ใบพันธุ์ประวัติ (เพดดิกรี)

ใบพันธุ์ประวัติ (PEDIGREE/AHNENTAFEL)

โดย.....หมอไพบูลย์

   มูลเหตุของบทความนี้ ผมได้เคยอธิบายเรื่องการอ่าน ใบพันธุ์ประวัติ หรือ Pedigree ให้คนฟังมาหลายครั้ง และได้รับปากหลายบุคคล ในหลายวาระ ว่าจะเขียนเรื่องนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ได้เห็นประโยชน์ของใบพันธุ์ประวัตินี้ ซึ่งหากยังเขียนไม่สำเร็จ ก็ยังรู้สึกเป็นหนี้ในใจอยู่เสมอมา ดังนั้น เมื่อบทความนี้สำเร็จลงจึงเป็นความสบายใจของผมและหวังว่าพวกสมาชิกเราคงได้อ่านบทความต่อไปนี้ ด้วยความสบายใจเช่นกัน อย่าถือเป็นเรื่องซีเรียสครับ อย่าซีเรียส

   บทความนี้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวและยุ่ง จึงขอเตือนให้ผู้อ่านได้อ่านไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็หยุด ถ้าไม่มีเวลามากพอ อย่าพยายามอ่านให้จบในรวดเดียวเป็นอันขาด เพราะจะทำให้มึนศีรษะ

   การอ้างอิงจะใช้ใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท. เป็นหลัก แล้วกำกับโดยใช้ภาษาเยอรมันในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อท่านที่มีใบพันธุ์ประวัติของสุนัขที่ออกโดย SV. สามารถนำมาเปรียบเทียบดูได้

ภาค 1

   ใบพันธุ์ประวัติ คือ แผนภูมิ หรือ ตารางที่แสดงให้ทราบว่า สัตว์หรือตระกูลของมันได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม มาจากไหนและอย่างไร จากบรรพบุรุษ ชั่วอายุหนึ่งไปยังอีกชั่วอายุหนึ่ง เป็นการรับรองว่าเป็นสัตว์พันธุ์แท้ สามารถสืบสายวงศ์วานได้ ทั้งที่ใบพันธุ์ประวัติ เป็นเอกสารที่สำคัญมาก ในการวางแผนการผสมพันธุ์สัตว์ทุกชนิด แต่พวกเราโดยเฉพาะสมาชิกใหม่ หรือผู้เริ่มต้นจะเป็นนักผสมพันธุ์สุนัข ก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากใบพันธุ์ประวัติที่มีอยู่อย่างเต็มที่

   การผสมพันธุ์สัตว์ โดยไม่ได้วางแผน ไม่ใช้ใบพันธุ์ประวัติหรือขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว ก็แทบไม่ต่างจากตาบอดคลำช้างเลยจริง ๆ เพราะใบพันธุ์ประวัติ จะเป็นเครื่องช่วยเป็นอย่างมากในการที่จะบอกเราว่า สุนัขของเรานั้นมีอะไรที่แอบแฝงอยู่ภายในสายเลือดของตัวเอง โดยจะมีลักษณะที่ทั้งแสดงและไม่ได้แสดงให้ปรากฏออกมาในสภาพภายนอก ที่เรามองเห็นได้

ประโยชน์ของใบพันธุ์ประวัติ

   เรามักใช้ใบพันธุ์ประวัติเพื่อแบ่งเกรดและราคาของลูกสุนัข ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงประโยชน์โดยทางอ้อมประการหนึ่งของใบพันธุ์ประวัตินี้เท่านั้น

   จุดประสงค์หลักของการจัดทำใบพันธุ์ประวัติ ก็เพื่อใช้วางแผนในการผสมพันธุ์ ทำให้เราทราบว่า สุนัขตัวนั้น ๆ สืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษตัวไหน และถ้าเราทราบลึกลงไปอีกว่า บรรพบุรุษของสุนัขตัวนั้นมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ก็จะทำให้เราสามารถคัดเลือกสุนัขที่จะมาเป็นคู่ผสมพันธุ์ ของตัวสุนัขของเราเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้น จะทำให้เราทราบว่า สุนัขของเรานั้นมีข้อดีหรือข้อด้อยตรงตามสายพันธุ์หรือไม่ เราสามารถแก้ไขจุดอ่อนในสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ได้หรือยัง เพราะสุนัขทุกตัวล้วนมีข้อดี ข้อเสียในตัวทั้งสิ้น เป้าหมายของนักผสมพันธุ์คือ ควรจับคู่อย่างไร จึงจะรักษาลักษณะที่เป็นข้อดีของสุนัขของตนให้คงอยู่เอาไว้ ในขณะเดียวกันก็พยายามกำจัดลักษณะที่เป็นข้อด้อยในสุนัขของตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด

ตัวอย่าง
   สุนัขของเรามี รงควัตถุ ( Pigment ) ที่อ่อน หรือมีบรรพบุรุษที่มี Pigment อ่อนเราก็ต้องพยายามหาคู่ที่ไม่ปัญหาในเรื่อง Pigment มาจับคู่ผสมพันธุ์กัน เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะพบลูกสุนัขที่มี Pigment อ่อนออกมาอีก เป็นต้น

   ในมุมกลับกัน หลังจากที่เราทำการผสมพันธุ์ ไปได้หลายชั่วโคตรแล้ว และไม่พบปัญหาในเรื่อง Pigment นี้อีก หากเราอยากรู้ว่าสายเลือดของสุนัขที่เรามีนั้น แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือยัง เราก็สามารถพิสูจน์ได้ โดยหาสุนัขที่มีปัญหาในเรื่อง Pigment แต่มีลักษณะที่ดีที่สายเลือดของเรายังขาดอยู่มาทำการทดลองจับคู่ผสมพันธุ์เข้า หากลูกที่เกิดไม่มีปัญหาเรื่อง Pigment อีก ก็เป็นการพิสูจน์ได้ว่า สายเลือดของสุนัขของเรานั้นแก้ปัญหาเรื่อง Pigment นี้ไปได้แล้วในระดับหนึ่ง (ขอเน้นว่าระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องอยู่อีกหลายประการ ไม่ใช่สูตรทางคณิตศาสตร์ที่จะเป็นกฎตายตัวได้) และถ้าเราโชคดีเราก็จะได้ลักษณะดีของคู่ผสม ที่มีปัญหาในเรื่อง Pigment นั้นมาเป็นของแถมด้วยก็ได้ 

ใบพันธุ์ประวัติระบบของ SV.

   สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทยของเรานั้น ใช้ระบบของเยอรมนีมาเป็นแม่แบบ ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการมองการณ์ไกลของผู้บริหารที่เริ่มก่อตั้ง ส.ส.ย.ท. เพราะผลที่เราได้เห็นในปัจจุบันก็คือ ความสำเร็จและมั่นคงของสุนัขพันธุ์นี้เหนือกว่าทุก ๆ พันธุ์ในประเทศอย่างชัดเจน และปรากฏการณ์อันนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในประเทศของเราเท่านั้น ในระดับสากล หลักการจัดใบพันธุ์ประวัติแบบนี้ ก็มีข้อดีเด่นที่เหนือกว่าระบบของประเทศทางยุโรป และอเมริกาหลายประการ ซึ่งผมเห็นว่านี่เป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ของเยอรมนี เป็นสายเลือดที่ดีที่สุดในโลกปัจจุบัน

   บางท่านอาจคิดว่าที่ประเทศอื่น มีสุนัขพันธุ์นี้สู้เยอรมนีไม่ได้ เพราะมีสายเลือดที่ด้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีแพ้สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ทุกครั้งประเทศผู้ชนะสงคราม ย่อมสามารถนำเอาสิ่งของในประเทศผู้แพ้สงครามกลับไปได้เสมอ สายพันธุ์สุนัขที่ยอดเยี่ยมในยุคนั้น ก็ถูกนำออกจากเยอรมนีด้วยเช่นกัน แต่ด้วยระบบที่เข้มงวด เป้าหมายที่ชัดเจน และการร่วมมือกันระหว่างสมาคมกลางและสมาชิก เยอรมนีก็สามารถพัฒนาสุนัขชั้นรอง ๆ ที่เหลืออยู่ภายในประเทศของตน จนกลับมาแซงหน้าเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ทุกครั้งไป 

ข้อดีเด่นของใบพันธุ์ประวัติระบบนี้ พอจะแยกแยะออกได้ดังนี้

  1. มีเป้าหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ว่าสุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขใช้งาน ดังนั้น จะต้องมีทั้งสภาพร่างกายและจิตประสาทที่ดีพอ ไม่ใช่สวยงามตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพียงอย่างเดียว
       ลองคิดดูว่าหากใครสักคนจะเลี้ยงสุนัขสักตัว ระหว่างสุนัขที่สวยแต่โง่และดื้อ กับสุนัขที่แม้จะขี้เหร่แต่เชื่อฟังคำสั่ง ว่านอนสอนง่าย และใช้งานได้ คุณคิดว่าเขาจะเลือกเลี้ยงตัวไหน ? แล้วถ้าสวยด้วย ฉลาดด้วย ก็ยิ่งคิดไม่ยากจริงไหมครับ
       อนึ่ง สุนัขที่สวยงาม หรือมีลักษณะถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่จำเป็นว่าจะเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีกว่าเสมอไป เราสามารถรู้ว่าสุนัขตัวใดสวยงามกว่ากันได้ จากผลการประกวดของมัน แต่เราจะรู้ได้ว่าสุนัขตัวนั้นมีคุณค่าต่อสายพันธุ์หรือไม่ ก็จากใบพันธุ์ประวัติและผลผลิต คือ ลูกหลานของตัวมัน
    ตัวอย่าง Siegerin ปี 1982 *Perle v. Wildsteiger Land http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=1410 สวยเฉียบ แต่ผลการให้ลูกไม่ได้ตัวที่ดีเด่นเลย เมื่อเทียบกับ *Palme http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=116 พี่น้องร่วมครอกซึ่งไม่เคยลงแข่งงานประจำปี เพราะรู้ว่าถ้าลงก็แพ้ แต่ให้ลูก VA เป็นว่าเล่น รวมทั้ง *Uran และ *Quando
    หมายเหตุ : *Palme Wildsteiger Land คือแม่พันธุ์ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในสายพันธุ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (1994)  ระบบของเยอรมนี ให้ ความสามารถในการใช้งานของสุนัข มีผลต่ออันดับในการประกวดพันธุ์ด้วย

  2. ให้ข้อมูลที่เปิดเผย และ มีรายละเอียดมากกว่า ใบพันธุ์ประวัติระบบนี้มีการบันทึกข้อมูลของบรรพบุรุษถึง 4 ชั่วโคตร โดยเฉพาะใน 2 ชั่วโคตรแรก จะมีการบันทึกละเอียดถึงคุณลักษณะประจำตัวสุนัขและจำนวนพี่น้องที่ร่วมครอกด้วย และหากคุณได้นำพันธุ์ประวัติของตัวพ่อและแม่ของสุนัขตัวนั้น มาประกอบกันด้วย ก็จะสามารถทราบรายละเอียดย้อนหลังไปได้ถึง 5 ชั่วโคตร และคุณลักษณะประจำตัวได้ถึง 3 ชั่วโคตร ทันที
       ขณะที่ใบพันธุ์ประวัติอื่น ๆ ไม่ลงรายละเอียดปลีกย่อยเช่นนี้ ทำให้หากคุณจะเริ่มเข้ามาเป็นนักผสมพันธุ์สุนัขพันธุ์อื่น คุณจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รู้ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ของคู่ผสมพันธุ์ สุนัขของคุณมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร นักผสมพันธุ์ที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องคลุกคลีอยู่กับสุนัขพันธุ์นั้นมานานและจำได้ว่า บรรพบุรุษของสุนัขแต่ละตัวมีคุณลักษณะอย่างไร จุดอ่อนอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พวกมือใหม่หมดโอกาสแข่งขัน ถ้าขาดผู้รู้ที่จะถ่ายทอดได้ วงการใดหากขาดมือใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ก็คงได้แต่รอวันสลายตัว อย่ายอมให้ใครก็ตามมาปิดโอกาสของมือใหม่นะครับ
       เหตุที่กำหนดการตรวจสอบย้อนหลังไว้ 5 ชั่วโคตร (อันเป็นการรับรองขั้นต่ำที่สุดในใบพันธุ์ประวัติสีขาว) เพราะในหลักการผสมพันธุ์ ถือว่าสุนัขในชั่วโคตรที่ 5 จะมีอิทธิพลมาถึงรุ่นปัจจุบันเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.125 และในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถรักษาคุณลักษณะที่ดีอันไหนไว้ได้ถึง 5 ชั่วโคตรแล้ว โอกาสที่ลูกสุนัขในสายสกุลนั้นจะคงลักษณะนั้นไว้ได้ ก็มีเกือบ 100%
    ตัวอย่าง โรคฮิตประจำพันธุ์ โรคข้อตะโพกวิการ (Hip Dysplasia) ถ้าเราสามารถคัดเลือกจนภายใน 5 ชั่วโคตร ของสุนัขของเรานั้น ไม่ปรากฏว่ามีตัวหนึ่งตัวใดเป็นโรคข้อตะโพกวิการนี้เลย (ทุกตัวมีการรับรอง  'a'  NORMAL ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี) ถึงตอนนั้นเราก็พอจะมั่นใจได้ว่าลูกสุนัขของเราจะไม่เป็นโรคนี้อีก โดยสาเหตุทางพันธุกรรม
       อย่างไรก็ตาม แม้เราจะทราบหลักโดยพื้นฐานที่สุดอันนี้แล้ว ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เพราะลักษณะทางพันธุกรรมของสัตว์ ไม่ใช่ลักษณะเดี่ยว ๆ มีหลาย ๆ ลักษณะในตัวเดียวกัน และบางลักษณะก็มีความผูกพันธ์กัน แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายอย่างเช่น สภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่ด้วยหลักการอันนี้ ถ้าเข้าใจ และมีการสืบทอดเจตนารมณ์โดยต่อเนื่องเรื่อยไปแล้ว เราก็จะสามารถกำจัดลักษณะที่ไม่ดีต่าง ๆ ได้จนเหลือน้อยที่สุด

ผังแสดงอิทธิพลของบรรพบุรุษที่มีมาถึงรุ่นลูกในแต่ละชั่วโคตร

ชั่วโคตรที่ 1     ชั่วโคตรที่ 2      ชั่วโคตรที่ 3        ชั่วโคตรที่ 4     ชั่วโคตรที่ 5
  (พ่อ แม่)      (ปู่ ย่า ตา ยาย)       (ทวด)
พ่อ 50--------------ปู่ 25--------------ทวด 12.5-------------6.25-------------3.125
        |---------------ย่า 25
แม่ 50

ใบพันธุ์ประวัติของ Marko Dolomiten http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=819 เป็นสุนัขของอิตาลี มีจุดที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่

  1. มีการบอก วัน เดือน ปีเกิด ของสุนัขแต่ละตัว
  2. ตำแหน่งประกวด บอกว่า ได้ตำแหน่งขั้นใด และ ลำดับที่เท่าไรด้วย
  3. การคัดพันธุ์ บอกว่า เป็นชั้นหนึ่งหรือสอง และ บอกปีที่รับรอง
  4. การรับรองข้อตะโพก บอกเกรดที่ได้รับการรับรองไว้ด้วย (ยอดมาก !)
  5. ในช่องของพ่อและแม่ มีการบอก Inzucht ไว้ด้วย
  6. สังเกตช่องพี่น้องร่วมครอก จะแยกเพศไว้ เลข 1 คือเพศผู้ เลข 2 คือเพศเมีย
    **แต่ไม่มีคุณสมบัติประจำตัว ของพี่น้องเหมือนอย่างเยอรมนี

ตัวพ่อ *Vax Dolomiten ได้ตำแหน่ง V แต่มีสายเลือดและการ Inzucht ที่แน่นมาก ผลที่ได้คือ ให้ลูกที่มีคุณภาพดีมากกว่า VA อีกหลายตัว

ชนิดของใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท.

แบ่งออกเป็น 3 ชนิด โดยแยกออกเป็น 3 สี ได้แก่ สีชมพู สีขาว และ สีเขียว (ปัจจุบันไม่มีใบสีเขียวแล้ว)

  1. ใบพันธุ์ประวัติสีชมพู คือ ใบพันธุ์ประวัติสำหรับลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ได้รับการรับรองการคัดพันธุ์ ที่ยังอยู่ภายในช่วงเวลาที่บังคับใช้โดยสมบูรณ์
       ในการสอบคัดพันธุ์สุนัขทุกครั้ง จะต้องมีการกำหนดช่วงเวลาในการรับรองให้เสมอ โดยปกติ ในการสอบคัดพันธุ์ครั้งแรก จะให้การรับรองในช่วงเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว จะต้องนำสุนัขมาทำการสอบคัดพันธุ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าสุนัขตัวนั้น ๆ ยังคงมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ หากยังมีอยู่ครบ ก็จะปรับให้เป็น การรับรองการคัดพันธุ์ตลอดชีวิต (* Lebenszeit = +Lbz.)
       สุนัขบางตัวคุณลักษณะมีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมถอยหรือให้ลูกที่มีข้อบกพร่องมาก สมาคมฯ จะไม่ต่ออายุการคัดพันธุ์ให้ก็ได้ เช่น VA ตัวดัง Gundo v.Trienzbachtal สอบพ่อพันธุ์ครั้งที่ 2 ตก ทั้งที่เป็นสุนัขที่ให้ ลูกเป็น VA หลายตัว ก็หมดอนาคตในเยอรมนีไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ
    เรื่องที่คนมักเข้าใจไขว้เขว ที่พบอยู่ในกรณีนี้คือ มักเข้าใจกันไปว่า เมื่อพ่อสุนัขใบพันธุ์ประวัติสีชมพู มาผสมพันธุ์ กับ แม่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีชมพูแล้ว ลูกที่เกิดมาจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีชมพูเหมือนกัน โดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ถูกต้องถ้าอยากให้ลูกสุนัขของเรามีใบพันธุ์ประวัติสีชมพู จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?
    1) ต้องใช้แม่สุนัขที่มีใบพันธุ์ประวัติสีชมพู หรือสีขาวเท่านั้น
    2) นำแม่สุนัขของคุณไปตรวจ X-ray รับรองข้อตะโพกเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป
    3) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบอดทน
    4) นำแม่สุนัขของคุณไปประกวด เพื่อให้มีผลรับรองความงามขั้นดี (G) ขึ้นไป
    5) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบรับรองความสามรถในการใช้งานที่นิยมคือสอบอารักขา
    6) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบคัดพันธุ์
    7) เมื่อคุณทำครบทั้ง 6 ข้อ ข้างต้นแล้ว แม่สุนัขของคุณก็จะกลายเป็นแม่พันธุ์
    คราวนี้นำแม่พันธุ์ของคุณไปผสมกับสุนัขพ่อพันธุ์ คือสุนัขที่ผ่านการสอบตามขั้นตอนข้างบนนี้มาแล้วเช่นกัน อย่าเผลอไปผสมกับพ่อสุนัขเข้า ลูกสุนัขที่เกิดมาก็จะได้ใบพันธุ์ประวัติสีชมพู
  2. ใบพันธุ์ประวัติสีขาว คือ การรับรองพันธุ์ประวัติให้กับลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อ แม่ซึ่งมีเอกสารการรับรองพันธุ์ประวัติสมบูรณ์
       จะเห็นได้ว่า ใบพันธุ์ประวัติสีขาวนี้ เริ่มรับรองตั้งแต่ลูกสุนัขครอกนั้น สามารถสืบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 5 ชั่วโคตร จนถึงลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่ขาดห้วงอายุรับรองการคัดพันธุ์
       Dick Adeloga Sieger ปี 73 ก็เป็นแค่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีขาวเหมือนกัน (สังเกตไม่มีเครื่องหมาย * หน้าชื่อของแม่ Asta แสดงว่าไม่ได้คัดพันธุ์) แต่ปัจจุบันสุนัข VA จะต้องเป็นใบพันธุ์ประวัติสีชมพู ชนิดสืบสายรับรองการใช้งาน และสืบสายรับรองการทำพันธุ์ (Kor und Leistungszucht) ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา สุนัขที่กัดแล้วสั่งไม่ปล่อยก็ไม่สามารถได้ตำแหน่ง VA ได้ด้วย
  3. ใบพันธุ์ประวัติสีเขียว (ปัจจุบันไม่มีใบสีเขียวแล้ว) คือ การรับรองพันธุ์ประวัติให้กับลูกสุนัข ที่เกิดจากพ่อ แม่ที่ไม่มีเอกสารรับรองพันธุ์ประวัติ หรือมีไม่สมบูรณ์ คือ ตั้งแต่ 1-4 ชั่วโคตร ถ้าสืบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ไม่ครบ 5 ชั่วโคตร ขาดเพียงตัวหนึ่งตัวใดก็ตาม ก็จะต้องเป็นใบพันธุ์ประวัติสีเขียวนี้
    ตัวอย่าง ถ้านำสุนัขพ่อพันธุ์ที่สอบคัดพันธุ์แล้ว ไปผสมกับแม่สุนัขที่สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้สมบูรณ์ไม่ครบ 5 ชั่วโคตร แต่ชั่วโคตรที่ 3 ครบ ลูกสุนัขที่เกิดจะได้เป็นใบพันธุ์ประวัติสีเขียวรุ่นสุดท้าย
    ถาม นำพ่อสุนัขใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 4 ชั่วโคตร มาผสมกับแม่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 4 ชั่วโคตร ลูกที่เกิดมาจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีอะไร
    ตอบ สีขาวรุ่นแรก

   ยังมีใบรับรองอีกชนิดหนึ่งคือ ใบจดทะเบียนตัว หมายถึง ใบรับรองที่ออกให้กับลูกสุนัขที่ไม่สามารถสืบบรรพบุรุษได้เลย เป็นการรับรองเฉพาะสุนัขตัวนั้น และสมาคมฯ จะทำการสักหูโดยอักษร SP ใบรับรองชนิดนี้ยังไม่นับเป็นใบพันธุ์ประวัติ และลูกสุนัขที่เกิดจากสุนัขประเภทนี้ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโคตร จึงจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีขาว

ภาค 2

   ในภาคนี้เราจะนำใบพันธุ์ประวัติตัวจริงมาทำการศึกษา โดยจะขอใช้ตัวอย่างประกอบเป็น 2 ตัว เป็นใบพันธุ์ประวัติที่ ส.ส.ย.ท. ออกเอง 1 ฉบับ และที่เป็นของ SV ออกอีก 1 ฉบับ

   เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น กรุณานำใบพันธุ์ประวัติของสุนัขที่ท่านเองมีอยู่ นำมาประกอบอ่านตามไปเรื่อย ๆ หากสงสัยว่าสิ่งใดแตกต่างหรือตกหล่น เชิญติดต่อสอบถามได้ครับ

ใบพันธุ์ประวัติ บอกอะไรให้เราบ้าง

    ใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท. มีจุดที่ควรสนใจดังนี้ เริ่มจากปกหน้า

  1. พันธุ์ประวัติ = Ahnentafel
    บ่งว่าสุนัขตัวนั้นสืบสายมาจากบรรพบุรุษตัวใดบ้าง ถ้าเป็นสีเขียว จะบอกได้ไม่ครบสมบูรณ์ทั้ง 5 ชั่วโคตร ถ้าเป็นสีขาวหรือสีชมพู จะบอกได้ครบสมบูรณ์ทั้ง 5 ชั่วโคตร
    ถาม สุนัขมีใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ (สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้สมบูรณ์ 4 ชั่วโคตร) จะมีสิทธิสอบ เป็นสุนัขพ่อพันธุ์ หรือสุนัขแม่พันธุ์ ได้หรือไม่
    ตอบ ไม่ได้
  2. สืบสายรับรองการใช้งาน = Leistungszucht
    บ่งว่าทั้ง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และยาย ของสุนัขตัวนี้ทุกตัวสามารถสอบผ่านรับรองการใช้งานมาแล้ว
  3. สืบสายรับรองการทำพันธุ์ = K'o'rzucht
    บ่งบอกว่าทั้ง พ่อ และแม่ ของสุนัขตัวนี้ สอบผ่านการคัดพันธุ์มาแล้ว
    ข้อสังเกต ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่จำเป็นต้องสอบคัดพันธุ์ก็ได้

    ในสามหัวข้อแรกนี้อาจมีไม่ครบทุกข้อ ถ้าขาดข้อใดแสดงว่าไม่ได้รับการรับรองในข้อนั้น
  4. สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ชื่อ.......Nana vom Nato Haus
       แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชื่อ (Nana) และคอกหรือนามสกุล (Nato Haus) การตั้งชื่อลูกสุนัขแต่ละครอก ครอกแรกจะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A และสุนัขครอกเดียวกันทุกตัว จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวเดียวกันทั้งหมด ครอกที่ 2 ก็จะขึ้นต้นอักษรด้วยอักษร B ทั้งหมด.....ไปเรื่อย ๆ จนถึงครอกที่ 26 ก็จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร Z ทั้งหมด เมื่อถึงครอกที่ 27 ก็จะเวียนมาเป็นตัวอักษร A รอบที่ 2
       ข้อควรทราบ ในสุนัขคอกเดียวกัน จะไม่ตั้งชื่อซ้ำกันเอง เช่น ชื่อ Canto มีทั้งสุนัขชื่อ Canto v.d. Weinerau , Canto v. Arminius หรือ Canto v. Paiboon คอกใด ๆ ก็ตั้งชื่อนี้ได้และก็นิยมตั้งกันเสียด้วย แต่จะไม่มี Canto Weinerau ตัวที่ 2 อีกแล้ว คือในคอก Weinerau เองเขาจะไม่ตั้งชื่อ Canto นี้ซ้ำอีกแล้ว ดังนั้นเจ้าของคอกสุนัขจะต้องทำทะเบียนชื่อสุนัขในคอกของตัวเองไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนดังกล่าว
       ส่วนการตั้งชื่อคอก หรือนามสกุลของสุนัขนั้น จะต้องไปขอจดทะเบียนกับสมาคมฯ เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนกัน จะเห็นว่าชื่อของสุนัขนั้น จะตั้งซ้ำกันกับใครก็ได้ เว้นแต่คอกของตัวเอง แต่ชื่อคอกนั้นจะตั้งซ้ำกับคนอื่นไม่ได้
  5. เพศ = Geschlecht...เมีย
    มี 2 เพศ คือ เพศผู้ = Ruden หรือ เพศเมีย = Hundi
  6. ลักษณะขน = Haarart...ปานกลาง
    บอกเป็น สั้น = Stockharrig ปานกลาง ยาว = Langharrig
  7. สีและลวดลายของสี = Farbe und Abzeichen...ดำ-น้ำตาล = schwarz braun :
    ด้านหน้าปกจะลงเป็นตัวอักษรเต็ม แต่ด้านหน้ากลางจะลงแค่เป็นตัวย่อ
  8. ลักษณะพิเศษอื่น ๆ = Besondere Kennzeichen
  9. หมายเลขหูสุนัข = Tatowier - Nr....A-5101
       อักษรตัวนำหน้า บอกเขตที่ตั้งของคอก ไทยเราใช้อักษร 1 ตัว ของเยอรมันใช้ 2 ตัว
       เลขที่ตามหลังของไทยเรานั้น จะใช้เป็นรหัส คือ เลขตัวแรก (5) บอกปี พ.ศ. ที่เกิด สุนัขตัวนี้เกิดในปี พ.ศ. ที่ลงท้ายด้วยเลข 5 (2535)
       ส่วนเลขที่เหลือก็เป็นการเรียงไปตามลำดับที่ขึ้นทะเบียน
       ดังนั้น ภายในรอบ 10 ปี สุนัขจะมีโอกาส ที่หมายเลขหูซ้ำกันได้ 1 ครั้ง เช่น สุนัขในปี 2525 จะมีโอกาสซ้ำ กับสุนัขในปี 2535 หรือ 2545 ได้
       อธิบายตัวอย่าง A-5101 สุนัขตัวนี้ เกิดจากคอกที่มีที่ตั้งในเขต A ในปีที่ลงท้ายด้วย 5 เป็นลำดับที่ 101 ของปีนั้น
  10. วันเกิด = Wurftag...6 เมษายน 2535
    คือ การระบุ วัน เดือน ปีเกิด ของสุนัข
  11. ปีเกิด = Wurfjahr (อักษร)...สองพันห้าร้อยสามสิบห้า
    บอกปีที่เกิดเป็นตัวอักษร
  12. ผู้ผสมพันธุ์ = Zuchter...นายนริษฐ ทองนพเนื้อ
    คือ เจ้าของคอกที่สุนัขเกิด
  13. ที่อยู่ = Anschrift...35 ซ.สายลม 2 สามเสนใน พญาไท กทม.
    คือ ที่อยู่ของผู้ผสมพันธุ์
  14. ชื่อบรรพบุรุษร่วมในตระกูลภายใน 5 ชั้น = Inzucht Auf...
    Palme Wildsteiger Land (4-3)
    Uran Wildateiger Land (4,4-2)
       เป็นจุดสำคัญมากจุดหนึ่ง บอกให้เราทราบว่าภายใน 5 ชั่วโคตรของสุนัขตัวนี้ มีสุนัขตัวใดซ้ำกันบ้างในระหว่างบรรพบุรุษสายพ่อ กับบรรพบุรุษสายแม่
       จะเป็นการซ้ำกันในสายพ่อเพียงตัวเดียว แต่ไม่พบในสายแม่ หรือซ้ำกันในสายแม่เพียงตัวเดียว แต่ไม่พบในสายพ่อไม่ได้
       หลักการอ่าน ต้องเริ่มจากสายพ่อก่อน คั้นด้วยเครื่องหมาย " - " แล้วตามด้วยสายแม่ ถ้ามีการซ้ำกันเองในระหว่างสายพ่อกับสายแม่ หรือซ้ำกันเองในระหว่างสายแม่กับสายแม่ จะใช้เครื่องหมาย "," ตัวเลขจะบอกว่าพบซ้ำกันในชั่วโคตรใดบ้าง โดยเริ่มนับขั้นของพ่อและแม่เป็นช่วงที่ 1 ปู่ย่าตายายเป็นช่วงที่ 2 ทวดเป็นช่วงที่ 3 เรื่อยไป
       จากตัวอย่าง Palme Wildsteiger Land (4-3)
    แสดงว่ามี Palme เป็นบรรพบุรุษร่วมในสายพ่อ ช่วงที่ 4 และสายแม่ช่วงที่ 3
                           Uran Wildsteiger Land (4,4-2)
    แสดงว่ามี Uran เป็นบรรพบุรุษร่วมในสายพ่อช่วงที่ 4 (2 ครั้ง) และสายแม่ช่วงที่ 2 (1 ครั้ง)
       ในหลักการผสมพันธุ์ สายเลือดใกล้ชิดที่สุดที่จะยอมให้ทำการผสมพันธุ์กันได้คือ (3-2) หรือ (2-3) การผสมเลือดชิดในระดับ (2-2) คือ ปู่และตาหรือย่าและยายของสุนัขเป็นตัวเดียวกัน สมาคมฯจะไม่อนุญาตให้ทำการผสมพันธุ์ เพราะลูกที่เกิดมีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาเนื่องจากเลือดชิดมากเกินไป
  15. ชื่อพี่น้องร่วมครอก = Geschwister...Natz sb/
       บอกให้ทราบว่าสุนัขตัวนี้ มีพี่น้องร่วมครอกที่ขึ้นทะเบียนกี่ตัว โดยรายละเอียดที่บอกคือ ชื่อ..ตามด้วยสีและลวดลายของสี ( หัวข้อที่ 7 )
       จากตัวอย่าง Natz sb/ ( สีดำ-น้ำตาล ) หมายถึง Nana มีพี่น้องร่วมครอกกันอีก 1 ตัว ชื่อ Natz สีดำ-น้ำตาล
       การเรียงลำดับในกรณีที่สุนัขในครอกเดียวกันมีหลายตัว ทั้งเพศผู้และเมียจะเริ่มต้นด้วยเพศผู้ก่อนเสมอ แล้วเรียงชื่อไปตามลำดับอักษรในพจนานุกรม เมื่อหมดเพศผู้แล้วจึงตามด้วยเพศเมีย แล้วเรียงชื่อไปตามลำดับอักษรในพจนานุกรมเช่นกัน ไม่ได้เป็นการเรียงว่าใครเกิดก่อน เกิดหลัง
       ลักษณะของชื่อ นิยมตั้งให้บอกเพศได้คือ ชื่อของสุนัขเพศผู้ก็ให้ฟังดูเป็นชาย ส่วนของเพศเมียก็ฟังดูเป็นหญิง
       และไม่นิยมตั้งชื่อพ้องกับภาษาไทย ไม่ใช่เป็นการดัดจริต แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่พอใจว่าไปล้อเลียนบุคคลที่ 3 เข้า
  16. ภูมิหลังเมื่อเกิดของครอกสุนัข = Erlauterung uber Wurfstarke...เกิด 2,2 ตายหลังเกิด 1,1 ขึ้นทะเบียน 1,1
       บอกจำนวนพี่น้องร่วมครอกทั้งหมดว่าเกิดกี่ตัว เป็นเพศผู้กี่ตัวและเพศเมียกี่ตัว เลขที่อยู่หน้าแทนจำนวนเพศผู้ แยกด้วยเครื่องหมาย " , " เลขที่อยู่หลังแทนจำนวนเพศเมีย
       นอกจากนั้น จะแจ้งรายละเอียดอื่น ( ถ้ามี ) เช่น
    ตายเมื่อเกิด = Totgeboren ลูกสุนัขเสียชีวิตระหว่างคลอดหรือตั้งแต่อยู่ในท้อง
    ตายหลังเกิด = Verendet ลูกสุนัขคลอดออกมาตามปกติแต่เสียชีวิตก่อนสักหูขึ้นทะเบียน
    ฝากแม่นมเลี้ยง = Ammenaufzucht ในเยอรมนีมีกฏว่าแม่ 1 ตัว จะเลี้ยงลูกได้ไม่เกินคราวละ 6 ตัว
       ดังนั้นจึงต้องหาแม่นมที่มีลูกไม่ถึง 6 ตัวมาช่วยเลี้ยง หากมีลูกมากกว่าครอกละ 6 ตัว และหาแม่นมมาไม่ได้ จะต้องกำจัดลูก ที่เกิน 6 ตัวออกไป
       จากตัวอย่าง สุนัขครอกนี้เกิดมาทั้งสิ้น 4 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 2 ตัว ต่อมาได้ตายไปก่อนขึ้นทะเบียนเพศละ 1 ตัว คงเหลือได้ขึ้นทะเบียนเพศผู้ 1 ตัวและเพศเมีย 1 ตัว
  17. ลงนามโดยผู้ผสมพันธุ์
  18. ทำเนียบทะเบียนเล่มที่ = SZ Band...21 ทะเบียนเลขที่ = SZ Nr....44301
       เป็นลำดับเลขประจำตัวของสุนัข ที่สมาคม ฯ จดทะเบียนไว้ ตัวเลขนี้ในทางหลักฐานเอกสารถือว่าสำคัญมากกว่าหมายเลขหูสุนัขที่สักไว้ เพราะเลขทะเบียนนี้จะเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัด ทำให้สุนัขทุกตัวจะมีเลขทะเบียนที่ไม่ซ้ำกันเลย ส่วนในหมายเลขที่สักหูจำเป็นต้องซ้ำกันบ้าง เพราะข้อจำกัดทางขนาดของใบหู อย่างในเยอรมนีตอนนี้ เลขทะเบียนของสุนัขเข้าใกล้หลัก 2 ล้านแล้ว
       ในการลงทะเบียนประจำตัวของสุนัขแต่ละตัว ในใบพันธุ์ประวัติจึงใช้เลขทะเบียนนี้เป็นหลัก เพราะแยกตัวสุนัขได้แน่นอนกว่าหมายเลขที่สักหู
  19. เมื่อ = Auesburg. Den...30 กรกฎาคม 2535 วัน เดือน สมาคม ฯ ได้รับขึ้นทะเบียน สุนัขตัวนี้ไว้

    ปิดท้ายหน้าแรกนี้ คือ การลงนาม โดยนายทะเบียนของสมาคม ฯ
  20. บันทึกคุณลักษณะเพิ่มเติมเฉพาะตัวทางมุมบนขวามือของใบพันธุ์ประวัติ จะมีช่อง " บันทึกคุณลักษณะเพิ่มเติมเฉพาะตัว " มีไว้เพื่อเพิ่มเติมคุณลักษณะที่สุนัขตัวนี้ผ่านการทดสอบในภายหลัง เช่น การตรวจรับรองข้อตะโพก หรือสอบคัดพันธุ์ได้ก็จะบันทึกลงไว้บริเวณนี้ ส่วนของเยอรมนีนั้น จะใช้บันทึกไว้บริเวณหน้าหลังสุด
       เป็นการบ่งคุณลักษณะที่สุนัขตัวนั้นได้รับการรับรองในภายหลัง เช่น รับรองไม่เป็นโรคข้อตะโพกวิการ

ภาค 3

หน้ากลางของใบพันธุ์ประวัติ

   ใช้ลงรายละเอียดต่างๆ ของการสืบสายพันธุ์ย้อนหลังไป 4 ชั่วโคตร โดยเฉพาะในรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และยาย ก็จะได้ลงบันทึกคุณลักษณะ ตามความเห็นของกรรมการผู้สอบคัดพันธุ์ (Kormeister) ต่อสุนัขตัวนั้นๆ ไว้ด้วย

   ผังบรรพบุรุษ จะมีทั้งสิ้น 30 ตัว ของ ส.ส.ย.ท. เราจะมีเลขกำกับไว้ทุกตัว ส่วนของเยอรมันจะมีเพียงแต่ 2 ชั่วโคตรแรก คือ 6 ตัวแรกเท่านั้น

   ที่มุมล่างด้านขวาจะมีช่องหมายเหตุ ใช้ลงรายละเอียดเรื่องผลการรับรองข้อตะโพก เมื่อสุนัขนั้นผ่านการตรวจสอบ ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ ว่าอยู่ในขั้นใด แบ่งเป็น

  • ปกติ = Normal
  • เกือบปกติ = Fast  Normal
  • ให้ผ่าน = Zugelassen
  • ยังคงให้ผ่าน = Noch Zugelassen

   ปัจจุบันในเยอรมนีไม่แบ่งเกรดให้ผ่าน (Zugelassen) แต่จะปัดลงเป็นยังคงให้ผ่าน (Noch  Zugelassen) เลย

   สำหรับตัวอย่างใบพันธุ์ประวัติในหน้ากลางนี้ จะใช้ของครอก V v.d. Wienerau สุนัขคอกนี้เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 1988 เป็นครอกที่มีพี่น้องร่วมคอกเป็นสุนัขดีเด่นหลายตัว รวมทั้ง Vanta v.d. Wienerau Siegerin ปี 1992 http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=1068 สุนัขที่เจ้าของคือ Walter Martin ภาคภูมิใจมากและเล่าว่าเป็นสุนัขที่สวยสมบูรณ์ที่สุด ตั้งแต่เขาเคยผลิตออกมาทีเดียว สุนัขสวยคงไม่สำคัญเท่ากับการแสดงฝีมือ ในฐานะนักผสมพันธุ์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในเยอรมนี เพื่อความชัดเจนผมได้นำใบพันธุ์ประวัติของตัวพ่อ คือ *Zamb http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=27 และตัวแม่คือ *Xandra http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=155 มาเปรียบเทียบให้ดู เพื่อให้สามารถดูย้อนหลังได้ คือ 5 ชั่งโคตร และเห็นตัวอย่างในการอ่าน Inzucht ว่าจะสามารถอ่านย้อนหลังถึงชั่วโคตรที่ 5 ได้อย่างไร

   ขอให้สังเกต สายล่างสุดของสุนัขชุดนี้ว่าเป็นแม่พันธุ์ของคอก Wienerau เอง ติดต่อกันทั้งหมดถึง 5 ชั่วโคตร

ชั่วโคตรที่  5  นำแม่พันธุ์  Venke    มาผสมกับ   Xito     ได้มาเป็น   Fina
      ”           4         ”            Fina                ”           Vax            ”           Xinte
      ”           3         ”            Xinte              ”           Uran          ”           Ussi
      ”           2         ”            Ussi                ”           Cello          ”           Xandra
      ”           1         ”            Xandra           ”           Zamb        ”           Vanta

   จากฝีมือในการคัดเลือกหาพ่อพันธุ์ที่เหมาะสม เข้ามาผสมกับแม่พันธุ์ของตัวเอง เห็นได้ว่าไม่ต้องลงทุนซื้อแม่พันธุ์เข้ามาเลย เพียงนำแม่พันธุ์ที่มีอยู่ไปจ้างพ่อพันธุ์ผสมแล้วเก็บลูกที่ได้มาพัฒนาต่อจนได้สุนัขที่ดีเลิศในที่สุด โดยในจำนวนพ่อพันธุ์ทั้ง 5 ที่ใช้ ยังเป็นพ่อพันธุ์ของตัวเองอีก 2 ตัว คือ Vax http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=477 และปิดท้ายด้วย Zamb http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=27 คอก V จึงเกิดจากพ่อและแม่ที่เป็น Winerau ทั้งคู่อีกด้วย

   สุนัขครอกนี้มี Inzucht (Line-breeding) ที่น่าสนใจดังนี้

  • Palme Wildsteiger Land             (4-4,4)
  • Dax Wienerau                             (4-4)
  • Lasso Val Sole                           (4,5-5)
  • Q-wt.Arminius, Quando-Quana  (3-3)

เริ่มจาก

  1. Palme Wildsteiger Land (4-4,4)
              แสดงว่าพบ Palme เป็นบรรพบุรุษร่วมในช่วง 4 ของพ่อ 1 ครั้ง แม่ 2 ครั้ง
              ในช่วง 4 ของสายบน  จะพบ 1 ครั้ง เป็นแม่ของ Quando
              ในช่วง 4 ของสายล่าง จะพบ 2 ครั้ง เป็นแม่ของ Quana และ Uran
  2. Dax Wienerau (4-4)
              แสดงว่ามีอยู่ในช่วง 4 ของพ่อ 1 ครั้ง แม่ 1 ครั้ง
              ในช่วง 4 ของสายบน  จะพบ Dax เป็นพ่อของ Hasel
              ในช่วง 4 ของสายล่าง จะพบ Dax เป็นพ่อของ Hatz
  3. Lasso Val Sole (4,5-5)
              คราวนี้ต้องนำใบพันธุ์ประวัติของ Zamb และ Xandra มาดูประกอบ

              จะพบในสายบน 2 ครั้ง ในช่วงที่ 4 เป็นพ่อของ Axel
                                                         ”      5          ”        Xaver
              จะพบในสายล่าง 1 ครั้ง      ”       5         ”        Xaver เช่นกัน
              ในสายบนลูกของ Xaver คือ Quando แต่ในสายล่างลูกของ Xaver คือ Quana
  4. Q-wf. Arminius, Quando-Quana  (3-3)
              ในช่วงที่ 3 สายบน  จะพบ Quando เป็นพ่อของ Odine
                     ”      3 สายล่าง จะพบ Quana   เป็นแม่ของ Cello

   Quando และ Quana ไม่ได้เป็นสุนัขตัวเดียวกัน แต่เป็นพี่น้องที่เกิดจากพ่อ-แม่คู่ เดียวกัน ดังนั้น ถือว่ามีสายเลือดใกล้เคียงกันมาก จะต้องนำมานับว่าเป็นบรรพบุรุษร่วมเสมือนกับเป็นสุนัขตัวเดียวกัน แต่จะมีหมายเหตุไว้ชัดเจนว่าเป็นแค่พี่น้องกัน สังเกตจากลักษณะที่บันทึกไว้ กรณีนี้รวมถึงพี่น้องที่เกิดจากพ่อ-แม่คู่เดียวกัน แต่เกิดคนละครอก ก็ต้องนำมาแสดงในช่อง Inzucht ด้วยเช่นกัน

สัญลักษณ์ที่ใช้ในใบพันธุ์ประวัติ

  เริ่มดูลงไปในชั่วโคตรที่ 3 และ 4 ซึ่งลงรายละเอียดน้อยกว่า 2 ชั่วโคตรแรก เพราะถือว่าแต่ละตัวจะมีอิทธิพลต่อตัวสืบสกุลไม่มากนัก ซึ่งถ้าจะเพิ่มอิทธิพลของสุนัขตัวใดในสายเลือดให้มากขึ้น ทำได้โดยวิธีการผสมแบบเลือดชิด (Inzucht) คือนำมาให้เป็นบรรพบุรุษร่วม ทั้งในสายพ่อและสายแม่นั่นเอง

   สัญลักษณ์ ‘+’ หรือ ‘*’ ที่ใช้พิมพ์นำหน้าชื่อสุนัขนั้น ไม่ใช่เป็นการพิมพ์เพื่อความสวยงามหรือเว้นช่องไฟความสำคัญคือ สุนัขที่มีเครื่องหมายนี้แสดงว่าสอบพ่อ-แม่พันธุ์ได้ หากตัวใดไม่มีแสดงว่าสอบไม่ได้หรือยังไม่ได้สอบ

   หลังจาก ‘+’ หรือ ‘*’ จะเป็นชื่อของสุนัข, คอก ตามด้วยเลขทะเบียน (ดูในข้อ 18) และปิดท้ายด้วยความสามารถที่สอบได้

   ใน 2 ชั่วโคตรแรก จะมีการลงรายละเอียดคล้ายกัน ซึ่งมากกว่าในชั่วโคตรที่ 3 และ 4 โดยเริ่มจาก

  • ชื่อของสุนัขและคอก ตามด้วยความสามารถในการใช้งาน
  • ช่องทะเบียน นอกจากเลขทะเบียนแล้วจะมีการลงเรื่อง
    การรับรองไม่เป็นโรคข้อตะโพกวิการ = “a” Zuerk ตามด้วย
  • ผ่านการรับรองการสอบคัดพันธุ์ = + หรือ *
    ปีที่ได้รับการรับรองการคัดพันธุ์นั้น โดยจะระบุว่ารับรองในปีใดหรือตลอดชีวิต = Lebenszeit (Lbz.)
  • สีและลวดลาย ลงเป็นตัวย่อ
  • ผลการประกวด เริ่มบันทึกผลตั้งแต่สุนัขอายุมากกว่า 1 ปี และจะบันทึกผลประกวดที่ดีที่สุด ที่เคยได้รับ เช่น สุนัขเคยประกวดได้ผลเป็น VA แม้ต่อมาจะตกไปเป็น SG ในภายหลังก็ยังคงมีสิทธิจะบันทึกว่า เป็น VA

   การที่ต้องใช้สัญลักษณ์หรือตัวย่อต่างๆเหล่านี้ เป็นเพราะเนื้อที่อันจำกัดในใบพันธุ์ประวัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด จึงใช้วิธีลงไว้เป็นตัวย่อ ซึ่งถ้าหากเราไม่เข้าใจความหมายแล้วก็ทำให้เข้าใจผิด หรือขาดข้อมูลที่ถูกต้องได้

   ตัวอย่าง Zamb มีรายละเอียด Zamb เป็นสุนัขคอก Wienerau เลขทะเบียนที่ขึ้นกับ SV. คือ 1696277 สอบผ่านอารักขาชุดที่ 3 ได้รับการรับรองเป็นพ่อพันธุ์ตลอดชีพ และผ่านการตรวจโรคข้อตะโพกห่าง มีผลการประกวดระดับดีเลิศ สีตัวคือ ดำ-เหลือง

บันทึกคุณลักษณะประจำตัว KB :

   คือ ความเห็นของกรรมการสอบคัดพันธุ์ที่มีต่อตัวสุนัข ในวันสอบคัดพันธุ์ ดังนั้นการเลือกวันสอบคัดพันธุ์จึงควรเลือกวันที่สุนัขของเราพร้อมที่สุด เพราะจะทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่จะปรากฏอยู่ในใบพันธุ์ประวัติต่อไปอีกหลายชั่วโคตร และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เว้นจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในการสอบคัดพันธุ์ครั้งต่อมาของสุนัขตัวนั้น แต่คำวิจารณ์เดิมก็จะรักษาอยู่

   ด้วยความสำคัญระดับนี้ ผู้เป็นกรรมการสอบคัดพันธุ์จึงถือว่าเป็นผู้มีความสามารถและเข้าใจโครงสร้างของสุนัขและสายเลือด ข้อดี ข้อด้อยอย่างลึกซึ้งที่สุด เหนือกว่ากรรมการตัดสินทั่วไป หากกรรมการคัดพันธุ์ด้อยคุณภาพ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปอีกยาวนาน และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในผู้ที่หลงเชื่อถือหรือไม่ทราบข้อเท็จจริงในความเห็นดังกล่าว

   โดยนัยกลับกัน ผู้เป็นกรรมการคัดพันธุ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อการวิจารณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการประกาศความเห็นนั้นออกไป โดยเปิดเผย หากเป็นการกระทำโดยเจตนาไม่สุจริตหรือด้อยประสบการณ์ย่อมเป็นการประจานตนเองต่อสังคมด้วยเช่นกัน

ชื่อพี่น้องร่วมคอก Geschw :

   ในหน้ากลางนี้จะแตกต่างจากหน้าแรก คือ ในการจัดทำใบพันธุ์ประวัติครั้งแรก เราสามารถบันทึกได้เพียงแต่จำนวน พี่น้องภายในคอกว่า มีกี่ตัวและตำหนิรูปพรรณที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เล็ก คือ สี และลวดลายเท่านั้น แต่ในครั้งนี้เนื่องจากพี่น้องแต่ละตัวในคอกก็เติบใหญ่ขึ้น ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลที่ดีพอจะสามารถลงรายละเอียดของพี่น้องร่วมคอกเพิ่มเติม ดังนี้

  • ผ่านการสอบพันธุ์หรือไม่ จากเครื่องหมาย ‘+’ หรือ ‘*’
  • ผ่านการสอบการใช้งานหรือไม่
  • ได้รับผลการประกวดในขั้นใด

   ในทางปฏิบัติ ท่านที่เป็นเจ้าของคอกหรือเจ้าของตัวสุนัข เมื่อสุนัขของตนหรือพี่น้องร่วมคอก มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเพิ่มเติมขึ้นในข้อใด ควรยื่นคำร้องหรือแจ้งให้สมาคมฯ เพื่อจัดการเพิ่มรายละเอียดลงในใบพันธุ์ประวัติที่จะออกใหม่ต่อไป เป็นการช่วยเหลือกันในระหว่างหมู่สมาชิกและสมาคมฯ เอง

   ตัวอย่าง ครอกของ Zamb จะลงข้อมูลเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากช่องพี่น้องร่วมคอกในปกหน้า (ข้อ 15) คือ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้มีการสอบผ่านการคัดพันธุ์ 2 ตัว คือ

  • Zigo        ได้รับการสอบผ่านอารักขาชุดที่ 3 และมีผลการประกวดระดับดีเยี่ยม
  • กับ Zanga          “             “              “        1          “                   “

หน้าสุดท้ายของใบพันธุ์ประวัติ

   เป็นการแนะนำในการผสมพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอด และมีจุดสำคัญอีกประการคือ การโอนสิทธิเป็นเจ้าของสุนัข บันทึกเกี่ยวกับวันที่โอนสิทธิ และลงนามของผู้โอนและผู้รับเป็นหลักฐาน เปรียบได้กับโฉนดที่ดิน หรือสัญญาซื้อขายของสุนัขตัวนั้น ในบ้านเราสุนัขราคาไม่สูงมากจึงไม่ค่อยสนใจกัน แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะสุนัขที่มีราคาสูง จะละเลยกันไม่ได้ทีเดียว

   ส่วนในใบพันธุ์ประวัติของเยอรมัน จะลงเรื่องการรับรองคุณสมบัติพิเศษของตัวสุนัขในหน้านี้ ได้แก่

  • การรับรองข้อตะโพก “a” แต่ไม่ระบุเกรดที่รับรอง (ถ้าต้องการทราบว่าเป็นเกรดใด ต้องดูในหน้ากลาง) ของไทยเราลงไว้ที่ปกหน้า ดังตัวอย่างข้อ 20
  • การรับรองการคัดพันธุ์ ระบุว่าได้รับการรองในช่วงเวลาใด และเป็นการรับรองระดับขั้นหนึ่ง หรือ ขั้นสอง

   เราได้มาถึงบทสุดท้ายของเรื่อง ความจริงยังมีเรื่องย่อยในเรื่องใหญ่แฝงอยู่อีกหลายประการ ที่ยังไม่ได้เขียนถึงในคราวนี้ เพราะจะทำให้เป็นเรื่องยาวเกินไป และออกนอกประเด็นที่ตั้งใจจะให้ผู้อ่านได้เข้าใจหลักและวิธีการอ่าน ใบพันธุ์ประวัติกว้างๆ โดยตลอดทั้งฉบับ ดังนั้น หากมีจุดใดไม่เข้าใจหรือต้องการให้ขยายความเพิ่มเติมอีก กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย

   บทความนี้คงมีข้อผิดพลาดไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากท่านใดตรวจพบโปรดแจ้ง เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นในหมู่ของพวกเรา

   ข้อเตือนใจ หากท่านทำการใดเพื่อบิดเบือน สายพันธุ์สุนัขของท่านซึ่งสมาคมฯ คงไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกกรณี แต่ผลเสียนอกจากจะตกอยู่กับจิตใจของท่านแล้ว กว่าที่สายเลือดหรือการแจ้งข้อมูลเท็จของท่านจะลบออกไป ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุเป็นบาปต่อการพัฒนาพันธุ์นะครับ

   ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจและมีการนำใบพันธุ์ประวัติมาวางแผนการผสมพันธุ์ เพื่อพัฒนาสุนัขในสังกัดของท่าน เข้าสู่เป้าหมายของพันธุ์อันจะเป็นผลให้มีการพัฒนาของสุนัขพันธุ์นี้ในประเทศเรา โดยส่วนรวมต่อไป

   ขอขอบคุณ คุณคณิต และคุณนริษฐ ทองนพเนื้อ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือในบทความนี้สำเร็จลง และท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามจนจบ ขอลาทีสวัสดีครับ

แหล่งที่มาข้อมูล : เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร "ผู้ช่วยกรรมการตัดสิน"

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ใบพันธุ์ประวัติ-PEDIGREE-AHNENTAFEL-ภาค-1-2/491235977580503 และ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ใบพันธุ์ประวัติ-PEDIGREE-AHNENTAFEL-ภาค-3/516923305011770