Skip to main content

โครงสร้างของส่วนอก, ส่วนหลัง และส่วนกลางลำตัว (THE MIDDLE PIECE)

มาตราฐานของสุนัขพันธุ์ German Shepherd

ส่วนอก, ส่วนหลัง และส่วนกลางลำตัว (The Middle Piece)

   ผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์ German Shepherd มักจะมองข้ามลักษณะโครงสร้างของร่างกายที่ถูกต้อง กลับไปให้ความสำคัญกับมุมต่าง ๆ การเคลื่อนที่ไหวกลมกลืนสวยงามสะดุดตา, สีขน, ขนาดของหัว และเส้นกรอบของโครงสร้างโดยรวมมากกว่า ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว โครงสร้างของส่วนหลัง, ส่วนอก และส่วนกลางลำตัวนี้มีความสำคัญมาก เพราะถ้าโครงสร้างดังกล่าวไม่ถูกต้อง สุนัขจะไม่มีพลังส่งตรงจากส่วนท้าย ที่จะนำมาใช่ในการเคลื่อนไหวได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้แล้ว ส่วนหลัง ยังเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีผลทำให้ส่วนอื่นของร่างกายมีลักษณะถูกต้องสวยงาม

ส่วนอก (The Chest)

   ส่วนอกของสุนัข ประกอบด้วยกระดูกซี่โครง (rib) 12 ซี่, RI - R12 ด้านหนึ่งยึดติดกับกระดูกสันหลังส่วน Withers โค้งลงมาทางด้านล่างที่ปลายอีกด้านหนึ่งยึดอยู่กับกระดูกหน้าอกที่เรียกว่า Stemum กระดูกซี่โครงทั้ง 12 ซี่ จะประกอบกันเป็นกรงซี่โครง (ribcage) ซึ่งมีหน้าที่ป้องกันหัวใจและปอดที่อยู่ภายในกรงซี่โครง (ribcage) นั้น โดยวางตัวอยู่ทางด้านหลังของหัวไหล่ เนื่องจากกระดูกซี่โครงโค้งจากกระดูกสันหลังลงมาหากระดูกหน้าอก ในทิศทางที่ไปทางด้านหลังเล็กน้อย ทำให้ลักษณะของกรงซี่โครงที่เกิดขึ้น มีลักษณะยาวแคบทางด้านหน้า และกว้างออกทางด้านหลัง มีลักษณะคล้ายลูกแพร์ ดังรูปที่ 1 การที่กรงซี่โครงมีลักษณะแคบทางด้านหน้าดังกล่าว จะมีผลทำให้ขาหน้าสามารถแกว่งได้เนื้อที่ในลักษณะ ทั้งด้านหน้า-หน้าหลังและด้านข้าง สุนัขที่มีลักษณะของช่วงอกกว้างมากๆ เหมือนถังเบียร์ (barrel Chest) ดังรูปที่ 2 มักจะพบในสุนัขบางพันธุ์ที่ผสมพันธุ์มาเพื่อให้มีความแข็งแรง แต่การเคลื่อนไหวไม่คล่องตัว ในขณะที่สุนัขที่มีลักษณะช่วงอกแคบมากหรือช่วงอกแบนทางด้านข้าง (Slab-Sided Chest) ดังรูปที่ 3 จะมีความกระฉับกระเฉง ว่องไวกว่า แต่ความแข็งแรงจะน้อยลงไป


รูปที่ 1


รูปที่ 2 สุนัขที่มีลักษณะของช่วงอกกว้างมากๆ เหมือนถังเบียร์ (barrel Chest)


รูปที่ 3 สุนัขที่มีลักษณะช่วงอกแคบมากหรือช่วงอกแบนทางด้านข้าง (Slab-Sided Chest)

   กระดูกซี่โครงสุดท้าย (R13) เป็นซี่โครงลอย มีปลายข้างเดียวเกาะติดกับกระดูกสันหลังแต่ปลายอีกด้านหนึ่งไม่ได้มายึดกับกระดูกหน้าอกเหมือนซี่อื่น ๆ เป็นซี่โครงลอยยาวประมาณ 6 นิ้ว และทำหน้าที่ป้องกันส่วนหลัง ดังรูปที่ 4


รูปที่ 4

   ความลึกของส่วนอกก็มีความสำคัญมากเช่นกัน ในสุนัขป่าจำนวนมาก พบว่าส่วนอกตื้นระดับเหนือข้อศอกข้อเท่านั้น สุนัขเหล่านี้ จะไม่ค่อยมีความอดทน แต่สุนัขพันธุ์ German shepherd เป็นสุนัขที่มีพละกำลังมาก เนื่องจากมีส่วนอกลึกและมีกล้ามเนื้อหน้าอกที่แข็งแรง สุนัขใช้งานจำเป็นต้องกระโดดได้สูงกว่าสุนัขป่ามากและต้องทำได้บนพื้นแข็งด้วย อกที่ลึกและและกล้ามเนื้อหน้าอก (brisket) ที่หนาและมีพละกำลังเท่านั้น ที่จะทนต่อแรงกระแทกจากการกระโดดได้ดีที่สุด เมื่อขาหน้าทั้งสองลงสู่พื้น (The impost of landing)

   มาตราฐานของความลึกของส่วนอกได้แก่ 45 % ถึง 48 % ของความสูงของสุนัขเมื่อวัดที่ Withers ซึ่งค่านี้ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับความยาวของขาหน้าสุนัข ส่วนกล้ามเนื้ออก (brisket) ที่อยู่ระหว่างขาหน้า 2 ข้าง ควรอยู่ในระดับเดียวกับข้อศอก โดยกระดูกหน้าอก (Sternum) อยู่ในระดับเหนือข้อศอก ดังรูปที่ 4 อย่างไรก็ตามสุนัขที่มีความสมบูรณ์เต็มที่ กล้ามเนื้อหน้าอก (brisket) อาจจะพัฒนามีความแข็งแรงมาก จนกระทั่งมีระดับต่ำลงมากว่าข้อศอกได้ ( ดังนั้น อาจต้องคลำตรวจให้ละเอียดก่อนสรุปว่า ลักษณะของช่องอกที่ลึกมากนั้น ไม่ได้เป็นเพราะกรงซี่โครงของสุนัขที่ลึกเกินไป) สุนัขที่มีทั้งกล้ามเนื้อหน้าอก (brisket) และกระดูกหน้าอกลึกมาก จะมีช่วงอกแคบเมื่อมองจากทางด้านหน้า กล่าวคืออกที่ลึกมากเกินไป จะมีผลทำให้ส่วนอกแฟบลงไปด้วยซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ต้องการ สุนัขที่มีลักษณะเช่นนี้บางตัวจะสังเกตพบการเต้นของหัวใจได้ชัดเจน บริเวณหลังข้อศอก ในทางตรงข้ามช่วงอกที่มีลักษณะกลมและกว้างก็มักจะตื้นเกินไป ขนที่ดกหนาหรือยาวขึ้นในช่วงฤดูหนาวก็มีผลทำให้ดูอกลึกกว่าความเป็นจริงได้ สุนัขที่ขนสวยจะดูหลอกตาแต่ก็สามารถพิจารณาได้ง่ายว่าเป็นเพราะขนหรือเป็นเนื้อตัวจริงๆ 

   เมื่อมองทางด้านข้าง ส่วนอกด้านหน้า (Prosternum) ควรจะยื่นออกมาเล็กน้อยจากแนวมุมหัวไหล่ กรณีที่มีตำแหน่งหัวไหล่ถูกต้อง, กล้ามเนื้ออกด้านหน้า (Pectoral Muscles) ซึ่งด้านหนึ่งยึดกับขาหน้าท่อนบนและทำหน้าที่ดึงให้ขาหน้าเคลื่อนมาทางด้านหน้านั้น ปลายอีกด้านหนึ่งยึดอยู่กับ Prosternum ซึ่งส่วนของ Prosternum ที่ยื่นออกมาเล็กน้อยนี้เองที่ทำหน้าที่เหมือนคันโยก ในการย่างก้าวของขาคู่หน้า กระดูกอกหน้า (Prosternum) ที่ยื่นออกมามากเกินไปจะทำให้สุนัขมีปัญหาในการเคลื่อนไหวไปทางด้านข้าง (การวิ่งลดเลี้ยว, หักมุม) อย่างรวดเร็ว เพราะมันจะไปขวางการเคลื่อนไหวของกระดูกไหล่ ในขณะเดียวกันสุนัขที่มีการพัฒนาของอกส่วนหน้า (Forechest) ไม่ดีพออาจจะวิ่งควบได้ดีมาก แต่การวิ่งเรียบไม่ค่อยดีนัก (ภาษาเช็พเพอดเรียกว่า “ไม่สาด”)

ส่วนหลัง (The Back)

   ส่วนหลังแบ่งได้เป็น 2 ส่วน คือบริเวณกระดูกสันหลังส่วนอก หรือ thoracic vertebrae 4 ชิ้น (T10-T13) ซึ่งเป็นจุดสิ้นสุดของ Withers, กระดูกสันหลัง 4 ข้อนี้จะมีสันกระดูกตั้งตรงขึ้น มีการถ่ายน้ำหนักจากกระดูกสันหลังช่วงต้น คือส่วน Withers ผ่านไปยังช่วงท้าย เพื่อให้เกิดแรงขับในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า กระดูกทั้ง 4 ข้อนี้ยังทำให้เกิดช่วงรอยต่อ (Dip) ที่จุดปลาย Withers สุนัขทุกตัว แต่จะมองเห็นได้ชัดเจนในสุนัขบางตัว ที่ส่วนหลังอ่อนแอ หรือยาวเกินไป หรือมีสภาพของร่างกายไม่สมบูรณ์ ผู้เขียน (ไม่ใช่ผู้แปลนะ) เห็นสุนัขเพศผู้ตัวหนึ่งที่ไม่ได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่ดีพอ สังเกตเห็น dip ชัดเจนมาก แต่เมื่อเวลาผ่านไป ได้รับการเอาใจใส่เลี้ยงดูอย่างดี ก็พบว่ามีพัฒนาการของเส้นหลัง (topline) ที่สวยงามและมีพลังขึ้น สุนัขที่มีส่วนหลังตรงและท้ายสูงก็มองเห็น dip ชัดเจนเช่นกัน แต่สาเหตุมักจะเกิดจากมุม (ของโครงสร้างไม่ถูกต้อง) มากกว่าเกิดจากความอ่อนแอของส่วนหลัง

   ส่วนหลังส่วนที่สองได้แก่บริเวณที่เรียกว่า drive train ซึ่งประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar vertebrae) 7 ชิ้น (L1-L7) กระดูกสันหลังส่วนนี้มีสันกระดูกที่ตั้งตรงสูงขึ้นไปทางด้านบนและมีส่วนที่ยื่นแผ่ไปทางด้านข้างทั้ง 2 ข้าง มีลักษณะแบนกว้างและเอียงไปทางด้านหน้า เพื่อรับแรงกดดันอย่างมากจากกล้ามเนื้อที่ใช้ขับเคลื่อนซึ่งยึดติดอยู่กับกระดูกสันหลังส่วนนี้   ส่วนหลังทั้งหมดรวมทั้ง Withers ดังรูปที่ 5 มีหน้าที่สำคัญ 2 ประการ คือ ถ่ายพลัง จากส่วนท้ายส่งตรงไปข้างหน้าพร้อมทั้งพาร่างกายทั้งหมดเคลื่อนออกไปด้วย และอีกหน้าที่หนึ่งคือ รับน้ำหนักของอวัยวะภายในทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสุนัขเพศเมียที่ตั้งท้อง การส่งผ่านหรือถ่ายเทพลังที่ได้ผลดีที่สุดคือในแนวระนาบที่เป็นเส้นตรง ส่วนการรองรับน้ำหนัก ส่วนโค้งจะทำหน้าที่นี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด


รูปที่ 5

   ดังนั้น สำหรับสุนัขแล้ว โครงสร้างที่ทรงพลังและมีประสิทธิภาพสูงสุด ต้องมีแนวสันหลังที่โค้งเพียงเล็กน้อย สุนัขที่สมบูรณ์ที่สุดจะสังเกตเห็นส่วนโค้งเล็กน้อยนี้ได้เฉพาะในช่วงกล้ามเนื้อส่วนเอว (Loin Muscles) เท่านั้น

   หมอนรองกระดูกสันหลังเรียงตัวกันเป็นแนว ลักษณะเหมือนลูกปัดที่ร้อยอยู่กับลวดที่โค้งเล็กน้อย สันของข้อกระดูกสันหลังส่วนเอวทำให้เกิดแนวเส้นหลังโค้งลงทีละน้อยแต่ละข้อ, ซ่อนอยู่ใต้กล้ามเนื้อ ไขมันและขน เราต้องเข้าใจว่าสภาพสมบูรณ์เต็มที่นั้นจะเห็นเส้นหลังโค้งน้อยกว่าแนวความโค้งจริงของสันข้อกระดูกเส้นหลังที่อยู่ใต้กล้ามเนื้อเสมอ ตัวนั้นความโค้งที่มองเห็นคือตัวบ่งชี้ถึงโครงของกระดูกสันหลังจริงที่โค้งมากกว่านั่นเอง ข้อกระดูกสันหลัง (Spine) ที่โค้งมากเกินไป จะมีผลเสียหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการส่งผ่านพละกำลังมาจากส่วนท้าย มีผลทำให้สุนัขสูญเสียพลังงานและเหนื่อยง่าย ถึงแม้ว่าความโค้งของโครงกระดูกสันหลัง (Spine) จะเหมาะสมสำหรับการรองรับน้ำหนัก แต่ก็จะทำให้การเคลื่อนไหวขาดพลัง


รูปที่ 6


รูปที่ 7

   ผู้เชี่ยวชาญบางคนได้แสดงถึงผลดีผลเสีย ในความแตกต่างของความโค้งที่ช่วงกลางหลัง, ช่วงกระดูกเชิงกราน หรือช่วงบน Withers โดยส่วนตัวผู้เขียนเห็นว่า “โค้งก็คือโค้ง” จะมากน้อย หรือจะอยู่ช่วงไหนของลำตัวก็ยังคงมีผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวอยู่ดี เมื่อโครงสร้างของกระดูกสันหลัง (Spine) จะมีผลทำให้โครงสร้างอื่นๆ แต่สุนัขเสียสมดุลไปด้วย ตัวอย่าง เช่น กระดูกเชิงกรานที่วางอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องกับแนวกระดูกสันหลัง (Spine) ที่โค้งมากเกินไปจะทำให้ ดูเหมือนลาดเอียงมากขึ้น (ดูรูปที่ 6) ในทางกลับกันกระดูกเชิงกรานที่มีลักษณะเหมือนว่าอยู่ในแนวที่ถูกต้องแม้ว่าจะเป็นแนวเดียวกับความโค้งตามกระดูกสันหลัง โดยกรุ๊ปท้ายก็จะลาดจากกลางหลังลงมาเลย (ดูรูปที่ 7) ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้องเป็นอย่างยิ่ง อีกด้านหนึ่งของแนวสันหลัง (Spine) ที่โค้งลงไปหา Withers ทำให้ส่วน Withers ต่ำลง สุนัขบางตัวที่ Withers ต่ำมากๆ จะมีผลทำให้ส่วนขาหน้าทั้งหมดถูกกดลง และบริเวณกระดูกหัวไหล่จะเป็นมุมชันไปข้างหน้า เมื่อออกวิ่งสุนัขจะย่างก้าวไม่ได้เนื้อที่โดยขาหน้าจะก้าวไปได้ไม่เกินปลายคาง เวลายืนหรือเดินก็จะไม่ยกหัวเชิดขึ้น อาจเดินหัวตกด้วยซ้ำไป ซึ่งเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่น่าดูเลย สุนัขที่มีลักษณะถูกต้อง เมื่ออยู่ในท่ายืนจะยกหัวเชิดได้ระดับพอเหมาะ มองดูขึงขังมีสง่า Wither จะสูง และค่อยลาดตรงลงมายังส่วนหลัง สันหลัง (Spine) ต่อจาก Withers ลงมาโค้งเล็กน้อยมองแทบไม่เห็น กล้ามเนื้อส่วนเอวอาจโค้งเล็กน้อยในสุนัขที่มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์แต่เส้นหลังควรจะมองเห็นเป็นเส้นตรง

   ยังคงเป็นที่กังขากันเรื่องเส้นหลังที่โค้งสวยนั้น ว่าเป็นลักษณะที่สวยงามและถูกต้องตามสายพันธุ์จริงหรือ ในเมื่อมันมีผลให้เกิดปัญหาในการเคลื่อนไหว ก็ย่อมสงสัยว่ายังจะมีกระดูกส่วนไหนที่จะได้รับผลกระทบอีกบ้าง จากการที่โครงสร้างหลักของร่างกายผิดรูปไปอย่างนี้ ธรรมชาติได้มีการวิวัฒนาการของความโค้งของส่วนหลัง ในสัตว์เลื้อยคลานที่อยู่ใต้ดิน หรือสัตว์จำพวกหนูเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรับแรงกด จากพื้นดินด้านบน แต่ German Shepherd ไม่ได้จัดอยู่ในสัตว์จำพวกที่กล่าวนี้เลย

   ลักษณะในทางตรงกันข้ามโชคดีที่พบได้ไม่บ่อยนัก ได้แก่ หลังอ่อนหรือ Sway back (ดังรูปที่ 8) ซึ่งส่วนหลังจะอ่อนแอมาก สุนัขจะบาดเจ็บได้ง่าย เมื่อเคลื่อนไหวเป็นโครงสร้างที่ไม่ช่วยรับน้ำหนักสำหรับสุนัขที่ต้องท้อง, สุนัขตัวใดที่มีแนวโน้มว่าจะหลังอ่อน ถือว่า “ใช้ไม่ได้”


รูปที่ 8 หลังอ่อน (Sway back)

   สุนัขที่มีช่วงหลังสั้นมากมักมีสัดส่วนของร่างกายเป็นสี่เหลี่ยม (ดังรูปที่ 9) ซึ่งแม้ว่าจะเป็นที่ยอมรับกันว่าเป็นโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรงมาก (เช่นสุนัขขนาดเล็กที่เลี้ยงไว้แข่งขันกีฬา เช่นกลุ่มเทอร์เรียต่างๆ ที่ไม่ต้องการความยืดหยุ่นในขณะออกกำลังกาย) แต่ไม่มีความยืดหยุ่นในการเคลื่อนไหวมากพอสำหรับการใช้งานหนักในสุนัขพันธุ์ใหญ่


รูปที่ 9 สัดส่วนของร่างกายเป็นสี่เหลี่ยม

   สุนัขที่มีช่วงหลังยาว อันเป็นลักษณะปกติสุนัขที่มีการเพาะพันธุ์มาโดยเฉพาะให้มีการย่าวก้าวเคลื่อนๆไหว, ลดเลี้ยวแคล่วคล่องว่องไว ในการวิ่งเรียบ ( trot ) ได้เป็นอย่างดี ( ดังรูปที่ 10 ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุยังน้อย แต่เมื่อมีอายุมากขึ้น ก็จะรับน้ำหนักได้ไม่ดีเหมือนเดิม สุนัขบางตัวมีโอกาสที่จะเกิดลักษณะหลังอ่อน หรือ Sway back ได้เมื่อแก่ตัวลง สุนัขที่มีช่วงหลังยาว จะมีผลต่อความคล่องตัว โดยที่ส่วนหลังต้องยืดหยุ่นได้เร็ว ในการวิ่งควบหรือการวิ่งกระโดด ส่วนหลังที่ยาวจะต้องใช้พลังกล้ามเนื้ออย่างมากในการทำงานดังกล่าว นอกจากนี้แล้วช่วงหลังที่ยาวอาจมีผลทำให้เกิดช่องว่างในช่องท้องมากขึ้นทำให้เกิดการบิดของอวัยวะในระบบทางเดินอาหารได้ง่าย


รูปที่ 10 สุนัขที่มีช่วงหลังยาวปกติ

ส่วนกลางลำตัว (Middle Piece) :

   ซึ่งหมายถึงบริเวณระหว่างกรงซี่โครงและช่วงท้าย (hindquarters) สุนัขที่มีลักษณะดี กล้ามเนื้อส่วนเอว (Loin) จะหนา (ดังรูปที่ 1) และคอดเข้าทางด้านข้าง (tuck-up from the side) (ดังเช่นในรูปที่ 5) สุนัขที่มีโครงสร้างของหลังที่ปกติ มีความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ, ไม่ควรจะมีลักษณะเอวคอดมากอย่างสุนัขเกรย์ฮาวด์ แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีความคอดเสียเลย


รูปที่ 1


รูปที่ 5

   ส่วนกลางลำตัวควรเป็นบริเวณที่ค่อนข้างสั้น เพราะถ้าส่วนนี้ยาวจะมีผลทางส่วนหลังยาวด้วย ส่วนกลางลำตัวเป็นบริเวณที่อยู่ของอวัยวะภายในเช่น กระเพาะอาหาร, ทางเดินอาหาร, ตับ, ไต และอวัยวะระบบสืบพันธุ์ โครงสร้างที่มีช่วงท้องแข็งแรง จัดเป็นโครงสร้างที่ดี ช่วงท้องที่ยาวลึกและหย่อนยาน จะทำให้ความอดทนของสุนัขลดลง และที่แย่ไปกว่านั้น อาจจะเกิดภาวะท้องอืด, กระเพาะพลิกได้ง่าย ผู้เขียน (ไม่ใช่คนแปลนะ) เคยเห็นสุนัขที่เข้าประกวด มีลักษณะลำตัวยาวและลึก แต่หลวมหย่อนยานเวลาเดินอวัยวะเพศผู้จะแกว่งไปมาเหมือนลูกตุ้มนาฬิกา ซึ่งเป็นลักษณะโครงสร้างที่ไม่ดี ช่วงลำตัวควรจะลึกมองดูแกร่ง, แน่นเต็มไปด้วยกล้ามเนื้อที่แข็งแรง, ผิวหนังและขนที่มีสุขภาพดี ไม่หย่อนยานขาดรูปทรงและเต็มไปด้วยไขมัน

ขอขอบคุณ อาจารย์ ดร.มีนา สาริกะภูติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้กรุณาให้คำแนะนำทางเทคนิคเรียบเรียงจาก : The Chest, Back and Middle by Linda Shawหนังสือ : Schutzhund USA ฉบับ Sep/Oct 2000โดย : สมาชิก 8024 (น.อ. สุชาติ สาพิทักษ์)

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 46 (มิถุนายน 2544)

แหล่งที่มาบทความต้นฉบับและรูปภาพ : http://www.gsdinfo.co.uk/General%20Info/Middle%20Piece.htm

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/โครงสร้างของส่วนอก-ส่วนหลัง-และส่วนกลางลำตัว-The-Middle-Piece-/516919048345529