ใบพันธุ์ประวัติ (เพดดิกรี)
ใบพันธุ์ประวัติ (PEDIGREE/AHNENTAFEL)
โดย.....หมอไพบูลย์
มูลเหตุของบทความนี้ ผมได้เคยอธิบายเรื่องการอ่าน ใบพันธุ์ประวัติ หรือ Pedigree ให้คนฟังมาหลายครั้ง และได้รับปากหลายบุคคล ในหลายวาระ ว่าจะเขียนเรื่องนี้เพื่อให้เป็นประโยชน์กับส่วนรวม และเพื่อให้ผู้ที่ยังไม่เข้าใจ ได้เห็นประโยชน์ของใบพันธุ์ประวัตินี้ ซึ่งหากยังเขียนไม่สำเร็จ ก็ยังรู้สึกเป็นหนี้ในใจอยู่เสมอมา ดังนั้น เมื่อบทความนี้สำเร็จลงจึงเป็นความสบายใจของผมและหวังว่าพวกสมาชิกเราคงได้อ่านบทความต่อไปนี้ ด้วยความสบายใจเช่นกัน อย่าถือเป็นเรื่องซีเรียสครับ อย่าซีเรียส
บทความนี้เป็นเรื่องสั้นขนาดยาวและยุ่ง จึงขอเตือนให้ผู้อ่านได้อ่านไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็หยุด ถ้าไม่มีเวลามากพอ อย่าพยายามอ่านให้จบในรวดเดียวเป็นอันขาด เพราะจะทำให้มึนศีรษะ
การอ้างอิงจะใช้ใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท. เป็นหลัก แล้วกำกับโดยใช้ภาษาเยอรมันในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อท่านที่มีใบพันธุ์ประวัติของสุนัขที่ออกโดย SV. สามารถนำมาเปรียบเทียบดูได้
ภาค 1
ใบพันธุ์ประวัติ คือ แผนภูมิ หรือ ตารางที่แสดงให้ทราบว่า สัตว์หรือตระกูลของมันได้รับการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม มาจากไหนและอย่างไร จากบรรพบุรุษ ชั่วอายุหนึ่งไปยังอีกชั่วอายุหนึ่ง เป็นการรับรองว่าเป็นสัตว์พันธุ์แท้ สามารถสืบสายวงศ์วานได้ ทั้งที่ใบพันธุ์ประวัติ เป็นเอกสารที่สำคัญมาก ในการวางแผนการผสมพันธุ์สัตว์ทุกชนิด แต่พวกเราโดยเฉพาะสมาชิกใหม่ หรือผู้เริ่มต้นจะเป็นนักผสมพันธุ์สุนัข ก็ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จากใบพันธุ์ประวัติที่มีอยู่อย่างเต็มที่
การผสมพันธุ์สัตว์ โดยไม่ได้วางแผน ไม่ใช้ใบพันธุ์ประวัติหรือขาดความรู้ความเข้าใจ ในเรื่องการถ่ายทอดทางพันธุกรรมแล้ว ก็แทบไม่ต่างจากตาบอดคลำช้างเลยจริง ๆ เพราะใบพันธุ์ประวัติ จะเป็นเครื่องช่วยเป็นอย่างมากในการที่จะบอกเราว่า สุนัขของเรานั้นมีอะไรที่แอบแฝงอยู่ภายในสายเลือดของตัวเอง โดยจะมีลักษณะที่ทั้งแสดงและไม่ได้แสดงให้ปรากฏออกมาในสภาพภายนอก ที่เรามองเห็นได้
ประโยชน์ของใบพันธุ์ประวัติ
เรามักใช้ใบพันธุ์ประวัติเพื่อแบ่งเกรดและราคาของลูกสุนัข ซึ่งความจริงแล้วเป็นเพียงประโยชน์โดยทางอ้อมประการหนึ่งของใบพันธุ์ประวัตินี้เท่านั้น
จุดประสงค์หลักของการจัดทำใบพันธุ์ประวัติ ก็เพื่อใช้วางแผนในการผสมพันธุ์ ทำให้เราทราบว่า สุนัขตัวนั้น ๆ สืบสายเลือดมาจากบรรพบุรุษตัวไหน และถ้าเราทราบลึกลงไปอีกว่า บรรพบุรุษของสุนัขตัวนั้นมีข้อดี ข้อด้อยอย่างไร ก็จะทำให้เราสามารถคัดเลือกสุนัขที่จะมาเป็นคู่ผสมพันธุ์ ของตัวสุนัขของเราเองได้ดีขึ้น นอกจากนั้น จะทำให้เราทราบว่า สุนัขของเรานั้นมีข้อดีหรือข้อด้อยตรงตามสายพันธุ์หรือไม่ เราสามารถแก้ไขจุดอ่อนในสายพันธุ์ที่เรามีอยู่ได้หรือยัง เพราะสุนัขทุกตัวล้วนมีข้อดี ข้อเสียในตัวทั้งสิ้น เป้าหมายของนักผสมพันธุ์คือ ควรจับคู่อย่างไร จึงจะรักษาลักษณะที่เป็นข้อดีของสุนัขของตนให้คงอยู่เอาไว้ ในขณะเดียวกันก็พยายามกำจัดลักษณะที่เป็นข้อด้อยในสุนัขของตัวเองออกไปให้ได้มากที่สุด
ตัวอย่าง
สุนัขของเรามี รงควัตถุ ( Pigment ) ที่อ่อน หรือมีบรรพบุรุษที่มี Pigment อ่อนเราก็ต้องพยายามหาคู่ที่ไม่ปัญหาในเรื่อง Pigment มาจับคู่ผสมพันธุ์กัน เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสที่จะพบลูกสุนัขที่มี Pigment อ่อนออกมาอีก เป็นต้น
ในมุมกลับกัน หลังจากที่เราทำการผสมพันธุ์ ไปได้หลายชั่วโคตรแล้ว และไม่พบปัญหาในเรื่อง Pigment นี้อีก หากเราอยากรู้ว่าสายเลือดของสุนัขที่เรามีนั้น แก้ปัญหาเรื่องนี้ได้หรือยัง เราก็สามารถพิสูจน์ได้ โดยหาสุนัขที่มีปัญหาในเรื่อง Pigment แต่มีลักษณะที่ดีที่สายเลือดของเรายังขาดอยู่มาทำการทดลองจับคู่ผสมพันธุ์เข้า หากลูกที่เกิดไม่มีปัญหาเรื่อง Pigment อีก ก็เป็นการพิสูจน์ได้ว่า สายเลือดของสุนัขของเรานั้นแก้ปัญหาเรื่อง Pigment นี้ไปได้แล้วในระดับหนึ่ง (ขอเน้นว่าระดับหนึ่งเท่านั้น เพราะเรื่องของการถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ ยังมีปัจจัยอื่นเกี่ยวข้องอยู่อีกหลายประการ ไม่ใช่สูตรทางคณิตศาสตร์ที่จะเป็นกฎตายตัวได้) และถ้าเราโชคดีเราก็จะได้ลักษณะดีของคู่ผสม ที่มีปัญหาในเรื่อง Pigment นั้นมาเป็นของแถมด้วยก็ได้
ใบพันธุ์ประวัติระบบของ SV.
สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทยของเรานั้น ใช้ระบบของเยอรมนีมาเป็นแม่แบบ ตั้งแต่เริ่มแรก ซึ่งเป็นผลมาจากการมองการณ์ไกลของผู้บริหารที่เริ่มก่อตั้ง ส.ส.ย.ท. เพราะผลที่เราได้เห็นในปัจจุบันก็คือ ความสำเร็จและมั่นคงของสุนัขพันธุ์นี้เหนือกว่าทุก ๆ พันธุ์ในประเทศอย่างชัดเจน และปรากฏการณ์อันนี้ก็ไม่ได้จำกัดเฉพาะแต่ในประเทศของเราเท่านั้น ในระดับสากล หลักการจัดใบพันธุ์ประวัติแบบนี้ ก็มีข้อดีเด่นที่เหนือกว่าระบบของประเทศทางยุโรป และอเมริกาหลายประการ ซึ่งผมเห็นว่านี่เป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ที่ทำให้สุนัขพันธุ์นี้ของเยอรมนี เป็นสายเลือดที่ดีที่สุดในโลกปัจจุบัน
บางท่านอาจคิดว่าที่ประเทศอื่น มีสุนัขพันธุ์นี้สู้เยอรมนีไม่ได้ เพราะมีสายเลือดที่ด้อยกว่า แต่ในความเป็นจริงแล้ว เยอรมนีแพ้สงครามโลกทั้ง 2 ครั้ง ทุกครั้งประเทศผู้ชนะสงคราม ย่อมสามารถนำเอาสิ่งของในประเทศผู้แพ้สงครามกลับไปได้เสมอ สายพันธุ์สุนัขที่ยอดเยี่ยมในยุคนั้น ก็ถูกนำออกจากเยอรมนีด้วยเช่นกัน แต่ด้วยระบบที่เข้มงวด เป้าหมายที่ชัดเจน และการร่วมมือกันระหว่างสมาคมกลางและสมาชิก เยอรมนีก็สามารถพัฒนาสุนัขชั้นรอง ๆ ที่เหลืออยู่ภายในประเทศของตน จนกลับมาแซงหน้าเหนือกว่าประเทศอื่น ๆ ทุกครั้งไป
ข้อดีเด่นของใบพันธุ์ประวัติระบบนี้ พอจะแยกแยะออกได้ดังนี้
- มีเป้าหมายที่ถูกต้องและชัดเจน ว่าสุนัขพันธุ์นี้เป็นสุนัขใช้งาน ดังนั้น จะต้องมีทั้งสภาพร่างกายและจิตประสาทที่ดีพอ ไม่ใช่สวยงามตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นเพียงอย่างเดียว
ลองคิดดูว่าหากใครสักคนจะเลี้ยงสุนัขสักตัว ระหว่างสุนัขที่สวยแต่โง่และดื้อ กับสุนัขที่แม้จะขี้เหร่แต่เชื่อฟังคำสั่ง ว่านอนสอนง่าย และใช้งานได้ คุณคิดว่าเขาจะเลือกเลี้ยงตัวไหน ? แล้วถ้าสวยด้วย ฉลาดด้วย ก็ยิ่งคิดไม่ยากจริงไหมครับ
อนึ่ง สุนัขที่สวยงาม หรือมีลักษณะถูกต้องตามมาตรฐาน ไม่จำเป็นว่าจะเป็นพ่อแม่พันธุ์ที่ดีกว่าเสมอไป เราสามารถรู้ว่าสุนัขตัวใดสวยงามกว่ากันได้ จากผลการประกวดของมัน แต่เราจะรู้ได้ว่าสุนัขตัวนั้นมีคุณค่าต่อสายพันธุ์หรือไม่ ก็จากใบพันธุ์ประวัติและผลผลิต คือ ลูกหลานของตัวมัน
ตัวอย่าง Siegerin ปี 1982 *Perle v. Wildsteiger Land http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=1410 สวยเฉียบ แต่ผลการให้ลูกไม่ได้ตัวที่ดีเด่นเลย เมื่อเทียบกับ *Palme http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=116 พี่น้องร่วมครอกซึ่งไม่เคยลงแข่งงานประจำปี เพราะรู้ว่าถ้าลงก็แพ้ แต่ให้ลูก VA เป็นว่าเล่น รวมทั้ง *Uran และ *Quando
หมายเหตุ : *Palme Wildsteiger Land คือแม่พันธุ์ที่มีอิทธิพลสูงที่สุดในสายพันธุ์ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน (1994) ระบบของเยอรมนี ให้ ความสามารถในการใช้งานของสุนัข มีผลต่ออันดับในการประกวดพันธุ์ด้วย - ให้ข้อมูลที่เปิดเผย และ มีรายละเอียดมากกว่า ใบพันธุ์ประวัติระบบนี้มีการบันทึกข้อมูลของบรรพบุรุษถึง 4 ชั่วโคตร โดยเฉพาะใน 2 ชั่วโคตรแรก จะมีการบันทึกละเอียดถึงคุณลักษณะประจำตัวสุนัขและจำนวนพี่น้องที่ร่วมครอกด้วย และหากคุณได้นำพันธุ์ประวัติของตัวพ่อและแม่ของสุนัขตัวนั้น มาประกอบกันด้วย ก็จะสามารถทราบรายละเอียดย้อนหลังไปได้ถึง 5 ชั่วโคตร และคุณลักษณะประจำตัวได้ถึง 3 ชั่วโคตร ทันที
ขณะที่ใบพันธุ์ประวัติอื่น ๆ ไม่ลงรายละเอียดปลีกย่อยเช่นนี้ ทำให้หากคุณจะเริ่มเข้ามาเป็นนักผสมพันธุ์สุนัขพันธุ์อื่น คุณจะมีโอกาสน้อยมากที่จะได้รู้ว่า ปู่ ย่า ตา ยาย ของคู่ผสมพันธุ์ สุนัขของคุณมีข้อดีข้อด้อยอย่างไร นักผสมพันธุ์ที่จะประสบความสำเร็จได้ จะต้องคลุกคลีอยู่กับสุนัขพันธุ์นั้นมานานและจำได้ว่า บรรพบุรุษของสุนัขแต่ละตัวมีคุณลักษณะอย่างไร จุดอ่อนอยู่ที่ไหน เพราะไม่มีการบันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร พวกมือใหม่หมดโอกาสแข่งขัน ถ้าขาดผู้รู้ที่จะถ่ายทอดได้ วงการใดหากขาดมือใหม่ ๆ เข้ามาเสริม ก็คงได้แต่รอวันสลายตัว อย่ายอมให้ใครก็ตามมาปิดโอกาสของมือใหม่นะครับ
เหตุที่กำหนดการตรวจสอบย้อนหลังไว้ 5 ชั่วโคตร (อันเป็นการรับรองขั้นต่ำที่สุดในใบพันธุ์ประวัติสีขาว) เพราะในหลักการผสมพันธุ์ ถือว่าสุนัขในชั่วโคตรที่ 5 จะมีอิทธิพลมาถึงรุ่นปัจจุบันเฉลี่ยเพียงร้อยละ 3.125 และในทางกลับกัน ถ้าเราสามารถรักษาคุณลักษณะที่ดีอันไหนไว้ได้ถึง 5 ชั่วโคตรแล้ว โอกาสที่ลูกสุนัขในสายสกุลนั้นจะคงลักษณะนั้นไว้ได้ ก็มีเกือบ 100%
ตัวอย่าง โรคฮิตประจำพันธุ์ โรคข้อตะโพกวิการ (Hip Dysplasia) ถ้าเราสามารถคัดเลือกจนภายใน 5 ชั่วโคตร ของสุนัขของเรานั้น ไม่ปรากฏว่ามีตัวหนึ่งตัวใดเป็นโรคข้อตะโพกวิการนี้เลย (ทุกตัวมีการรับรอง 'a' NORMAL ทั้งหมด ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มี) ถึงตอนนั้นเราก็พอจะมั่นใจได้ว่าลูกสุนัขของเราจะไม่เป็นโรคนี้อีก โดยสาเหตุทางพันธุกรรม
อย่างไรก็ตาม แม้เราจะทราบหลักโดยพื้นฐานที่สุดอันนี้แล้ว ก็ยังไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยง่าย เพราะลักษณะทางพันธุกรรมของสัตว์ ไม่ใช่ลักษณะเดี่ยว ๆ มีหลาย ๆ ลักษณะในตัวเดียวกัน และบางลักษณะก็มีความผูกพันธ์กัน แล้วยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องหลายอย่างเช่น สภาพแวดล้อมต่าง ๆ แต่ด้วยหลักการอันนี้ ถ้าเข้าใจ และมีการสืบทอดเจตนารมณ์โดยต่อเนื่องเรื่อยไปแล้ว เราก็จะสามารถกำจัดลักษณะที่ไม่ดีต่าง ๆ ได้จนเหลือน้อยที่สุด
ผังแสดงอิทธิพลของบรรพบุรุษที่มีมาถึงรุ่นลูกในแต่ละชั่วโคตร
ชั่วโคตรที่ 1 ชั่วโคตรที่ 2 ชั่วโคตรที่ 3 ชั่วโคตรที่ 4 ชั่วโคตรที่ 5
(พ่อ แม่) (ปู่ ย่า ตา ยาย) (ทวด)
พ่อ 50--------------ปู่ 25--------------ทวด 12.5-------------6.25-------------3.125
|---------------ย่า 25
แม่ 50
ใบพันธุ์ประวัติของ Marko Dolomiten http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=819 เป็นสุนัขของอิตาลี มีจุดที่น่าสนใจหลายประการ ได้แก่
- มีการบอก วัน เดือน ปีเกิด ของสุนัขแต่ละตัว
- ตำแหน่งประกวด บอกว่า ได้ตำแหน่งขั้นใด และ ลำดับที่เท่าไรด้วย
- การคัดพันธุ์ บอกว่า เป็นชั้นหนึ่งหรือสอง และ บอกปีที่รับรอง
- การรับรองข้อตะโพก บอกเกรดที่ได้รับการรับรองไว้ด้วย (ยอดมาก !)
- ในช่องของพ่อและแม่ มีการบอก Inzucht ไว้ด้วย
- สังเกตช่องพี่น้องร่วมครอก จะแยกเพศไว้ เลข 1 คือเพศผู้ เลข 2 คือเพศเมีย
**แต่ไม่มีคุณสมบัติประจำตัว ของพี่น้องเหมือนอย่างเยอรมนี
ตัวพ่อ *Vax Dolomiten ได้ตำแหน่ง V แต่มีสายเลือดและการ Inzucht ที่แน่นมาก ผลที่ได้คือ ให้ลูกที่มีคุณภาพดีมากกว่า VA อีกหลายตัว
ชนิดของใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท.
แบ่งออกเป็น 3 ชนิด โดยแยกออกเป็น 3 สี ได้แก่ สีชมพู สีขาว และ สีเขียว (ปัจจุบันไม่มีใบสีเขียวแล้ว)
- ใบพันธุ์ประวัติสีชมพู คือ ใบพันธุ์ประวัติสำหรับลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์ที่ได้รับการรับรองการคัดพันธุ์ ที่ยังอยู่ภายในช่วงเวลาที่บังคับใช้โดยสมบูรณ์
ในการสอบคัดพันธุ์สุนัขทุกครั้ง จะต้องมีการกำหนดช่วงเวลาในการรับรองให้เสมอ โดยปกติ ในการสอบคัดพันธุ์ครั้งแรก จะให้การรับรองในช่วงเวลา 2 ปี เมื่อครบกำหนดแล้ว จะต้องนำสุนัขมาทำการสอบคัดพันธุ์ใหม่อีกครั้ง เพื่อตรวจสอบว่าสุนัขตัวนั้น ๆ ยังคงมีคุณสมบัติครบถ้วนหรือไม่ หากยังมีอยู่ครบ ก็จะปรับให้เป็น การรับรองการคัดพันธุ์ตลอดชีวิต (* Lebenszeit = +Lbz.)
สุนัขบางตัวคุณลักษณะมีการเปลี่ยนแปลงเสื่อมถอยหรือให้ลูกที่มีข้อบกพร่องมาก สมาคมฯ จะไม่ต่ออายุการคัดพันธุ์ให้ก็ได้ เช่น VA ตัวดัง Gundo v.Trienzbachtal สอบพ่อพันธุ์ครั้งที่ 2 ตก ทั้งที่เป็นสุนัขที่ให้ ลูกเป็น VA หลายตัว ก็หมดอนาคตในเยอรมนีไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ
เรื่องที่คนมักเข้าใจไขว้เขว ที่พบอยู่ในกรณีนี้คือ มักเข้าใจกันไปว่า เมื่อพ่อสุนัขใบพันธุ์ประวัติสีชมพู มาผสมพันธุ์ กับ แม่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีชมพูแล้ว ลูกที่เกิดมาจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีชมพูเหมือนกัน โดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่ถูกต้องถ้าอยากให้ลูกสุนัขของเรามีใบพันธุ์ประวัติสีชมพู จะต้องทำอย่างไรบ้าง ?
1) ต้องใช้แม่สุนัขที่มีใบพันธุ์ประวัติสีชมพู หรือสีขาวเท่านั้น
2) นำแม่สุนัขของคุณไปตรวจ X-ray รับรองข้อตะโพกเมื่ออายุ 1 ปีขึ้นไป
3) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบอดทน
4) นำแม่สุนัขของคุณไปประกวด เพื่อให้มีผลรับรองความงามขั้นดี (G) ขึ้นไป
5) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบรับรองความสามรถในการใช้งานที่นิยมคือสอบอารักขา
6) นำแม่สุนัขของคุณไปสอบคัดพันธุ์
7) เมื่อคุณทำครบทั้ง 6 ข้อ ข้างต้นแล้ว แม่สุนัขของคุณก็จะกลายเป็นแม่พันธุ์
คราวนี้นำแม่พันธุ์ของคุณไปผสมกับสุนัขพ่อพันธุ์ คือสุนัขที่ผ่านการสอบตามขั้นตอนข้างบนนี้มาแล้วเช่นกัน อย่าเผลอไปผสมกับพ่อสุนัขเข้า ลูกสุนัขที่เกิดมาก็จะได้ใบพันธุ์ประวัติสีชมพู - ใบพันธุ์ประวัติสีขาว คือ การรับรองพันธุ์ประวัติให้กับลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อ แม่ซึ่งมีเอกสารการรับรองพันธุ์ประวัติสมบูรณ์
จะเห็นได้ว่า ใบพันธุ์ประวัติสีขาวนี้ เริ่มรับรองตั้งแต่ลูกสุนัขครอกนั้น สามารถสืบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 5 ชั่วโคตร จนถึงลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ที่ขาดห้วงอายุรับรองการคัดพันธุ์
Dick Adeloga Sieger ปี 73 ก็เป็นแค่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีขาวเหมือนกัน (สังเกตไม่มีเครื่องหมาย * หน้าชื่อของแม่ Asta แสดงว่าไม่ได้คัดพันธุ์) แต่ปัจจุบันสุนัข VA จะต้องเป็นใบพันธุ์ประวัติสีชมพู ชนิดสืบสายรับรองการใช้งาน และสืบสายรับรองการทำพันธุ์ (Kor und Leistungszucht) ตั้งแต่ปี 1993 เป็นต้นมา สุนัขที่กัดแล้วสั่งไม่ปล่อยก็ไม่สามารถได้ตำแหน่ง VA ได้ด้วย - ใบพันธุ์ประวัติสีเขียว (ปัจจุบันไม่มีใบสีเขียวแล้ว) คือ การรับรองพันธุ์ประวัติให้กับลูกสุนัข ที่เกิดจากพ่อ แม่ที่ไม่มีเอกสารรับรองพันธุ์ประวัติ หรือมีไม่สมบูรณ์ คือ ตั้งแต่ 1-4 ชั่วโคตร ถ้าสืบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ไม่ครบ 5 ชั่วโคตร ขาดเพียงตัวหนึ่งตัวใดก็ตาม ก็จะต้องเป็นใบพันธุ์ประวัติสีเขียวนี้
ตัวอย่าง ถ้านำสุนัขพ่อพันธุ์ที่สอบคัดพันธุ์แล้ว ไปผสมกับแม่สุนัขที่สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้สมบูรณ์ไม่ครบ 5 ชั่วโคตร แต่ชั่วโคตรที่ 3 ครบ ลูกสุนัขที่เกิดจะได้เป็นใบพันธุ์ประวัติสีเขียวรุ่นสุดท้าย
ถาม นำพ่อสุนัขใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 4 ชั่วโคตร มาผสมกับแม่สุนัขใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้ 4 ชั่วโคตร ลูกที่เกิดมาจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีอะไร
ตอบ สีขาวรุ่นแรก
ยังมีใบรับรองอีกชนิดหนึ่งคือ ใบจดทะเบียนตัว หมายถึง ใบรับรองที่ออกให้กับลูกสุนัขที่ไม่สามารถสืบบรรพบุรุษได้เลย เป็นการรับรองเฉพาะสุนัขตัวนั้น และสมาคมฯ จะทำการสักหูโดยอักษร SP ใบรับรองชนิดนี้ยังไม่นับเป็นใบพันธุ์ประวัติ และลูกสุนัขที่เกิดจากสุนัขประเภทนี้ จะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 5 ชั่วโคตร จึงจะได้ใบพันธุ์ประวัติสีขาว
ภาค 2
ในภาคนี้เราจะนำใบพันธุ์ประวัติตัวจริงมาทำการศึกษา โดยจะขอใช้ตัวอย่างประกอบเป็น 2 ตัว เป็นใบพันธุ์ประวัติที่ ส.ส.ย.ท. ออกเอง 1 ฉบับ และที่เป็นของ SV ออกอีก 1 ฉบับ
เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ดีขึ้น กรุณานำใบพันธุ์ประวัติของสุนัขที่ท่านเองมีอยู่ นำมาประกอบอ่านตามไปเรื่อย ๆ หากสงสัยว่าสิ่งใดแตกต่างหรือตกหล่น เชิญติดต่อสอบถามได้ครับ
ใบพันธุ์ประวัติ บอกอะไรให้เราบ้าง
ใบพันธุ์ประวัติของ ส.ส.ย.ท. มีจุดที่ควรสนใจดังนี้ เริ่มจากปกหน้า
- พันธุ์ประวัติ = Ahnentafel
บ่งว่าสุนัขตัวนั้นสืบสายมาจากบรรพบุรุษตัวใดบ้าง ถ้าเป็นสีเขียว จะบอกได้ไม่ครบสมบูรณ์ทั้ง 5 ชั่วโคตร ถ้าเป็นสีขาวหรือสีชมพู จะบอกได้ครบสมบูรณ์ทั้ง 5 ชั่วโคตร
ถาม สุนัขมีใบพันธุ์ประวัติสีเขียวเต็มใบ (สอบบรรพบุรุษย้อนหลังได้สมบูรณ์ 4 ชั่วโคตร) จะมีสิทธิสอบ เป็นสุนัขพ่อพันธุ์ หรือสุนัขแม่พันธุ์ ได้หรือไม่
ตอบ ไม่ได้ - สืบสายรับรองการใช้งาน = Leistungszucht
บ่งว่าทั้ง พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และยาย ของสุนัขตัวนี้ทุกตัวสามารถสอบผ่านรับรองการใช้งานมาแล้ว - สืบสายรับรองการทำพันธุ์ = K'o'rzucht
บ่งบอกว่าทั้ง พ่อ และแม่ ของสุนัขตัวนี้ สอบผ่านการคัดพันธุ์มาแล้ว
ข้อสังเกต ปู่ ย่า ตา ยาย ไม่จำเป็นต้องสอบคัดพันธุ์ก็ได้
ในสามหัวข้อแรกนี้อาจมีไม่ครบทุกข้อ ถ้าขาดข้อใดแสดงว่าไม่ได้รับการรับรองในข้อนั้น - สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ชื่อ.......Nana vom Nato Haus
แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ชื่อ (Nana) และคอกหรือนามสกุล (Nato Haus) การตั้งชื่อลูกสุนัขแต่ละครอก ครอกแรกจะต้องขึ้นต้นด้วยตัวอักษร A และสุนัขครอกเดียวกันทุกตัว จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษรตัวเดียวกันทั้งหมด ครอกที่ 2 ก็จะขึ้นต้นอักษรด้วยอักษร B ทั้งหมด.....ไปเรื่อย ๆ จนถึงครอกที่ 26 ก็จะขึ้นต้นด้วยตัวอักษร Z ทั้งหมด เมื่อถึงครอกที่ 27 ก็จะเวียนมาเป็นตัวอักษร A รอบที่ 2
ข้อควรทราบ ในสุนัขคอกเดียวกัน จะไม่ตั้งชื่อซ้ำกันเอง เช่น ชื่อ Canto มีทั้งสุนัขชื่อ Canto v.d. Weinerau , Canto v. Arminius หรือ Canto v. Paiboon คอกใด ๆ ก็ตั้งชื่อนี้ได้และก็นิยมตั้งกันเสียด้วย แต่จะไม่มี Canto Weinerau ตัวที่ 2 อีกแล้ว คือในคอก Weinerau เองเขาจะไม่ตั้งชื่อ Canto นี้ซ้ำอีกแล้ว ดังนั้นเจ้าของคอกสุนัขจะต้องทำทะเบียนชื่อสุนัขในคอกของตัวเองไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อนดังกล่าว
ส่วนการตั้งชื่อคอก หรือนามสกุลของสุนัขนั้น จะต้องไปขอจดทะเบียนกับสมาคมฯ เพื่อป้องกันการซ้ำซ้อนกัน จะเห็นว่าชื่อของสุนัขนั้น จะตั้งซ้ำกันกับใครก็ได้ เว้นแต่คอกของตัวเอง แต่ชื่อคอกนั้นจะตั้งซ้ำกับคนอื่นไม่ได้ - เพศ = Geschlecht...เมีย
มี 2 เพศ คือ เพศผู้ = Ruden หรือ เพศเมีย = Hundi - ลักษณะขน = Haarart...ปานกลาง
บอกเป็น สั้น = Stockharrig ปานกลาง ยาว = Langharrig - สีและลวดลายของสี = Farbe und Abzeichen...ดำ-น้ำตาล = schwarz braun :
ด้านหน้าปกจะลงเป็นตัวอักษรเต็ม แต่ด้านหน้ากลางจะลงแค่เป็นตัวย่อ - ลักษณะพิเศษอื่น ๆ = Besondere Kennzeichen
- หมายเลขหูสุนัข = Tatowier - Nr....A-5101
อักษรตัวนำหน้า บอกเขตที่ตั้งของคอก ไทยเราใช้อักษร 1 ตัว ของเยอรมันใช้ 2 ตัว
เลขที่ตามหลังของไทยเรานั้น จะใช้เป็นรหัส คือ เลขตัวแรก (5) บอกปี พ.ศ. ที่เกิด สุนัขตัวนี้เกิดในปี พ.ศ. ที่ลงท้ายด้วยเลข 5 (2535)
ส่วนเลขที่เหลือก็เป็นการเรียงไปตามลำดับที่ขึ้นทะเบียน
ดังนั้น ภายในรอบ 10 ปี สุนัขจะมีโอกาส ที่หมายเลขหูซ้ำกันได้ 1 ครั้ง เช่น สุนัขในปี 2525 จะมีโอกาสซ้ำ กับสุนัขในปี 2535 หรือ 2545 ได้
อธิบายตัวอย่าง A-5101 สุนัขตัวนี้ เกิดจากคอกที่มีที่ตั้งในเขต A ในปีที่ลงท้ายด้วย 5 เป็นลำดับที่ 101 ของปีนั้น - วันเกิด = Wurftag...6 เมษายน 2535
คือ การระบุ วัน เดือน ปีเกิด ของสุนัข - ปีเกิด = Wurfjahr (อักษร)...สองพันห้าร้อยสามสิบห้า
บอกปีที่เกิดเป็นตัวอักษร - ผู้ผสมพันธุ์ = Zuchter...นายนริษฐ ทองนพเนื้อ
คือ เจ้าของคอกที่สุนัขเกิด - ที่อยู่ = Anschrift...35 ซ.สายลม 2 สามเสนใน พญาไท กทม.
คือ ที่อยู่ของผู้ผสมพันธุ์ - ชื่อบรรพบุรุษร่วมในตระกูลภายใน 5 ชั้น = Inzucht Auf...
Palme Wildsteiger Land (4-3)
Uran Wildateiger Land (4,4-2)
เป็นจุดสำคัญมากจุดหนึ่ง บอกให้เราทราบว่าภายใน 5 ชั่วโคตรของสุนัขตัวนี้ มีสุนัขตัวใดซ้ำกันบ้างในระหว่างบรรพบุรุษสายพ่อ กับบรรพบุรุษสายแม่
จะเป็นการซ้ำกันในสายพ่อเพียงตัวเดียว แต่ไม่พบในสายแม่ หรือซ้ำกันในสายแม่เพียงตัวเดียว แต่ไม่พบในสายพ่อไม่ได้
หลักการอ่าน ต้องเริ่มจากสายพ่อก่อน คั้นด้วยเครื่องหมาย " - " แล้วตามด้วยสายแม่ ถ้ามีการซ้ำกันเองในระหว่างสายพ่อกับสายแม่ หรือซ้ำกันเองในระหว่างสายแม่กับสายแม่ จะใช้เครื่องหมาย "," ตัวเลขจะบอกว่าพบซ้ำกันในชั่วโคตรใดบ้าง โดยเริ่มนับขั้นของพ่อและแม่เป็นช่วงที่ 1 ปู่ย่าตายายเป็นช่วงที่ 2 ทวดเป็นช่วงที่ 3 เรื่อยไป
จากตัวอย่าง Palme Wildsteiger Land (4-3)
แสดงว่ามี Palme เป็นบรรพบุรุษร่วมในสายพ่อ ช่วงที่ 4 และสายแม่ช่วงที่ 3
Uran Wildsteiger Land (4,4-2)
แสดงว่ามี Uran เป็นบรรพบุรุษร่วมในสายพ่อช่วงที่ 4 (2 ครั้ง) และสายแม่ช่วงที่ 2 (1 ครั้ง)
ในหลักการผสมพันธุ์ สายเลือดใกล้ชิดที่สุดที่จะยอมให้ทำการผสมพันธุ์กันได้คือ (3-2) หรือ (2-3) การผสมเลือดชิดในระดับ (2-2) คือ ปู่และตาหรือย่าและยายของสุนัขเป็นตัวเดียวกัน สมาคมฯจะไม่อนุญาตให้ทำการผสมพันธุ์ เพราะลูกที่เกิดมีความเสี่ยงว่าจะเกิดปัญหาเนื่องจากเลือดชิดมากเกินไป - ชื่อพี่น้องร่วมครอก = Geschwister...Natz sb/
บอกให้ทราบว่าสุนัขตัวนี้ มีพี่น้องร่วมครอกที่ขึ้นทะเบียนกี่ตัว โดยรายละเอียดที่บอกคือ ชื่อ..ตามด้วยสีและลวดลายของสี ( หัวข้อที่ 7 )
จากตัวอย่าง Natz sb/ ( สีดำ-น้ำตาล ) หมายถึง Nana มีพี่น้องร่วมครอกกันอีก 1 ตัว ชื่อ Natz สีดำ-น้ำตาล
การเรียงลำดับในกรณีที่สุนัขในครอกเดียวกันมีหลายตัว ทั้งเพศผู้และเมียจะเริ่มต้นด้วยเพศผู้ก่อนเสมอ แล้วเรียงชื่อไปตามลำดับอักษรในพจนานุกรม เมื่อหมดเพศผู้แล้วจึงตามด้วยเพศเมีย แล้วเรียงชื่อไปตามลำดับอักษรในพจนานุกรมเช่นกัน ไม่ได้เป็นการเรียงว่าใครเกิดก่อน เกิดหลัง
ลักษณะของชื่อ นิยมตั้งให้บอกเพศได้คือ ชื่อของสุนัขเพศผู้ก็ให้ฟังดูเป็นชาย ส่วนของเพศเมียก็ฟังดูเป็นหญิง
และไม่นิยมตั้งชื่อพ้องกับภาษาไทย ไม่ใช่เป็นการดัดจริต แต่เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความไม่พอใจว่าไปล้อเลียนบุคคลที่ 3 เข้า - ภูมิหลังเมื่อเกิดของครอกสุนัข = Erlauterung uber Wurfstarke...เกิด 2,2 ตายหลังเกิด 1,1 ขึ้นทะเบียน 1,1
บอกจำนวนพี่น้องร่วมครอกทั้งหมดว่าเกิดกี่ตัว เป็นเพศผู้กี่ตัวและเพศเมียกี่ตัว เลขที่อยู่หน้าแทนจำนวนเพศผู้ แยกด้วยเครื่องหมาย " , " เลขที่อยู่หลังแทนจำนวนเพศเมีย
นอกจากนั้น จะแจ้งรายละเอียดอื่น ( ถ้ามี ) เช่น
ตายเมื่อเกิด = Totgeboren ลูกสุนัขเสียชีวิตระหว่างคลอดหรือตั้งแต่อยู่ในท้อง
ตายหลังเกิด = Verendet ลูกสุนัขคลอดออกมาตามปกติแต่เสียชีวิตก่อนสักหูขึ้นทะเบียน
ฝากแม่นมเลี้ยง = Ammenaufzucht ในเยอรมนีมีกฏว่าแม่ 1 ตัว จะเลี้ยงลูกได้ไม่เกินคราวละ 6 ตัว
ดังนั้นจึงต้องหาแม่นมที่มีลูกไม่ถึง 6 ตัวมาช่วยเลี้ยง หากมีลูกมากกว่าครอกละ 6 ตัว และหาแม่นมมาไม่ได้ จะต้องกำจัดลูก ที่เกิน 6 ตัวออกไป
จากตัวอย่าง สุนัขครอกนี้เกิดมาทั้งสิ้น 4 ตัว เป็นเพศผู้ 2 ตัว เพศเมีย 2 ตัว ต่อมาได้ตายไปก่อนขึ้นทะเบียนเพศละ 1 ตัว คงเหลือได้ขึ้นทะเบียนเพศผู้ 1 ตัวและเพศเมีย 1 ตัว - ลงนามโดยผู้ผสมพันธุ์
- ทำเนียบทะเบียนเล่มที่ = SZ Band...21 ทะเบียนเลขที่ = SZ Nr....44301
เป็นลำดับเลขประจำตัวของสุนัข ที่สมาคม ฯ จดทะเบียนไว้ ตัวเลขนี้ในทางหลักฐานเอกสารถือว่าสำคัญมากกว่าหมายเลขหูสุนัขที่สักไว้ เพราะเลขทะเบียนนี้จะเพิ่มขึ้นไปได้เรื่อยๆ โดยไม่จำกัด ทำให้สุนัขทุกตัวจะมีเลขทะเบียนที่ไม่ซ้ำกันเลย ส่วนในหมายเลขที่สักหูจำเป็นต้องซ้ำกันบ้าง เพราะข้อจำกัดทางขนาดของใบหู อย่างในเยอรมนีตอนนี้ เลขทะเบียนของสุนัขเข้าใกล้หลัก 2 ล้านแล้ว
ในการลงทะเบียนประจำตัวของสุนัขแต่ละตัว ในใบพันธุ์ประวัติจึงใช้เลขทะเบียนนี้เป็นหลัก เพราะแยกตัวสุนัขได้แน่นอนกว่าหมายเลขที่สักหู - เมื่อ = Auesburg. Den...30 กรกฎาคม 2535 วัน เดือน สมาคม ฯ ได้รับขึ้นทะเบียน สุนัขตัวนี้ไว้
ปิดท้ายหน้าแรกนี้ คือ การลงนาม โดยนายทะเบียนของสมาคม ฯ - บันทึกคุณลักษณะเพิ่มเติมเฉพาะตัวทางมุมบนขวามือของใบพันธุ์ประวัติ จะมีช่อง " บันทึกคุณลักษณะเพิ่มเติมเฉพาะตัว " มีไว้เพื่อเพิ่มเติมคุณลักษณะที่สุนัขตัวนี้ผ่านการทดสอบในภายหลัง เช่น การตรวจรับรองข้อตะโพก หรือสอบคัดพันธุ์ได้ก็จะบันทึกลงไว้บริเวณนี้ ส่วนของเยอรมนีนั้น จะใช้บันทึกไว้บริเวณหน้าหลังสุด
เป็นการบ่งคุณลักษณะที่สุนัขตัวนั้นได้รับการรับรองในภายหลัง เช่น รับรองไม่เป็นโรคข้อตะโพกวิการ
ภาค 3
หน้ากลางของใบพันธุ์ประวัติ
ใช้ลงรายละเอียดต่างๆ ของการสืบสายพันธุ์ย้อนหลังไป 4 ชั่วโคตร โดยเฉพาะในรุ่น พ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา และยาย ก็จะได้ลงบันทึกคุณลักษณะ ตามความเห็นของกรรมการผู้สอบคัดพันธุ์ (Kormeister) ต่อสุนัขตัวนั้นๆ ไว้ด้วย
ผังบรรพบุรุษ จะมีทั้งสิ้น 30 ตัว ของ ส.ส.ย.ท. เราจะมีเลขกำกับไว้ทุกตัว ส่วนของเยอรมันจะมีเพียงแต่ 2 ชั่วโคตรแรก คือ 6 ตัวแรกเท่านั้น
ที่มุมล่างด้านขวาจะมีช่องหมายเหตุ ใช้ลงรายละเอียดเรื่องผลการรับรองข้อตะโพก เมื่อสุนัขนั้นผ่านการตรวจสอบ ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ ว่าอยู่ในขั้นใด แบ่งเป็น
- ปกติ = Normal
- เกือบปกติ = Fast Normal
- ให้ผ่าน = Zugelassen
- ยังคงให้ผ่าน = Noch Zugelassen
ปัจจุบันในเยอรมนีไม่แบ่งเกรดให้ผ่าน (Zugelassen) แต่จะปัดลงเป็นยังคงให้ผ่าน (Noch Zugelassen) เลย
สำหรับตัวอย่างใบพันธุ์ประวัติในหน้ากลางนี้ จะใช้ของครอก V v.d. Wienerau สุนัขคอกนี้เกิดเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 1988 เป็นครอกที่มีพี่น้องร่วมคอกเป็นสุนัขดีเด่นหลายตัว รวมทั้ง Vanta v.d. Wienerau Siegerin ปี 1992 http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=1068 สุนัขที่เจ้าของคือ Walter Martin ภาคภูมิใจมากและเล่าว่าเป็นสุนัขที่สวยสมบูรณ์ที่สุด ตั้งแต่เขาเคยผลิตออกมาทีเดียว สุนัขสวยคงไม่สำคัญเท่ากับการแสดงฝีมือ ในฐานะนักผสมพันธุ์ ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งในเยอรมนี เพื่อความชัดเจนผมได้นำใบพันธุ์ประวัติของตัวพ่อ คือ *Zamb http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=27 และตัวแม่คือ *Xandra http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=155 มาเปรียบเทียบให้ดู เพื่อให้สามารถดูย้อนหลังได้ คือ 5 ชั่งโคตร และเห็นตัวอย่างในการอ่าน Inzucht ว่าจะสามารถอ่านย้อนหลังถึงชั่วโคตรที่ 5 ได้อย่างไร
ขอให้สังเกต สายล่างสุดของสุนัขชุดนี้ว่าเป็นแม่พันธุ์ของคอก Wienerau เอง ติดต่อกันทั้งหมดถึง 5 ชั่วโคตร
ชั่วโคตรที่ 5 นำแม่พันธุ์ Venke มาผสมกับ Xito ได้มาเป็น Fina
” 4 ” Fina ” Vax ” Xinte
” 3 ” Xinte ” Uran ” Ussi
” 2 ” Ussi ” Cello ” Xandra
” 1 ” Xandra ” Zamb ” Vanta
จากฝีมือในการคัดเลือกหาพ่อพันธุ์ที่เหมาะสม เข้ามาผสมกับแม่พันธุ์ของตัวเอง เห็นได้ว่าไม่ต้องลงทุนซื้อแม่พันธุ์เข้ามาเลย เพียงนำแม่พันธุ์ที่มีอยู่ไปจ้างพ่อพันธุ์ผสมแล้วเก็บลูกที่ได้มาพัฒนาต่อจนได้สุนัขที่ดีเลิศในที่สุด โดยในจำนวนพ่อพันธุ์ทั้ง 5 ที่ใช้ ยังเป็นพ่อพันธุ์ของตัวเองอีก 2 ตัว คือ Vax http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=477 และปิดท้ายด้วย Zamb http://www.pedigreedatabase.com/dog.html?id=27 คอก V จึงเกิดจากพ่อและแม่ที่เป็น Winerau ทั้งคู่อีกด้วย
สุนัขครอกนี้มี Inzucht (Line-breeding) ที่น่าสนใจดังนี้
- Palme Wildsteiger Land (4-4,4)
- Dax Wienerau (4-4)
- Lasso Val Sole (4,5-5)
- Q-wt.Arminius, Quando-Quana (3-3)
เริ่มจาก
- Palme Wildsteiger Land (4-4,4)
แสดงว่าพบ Palme เป็นบรรพบุรุษร่วมในช่วง 4 ของพ่อ 1 ครั้ง แม่ 2 ครั้ง
ในช่วง 4 ของสายบน จะพบ 1 ครั้ง เป็นแม่ของ Quando
ในช่วง 4 ของสายล่าง จะพบ 2 ครั้ง เป็นแม่ของ Quana และ Uran - Dax Wienerau (4-4)
แสดงว่ามีอยู่ในช่วง 4 ของพ่อ 1 ครั้ง แม่ 1 ครั้ง
ในช่วง 4 ของสายบน จะพบ Dax เป็นพ่อของ Hasel
ในช่วง 4 ของสายล่าง จะพบ Dax เป็นพ่อของ Hatz - Lasso Val Sole (4,5-5)
คราวนี้ต้องนำใบพันธุ์ประวัติของ Zamb และ Xandra มาดูประกอบ
จะพบในสายบน 2 ครั้ง ในช่วงที่ 4 เป็นพ่อของ Axel
” 5 ” Xaver
จะพบในสายล่าง 1 ครั้ง ” 5 ” Xaver เช่นกัน
ในสายบนลูกของ Xaver คือ Quando แต่ในสายล่างลูกของ Xaver คือ Quana - Q-wf. Arminius, Quando-Quana (3-3)
ในช่วงที่ 3 สายบน จะพบ Quando เป็นพ่อของ Odine
” 3 สายล่าง จะพบ Quana เป็นแม่ของ Cello
Quando และ Quana ไม่ได้เป็นสุนัขตัวเดียวกัน แต่เป็นพี่น้องที่เกิดจากพ่อ-แม่คู่ เดียวกัน ดังนั้น ถือว่ามีสายเลือดใกล้เคียงกันมาก จะต้องนำมานับว่าเป็นบรรพบุรุษร่วมเสมือนกับเป็นสุนัขตัวเดียวกัน แต่จะมีหมายเหตุไว้ชัดเจนว่าเป็นแค่พี่น้องกัน สังเกตจากลักษณะที่บันทึกไว้ กรณีนี้รวมถึงพี่น้องที่เกิดจากพ่อ-แม่คู่เดียวกัน แต่เกิดคนละครอก ก็ต้องนำมาแสดงในช่อง Inzucht ด้วยเช่นกัน
สัญลักษณ์ที่ใช้ในใบพันธุ์ประวัติ
เริ่มดูลงไปในชั่วโคตรที่ 3 และ 4 ซึ่งลงรายละเอียดน้อยกว่า 2 ชั่วโคตรแรก เพราะถือว่าแต่ละตัวจะมีอิทธิพลต่อตัวสืบสกุลไม่มากนัก ซึ่งถ้าจะเพิ่มอิทธิพลของสุนัขตัวใดในสายเลือดให้มากขึ้น ทำได้โดยวิธีการผสมแบบเลือดชิด (Inzucht) คือนำมาให้เป็นบรรพบุรุษร่วม ทั้งในสายพ่อและสายแม่นั่นเอง
สัญลักษณ์ ‘+’ หรือ ‘*’ ที่ใช้พิมพ์นำหน้าชื่อสุนัขนั้น ไม่ใช่เป็นการพิมพ์เพื่อความสวยงามหรือเว้นช่องไฟความสำคัญคือ สุนัขที่มีเครื่องหมายนี้แสดงว่าสอบพ่อ-แม่พันธุ์ได้ หากตัวใดไม่มีแสดงว่าสอบไม่ได้หรือยังไม่ได้สอบ
หลังจาก ‘+’ หรือ ‘*’ จะเป็นชื่อของสุนัข, คอก ตามด้วยเลขทะเบียน (ดูในข้อ 18) และปิดท้ายด้วยความสามารถที่สอบได้
ใน 2 ชั่วโคตรแรก จะมีการลงรายละเอียดคล้ายกัน ซึ่งมากกว่าในชั่วโคตรที่ 3 และ 4 โดยเริ่มจาก
- ชื่อของสุนัขและคอก ตามด้วยความสามารถในการใช้งาน
- ช่องทะเบียน นอกจากเลขทะเบียนแล้วจะมีการลงเรื่อง
การรับรองไม่เป็นโรคข้อตะโพกวิการ = “a” Zuerk ตามด้วย - ผ่านการรับรองการสอบคัดพันธุ์ = + หรือ *
ปีที่ได้รับการรับรองการคัดพันธุ์นั้น โดยจะระบุว่ารับรองในปีใดหรือตลอดชีวิต = Lebenszeit (Lbz.) - สีและลวดลาย ลงเป็นตัวย่อ
- ผลการประกวด เริ่มบันทึกผลตั้งแต่สุนัขอายุมากกว่า 1 ปี และจะบันทึกผลประกวดที่ดีที่สุด ที่เคยได้รับ เช่น สุนัขเคยประกวดได้ผลเป็น VA แม้ต่อมาจะตกไปเป็น SG ในภายหลังก็ยังคงมีสิทธิจะบันทึกว่า เป็น VA
การที่ต้องใช้สัญลักษณ์หรือตัวย่อต่างๆเหล่านี้ เป็นเพราะเนื้อที่อันจำกัดในใบพันธุ์ประวัติ เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด จึงใช้วิธีลงไว้เป็นตัวย่อ ซึ่งถ้าหากเราไม่เข้าใจความหมายแล้วก็ทำให้เข้าใจผิด หรือขาดข้อมูลที่ถูกต้องได้
ตัวอย่าง Zamb มีรายละเอียด Zamb เป็นสุนัขคอก Wienerau เลขทะเบียนที่ขึ้นกับ SV. คือ 1696277 สอบผ่านอารักขาชุดที่ 3 ได้รับการรับรองเป็นพ่อพันธุ์ตลอดชีพ และผ่านการตรวจโรคข้อตะโพกห่าง มีผลการประกวดระดับดีเลิศ สีตัวคือ ดำ-เหลือง
บันทึกคุณลักษณะประจำตัว KB :
คือ ความเห็นของกรรมการสอบคัดพันธุ์ที่มีต่อตัวสุนัข ในวันสอบคัดพันธุ์ ดังนั้นการเลือกวันสอบคัดพันธุ์จึงควรเลือกวันที่สุนัขของเราพร้อมที่สุด เพราะจะทำการบันทึกไว้เป็นหลักฐานที่จะปรากฏอยู่ในใบพันธุ์ประวัติต่อไปอีกหลายชั่วโคตร และจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง เว้นจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมในการสอบคัดพันธุ์ครั้งต่อมาของสุนัขตัวนั้น แต่คำวิจารณ์เดิมก็จะรักษาอยู่
ด้วยความสำคัญระดับนี้ ผู้เป็นกรรมการสอบคัดพันธุ์จึงถือว่าเป็นผู้มีความสามารถและเข้าใจโครงสร้างของสุนัขและสายเลือด ข้อดี ข้อด้อยอย่างลึกซึ้งที่สุด เหนือกว่ากรรมการตัดสินทั่วไป หากกรรมการคัดพันธุ์ด้อยคุณภาพ ก็จะมีผลต่อเนื่องไปอีกยาวนาน และทำให้เกิดความเข้าใจผิดในผู้ที่หลงเชื่อถือหรือไม่ทราบข้อเท็จจริงในความเห็นดังกล่าว
โดยนัยกลับกัน ผู้เป็นกรรมการคัดพันธุ์ต้องมีความรับผิดชอบต่อการวิจารณ์ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะเป็นการประกาศความเห็นนั้นออกไป โดยเปิดเผย หากเป็นการกระทำโดยเจตนาไม่สุจริตหรือด้อยประสบการณ์ย่อมเป็นการประจานตนเองต่อสังคมด้วยเช่นกัน
ชื่อพี่น้องร่วมคอก Geschw :
ในหน้ากลางนี้จะแตกต่างจากหน้าแรก คือ ในการจัดทำใบพันธุ์ประวัติครั้งแรก เราสามารถบันทึกได้เพียงแต่จำนวน พี่น้องภายในคอกว่า มีกี่ตัวและตำหนิรูปพรรณที่เห็นได้ชัดเจนตั้งแต่เล็ก คือ สี และลวดลายเท่านั้น แต่ในครั้งนี้เนื่องจากพี่น้องแต่ละตัวในคอกก็เติบใหญ่ขึ้น ถ้ามีการรวบรวมข้อมูลที่ดีพอจะสามารถลงรายละเอียดของพี่น้องร่วมคอกเพิ่มเติม ดังนี้
- ผ่านการสอบพันธุ์หรือไม่ จากเครื่องหมาย ‘+’ หรือ ‘*’
- ผ่านการสอบการใช้งานหรือไม่
- ได้รับผลการประกวดในขั้นใด
ในทางปฏิบัติ ท่านที่เป็นเจ้าของคอกหรือเจ้าของตัวสุนัข เมื่อสุนัขของตนหรือพี่น้องร่วมคอก มีคุณสมบัติเฉพาะตัวเพิ่มเติมขึ้นในข้อใด ควรยื่นคำร้องหรือแจ้งให้สมาคมฯ เพื่อจัดการเพิ่มรายละเอียดลงในใบพันธุ์ประวัติที่จะออกใหม่ต่อไป เป็นการช่วยเหลือกันในระหว่างหมู่สมาชิกและสมาคมฯ เอง
ตัวอย่าง ครอกของ Zamb จะลงข้อมูลเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมจากช่องพี่น้องร่วมคอกในปกหน้า (ข้อ 15) คือ เมื่อเจริญวัยขึ้นแล้ว ได้มีการสอบผ่านการคัดพันธุ์ 2 ตัว คือ
- Zigo ได้รับการสอบผ่านอารักขาชุดที่ 3 และมีผลการประกวดระดับดีเยี่ยม
- กับ Zanga “ “ “ 1 “ “
หน้าสุดท้ายของใบพันธุ์ประวัติ
เป็นการแนะนำในการผสมพันธุ์สุนัขเยอรมันเช็พเพอด และมีจุดสำคัญอีกประการคือ การโอนสิทธิเป็นเจ้าของสุนัข บันทึกเกี่ยวกับวันที่โอนสิทธิ และลงนามของผู้โอนและผู้รับเป็นหลักฐาน เปรียบได้กับโฉนดที่ดิน หรือสัญญาซื้อขายของสุนัขตัวนั้น ในบ้านเราสุนัขราคาไม่สูงมากจึงไม่ค่อยสนใจกัน แต่ในต่างประเทศโดยเฉพาะสุนัขที่มีราคาสูง จะละเลยกันไม่ได้ทีเดียว
ส่วนในใบพันธุ์ประวัติของเยอรมัน จะลงเรื่องการรับรองคุณสมบัติพิเศษของตัวสุนัขในหน้านี้ ได้แก่
- การรับรองข้อตะโพก “a” แต่ไม่ระบุเกรดที่รับรอง (ถ้าต้องการทราบว่าเป็นเกรดใด ต้องดูในหน้ากลาง) ของไทยเราลงไว้ที่ปกหน้า ดังตัวอย่างข้อ 20
- การรับรองการคัดพันธุ์ ระบุว่าได้รับการรองในช่วงเวลาใด และเป็นการรับรองระดับขั้นหนึ่ง หรือ ขั้นสอง
เราได้มาถึงบทสุดท้ายของเรื่อง ความจริงยังมีเรื่องย่อยในเรื่องใหญ่แฝงอยู่อีกหลายประการ ที่ยังไม่ได้เขียนถึงในคราวนี้ เพราะจะทำให้เป็นเรื่องยาวเกินไป และออกนอกประเด็นที่ตั้งใจจะให้ผู้อ่านได้เข้าใจหลักและวิธีการอ่าน ใบพันธุ์ประวัติกว้างๆ โดยตลอดทั้งฉบับ ดังนั้น หากมีจุดใดไม่เข้าใจหรือต้องการให้ขยายความเพิ่มเติมอีก กรุณาแจ้งให้ทราบด้วย
บทความนี้คงมีข้อผิดพลาดไม่มากก็น้อย ดังนั้น หากท่านใดตรวจพบโปรดแจ้ง เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดขึ้นในหมู่ของพวกเรา
ข้อเตือนใจ หากท่านทำการใดเพื่อบิดเบือน สายพันธุ์สุนัขของท่านซึ่งสมาคมฯ คงไม่สามารถตรวจสอบได้ทุกกรณี แต่ผลเสียนอกจากจะตกอยู่กับจิตใจของท่านแล้ว กว่าที่สายเลือดหรือการแจ้งข้อมูลเท็จของท่านจะลบออกไป ต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุเป็นบาปต่อการพัฒนาพันธุ์นะครับ
ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะทำให้เกิดความเข้าใจและมีการนำใบพันธุ์ประวัติมาวางแผนการผสมพันธุ์ เพื่อพัฒนาสุนัขในสังกัดของท่าน เข้าสู่เป้าหมายของพันธุ์อันจะเป็นผลให้มีการพัฒนาของสุนัขพันธุ์นี้ในประเทศเรา โดยส่วนรวมต่อไป
ขอขอบคุณ คุณคณิต และคุณนริษฐ ทองนพเนื้อ ที่เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพประกอบขอบคุณทุกท่านที่ร่วมมือในบทความนี้สำเร็จลง และท่านผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามจนจบ ขอลาทีสวัสดีครับ
แหล่งที่มาข้อมูล : เอกสารประกอบการอบรมหลักสูตร "ผู้ช่วยกรรมการตัดสิน"
แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :
- http://www.gsdinfo.co.uk/Breed%20Info/The%20SV%20Pedigree.htm
- http://www.gsdinfo.co.uk/Breed%20Info/SV%20pink%20papers.htm
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ใบพันธุ์ประวัติ-PEDIGREE-AHNENTAFEL-ภาค-1-2/491235977580503 และ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ใบพันธุ์ประวัติ-PEDIGREE-AHNENTAFEL-ภาค-3/516923305011770