณต้องรู้ว่า ลูกอัณฑะถูกยึดติดอยู่กับร่างกายด้วย เส้นเลือด Spermatic Cord และกล้ามเนื้อ ชื่อ Cremaster Muscle ลูกอัณฑะจะฝ่อไปถ้าเส้นเลือดที่มาเลี้ยงได้รับความเสียหาย
กล้ามเนื้อ Cremaster เป็นส่วนที่ใช้ในการควบคุมอุณหภูมิของลูกอัณฑะ เมื่ออากาศเย็นมันก็จะหดตัว เพื่อดึงลูกอัณฑะเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ ตัว และเมื่ออากาศร้อน ก็จะคลายตัว และปล่อยให้ลูกอัณฑะอยู่ห่างจากร่างกาย ( อันนี้เป็นเหตุที่เราพบเห็น สุนัขในบ้านเรา มีถุงอัณฑะยานยาวกว่าสุนัขที่มาจากนอกใหม่ๆ ดังนั้น หากจะแก้ไขปัญหานี้ก็ต้องเลี้ยงสุนัขในที่มีอากาศเย็น ไม่ใช่ไปใช้วิธีศัลยกรรมตกแต่ง ) ถ้าสุนัขพันธุ์ขนเกรียน ในช่วงอากาศหนาวจะเห็นว่าถุงอัณฑะมันหดลงแทบที่จะติดกับตัวมันเอง แต่ถ้าใน สุนัขขนยาว แม้จะมีอากาศเย็นก็อาจหย่อนลงต่ำได้
โดยทั่วไปสุนัขขนเกรียนที่มีหนังกระชับจะมีลูกอัณฑะที่ชิดกับลำตัวมากกว่า สุนัขที่มีขนยาวหรือหนังย่น นี่เป็นสาเหตุโน้มนำประการหนึ่งของการเกิด “ ทองแดง ” อันเนื่องมาจากพันธุ์
ในสุนัข “ ทองแดง” กล้ามเนื้อ Cremaster จะสามารถหดตัว และดึงเอาลูกอัณฑะที่กำลังอยู่ในระหว่างการพัฒนา ให้กลับขึ้นไปในร่างกายได้มันเกิดขึ้นได้อย่างไร ?
ในถุงอัณฑะจะมีเส้นเอ็น (ligament) ที่คอยยึดให้ลูกอัณฑะค้างอยู่ภายในถุง การที่เส้นเอ็นส่วนนี้ไม่สามารถยึดลูกอัณฑะไว้ได้ ก็เป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดทองแดง
การเคลื่อนลงสู่ถุงอัณฑะของลูกอัณฑะเป็นขบวนการที่ซับซ้อน การเกิดทองแดง จึงมีมาได้จากหลายสาเหตุ เช่น ลูกอัณฑะมีขนาดใหญ่กว่าช่องเปิดในช่องท้อง (Inguinal Ring) ช่องเปิดนั้นเล็กเกินไป, เยื่อบุผนังช่องท้องตึงเกินไป
อวัยวะส่วนที่เรียกว่า Testis Gubernaculum ขยายตัว เพื่อเป็นตัวนำร่องให้ลูกอัณฑะเคลื่อนลงมาตามช่อง Inguinal Canal เพื่อลงสู่ถุงอัณฑะ ถ้าเกิดไม่สามารถทำหน้าที่ได้, (และทำหน้าที่ยึดลูกอัณฑะเอาไว้ในถุงอัณฑะด้วย) หรือมีฮอร์โมน Testosterone ไม่เพียงพอ การเกิดได้หลายๆ เหตุนี้ แบ่งได้เป็น 2 สาเหตุ ใหญ่ๆ คือ พันธุกรรม และการพัฒนาการที่ไม่ถูกต้อง
ทองแดงจากพันธุกรรม
จากข้อเท็จจริงว่า แต่ละพันธุ์มีอัตราการเกิดทองแดงไม่เท่ากัน เป็นเครื่องชี้อย่างหนึ่งว่า พันธุกรรมสามารถเป็นต้นเหตุหนึ่งของการเกิดทองแดง
พันธุ์ บีเกิล และ ลาบราดอร์รีทรีฟเวอร์ มีอัตราการเกิดน้อย ส่วนพันธุ์ที่เกิดได้บ่อยได้แก่ ชิวาวา, พูเดิ้ล, ปอมเมอร์เรเนียน, มินิเจอร์ ชเนาเซอร์, เชทแลนด์ ชีพด๊อก, ไซบีเรียน ฮัสกี้, บ๊อกเซอร์ และยอร์คเชียร์ เทอเรีย ผู้วิจัยบางคน “ สรุป ” ว่า พบได้บ่อยกว่าในสุนัขที่มีขนาดเล็ก ๆ แต่ควรสังเกตว่า พูเดิ้ลทั้ง 3 ขนาด มีโอกาสเกิดได้หมดแม้จะมีขนาดตัวต่างกันมาก
บางการศึกษาอ้างว่า พันธุ์ที่มีหน้าสั้น เช่น บ๊อกเชอร์ มีส่วนสัมพันธ์กับการเจริญเติบโตที่ผิดปกติที่ทำให้เกิดทองแดง ขนาดแคระ และหน้าสั้น เกี่ยวพันกับการพัฒนาของลูกอัณฑะด้วย แต่ทองแดงก็พบได้ในพวกหน้ายาว, ปากแหลม เช่น พูเดิ้ล วิพเพทและเกรย์ฮาวด์ คุณ Patricia เคยพบว่า เกรย์ฮาวด์ ครอกหนึ่งเพศผู้ทั้ง 4 ตัว เป็นทองแดงหมด หรือ เจ็ดในแปดตัวเป็น
การสำรวจ แสดงว่า อัตราการเกิดมีความผกผันมากในระหว่างพันธุ์ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าการศึกษาวิจัยนั้น ได้จัดทำขึ้นที่ไหนและเมื่อไร เช่น มีการสำรวจว่า พันธุ์บ๊อกเซอร์ เป็นในอัตราร้อยละ 29 และอีกการสำรวจทราบว่า เยอรมันเช็พเพอด พบในอัตราร้อยละ 3.9
การศึกษา เรื่องพันธุกรรมในระยะแรก
ไม่มีการวิจัย เกี่ยวกับภาวะทองแดง ในสุนัขมากนัก เรื่องที่เกี่ยวข้องมักอ้างอิงมาจาก เรื่องเดิม เช่น ข้ออ้างว่าสุนัขพันธุ์บ๊อกเซอร์ พบอาการนี้ ถึง 29 % ก็ย้อนไปถึงปี 1930 ซึ่งมีพ่อพันธุ์สำคัญเกี่ยวข้องเพียง 4 ตัว ปัญหาเรื่องนี้ คือได้มีการสรุปว่า การผสมเลือดชิดและการเกิดทองแดง เป็นเหตุและผลกัน
บางเรื่อง ความจริง อาจไม่มีความสัมพันธ์กันเลยก็ได้ ข้อเท็จจริงในกรณีคือ พันธุ์บ๊อกเซอร์เป็นทองแดงมาก แต่ไม่มีหลักฐานที่จะสรุปว่า การผสมเลือดชิดมาก ๆ จะเป็นเหตุที่ทำให้เกิดทองแดง
บางครั้ง ผู้วิจัยรุ่นแรก ๆ อาจเป็นแค่วางแนวโน้ม เขากล่าวว่าต้นเหตุยังไม่ทราบชัด แต่เพราะความเป็นไปได้ทางพันธุกรรม สุนัขที่เป็นทองแดงไม่ควรใช้ทำพันธุ์ ต่อมาเมื่อได้รับการอ้างถึงจากผู้เขียนในระยะหลัง ก็จะสรุปชัดลงไปทุกที จนเหมือนกับข้อสมมติฐานนี้ กลายเป็นข้อเท็จจริงไป
หลังจากยุคปี 1950 เริ่มมีผู้สรุปว่า ทองแดง เป็นพันธุกรรม และนอกจากตัวสุนัขที่เป็น ไม่ควรขยายพันธุ์เท่านั้น ญาติหรือลูกหลานของมัน ก็ไม่ควรใช้ทำพันธุ์ด้วย หรือแม้กระทั่งกล่าวว่า ทองแดงเป็นยีนส์ด้อยในลักษณะตามทฤษฎีของเมนเดล แต่ยังไม่มีใครแยกยีนส์ที่ทำให้เกิดทองแดงได้
คุณ Patricia ไม่สามารถค้นหาข้อมูลการทดลองที่เกี่ยวกับทองแดงในสุนัขได้ แต่ได้พบการทดลองในแพะพันธุ์ Angora และอีกการทดลองที่ไม่ค่อยช่วยอะไรนัก ซึ่งทำในแกะ 30 ตัว และพยายามพิสูจน์ว่า ทองแดงในแกะของเขานั้นเป็นลักษณะเด่นหรือลักษณะด้อย ซึ่งได้สรุปว่า อาจเป็นทั้ง 2 ลักษณะ (หรือไม่ได้เป็นทั้งลักษณะเด่น และด้อย)
มาถึงกรณีแพะ Angora กับสุนัขจะมีความสัมพันธ์ในเรื่องนี้ เหมือนกันหรือไม่ ?
การศึกษาในแพะ น่าสนใจ เพราะเป็นสัตว์ชนิดเดียวที่ได้ทดลอง และชี้ชัดว่าพันธุกรรมเป็นต้นเหตุในบางภาวะทองแดง ได้มีการทดลองในฝูงแพะ Angora 2 ฝูง ใน Texas Agricultural Experiment Station จากปี ค.ศ. 1917 - 1959 ได้มีการทดลองหลายแบบ เพื่อเพิ่มหรือลดอัตราการเกิดทองแดงในแต่ละปี โดยวิธี
- ผสมเฉพาะกับพ่อพันธุ์ ที่เป็นทองแดง
- ผสมโดยไม่ต้องคัดเลือก (ทั้งที่เป็นและไม่เป็น)
- ผสมเฉพาะพ่อพันธุ์ที่มีอัณฑะครบ (คัดเลือกเล็กน้อย) เป็นแบบที่เรากำลังทำอยู่ในสุนัขของเรา
- ผสมเฉพาะพ่อพันธุ์ที่มีอัณฑะครบและคัดแม่ที่ให้ลูกอัณฑะไม่ครบออกด้วย (คัดอย่างอ่อน)
- ผสมเฉพาะพ่อพันธุ์ที่มีอัณฑะครบและคัดทั้งพ่อและแม่ที่ให้ลูกอัณฑะไม่ครบออกด้วย (คัดปานกลาง)
- ผสม เฉพาะพ่อพันธุ์ที่มีอัณฑะครบและคัดทั้งพ่อและแม่ที่ให้ลูกอัณฑะไม่ครบออก ด้วย รวมทั้งลูกหลานที่เกิดขึ้นมาออกด้วย (คัดอย่างเข้มงวด)
- จากข้อ 6 ให้คัด พวก ญาติๆ ออกไปอีกด้วย (คัดอย่างเข้มงวดมาก)
ในฝูงแรกเริ่มจากใน ข้อ 3 เลือกผสมเฉพาะพ่อที่อัณฑะครบไป 20 ปี ปรากฏว่าเกิดทองแดงขึ้นประมาณ ร้อยละ 6.8 / ปี (สุนัขส่วนใหญ่ทำอยู่ในข้อนี้) จากปี 1937 - 1949 เขาปรับเป็นการผสมที่คัดเลือกในระดับปานกลาง (ในข้อ 5) อัตราการเกิดทองแดง ลดลงเหลือ ร้อยละ 2.8 และจากปี 1948 - 1959 ใช้การคัดเลือกอย่างเข้มงวดมาก (ในข้อ 7) ผลคืออัตราการเกิดทองแดงเหลือ เพียงร้อยละ 0.4
ในฝูงที่ 2 ใช้ เฉพาะพ่อทองแดง (ในข้อ 1) ผลคือ อัตราการเกิดทองแดง เพิ่มจากร้อยละ 5.7 ในปี 1921 เป็นร้อยละ 50 ในปี 1934 แล้วจึงเริ่มพยายามคัดเลือก เพื่อลดลักษณะดังกล่าวลง จากปี 1934 ถึง 1946 ใช้การคัดเลือกในระดับปานกลาง (ในข้อ 5) ผลคืออัตราการเกิดลดลงเหลือร้อยละ 11.0 แล้วเพิ่มเป็นการคัดเลือกอย่างเข้มงวด (ในข้อ 6) จนถึงปี 1951 ผลคืออัตราการเกิดลดลงเหลือร้อยละ 0.8
ผลการศึกษา พบว่าสามารถลดหรือเพิ่มอัตราการเกิดทองแดง ได้จากแผนการผสมพันธุ์ และ ภาวะทองแดงในแพะ Angora เป็นลักษณะด้อยซึ่งกำหนดโดยยีนส์ไม่กี่คู่
การศึกษานี้ เป็นตัวอย่างที่ดีว่า ยีนส์ด้อยทำให้เกิดทองแดง และแสดงอย่างชัดเจนว่า เราไม่ควรขยายพันธุ์สุนัขทองแดงเพศผู้ ส่วน ญาติๆ ของมันนั้นเป็นอีกกรณีหนึ่ง ภาวะทองแดงขยายเป็นวงกว้างในสุนัข ถ้าคัดเลือกอย่างเข้มงวดหรือเข้มงวดมาก อย่างในแพะ อาจไม่สามารถทำได้ ถ้าเราคัดสุนัขที่ให้ลูกเป็นทองแดงและญาติๆของมันทิ้งทั้งหมด อาจไม่เหลือสุนัขที่จะใช้ขยายพันธุ์ต่อ สิ่งที่เราทำได้อาจเป็นแค่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่ในปัจจุบัน คือ ผสมเฉพาะกับพ่อพันธุ์ที่มีอัณฑะครบเท่านั้น
สิ่งที่เราอาจทำเพิ่มเติมได้คือ ค้นหาสายพันธุ์ที่ลูกอัณฑะลง ถุงครบและเร็ว (ลงเร็วดีกว่า ลงช้า) และเคยให้ลูกที่เป็นทองแดงหรือไม่ เป้าหมายคือ หาพ่อพันธุ์ที่ให้ลูกเป็นทองแดงน้อยที่สุดและลูกอัณฑะลงถุงเร็วที่สุด
พัฒนาการ ของ ทองแดง
การศึกษาในแพะ Angora เป็นเพียงด้านทางพันธุกรรม แต่ทองแดงยังเกิดจากขั้นตอนในการพัฒนาขึ้นมาได้อีกด้วย
แม่พันธุ์มักจะถูกโทษว่า เป็นพาหะของการเกิดทองแดง (เพราะพ่อพันธุ์ที่ใช้ผสมไม่เป็นทองแดง อย่างไรก็ดีอย่าลืมลักษณะด้อยที่แฝงอยู่ด้วย) แต่อาจไม่ใช่จากกรรมพันธุ์ เพียงประการเดียวก็ได้ เช่น อาจเกี่ยวกับระดับของฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ นี่อาจจะเป็นคำตอบสำหรับกรณีที่ว่า เมื่อแม่สุนัขมีอายุมากขึ้นจะให้ลูกที่มีอัตราการเกิดทองแดงมากขึ้นด้วย ถ้าระดับฮอร์โมนตามธรรมชาติของแม่มันเปลี่ยนแปรไป อาจทำให้อัตราการเกิดทองแดงในลูกเปลี่ยนแปรตามไปด้วย
ความเป็นไปได้ในเหตุที่ไม่เกี่ยวกับกรรมพันธุ์ อาจรวมถึงพิษของสารเคมี และยาฆ่าแมลงอาจมีผลต่อการพัฒนาของลูกอัณฑะ ธรรมดาผลของยาฆ่าแมลงที่มีต่อลูกอัณฑะ คือทำให้มันมีขนาดเล็กและเติบโตช้า มีผลการศึกษาว่า มีการเพิ่มอัตราการเกิดทองแดงในมนุษย์, ขนาดและการทำงานของลูกอัณฑะลดลง และเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งในลูกอัณฑะ ที่เกี่ยวข้องกับการกระจายตัวของยาฆ่าแมลง โดยเฉพาะพวกยาที่เป็น Organochlorine Compounds
ปัญหาของ สารประกอบพวกนี้คือ มันมีลักษณะและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมน เอสโตรเจน (Estrogen) มีการศึกษาว่าสามารถทำให้หนูกลายเป็นทองแดงได้ โดยให้ Estrogen ก่อนที่มันจะเกิด
สุนัขได้รับยาฆ่าแมลงเป็นจำนวนมาก ทั้งจากยากำจัดเห็บหมัด และยาฆ่าแมลงในสวน เมื่อแม่สุนัขเจริญเติบโต ภายใต้สภาพแวดล้อม ที่มียาพวกนี้ ก็เป็นเรื่องง่ายที่จะทำให้มีระดับของยาพวกนี้ในตัวแม่สุนัขสูง คุณ Patricia แนะนำว่าไม่ควรใช้พวก Organochlorine ในบริเวณบ้านของคุณ แต่โชคไม่ดีที่ถึงแม้คุณจะไม่ใช้ยาแล้ว สุนัขของคุณก็คงได้รับยาที่ยังตกค้างอยู่ภายในบ้านที่เคยใช้แล้วผ่านไปอีก หลายปี ยาฆ่าแมลงรุ่นแรกๆ เช่น คลอเดน (Chlordane) มีค่าครึ่งอายุ = 50 ปี หมายความว่าจะต้องใช้เวลานานถึง 50 ปี จึงจะทำให้เจ้าคลอเดนนี้มีฤทธิ์ลดลงครึ่งหนึ่ง พิษของมันจะคงอยู่ภายในบ้านของคุณ (เช่นกรณีที่ใช้กำจัดปลวก) ได้เป็นเวลานานมาก
เหตุอื่นที่ทำให้เกิด ทองแดง เช่น อาหารที่ขาด Biotin, วิตามิน A หรือ Folicacid และการได้รับยาอีกหลายชนิด สุนัขที่กำลังตั้งท้องและได้รับอาหารครบถ้วนสมดุล ไม่ควรจะขาดอาหารหรือแร่ธาตุที่กล่าวมาแล้ว ดังนั้นยาฆ่าแมลงน่าจะเป็นปัญหาที่สำคัญกว่า
มีการเกิด ทองแดงอีกรูปแบบหนึ่งที่จะขอเรียกว่า ทองแดงจากเครื่องบิน เคยมีผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ Whippet คนหนึ่งบอกว่า เธอจะไม่รับประกันเรื่องลูกอัณฑะในลูกสุนัขของเธอ ถ้าต้องขนส่งโดยทางเครื่องบิน เพราะเคยมีประสบการณ์ว่า สุนัขปกติที่เธอส่งไปทางเครื่องบิน พบว่าสุนัขกลายเป็นทองแดงเมื่อถึงปลายทาง Patricia ก็รับฟังไว้จนกระทั่งได้เจอเข้ากับตัวเองถึง 2 ครั้ง
ทองแดงจากเครื่องบินเกิดขึ้นในกรณีที่ลูกอัณฑะเคลื่อนลงถุงอัณฑะเรียบร้อย แล้วและกำลังเติบโต การเดินทางโดยเครื่องบินเป็นประสบการณ์ที่น่ากลัวสำหรับลูกสุนัข และเมื่อมันกลัวก็จะเกร็งกล้าม Cremaster (มัดกล้ามที่เอาไว้ปรับระยะขึ้นลงของลูกอัณฑะ ที่ว่าไว้ตอนต้นเรื่อง) ทำให้ลูกอัณฑะถูกดึงเข้าไปในช่องท้อง ปัญหาตอนนี้คือ ลูกอัณฑะเริ่มมีขนาดใหญ่ขึ้นแล้วทำให้ไม่สามารถไหลเลื่อนกลับลงมาตามช่อง เหมือนเดิมได้ แม้เมื่อสุนัขจะหายตื่นกลัว และกล้าม Cremaster หย่อนตัวแล้วก็ตาม
การขนส่งทางเครื่องบิน (หรืออะไรที่ทำให้สุนัขตื่นตกใจ) ควรทำเมื่อลูกสุนัขยังมีขนาดเล็กพอที่ลูกอัณฑะของมันจะไหลกลับลงสู่ถุงอัณฑะ ได้ หรือไม่ก็โตจนลูกอัณฑะของมันไม่สามารถจะถูกดึงกลับขึ้นไปได้อีก ส่วนจะเป็นขนาดใดขึ้นกับการพัฒนาการของสุนัขนั้น ส่วนใหญ่กรณีนี้จะเกิดในช่วงอายุระหว่าง 3 - 4 เดือน
(*ผมมีเรื่องแถมให้เกี่ยวกับกรณีที่คล้าย ๆ กันนี้ ที่เราพบเห็นได้คือ เมื่อสักหูลูกสุนัขผมเคยเห็นกับตาตัวเองว่า ลูกอัณฑะถูกดึงหายไป เมื่อลูกสุนัขถูกสักหู เพราะมันคงตกใจและเจ็บ ดังนั้นทางที่ดีจึงควรจับตรึงลูกอัณฑะไว้ให้ดีก่อนที่จะสักหู ก็จะช่วยลดปัญหาได้)
กรณีทองแดงกับสมาคม (ของสหรัฐ และอังกฤษ)
สุนัขที่เป็นทองแดง เคยเข้าประกวดได้จนถึงปี 1955 ในปี 1954 สมาคมของอังกฤษได้พิจารณาเรื่องนี้ จากข้อมูลที่ว่าอาการนี้เป็นผลจากพันธุกรรม จึงออกกฎห้ามสุนัขทองแดงเข้า ประกวด และทางอเมริกาก็ห้ามด้วยเหมือนกัน แต่หลังจากผ่านไป 25 ปี แม้จะห้ามสุนัขทองแดงเข้าประกวด และก็คาดได้ว่าคงไม่ได้รับการขยายพันธุ์ แต่ปรากฏว่าอัตราการเกิดทองแดงไม่ได้สะดุดหยุดลงเลย Kennel Club จึงเลิกล้มกฎนี้ในปี 1981 แต่ทาง AKC ไม่ได้เลิกตาม (*ผมยังสงสัยว่า ปัจจุบัน Kennel Club ยอมให้สุนัขทองแดงประกวด และทำพันธุ์ได้ หรือไม่?)
ในฐานะผู้ผสมพันธุ์เราจะป้องกันปัญหาได้โดย พยายามเลือกผสมเฉพาะกับพ่อพันธุ์ที่มีลูกอัณฑะครบ ถ้าได้พวกที่ลูกอัณฑะลงเร็วยิ่งดี อยู่ห่าง ๆ ยาฆ่าแมลงและเห็บหมัด (*สงสัยจะทำยากหน่อย) อย่าให้ลูกสุนัขเพศผู้ขนส่งทางเครื่องบินในช่วงเสี่ยง ถ้าเลือกผสมอย่างรอบคอบ และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมก็จะทำให้เราเป็นฝ่ายได้เปรียบในกรณีนี้
(*เกี่ยวกับผู้เขียน Patricia Gail Burnham เป็นวิศวกร และผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ เกรย์ฮาวนด์ ผมรู้สึกว่า เธอเป็นคนเอาจริง เอาจัง แม้ไม่ได้ร่ำเรียนมาทางนี้โดยตรง เมื่อเกิดความสงสัยก็พยายามหาหนทาง หรือความรู้เพื่อพิสูจน์ โดยไม่ด่วนสรุปว่าเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งไปก่อน ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ ผลคือเราได้ความรู้แปลกใหม่จากการค้นคว้าของเธอ ต้องขอขอบคุณ และคงเป็นแบบอย่างให้กับสมาชิกของเราว่า หากมีข้อข้องใจประการใดที่หาคนเฉลยที่ถูกใจไม่ได้ ก็ลุยเองเลย แล้วถ้าได้คำตอบก็อย่าลืมบอกต่อกันบ้าง เพื่อเป็นวิทยาทานกับคนในสังคมของเรา ผู้เรียบเรียง)
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 46 (มิถุนายน 2544)
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ทองแดง/516918105012290