การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบความอดทน
จาก ‘ Conditioning for the Ausdauerpruefung ( AD ) ’ โดย Victoria Janicki และ Laura Holly, Schutzhund USA ฉบับ มี.ค./เม.ย. 2001 http://siriusdog.com/ausdauerprufung-ad.htm
แปลโดย : มิสเตอร์ชาลี
แหล่งที่มารูปภาพ : http://4.bp.blogspot.com/-2lLH5ar8Y3I/T8907iEVgJI/AAAAAAAAGLg/KJZgDwNf-g4/s1600/Ausdauerpruefung09.jpg
จากประสบการณ์ในการวิ่งแข่งขัน และการเตรียมความพร้อม เราได้พัฒนาโปรแกรม เพื่อเตรียมสุนัขสอบความอดทนให้ผ่านในสภาพที่ดีเยี่ยม เราได้ใช้โปรแกรมนี้เตรียมสุนัขสอบความอดทนจำนวนมาก และทุกตัวสอบผ่านอย่างง่ายดาย เราเชื่อว่าการเตรียมตัวอย่างเต็มที่เป็นปัจจัยสำคัญในการฝึกสุนัขให้สามารถทำแบบฝึกหัดนี้ได้อย่างสบาย ๆ ภายใต้กฎเกณฑ์ของการสอบ บทความนี้จะแสดงตัวอย่างของโปรแกรม และแนะนำเทคนิคการเตรียมตัว สำหรับการสอบความอดทน
Ausdauerpruefung ( เป็นภาษาเยอรมันย่อว่า AD แปลว่าการสอบความอดทน - ผู้แปล ) เป็นการทดสอบความอดทนของสุนัข, ความพร้อมและโครงสร้างทางกายภาพ AD ไม่มีตำแหน่งในลักษณะเดียวกับ ชุทซ์ฮุนด์ ( เช่นไม่ได้ลงว่า AD ในเพ็ดดิกรี - ผู้แปล ) AD เป็นการทดสอบที่จำเป็นสำหรับสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด สุนัขต้องผ่าน AD เพื่อเข้าสอบคัดพันธุ์, ถ้าสุนัขอายุไม่เกินกว่า 6 ปี ระหว่างการสอบอดทน สุนัขจะวิ่งเคียงข้างไปกับผู้จูงซึ่งขี่จักรยาน ในระยะทางทั้งหมด 12.5 ไมล์ ( 20 กิโลเมตร ) ในอัตราความเร็ว 7.7 - 9.5 ไมล์ต่อชั่วโมง ( 12 - 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ) การทดสอบจะมีการพัก 15 นาทีที่ระยะ 5 ไมล์ ( 8 กิโลเมตร ) และพักอีก 15 นาทีที่ระยะ 9.4 ไมล์ ( 15 กิโลเมตร ) ระหว่างการพักกรรมการสอบจะตรวจอุ้งเท้าว่าแตกไหม, แสดงอาการเหนื่อยอย่างมาก หรืออยู่ในสภาพไม่ดี กรรมการจะคัดสุนัขที่ไม่ควรให้วิ่งต่อออก เมื่อวิ่งครบระยะทาง จะมีการพักประมาณ 20 นาที หลังจากนั้นจะทดสอบการเชื่อฟังคำสั่ง
แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.sv-og-ostalb.de/AD.jpg
การประเมินสุนัขของคุณ
ก่อนเริ่มการฝึกตอนแรกให้ตรวจสอบสุนัขของคุณอย่างละเอียด และซื่อสัตย์ โดยใช้ข้อตัดสินต่อไปนี้ช่วยคุณตัดสินใจ ว่าเมื่อไหร่ คุณควรเริ่มเตรียมความพร้อมสุนัขของคุณ
- สุขภาพโดยรวม
- น้ำหนัก
- สภาพร่างกาย
- อายุ
- โครงสร้างร่ายกาย
สุขภาพ
- สุนัขของคุณป่วย หรือบาดเจ็บที่รบกวนการฝึกหรือไม่ ? ตัวอย่างเช่น ถ้าสุนัขของคุณได้รับเชื้อไวรัส หรือกล้ามเนื้อตึง ต้องรอจนกว่าจะหายสนิทถึงเริ่มฝึก การเริ่มโปรแกรมฝึกในขณะสุนัขป่วยอาจทำให้สุนัขสภาพแย่ลง เจ็บป่วยหรือบาดเจ็บมากขึ้น
- สุนัขที่มีอาการเจ็บป่วยทางกายภาพเรื้อรัง หรือถาวร เช่น โรคข้อตะโพก หรือข้อศอกวิการ ในความเห็นของเราไม่ควรได้รับการฝึกเพื่อสอบอดทน แต่อย่างไรก็ดี โปรแกรมการฝึกเข้มงวดปานกลางเป็นวิธีที่ดีต่อการจัดการปัญหาโรคข้อตะโพกวิการ ก่อนเริ่มโปรแกรมฝึกอย่างเต็มที่ เราขอแนะนำให้ปรึกษาสัตวแพทย์ เพื่อประเมินสุขภาพสุนัขของคุณ
น้ำหนัก
- น้ำหนักสุนัขคุณเหมาะสมหรือไม่ ? สุนัขที่แบกน้ำหนักเกินกว่า 10 ปอนด์หรือมากกว่า จำเป็นต้องลดน้ำหนักอย่างช้า ตามโปรแกรมเตรียมความพร้อม น้ำหนักที่เกินจะเพิ่มความกดกับข้อต่อ และเนื้อเยื่อ ถ้าไม่แน่ใจว่าสุนัขน้ำหนักเกินหรือไม่ ให้ตรวจสอบกับเพื่อนของคุณที่สุนัขอยู่ในสภาพดี หรือปรึกษาสัตวแพทย์ โดยทั่วไปเมื่อเอานิ้วโป้งวางแต่ละข้างของสันหลังลากตามแนวยาว เพื่อความรู้สึกสัมผัสของซี่โครง 2 ซี่สุดท้าย คุณจะต้องรู้สึกได้อย่างง่ายดาย ใช้นิ้วมือขยุ้มขนและหนังที่ไหล่ คอ และส่วนท้าย จะรู้สึกถึงไขมันส่วนเกินได้เลย
ระดับความแข็งแรง ( ความฟิต )
- สุนัขคุณได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอขนาดไหน ? สุนัขที่ใช้เวลาส่วนมากในกรง จะได้ออกข้างนอกเมื่อฝึกชุทซ์ หรือเมื่อดูทีวีนั้น จำเป็นต้องใช้เวลาในการปรับสภาพอย่างช้า ๆ ในทางกลับกัน ถ้าสุนัขของคุณได้รับการออกกำลังอย่างเพียงพอ ให้ลองเช็คเวลาเฉลี่ยระยะทางและความหนักของการฝึก คุณอาจฝึกสุนัขของคุณตามโปรแกรมฝึกในสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ได้เลย
อายุ
- อายุขั้นต่ำสำหรับการสอบความอดทนคือ 16 เดือน แต่เราแนะนำว่าควรจะรอจนอายุ 18 เดือนหรือ 2 ปี ก่อนจึงเริ่มฝึกอย่างจริงจัง สุนัขที่โตช้า จะเก้งก้างในช่วงอายุ 16 เดือน และการวิ่งระยะไกลในอายุขนาดนี้อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บกับข้อต่อและเอ็น ในทางกลับกัน สุนัขที่อายุเกิน 5 ปีจะใช้เวลานานในการคืนสภาพ จากความเมื่อยล้าในการฝึกที่หนัก สุนัขอายุมากมีแนวโน้มที่จะบาดเจ็บจากการฝึกที่หนักเกินไป ต้องให้เวลามากขึ้นสำหรับสุนัขที่อายุมากในการเตรียมความพร้อมในการสอบความสอบอดทน
โครงสร้างทางกายภาพ
- อะไรคือจุดอ่อนในโครงสร้างตัวสุนัขของคุณ ? โครงสร้างของสุนัขจะต้องดูรับแรงกระแทกซ้ำแล้วซ้ำเล่าในการวิ่ง ขนาดของมุมของสุนัขจะเป็นตัวกำหนดประสิทธิภาพของที่โครงสร้างว่าจะสามารถรับแรงกระแทกได้มากน้อยขนาดไหน สมมติว่าไหล่และส่วนท้ายเป็นช็อคอัพ ( โช้ค ) ยกตัวอย่างเช่น สุนัขที่ไหล่ และส่วนท้ายมีมุมชันจะ ( ตึง ) จะรับแรงกระแทกได้น้อยกว่าสุนัขที่มุมหน้าหรือหลังเป็นมุมกันมากกว่า โดยทั่วไปโครงสร้างที่ไม่ถูกต้องซึ่งมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวมในการเคลื่อนไหว จะทำให้ข้อต่อ กล้ามเนื้อ และเอ็นเมื่อยล้ามากกว่าที่ควร อันเป็นผลให้บริเวณนี้ง่ายต่อการบาดเจ็บ ขอย้ำว่าต้องให้เวลาการเตรียมความพร้อมสอบความอดทนกับสุนัขที่โครงสร้างมีข้อบกพร่องให้มากกว่าธรรมดา และให้ระวังคอยสังเกตอาการบาดเจ็บจากการฝึกหนักเกินไป ควรพิจารณาใช้วิธีออกกำลังกายแบบอื่นกับสุนัขที่มีโครงสร้างไม่ถูกต้อง เช่น การว่ายน้ำ
การออกแบบแผนการฝึก
- สิ่งสำคัญอย่างมากคือต้องไม่ฝึกสุนัขหนักเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเริ่มฝึก การฝึกหนักมากไป เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ และทรมานสุนัข ควรวางแผนพาสุนัขวิ่งสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง เราขอแนะนำให้พาสุนัขอายุมาก หรือสุนัขที่โครงสร้างไม่ถูกต้องวิ่งสัปดาห์ละ 2 ครั้งเท่านั้นก็พอ
- เราจัดโปรแกรม 3 วันต่อสัปดาห์ แต่ละสัปดาห์ประกอบด้วยการวิ่งขั้นพื้นฐานเพื่อเตรียมความพร้อม 2 วัน และ การวิ่งระยะยาว 1 วัน การวิ่งขั้นพื้นฐานจะเป็นการวิ่งแบบแอโรบิค ส่วนการวิ่งระยะยาวจะเป็นการเพิ่มความอดทนโดยรวม การวิ่งทั้งสองแบบจะทำให้ได้ความแข็งแรงในระดับที่ต้องการ การวิ่ง 60 นาทีรวดเดียว 1 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ ไม่ให้ผลดีเหมือนวิ่ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์ครั้ง ครั้งละ 20 นาที ( การวิ่ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์นี้ดีกว่าวิ่งให้ได้ระยะทางมากสุดเพียงครั้งเดียวใน 1 สัปดาห์ ) โดยเป็นการวิ่งแบบไม่พัก เพราะการหยุดอย่างรวดเร็วโดยปล่อยให้สุนัขพักตามสบาย เช่น ปลดสายจูง จะไม่เป็นผลดีต่อการฝึก
- ในช่วงเริ่มต้นโปรแกรม การวิ่งพื้นฐานจะวิ่งระยะประมาณ 80 % ของการวิ่งระยะยาว และเมื่อเพิ่มระยะทางวิ่งระยะยาวขึ้นการวิ่งพื้นฐานจะกลายเป็นประมาณ 40 - 60 % ของวิ่งระยะยาว คุณอาจจัดตารางการวิ่งสลับกันแบบไหนก็ได้ ( วิ่งพื้นฐาน / วิ่งยาว / วิ่งพื้นฐาน หรือ วิ่งยาว / วิ่งพื้นฐาน / วิ่งพื้นฐาน ) ไม่สำคัญ, แต่อย่าพยายามวิ่งระยะยาว 2 ครั้งติดต่อกันในสัปดาห์เดียวกัน
- การพักผ่อนเป็นสิ่งสำคัญสำหรับโปรแกรมการฝึกนี้ เหมือนกับการฝึกวิ่ง ร่างกายสุนัขใช้วันพักผ่อนในการซ่อมแซมกล้ามเนื้อที่สึกหรอ และสะสมพลังงานสำหรับตอนต่อ ๆ ไป ขอแนะนำให้พักอย่างน้อย 1 วัน ในช่วงระหว่างการฝึกวิ่ง และให้พัก 2 วันหลังการวิ่งระยะยาว ตั้งแต่สัปดาห์ที่ 4 เป็นต้นไป แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่า ให้สุนัขนอนในกรงทั้งวันในวันพัก ควรให้สุนัขได้ทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การเดินเล่นในป่า, การฝึกในสนามฝึก, เดินรอบ ๆ บ้านหรือการว่ายน้ำเล่น กิจกรรมใด ๆ ก็ได้ยกเว้นการฝึกวิ่ง
- สุนัขที่สามารถวิ่งตลอด 20 นาที หรือ 2 - 3 ไมล์ด้วยการใช้ความพยายามปานกลางในช่วงเริ่มการฝึก ควรจะพร้อมในการสอบความอดทนภายใน 6 - 8 สัปดาห์ สุนัขที่สภาพไม่ดี หรือ เหนื่อยมากอาจใช้เวลาฝึกนานกว่าตารางประมาณ 3 - 6 สัปดาห์
- เราจะพิจารณาว่าสุนัขพร้อมสอบอดทนเมื่อสุนัขสามารถวิ่ง 30 - 40 นาที ( 4 - 5 ไมล์ ) ได้อย่างสบายสำหรับการวิ่งพื้นฐาน และวิ่งระยะยาว 8 ไมล์ ( 70 - 80 นาที ) ไม่มีความจำเป็นที่จะให้สุนัขวิ่งระยะยาวกว่า 8 ไมล์ในครั้งเดียว ถ้าคุณสามารถจบโปรแกรม ก่อนสัปดาห์ที่ 6 และมีเวลาเหลือก่อนถึงกำหนดสอบความอดทน คุณอาจลดเวลาการวิ่งเป็น 50 - 60 นาที การวิ่ง 3 ครั้งต่อสัปดาห์อย่างต่อเนื่องดีกว่าการเพิ่มระยะให้มากกว่า 8 ไมล์ ถ้าสุนัขของท่านจบโปรแกรมก่อนการสอบอดทนและฝึกมามากกว่า 10 สัปดาห์ เราแนะนำให้ฝึกซ้อมก่อนการสอบโดยฝึกวิ่ง 2 - 3 ครั้งต่อสัปดาห์ 25 - 40 นาที
ตัวอย่างตารางฝึกวิ่ง
การวิ่งพื้นฐาน ( 2 ครั้งต่อสัปดาห์ ) | การวิ่งระยะยาว ( 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ) | |||
---|---|---|---|---|
สัปดาห์ | นาที | ระยะทาง ( ไมล์ ) ( โดยประมาณ ) | นาที | ระยะทาง ( ไมล์ ) ( โดยประมาณ ) |
1 | 20 | 2.0 - 2.5 | 25 | 2.5 - 3.5 |
2 | 25 | 2.5 - 3.5 | 30 | 3.0 - 4.0 |
3 | 25 , 30 | 2.5 - 3.5 , 3.0 - 4.0 | 40 | 4.5 - 6.0 |
4 | 30 | 3.0 - 4.0 | 50 | 5.5 - 7.0 |
5 | 30 - 35 | 3.0 - 4.5 | 60 | 6.5 - 7.5 |
6 | 30 - 40 | 3.0 - 6.0 | 70 - 80 | 7.0 - 8.0 + |
การฝึกเพื่อการสอบความอดทน
- ควรให้สุนัขฝึกวิ่งตอนท้องว่างหรือเกือบว่าง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการจุกเสียดและควรเว้น 3 - 4ชั่วโมงหลังกินอาหาร ถ้าสุนัขเพิ่งจะดื่มน้ำจำนวนมาก ควรเว้น 1 - 2 ชั่วโมงก่อนการฝึก
- การอุ่นเครื่องสุนัขก่อนการวิ่งเพื่อเตรียมกล้ามเนื้อ การคูลดาวน์หลังการวิ่งช่วยลดความตึง และผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การอุ่นเครื่องอาจเป็นการเดินหรือการวิ่งเรียบช้า ๆ 5 - 10 นาที และหลังจากการฝึกวิ่งต้องไม่ลืมคูลดาวน์ก่อนเก็บสุนัขเข้ากรง โดยการพาเดินช้าๆ 5 - 10 นาที
- หลังจากสุนัขคูลดาวน์ คุณสามารถให้น้ำได้ โดยน้ำที่ให้ควรเป็นน้ำอุ่น ( อุณหภูมิขณะนั้น ) ไม่ใช่น้ำเย็น ให้ดื่มน้ำประมาณ 1 - 1.5 ถ้วย รออีกสักหลายนาทีจึงให้น้ำเพิ่ม การให้อาหารควรให้หลังฝึกอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
อุปกรณ์
- เราแนะนำให้ใช้จักรยานเสือภูเขา หรือจักรยานใช้งานตามปกติ มากกว่าจักรยานแข่ง หรือจักรยานสำหรับการเดินทางไกล จักรยานเสือภูเขาจะมีความมั่นคงมากกว่า และหน้ายางกว้างกว่า ทำให้สามารถควบคุมได้อย่างปลอดภัยในหลายสภาพถนน โดยติดตั้งอุปกรณ์สปริงเกอร์แอทแทชเม้นท์กับจักรยาน ตัวสปริงเกอร์นี้ติดโดยตรงกับตัวถังจักรยาน และมีคลิบหรือขอเกี่ยวกับปลอกคอหรือขลุมอก สปริงเกอร์จะช่วยให้สามารถควบคุมจักรยานได้ทั้ง 2 มือ ( ไม่ต้องจูงสุนัขเอง ) และช่วยป้องกันไม่ให้สุนัขดึงให้จักรยานล้ม เราไม่แนะนำให้จูงสุนัขวิ่งข้างรถยนต์
- สำหรับความปลอดภัยของคุณ, คุณต้องสวมหมวกขี่จักรยาน ที่ได้รับการรับร่องมาตรฐาน เพราะแม้แต่สุนัขที่นิ่งที่สุด ก็สามารถทำให้จักรยานล้มได้ และควรจะต้องมีไฟหรืออุปกรณ์สะท้อนแสงสีส้มที่ใช้ในการเดินป่า สำหรับคุณ และสุนัขของคุณด้วยการเตรียมทำ ” ระเบิดถุงน้ำ ” ( ถุงพลาสติกใส่น้ำให้เต็ม ) ติดไปด้วยสามารถใช้จัดการกับพวกสุนัขจรจัดตามข้างถนนได้ดีทีเดียว
แหล่งที่มารูปภาพ : http://24kgsd.com/blog/wp-content/uploads/2012/09/Riding-08-600x409.jpg
แหล่งที่มารูปภาพ : http://24kgsd.com/blog/wp-content/uploads/2012/09/Good-Riding-02.jpg
เทคนิคการฝึก
- เคล็ดลับการฝึกที่สำคัญที่สุดคือการใช้สามัญสำนึก ถึงแม้ว่าโปรแกรมฝึกจะเป็นสิ่งมีประโยชน์ โปรดจำไว้ว่ามันเป็นแค่แนวทางเท่านั้น การตัดสินใจว่าจะทำอะไรในวันฝึกนั้นยืดหยุ่นได้ตามสภาพอากาศ และสภาพสุนัขของคุณ ตัวอย่างเช่น ถ้าอากาศเปลี่ยนเป็นร้อนขึ้นในทันที อาจเว้นการฝึก หรือลดระยะทางลง, จัดโปรแกรมวิ่งระยะยาวไปวิ่งในวันอากาศเย็นกว่า สังเกตการตอบสนองของสุนัขด้วย ถ้าสุนัขแสดงอาการล้าระหว่างวิ่ง หรือเดินโซเซ่, แสดงอาการหมดแรงหลังวิ่ง ควรถอยหลังโปรแกรมฝึกกลับไป 1 - 2 สัปดาห์, เป้าหมายไม่ใช่การเร่งเร้ากดด้นสุนัขในการวิ่งทุกครั้ง แต่เป็นการค่อย ๆ เสริมสร้างสภาพเพื่อเตรียมความพร้อม
- ยิ่งระยะวิ่งมากขึ้น สุนัขอาจต้องการพลังงานมากขึ้น จึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนปริมาณและประเภทอาหารให้เหมาะสม การทดลองวิ่งด้วยความเร็วหลายระดับ เพื่อหาระดับที่เหมาะสม เป้าหมายเพื่อให้สุนัขเคลื่อนไหวอย่างมีประสิทธิภาพด้วยการย่างก้าวได้เนื้อที่มากที่สุด เพื่อรักษาจังหวะก้าวย่างนี้ เราพบว่าบนทางเรียบ เราต้องปั่นจักรยานอย่างเบา ๆ และสม่ำเสมอ อย่าเพิ่มความเร็วมากจนสุนัขต้องควบตาม เราต้องการให้สุนัขวิ่งเรียบ ( trot ) อย่างคล่องตัวที่สุด โดยขาหน้าซ้ายเคลื่อนไปทิศทางเดียวกับขาหลังขวาและกลับกัน กรณีการวิ่งที่ไม่มีประสิทธิภาพ ขาหน้าซ้าย / หลังซ้ายจะวิ่งทางเดียวกัน ถ้าสุนัขวิ่งแบบนี้อาจเป็นได้ว่าคุณขี่จักรยานช้าไป ให้เพิ่มความเร็วขึ้น และดูว่าสุนัขเริ่มวิ่งแบบปรกติ ( trot ) หรือยังบางทีสุนัขอาจเหนื่อย ทำให้วิ่งช้าลงแล้วก้าวเท้าตามกัน สุนัขที่โครงสร้างไม่ถูกต้องจะต้องใช้พลังงานมากกว่าปรกติ เพื่อการวิ่งเรียบ ( trot ) ต่อเนื่อง สุนัขแบบนี้จะเหนื่อยในตอนท้ายและเปลี่ยนเป็นการวิ่งแบบช้า ๆ
- ในการฝึกคุณอาจทดแทนการออกกำลังกายแบบแอโรบิค โดยว่ายน้ำแทนการวิ่ง อย่างไรก็ดีการเตรียมตัวที่เหมาะสม สำหรับการสอบความอดทน สุนัขต้องเตรียมกล้ามเนื้อสำหรับการวิ่งเรียบ ( trot ) ดังนั้นการฝึกเพื่อเตรียมความพร้อมจึงควรให้สุนัขวิ่งเรียบ ( trot ) ให้มากที่สุด ระหว่างการฝึกวิ่งให้พยายามหาพื้นผิวหลาย ๆ แบบ เช่น บนทางเท้า หญ้า ทราย ดิน ความหลากหลายนี้จะช่วยทำให้หนังอุ้งเท้าหนา และพร้อมสำหรับการทดสอบทุกสภาพ
- เพื่อทำให้การวิ่งเป็นเรื่องน่าสนุกทั้งคุณและสุนัข ให้เลือกเปลี่ยนเส้นทาง หรือเปลี่ยนจังหวะก้าวย่างให้เร็ว ให้ช้า และสุดท้ายลองให้สุนัขวิ่งกับสุนัขและคนจูงทีมอื่นอย่างน้อย 1 ทีม เพื่อสร้างความคุ้นเคยเหมือนบรรยากาศการสอบ เมื่อมีสุนัขอื่นอยู่ข้าง ๆ สุนัขของท่านอาจรู้สึกเหมือนอยู่ในการแข่งขันพยายามวิ่งเร็วเกินไป หรือสนใจสุนัขตัวอื่นมากเกินไป คุณจะได้หาวิธีแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ในช่วงนี้ แทนทีพลังงานไปเปล่า ๆ เมื่อถึงวันสอบ
การวิ่งในการทดสอบความอดทน
- ถ้าคุณได้ฝึกสุนัขตามโปรแกรมที่เรานำเสนอ สุนัขของคุณก็น่าจะผ่านการทดสอบความอดทนได้สบายโดยไม่แสดงอาการเหนื่อยมากนัก จงสงวนพลังงานให้สุนัขของคุณ และรักษาระยะการก้าวย่างให้สม่ำเสมอตลอดการทดสอบ ในตอนเริ่มอย่าปล่อยให้สุนัขแซงขึ้นหน้านำกลุ่ม ให้ขึ้นนำเมื่อพวกนั้นเหนื่อย ต้องระวังเว้นระยะห่างพอสมควรจากสุนัขตัวอื่น ความวิตกกังวลและตื่นเต้นอาจทำให้ทั้งคนและสุนัขหงุดหงิดอารมณ์เสียได้
- การทดสอบความอดทนอาจจัดได้หลายพื้นที่ เช่น ลู่วิ่งในสนามกีฬา, สนามม้า, ถนนดิน, หรือสนามหญ้า แต่โดยมากมักวิ่งบนถนน ซึ่งต้องระวังสิ่งกีดขวางหลุมบ่อ และเศษแก้วแตกในถนนตลอดเวลา เพื่อความปลอดภัยทั้งคุณ และสุนัขของคุณบ่อยครั้งสุนัขต้องหยุดพักเหนื่อย ณ จุดใดจุดหนึ่ง ระหว่างการทดสอบ ไม่มีการลงโทษหรือตัดคะแนนในเรื่องนี้ เมื่อสุนัขวิ่งพักพอแล้ว ค่อย ๆ ให้สุนัขตามกลุ่มไปที่ละน้อย อย่าปล่อยให้สุนัขวิ่งพุ่งออกไปอย่างเร็ว เพื่อตามให้ทันกลุ่ม
- ในแต่ละช่วงการพักให้พาสุนัขเดินไปมาเรื่อย ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อคลายตัว ในวันที่แดดจัดอากาศร้อน พยายามให้สุนัขวิ่งในร่มเงาให้มากที่สุด ให้ดื่มน้ำธรรมดา ( ตามอุณหภูมิอากาศปรกติ ) เมื่อสุนัขท่านหายใจดีขึ้นคุณอาจให้มันนั่ง หรือนอนลงได้ สองสามนาที ก่อนที่จะเริ่มการวิ่งต่อ ให้พาสุนัขเดินไปมาอีกครั้งเพื่อยืดเส้นยืดสาย เตรียมสุนัขให้พร้อม เพื่อรอกรรมการตรวจสอบวิธีการตรวจสอบขึ้นกับกรรมการ แต่กรรมการส่วนใหญ่จะตรวจดูสภาพอุ้งเท้า ( และดูว่ามีแผลแตกหรือไม่ ) ลองตรวจสุนัขของคุณถ้ามันยังไม่คุ้นเคยกับการตรวจแบบนี้
- หลังจากเสร็จการทดสอบความอดทน กรรมการจะให้คุณและสุนัข ปฏิบัติขั้นตอนการทำตามคำสั่ง โดยกรรมการจะเป็นผู้สั่งให้ปฏิบัติ ส่วนใหญ่จะให้เดินชิดในสายจูง และการเรียกสุนัขมาหา ทดสอบสภพจิตใจสุนัขและความสมบูรณ์ร่างกาย กรรมการจะเน้นในเรื่องความเต็มใจของสุนัขและระดับความแข็งแรง มากกว่าความถูกต้องและรายละเอียดอื่น ๆ ของการทำตามคำสั่ง
แหล่งที่มารูปภาพ : http://24kgsd.com/blog/wp-content/uploads/2012/09/Judge-Inspection-01.jpg
สรุป
ผลจากการฝึกเตรียมความพร้อมคุณจะสังเกตได้ว่าสุนัขสามารถทำงานได้หนักขึ้น และต่อเนื่องกันยาวนานขึ้น..., เมื่อถึงขั้นการเห่า เฝ้า และอารักขา สุนัขจะต้องใช้พลังเต็มที่มากขึ้นและแกร่งมากขึ้น, ต่อไปสุนัขจะทำขั้นตอนสะกดรอยระยะยาวได้ง่ายขึ้นมากด้วย อย่าพลาดผลพลอยได้เหล่านี้ ฝึกสุนัขต่อไปตามโปรแกรม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และป้องกันการบาดเจ็บเล็กน้อย ซึ่งอาจทำให้คุณต้องออกจากการแข่งขัน
การนำโปรแกรมการฝึกเตรียมความพร้อมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกสุนัขของคุณ จะทำให้สุนัขของคุณมีคุณสมบัติของนักกีฬาสุนัขใช้งานอย่างครบถ้วน ( Working dog Sports )
ประวัติผู้เขียน
ลอร่า ฮอลลี่ มีบทบาทในวงการกีฬาสุนัขมากกว่า 10 ปี เธอเป็นสมาชิกชมรมชุทซ์ฮุนด์ 3 ของสหรัฐอเมริกา พร้อมด้วยสุนัขเยอรมันเช็พเพอดของเธอ Dokken vom Mach-Zwinger, SchH3, FH, CD, TD และขณะนี้กำลังฝึกอีกตัว Erich vom Olympia, SchH2, KKL1 วิคตอเรีย แจนิกี้ มีบทบาทสำคัญในกีฬาสุนัขกว่า 10 ปีเช่นกัน โดยทั้งลอร่าและวิคกี้เป็นสมาชิก OG Boston Schutzhund Club ซึ่งสามารถติดต่อกับเธอได้ทางอีเมล : <a>reiher@iname.com</a>
โดยบทความนี้เคยลงใน Doggin’ It ( จดหมายข่าวรายไตรมาสของสมาคมชุทซ์ฮุนด์เขตนิวอิงแลนด์ สหรัฐอเมริกา ) ฉบับพ.ค./มิ.ย. 1996 ลิขสิทธิ์ 1996-2000 โดยวิคตอเรีย แจนนิกี้ และลอร่า ฮอลลี่
แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 47 ( ตุลาคม 2544 )
แหล่งที่มารูปภาพเพิ่มเติม : http://24kgsd.com/blog/2012/09/10/brady-and-the-ausdauerprufung/
อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/การเตรียมความพร้อมสำหรับการสอบความอดทน/523992207638213