Skip to main content

มาเล่นกีฬา Agility กันเถอะ

โดย…. นิคกี้
 
   สวัสดีครับ พี่ ป้า น้า อา ปู่ ย่า ตา ทวด ชาวเยอรมันเช็พเพอด เพื่อนร่วมสายพันธุ์ที่รักทั้งหลาย ผมส่งข่าวมาจากแดนไกลโน้น เพราะได้ยินว่า พวกเราที่อยู่เมืองไทยเริ่มจะสนใจอยากเล่นกีฬา Agility กันบ้างแล้ว เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง, จิตใจแจ่มใส, อารมณ์ดี, กระปรี้กระเปร่า คล่องแคล่วว่องไว (ไม่ง่วงเหงา เซาซึม เป็นหมาขี้เกียจ เหมือนคนบางคนที่เอาแต่กินแล้วก็นอน) ผมดีใจจริง ๆ ที่ทราบว่า พวกเราที่เมืองไทย ก็มีความสนใจที่จะพัฒนาขีดความสามารถของพวกเรา ที่มีอยู่อย่างมากมายนี้ ให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสายตาผู้คนทั่วไปเฉพาะเรื่องของความแข็งแรงปราดเปรียว คล่องแคล่วในการเคลื่อนไหวที่แสนจะสง่างาม

   กีฬา Agility คืออะไรกันล่ะ … เออ…ผมก็ไม่ทราบจะเรียกเป็นภาษาไทยว่าอย่างไร ถ้าแปลกันตรง ๆ มันก็หมายถึง ความคล่องแคล่ว รวดเร็วอะไรทำนองนั้นแหละ เอาเป็นว่าเราเรียกทับศัพท์กันไปก่อนละกันนะครับ

   Agility นี้ถือเป็นกีฬาที่สนุกที่สุด สำหรับพวกเราเช็พเพอดเกือบทั่วโลก ทั้งที่เยอรมันบ้านเกิดของพวกเราทั้งหลาย ที่อเมริกา (บ้านผมเอง) อังกฤษ ออสเตรเลีย และหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งจะมีการแข่งขันในระดับประเทศเป็นประจำกันทุกปี สำหรับการแข่งขันกันเองในระดับเมือง หรือระดับสโมสรนั้น แทบไม่ต้องถาม มีการแข่งกันเกือบทุกสัปดาห์ก็ว่าได้ ซึ่งก็เป็นเวลาที่พวกผมตั้งหน้าตั้งตารอคอยกันทุกตัวเชียวละ

   ก็ลองหลับตาวาดภาพดูซิครับ สนามเด็ก (หมา) เล่นขนาดใหญ่ ทั้งสนามมีแต่ของเล่นสนุก ๆ แบบว่า มีรั้วสารพัดแบบให้กระโดดข้ามเล่น มีกำแพงให้ปีน มีอุโมงค์ให้มุดเล่น มีสะพานให้เดินข้าม มีเสาดิ้นได้ให้วิ่งอ้อมไปอ้อมมา… โฮ้ย…สนุกอย่าบอกใครจริง ๆ เลย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำคัญที่สุดทำหรับพวกเรา ก็คือ ในกีฬานี้ เรามีโอกาสได้ทำกิจกรรมแสนสนุกร่วมกับพ่อหรือแม่ (ที่เป็นคน) ของเราด้วย ซึ่งพ่อหรือแม่ส่วนมากอยากจะทำกิจกรรมนี้มากกว่าเราเสียอีก เพราะอยากชนะและได้รางวัลน่ะซี แต่สำหรับพวกเรานั้นแค่ได้เล่นสนุกร่วมกับพ่อ ๆ แม่ ๆ พวกเราก็มีความสุขที่สุดแล้ว และยังเป็นการออกกำลังกายที่ดีมากอีกด้วย

   สำหรับผมเนี่ย แม่พาผมไปลงแข่งจนได้รางวัลมากมาย มีประกาศนียบัตรให้ด้วยนะ มีตำแหน่งสำหรับเรียกต่อท้ายชื่อผม ยาวเหยียดกว่าชื่อจริงของผมเสียอีก แม่ก็ยิ้มหน้าบานเป็นจานเชิงทุกทีที่ผมได้รางวัล ซึ่งความจริงแล้วผมว่ามันไม่ใช่รางวัลสำหรับผมสักหน่อย อย่างพวกถ้วยเงิน หรือโบว์หรือโล่ห์อะไรเทือกนั้นน่ะ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแม่กับพ่อเค้าจะอยากได้กันไปทำไมนักหนาเห็นเอามาตั้งไว้เฉย ๆ เต็มบ้านเต็มช่องไม่เห็นเคยเอามาใช้ทำอะไร นาน ๆ ครั้ง ถึงจะมีรางวัลที่ให้สำหรับผมจริง ๆ อย่างเช่น อาหาร หรือของขบเคี้ยวแก้คันฟันสักทีหนึ่ง แต่ผมก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไรนักหรอก ก็อย่างที่บอกน่ะแหละ แค่ได้มาวิ่งเล่นสนุกกับแม่หรือพ่อ (ที่เป็นคน) ของผม ผมก็มีความสุขที่สุดในโลกแล้ว

   แต่กว่าที่ผมกับแม่จะลงแข่งได้รางวัลมากมายขนาดนี้ ก็ต้องฝึกหัดนัดแนะกันมาอย่างดีก่อนนะครับ ว่าจะต้องเล่นอะไร อันไหนก่อน อันไหนเป็นอันต่อไป ตามลำดับให้ถูกต้องตามกฎเกณฑ์ที่เขากำหนดมาให้ ไม่ใช่นึกอยากเล่นอะไรก็เล่นไปสุ่มสี่สุ่มห้า ชอบอันไหนก็เล่นมันอยู่อย่างเดียว ไม่มีกำหนดกฎเกณฑ์ อย่างนั้นเขาไม่เรียกกีฬาครับ

   เรื่องของกฎเกณฑ์ ในกีฬาประเภทนี้ก็เป็นเรื่องละเอียดละออ ซับซ้อนยืดยาวพอสมควร (ซึ่งจะกล่าวถึงในตอนต่อไป) ก็เพราะมีอุปกรณ์การเล่นหลายอย่าง แต่ละอย่างก็มีกำหนดมาตรฐานขนาดความกว้างยาวสูง และรูปร่างลักษณะของอุปกรณ์ไว้โดยละเอียด ในแต่ละอุปกรณ์ก็มีขนาดมาตรฐานแตกต่างกันไปอีกตามขนาดความสูงของนักกีฬา (หมา) (วัดจากพื้นถึงไหล่บน) แบ่งเป็น 4 ขนาด คือ

  • สูงสุด 12 นิ้ว
  • สูงสุด 16 นิ้ว
  • สูงสุด 21 นิ้ว
  • รุ่นใหญ่ที่มีความสูงเกิน 21 นิ้ว ขึ้นไป ซึ่งเชพเพอดเราก็จะใช้อุปกรณ์ขนาดมาตรฐานที่กำหนดไว้สำหรับรุ่นใหญ่นี้ (บางครั้งจะมีการซอยรุ่นไปอีกในรุ่นนี้)

   กีฬา Agility แบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ “Standard” และ “Nonstandard”

  1. Standard Agility หรือ Standard Performance หมายถึงรุ่นที่เป็นมาตรฐานการแข่งขัน Agility เบื้องต้นทั่ว ๆ ไป โดยใช้อุปกรณ์พื้นฐานตามที่กรรมการกำหนด ส่วนการให้คะแนนก็จะเป็นไปตามวิธีการให้คะแนนมาตรฐาน (Standard Scoring Method) แต่อาจมีการเลือกให้คะแนนแบบ “เร็วและถูกต้อง” (คือมี เวลา ร่วมเป็นตัวหลักในการคิดคะแนน นอกเหนือไปจากความถูกต้อง)
  2. Nonstandard คือรุ่นอื่น ๆ นอกจากรุ่น Standard ที่กล่าวข้างต้น ซึ่งจะมีแบ่งแยกออกไปอีกหลายประเภท (จะกล่าวถึงในภายหลัง)

   ตอนนี้เรามาคุยกันเฉพาะ Standard Agility กันก่อนดีกว่านะครับ

อุปกรณ์พื้นฐาน สำหรับ Standard Agility มีดังนี้ :-

  1. เครื่องกีดขวางแบบสัมผัส (Contact Obstacles) มี 3 อย่างคือ
  2. เครื่องกีดขวางแบบกระโดดข้าม (Hurdles) เป็นรั้วกระโดดแบบมีเสายึด 2 ข้างแผ่ออกไปเหมือนปีกมี 3 อย่าง
  3. โต๊ะพัก (Pause Table) 1 ตัว สำหรับเอาไว้ให้ผมนั่งหรือหมอบหยุดพัก หอบแฮ่ก ๆ ระหว่างเล่นอุปกรณ์ต่าง ๆ

    แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.germanshepherds.com/forum/agility/150564-pause-table.html
  4. อุโมงค์ (Tunnels) มี 2 อย่าง
    • อุโมงค์เปิด (Pipe tunnel)

      แหล่งที่มารูปภาพ : http://vimeo.com/5645930
    • อุโมงค์ปิด (Collapsible tunnel) เป็นอุโมงค์ผ้าที่ปากอุโมงค์ทางเข้าปิดเป็นท่อไว้

      แหล่งที่มารูปภาพ : http://en.wikipedia.org/wiki/Dog_agility
  5. วงล้อยาง (Tire jump) เอาไว้กระโดดลอด

    แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.totana-at-piperhill.com/
  6. เสาวน หรือเสาอ้อม หรือเสาซิกแซ็ก (Weave Poles) มี 6-12 เสา เอาไว้วิ่งอ้อมไปอ้อมมา

    แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.igre123.com/forum/tema/agility-tom-model/44895/7



แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.fci.be/medias/AGI-REG-en-479.pdf

   พอมีอุปกรณ์ครบแล้วก็ต้องมีสนาม ต้องเป็นสนามที่มีพื้นเรียบจริง ๆ เช่นพื้นในโรงยิม ฯ ที่ปูพรมทับ หากเป็นสนามกลางแจ้ง ต้องปรับดินให้เรียบและอัดในแน่นจริง ๆ อย่าให้เป็นหลุมเป็นบ่อ ไม่งั้นพอพวกผมโดดหรือวิ่งเร็ว ๆ อาจสะดุดหกล้ม ( สี่ขายังรู้พลาดน่า…….. ) ขนาดของสนามโดยทั่วไปก็น่าจะอยู่ประมาณ 20 x 30 เมตร แต่ผังการตั้งเครื่องกีดขวางของแต่ละสนาม เท่าที่ผมเคยเจอมานะ ผมว่ามันไม่เหมือนกันเปี๊ยบไปเสียทุกแห่งหรอก นอกจากนี้ ก็ยังขึ้นกับประเภทของการแข่งขันด้วยแหละ……. ผมว่า เพราะแต่ละประเภทก็มีกฎเกณฑ์การให้คะแนนต่าง ๆ กันไป ซึ่งสลับซับซ้อน ยุ่งยากเกินสมองหมาอย่างผม จะจดจำมาเล่าต่อได้หวาดไหว


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.colliewobblesagility.org.uk/about.php


แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.dogforums.com/dog-sports-show-forum/81904-agility-course-map-analysis.html

   เนี่ย………เล่ามาแค่นี้ ซักเริ่มมึน…..ขอลาไปนอนพักผ่อนผึ่งพุงก่อนละครับ คราวหน้าจะมาเล่า เรื่องสนามกันต่อ หวัดดีครับ………….นิคกี้

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 49 (ธันวาคม 2545)

ภาพและคลิปบรรยากาศการแข่ง Dog Agility ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดในประเทศไทย
สุนัขชื่อ Flay ของคุณ Vipada Kris http://www.facebook.com/groups/208210115884469/permalink/546057912099686/
สุนัขชื่อ Doro ของคุณ Vipada Kris http://www.facebook.com/media/set/?set=a.528470137186622.131100.100000709226859&type=1
สุนัขชื่อ จังก้า ของคุณอภิษฐา อยู่พร้อม คว้ารางวัลที่ 1 มาแล้วหลายสนาม ล่าสุดได้รับรางวัลที่ 1 ในการแข่งขัน Dog Agility รุ่นมือสมัครเล่น (ใส่สายจูงได้) ขนาดไซด์ L ในงาน Thailand International Dog Show 2013 เมื่อวันเสาร์ที่ 29 มิ.ย. 2556 http://www.facebook.com/photo.php?v=10152961668105246

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม :

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/มาเล่นกีฬา-Agility-กันเถอะ/515254975178603