Skip to main content

ข้อพิจารณาประกอบการผสมพันธุ์สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด

  1. ท่าน Max von Stephanitz ได้กล่าวไว้ว่า “ การผสมพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอด คือการผสมพันธุ์สุนัขใช้งาน มิฉะนั้นก็ไม่ใช่การผสมพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอด ”     
  2. การผสมพันธุ์สุนัขสายพันธุ์ใดก็ตามเป็นจำนวนมาก โดยไม่มีหลักการเพื่อพัฒนาสายพันธุ์อย่างเป็นรูปธรรม ย่อมจะนำไปสู่การสืบทอดลักษณะทางพันธุกรรมที่รุนแรงเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ
  3. เมื่อมีลูกสุนัขเกิดมาจำนวนมาก ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะสืบทอดลักษณะด้อย ทางพันธุกรรมมากกว่า สุนัขพันธุ์ที่มีจำนวนลูกสุนัขเกิดมาน้อยกว่าในแต่ละปี
  4. เมื่อเกิดการผสมพันธุ์ในสายพันธุ์ (INBREEDING) เพื่อต้องการลักษณะเด่นของโครงสร้างสีสันที่สวยงามของสุนัขรุ่นปู่, ตา, ย่า, ทวด ที่มีประวัติชนะการประกวดประเภทสวยงาม ต่อเนื่องกัน ลักษณะด้อย อื่นๆ ที่แฝงอยู่ในสายเลือด  อาจจะแสดงผลออกมาในรุ่นลูก, หลาน ชั้นใดก็ได้
  5. ผู้ที่ผสมพันธุ์สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดควรจะต้องศึกษาและวางแผน การพัฒนาสายพันธุ์ด้วยความระมัดระวัง  เพื่อให้ได้สุนัขที่สวยงามและยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติถูกต้องตามลักษณะประจำพันธุ์เพื่อการใช้งานอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อบรรลุถึงวัตถุประสงค์ดั้งเดิมในการพัฒนาสืบพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดให้ดำรงคงอยู่ และก้าวต่อไปในทิศทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติให้มากที่สุด

*** สิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาเป็นอันดับแรก คือ ไม่ผสมพันธุ์สุนัขตัวใด (หรือสุนัขในครอกเดียวกัน) ที่เป็น หรือมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคที่สามารถจะถ่ายทอดทางพันธุกรรมในสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ซึ่งมีดังต่อไปนี้:-

 

โรคตา

  1. ต้อกระจก โรคนี้ชนิดที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม พบในลูกสุนัขอายุประมาณ 8 สัปดาห์ขึ้นไป
  2. ตาบอด ลูกสุนัขจะตาบอดมาแต่กำเนิด

โรคกระดูกและข้อต่อ

  1. ข้อตะโพกวิการ มีระบบการควบคุมโรคนี้อย่างมีประสิทธิภาพมาก ในการผสมพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอด หากปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด จะให้ประโยชน์อย่างสูงสุดในวงการผู้เลี้ยงเองโรคนี้อาจมีสาเหตุจากสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย (ทำให้อาการของโรครุนแรงขึ้น) เช่น การเลี้ยงดู, การออกกำลังกาย, ตลอดจนท่านั่ง, นอนของลูกสุนัข
       ข้อแนะนำ :
       1) ควรจัดทำลำดับคะแนนข้อตะโพก (Zuchtwert) ของสุนัขทุกตัวในคอกซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้อง X-RAY ข้อตะโพก
       2) สุนัขที่นำมาผสมพันธุ์ควรมีคะแนนข้อตะโพกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย เท่านั้น  (ในสหรัฐอเมริกา = 53 %)
       3) ปฏิบัติตามคำแนะนำในการเลี้ยงดูและออกกำลังกายอย่างถูกต้อง เพื่อหลีกเลี่ยงการบาดเจ็บที่อาจส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของกระดูกและข้อต่อต่าง ๆ
  2. โรคเนื้อเยื่อกระดูกเสื่อม กระบวนการสร้างเนื้อเยื่อกระดูกผิดปกติ ในสุนัขเยอรมันเช็พเพอดมักเป็นบริเวณข้อศอก  ซึ่งจะตรวจพบได้จากการ X-RAY เมื่ออายุประมาณ 6 เดือน ขึ้นไป
  3. กระดูกอักเสบ สุนัขเกิดอาการกะเผลกกระทันหันโดยไม่มีสาเหตุภายนอก อาการเจ็บรุนแรงคล้าย กระดูกหักเมื่อ X-RAY  จะพบสีเข้มในโพรงไขกระดูกหรือมีการหนา ตัวของเยื่อหุ้มกระดูกบริเวณที่เจ็บ เชื่อว่าเกิดจากร่างกายผลิตสารแอนตี้บอดี้ออกมาต่อต้านเนื้อเยื่อของตัวเอง อาการนี้จะไม่ปรากฏจนกว่าจะอายุ 6 เดือน ขึ้นไป
       การดูและรักษา เมื่อเกิดอาการเจ็บให้ยาลดอาการอักเสบ และพักผ่อนจนกว่าจะเริ่มเดินเป็นปกติเหมือนเดิม
  4. ข้อต่อเสื่อม เริ่มจากกระดูกอ่อนตามข้อเสื่อม, ข้อต่ออักเสบ, ข้อแข็งงอไม่ได้ กล้ามเนื้อบริเวณข้อต่าง ๆ อ่อนแอลง เป็นอาการต่อเนื่องจากโรคข้อตะโพก และข้อเข่าวิการ
  5. ข้อเข่าวิการ เส้นเอ็นต่าง ๆ บริเวณเข่า อ่อนแอ ไม่สามารถยืดหยุ่นรับน้ำหนักการเคลื่อนไหวได้ดีพอ สำหรับสุนัขที่มีน้ำหนักตัวมาก แสดงอาการชัดเจน เมื่อออกกำลังกายหนัก ๆ การดูแลเลี้ยงดูต้องควบคุมน้ำหนักให้อาหาร และเลี้ยงดูอย่างถูกต้อง

โรคผิวหนัง

สุนัขเยอรมันเช็พเพอดส่วนใหญ่ ไวต่อการติดเชื้อทางผิวหนัง จากเชื้อชนิดต่าง ๆ ตลอด จนอาการแพ้ ตัวไร , หมัดกัด ฯลฯ และโรคติดเชื้อรอบทวาร สุนัขที่มีอาการติดเชื้อทางผิวหนังง่ายและมีอาการรุนแรง จะถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรมนี้ไปยังลูกด้วย

โรคผิดปกติทางระบบประสาท

  1. โรคระบบประสาทไขสันหลังผิดปกติ ทำให้ลำตัวช่วงท้ายแกว่งเวลาเคลื่อนไหว ขาหลังอ่อนแรง จะมีอาการชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ จนเริ่มวางเท้าหลังผิดปกติเวลาย่างก้าว ทำให้เล็บเท้าสึกจนเลือดออก ถึงขั้นยกขาไม่ขึ้น เวลาเดินต้องลากขา
       การรักษาไม่ค่อยได้ผล แต่อาจช่วยได้บ้างโดยใช้ยาประเภทสเตียรอยด์ ช่วยชลออาการ หรือใช้วิธีฝังเข็ม หรือวิธีอื่นๆ ตามคำแนะนำจากผู้ชำนาญการ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาอาการได้บ้าง
  2. โรคลมชัก โดยทั่วไปจะพบอาการชักในช่วงอายุ 3 ปี แรก อาจมีบ้างที่เริ่มชักเมื่ออายุ 10 ปี ขึ้นไป บางรายมีอาการคล้ายคลุ้มคลั่ง, บังคับไม่อยู่ซึ่งอาการจะหายอย่างรวดเร็ว
       การดูแลรักษา เพื่อช่วยลดอาการชักโดยการให้ยากล่อมประสาท หรือยากันชักเมื่อเกิดอาการ
  3. โรคระบบประสาทแกนไขสันหลัง อาจปรากฏเมื่อสุนัขอายุ 14-16 เดือน ขึ้นไป สุนัขจะขาอ่อนลงอย่างชัดเจนมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะขาหลัง เสียงเห่าจะเบาลงและอั้นอุจจาระไม่ได้อายุประมาณ 18 เดือน หลอดอาหารจะขยายใหญ่มีอาหารไหลย้อนกลับทำให้สำลัก, บางครั้งมีอาการหอบหรือปอดบวมร่วมด้วย ถึงขั้นสุดท้ายสุนัขจะเป็นอัมพาตส่วนหลังและขาหลังทั้งหมดสุนัขจะตายในที่สุด
       โรคนี้ไม่สามารถดูแลรักษาอย่างได้ผล

ระบบการย่อยอาหาร

  1. กระเพาะพลิก การเกิดแก๊สในกระเพาะอย่างรวดเร็วช่องท้องขยายใหญ่มาก หากไม่ได้รับการรักษาทันทีจะถึงตายได้ การรักษาเบื้องต้น ให้ยาลดแก๊สในกระเพาะ แล้วรีบนำไปพบแพทย์
       การดูแลรักษา ต้องคอยดูแลสุนัขที่มีนิสัยกินอาหารเร็ว ( แบบตะกละ ) หลังกินอาหารแล้วสักระยะเวลาหนึ่ง เพื่อสังเกตความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น จะได้รักษาได้ทันท่วงที สุนัขที่เคยเป็นแล้ว มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นได้อีก ควรให้กินอาหารกระป๋องหรืออาหารอ่อนๆ
  2. ท้องเสียจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ความผิดปกติที่ทำให้สุนัขท้องเสีย, หิวบ่อยแต่น้ำหนักลด สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดนี้ เชื่อกันว่ามีระดับโปรตีนในระบบภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นสาเหตุให้แบคทีเรียในระบบย่อยเพิ่มจำนวนมากเกินไป ทำให้สุนัขท้องเสีย, น้ำหนักลด แม้จะกินอาหารได้มากก็ตาม โรคนี้พบได้โดยการตรวจเลือด
       การดูแลรักษาให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับการปรับเปลี่ยนอาหารเป็นประเภทไขมันต่ำซึ่งควรมีส่วนประกอบวิตามินบี ด้วย
  3. โรคที่เกี่ยวกับตับอ่อน เป็นโรคที่พบมากในสุนัขเยอรมันเช็พเพอด และถ่ายทอดทางพันธุกรรมอย่างรุนแรง แต่มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ ในปัจจุบัน เนื่องจากวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำให้ผลการตรวจเลือดมีความแม่นยำขึ้น สุนัขในครอกและในสายที่ตรวจพบโรคนี้จึงไม่มีการสืบสายพันธุ์ต่อไป ( ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการเลี้ยงสุนัขพันธุ์นี้ ) อาการของโรคอาจจะไม่ปรากฏจนสุนัขโตเต็มวัย จึงปรากฏอาการท้องเสีย, น้ำหนักลด เนื่องจากระบบย่อยในลำไส้เล็กล้มเหลว
       การดูแลรักษา ให้ยาลดกรดในกระเพาะ, ให้อาหารไขมันต่ำ ร่วมกับอาหารเสริมสำหรับโรคตับอ่อนเพื่อช่วยระบบย่อย การรักษาต้องทำต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน หรือตลอดชีวิต

โรคเกี่ยวกับระบบผสมพันธุ์

  1. โรคอัณฑะลงถุงไม่ครบ ( หรือไม่มี ) ตามปกติลูกอัณฑะในลูกสุนัขเพศผู้จะเคลื่อนลงถุงภายในช่วงอายุ 20 วัน สุนัขที่ลูกอัณฑะลงถุงเพียงข้างเดียว โดยอีกข้างหนึ่งค้างอยู่ในท่อในช่องท้อง สามารถผสมพันธุ์และให้ลูกได้ แต่เป็นลักษณะด้อยที่สืบทอดทางพันธุกรรม วิธีเดียวที่จะกำจัดลักษณะด้อยนั้นออกมาจากสายพันธุ์ คือไม่ใช้สุนัขที่เป็นโรคนี้เป็นพ่อพันธุ์โดดเด็ดขาด นอกจากนี้สุนัขที่มีอาการนี้ยังเสี่ยงต่อการเป็นเนื้องอกเมื่ออายุมากขึ้น ควรได้รับการผ่าตัดเอาลูกอัณฑะที่ค้างในช่องท้องออกเสีย

โรคที่เกี่ยวกับความผิดปกติในระบบเลือด

  1. โรคเลือดออกไม่หยุด ความผิดปกติของเลือดที่ไม่จับตัวเป็นก้อน ทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ หากไม่สามารถทำให้เลือดหยุดไหลเมื่อมีอุบัติเหตุหรือเป็นแผล ฯลฯ โรคนี้มีการสืบทอดทางพันธุกรรมในสุนัขเยอรมันเช็พเพอดจำนวนมากจะเริ่มสังเกตอาการได้ตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรกหลุด ลูกสุนัขจะมีเลือดออกมากผิดปกติ และแสดงอาการอ่อนเปลี้ยในเวลาเดียวกัน สุนัขควรได้รับการตรวจเลือดเพื่อหาสาเหตุ ที่แท้จริง ( ของการที่เลือดไหลไม่หยุด ) ว่าเกิดจากความผิดปกติของการจับตัวของเลือด ( ซึ่งเป็นกรรมพันธุ์ ) หรือเกิดจากความผิดปกติของเกล็ดเลือด เช่นเกล็ดเลือดต่ำ ( ซึ่งไม่เป็นกรรมพันธุ์ ) วิธีการตรวจเลือดซึ่งเป็นที่ยอมรับว่าดีที่สุดคือ พลาสมาทรานสฟิวชั่น ควรทำก่อนมีการผ่าตัดทุกครั้ง ในกรณีที่ไม่สามารถห้ามเลือดได้สัตวแพทย์จะให้วิตามินเคในปริมาณมากและหลายครั้งในช่วงระหว่างการผ่าตัด

   สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดที่ตรวจพบว่าเป็นโรคทางพันธุกรรม ดังกล่าวข้างต้นส่วนใหญ่ จะยังคงไว้ซึ่งคุณสมบัติประจำพันธุ์อันโดดเด่น เช่น ความเฉลียวฉลาดมีไหวพริบปฏิภาณ ความสุภาพอ่อนโยน ขี้เล่นขี้ประจบ ความเป็นมิตรต่อสัตว์อื่นและคนทั่วไป ความมีบุคลิกภาพสง่างามให้ความรู้สึกอบอุ่น ฯลฯ ที่สำคัญที่สุดเหนือสิ่งอื่นใด คือความรักอันบริสุทธิ์ไร้เงื่อนไขที่มีต่อเจ้าของ จึงควรที่จะเลี้ยงดูให้ความรัก ความเมตตาเอาใจใส่ดูแลให้ถูกต้องเหมาะสมตามอาการของโรค และ จัดการทำหมันเมื่อได้อายุสมควร สุนัขเยอรมันเช็พเพอดเหล่านี้สามารถนำมาฝึกเชื่อฟังคำสั่งเบื้องต้น เพื่อให้ช่วยทำงานต่าง ๆ ภายในบ้าน เช่น นำของมาให้ หรือฝึกให้คุ้นเคยกับเด็ก ๆ เพื่อช่วยดูแลเป็นเพื่อนเล่นกับเด็ก หรือสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ภายในบ้าน ฯลฯ ผู้เลี้ยงจะได้พบว่าสุนัขเยอรมันเช็พเพอดนี้ สามารถทำคุณประโยชน์ และให้เนื้อหาสาระแก่ชีวิตได้อีกมากมายมหาศาล นอกเหนือไปจาก การเป็นพ่อพันธุ์หรือแม่พันธุ์ เพื่อผลทางการค้าเพียงอย่างเดียว

   ในทางตรงกันข้าม หากผู้เลี้ยงพยายามจะเพาะพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอดที่เป็น หรือมีแนวโน้มจะเป็นโรคทางพันธุกรรมเหล่านี้ ย่อมจะเกิดผลกระทบระยะยาว ทั้งต่อวงการผู้เลี้ยงเองในแง่คุณภาพของสุนัขที่เพาะพันธุ์ออกมา และต่อตัวสุนัขเองที่อาจต้องมีชีวิตอยู่อย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมาน ด้วยโรคทางพันธุกรรมที่ได้รับการถ่ายทอดมา ( ซึ่งไม่สามารถรักษาให้หายได้ ) ไปจนชั่วชีวิตของมันเอง

   หวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อมูลที่ค้นคว้ามานี้ จะให้แง่คิดที่เป็นประโยชน์ ต่อวงการผู้เลี้ยงสุนัขเยอรมันเช็พเพอด ในการพิจารณาเพื่อการผสมพันธุ์ และพัฒนาพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ให้มุ่งไปในทิศทองที่ถูกต้อง เพื่อประโยชน์ สูงสุดต่อพวกเราและเยอรมันเช็พเพอดของเราต่อไปในอนาคต ……..

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 45 ( กันยายน 2543 )

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ข้อพิจารณาประกอบการผสมพันธุ์สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด/516916098345824