ข้อมูลสรุปของโรคข้อสะโพกวิการ (Hip Dysplasia)

โรคข้อสะโพกวิการ (Hip Dysplasia) คืออะไร

   ข้อสะโพกอยู่ที่บริเวณขาหลังมีลักษณะกลมอยู่ในเบ้ากระดูกอีกชั้นหนึ่ง ส่วนที่มีลักษณะกลมนี้คือ ส่วนหัวของกระดูกโคนขาในขณะที่ เบ้าที่ครอบนั้นเป็นส่วนของกระดูกเชิงกราน โดยทั่วไปแล้ว กระดูกกลมนี้จะหมุนได้อย่างเป็นอิสระ ภายในเบ้ากระดูก โดยมีเอ็นเข้ามายึดกับข้อกระดูกเหล่านี้อีกที เพื่อความแข็งแรง บริเวณที่กระดูกทั้งสองส่วนมาสัมผัสกันเราเรียกว่า Articular surface ซึ่งจะมีลักษณะที่เรียบและถูกห่อหุ้มไว้ด้วยเนื้อเยื่อนุ่มๆ ในสุนัขทั่วไปส่วนต่างๆเหล่านี้จะทำงานร่วมกันเพื่อการเคลื่อนไหวที่ดีและราบเรียบ

โรคข้อสะโพกวิการ (Hip Dysplasia หรือเรียกสั้น ๆ ว่า hip) เป็นผลมาจากความผิดปกติของข้อสะโพกในสุนัขวัยเด็ก ซึ่งอาจเป็นกับขาข้างเดียวหรือทั้งสองขาก็ได้ โดยส่วนใหญ่แล้วลูกสุนัขเกิดมาจะมีข้อสะโพกที่เป็นปกติ แต่เนื่องจากพันธุกรรม และจากสาเหตุอื่นๆ ทำให้เนื้อเยื่อที่หุ้มข้อต่อเหล่านี้ผิดปกติไป เมื่อลูกสุนัขเริ่มโตขึ้น ที่สำคัญที่สุดคือ กระดูกไม่กลับเข้าที่ เมื่อมีการเคลื่อนไหว ทำให้บริเวณ Articular surface ไม่เกิดการสัมผัสกันของกระดูกทั้งสอง ซึ่งเรียกลักษณะนี้ว่า Subluxation และนี่คือสาเหตุทั้งหมดของโรคนี้

อาการของโรคข้อสะโพกวิการ

  สุนัขทุกอายุ เมื่อเป็นโรคนี้ จะสามารถเห็นอาการที่แสดงออกมา ในกรณีที่อาการรุนแรง ลูกสุนัขที่อายุ 5 เดือนจะเริ่มแสดงอาการปวด หรือมีอาการไม่ดี ในขณะออกกำลังกาย หรือหลังจากนั้น และอาการจะยิ่งแย่ขึ้นเรื่อยๆจนไม่สามารถที่จะเดินได้ อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่จะยังไม่มีอาการ จนสุนัขอายุ 1 ปีขึ้นไปแล้ว

  อาการที่พบเห็นได้บ่อยคือ สุนัขเดินหรือวิ่งแบบกระเผลก พยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังจากขาหลัง หรือมีการวิ่งแบบกระโดด ( สองขา ) คล้ายกระต่าย สุนัขจะค่อยลดกิจกรรมในแต่ละวันลง โดยจะนอนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจะยิ่งทำให้กล้ามเนื้อขาลีบ จนถึงต้องการความช่วยเหลือในเวลาจะลุกยืน เจ้าของสุนัขส่วนใหญ่ มักจะคิดว่าเกิดจากการที่สุนัขมีอายุมากขึ้น แต่ถ้าได้มีการรักษาสุนัขจะมีอาการที่ดีขึ้นกว่าเดิมมาก

สุนัขที่มีโอกาสเป็นโรคข้อสะโพก

  โรคนี้สามารถพบได้ทั้งใน สุนัข แมว และคน สำหรับสุนัขจะพบในพันธุ์ใหญ่เป็นส่วนใหญ่ และอาจเกิดขึ้นกับสุนัขขนาดกลาง ส่วนสุนัขพันธุ์เล็กมักจะไม่ค่อยพบ และโดยส่วนใหญ่ยังพบในสุนัขพันธุ์แท้มากกว่าพันธุ์ผสม สุนัขที่พบว่าเป็นโรคนี้กันเยอะได้แก่ เยอรมันเช็พเพอด ลาบราดอร์ ร็อตไวเลอร์ เกรดเดน โกลเด้นส์ และเซนต์เบอร์นาด ส่วนสุนัขพันธุ์ เกรย์ฮาว และโบซอยส์ แทบจะไม่เป็นโรคนี้เลย ยังมีสุนัขอีกหลายพันธุ์ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงไว้

อะไรคือ ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดโรคนี้ 

  • พันธุกรรม มีส่วนสำคัญกับโรคนี้ ถ้าพ่อแม่พันธุ์เป็นโรคนี้อยู่ ลูกสุนัขจะมีโอกาสสูงมากที่จะเป็น นักวิจัยบางคนคิดว่า พันธุกรรมมีส่วนแค่ 25 % ความจริงในเรื่องนี้ยังค่อนข้างคลุมเคลือ แต่ถ้าไม่มีพาหะของโรคสุนัขก็จะไม่เป็นโรคนี้ เราสามารถลดความเสี่ยงได้  โดยการพิจารณาการผสมพันธุ์ แต่ยังไรก็ตามไม่สามารถลดได้ 100 % เพราะลูกสุนัขที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ที่เป็นโรค จะไม่เป็นโรคนี้ครบทุกตัวในครอก  แต่จะมีสุนัขบางตัวจากครอกนี้ เป็นพาหะต่อไปยังการผสมครั้งอื่นๆ
  • โภชนาการ เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยงของโรคนี้ นั่นก็คือ ความอ้วนผิดปกติ เพราะจะทำให้ข้อสะโพกทำงานหนักขึ้น ถือเป็นความเสี่ยงที่สูงมากในการเกิดโรค ยังมีการศึกษาถึง ระดับโปรตีนและแคลเซียม ถึงความสัมพันธ์ต่อโรคข้อสะโพก โดยพบว่าโอกาสในการเกิดโรคจะสูงขึ้น ถ้ามีปริมาณโปรตีน และแคลเซียมที่มาก แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบระหว่างอาหารสุนัขที่มี โปรตีน ไขมัน และแคลเซียมมาก กับอาหารที่มีสารอาหารเหล่านี้อยู่น้อย รวมถึงอาหารสำหรับลูกสุนัขทั่วไปกับอาหารสำหรับลูกสุนัขพันธุ์ใหญ่เท่านั้น
  • การออกกำลังกาย เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง โดยพบว่าสุนัขที่มีการออกกำลังกายหักโหม มากเกินไปมักจะเป็นโรคนี้ แต่ในทางกลับกันพบว่าสุนัขที่มีกล้ามเนื้อสมบูรณ์จะไม่ค่อยเป็นดังนั้น การออกกำลังกายให้พอเหมาะ เพื่อให้เกิดกล้ามเนื้อ เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ หรือการว่ายน้ำ เป็นการออกกำลังกายที่เหมาะสมที่สุด ส่วนการออกกำลังกาย ที่มีผลกระทบกระเทือนต่อกระดูกข้อต่อต่างๆนั้น ควรจะหลีกเลี่ยง เช่น การกระโดด หรือการเล่น frisbee เป็นต้น

โรคข้อสะโพกสามารถรักษาโดยการผ่าตัดได้หรือไม่

   ในปัจจุบันมีการผ่าตัดรักษาอยู่หลายวิธีขึ้นอยู่กับอายุสุนัขและความรุนแรงของโรคดังนี้

  1. Triple Pelvic Osteotomy ( TPO ) เป็นการรักษาสำหรับสุนัขที่มีอายุน้อยกว่า 10 เดือน และข้อต่อยังไม่ถูกทำลายไปมาก
  2. Total Hip Replacement วิธีนี้เป็นวิธีรักษาที่ดีที่สุดซึ่งสุนัขที่จะรักษาได้ต้องมีการพัฒนาของกระดูกที่สมบูรณ์แล้วและสุนัขต้องมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 20 ปอนด์ โดยต้องใช้เวลารักษาและพักฟื้นนานถึง 3 เดือน ค่าใช้จ่ายในการรักษาแพงมากแต่ใด้ผลการรักษาที่ดีมาก
  3. Femoral Head and Neck Excision เป็นการรักษาสุนัขที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีที่ 2 ได้ เพื่อผลที่ดีที่สุดสุนัขไม่ควรมีน้ำหนักเกิน 45 ปอนด์ แต่อย่างไรก็ตามสุนัขพันธุ์ใหญ่ก็อาจรักษาด้วยวิธีการนี้
  4. Junenile Pubic Symphysiodesis เป็นวิธีการรักษาใหม่ ใช้รักษาสุนัขที่มีอายุไม่เกิน 20 สัปดาห์
  5. Pectineal Myectomy ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยมเพราะมีโอกาสที่สุนัขจะกลับมาเป็นโรคนี้ใหม่

โรคข้อสะโพกสามารถรักษาโดยการใช้ยาได้หรือไม่

   ในช่วงหลายปีมานี้ได้มีการพัฒนาตัวยาสำหรับโรคข้อสะโพกขึ้นมามาก แต่สาเหตุของโรคนี้เกิดจากพันธุกรรมเป็นหลักไม่มีตัวยาใดป้องกันการเกิดโรคนี้ได้ การออกกำลังกายที่เหมาะสม การโภชนาการที่ดี อาหารเสริมต่างๆ หรือยาบรรเทาอาการปวด อาจช่วยแค่ยืดเวลาของการเกิดโรคเท่านั้น ความนิยมในการนำยามารักษาเพียงเพราะว่าค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดมีราคาสูงมาก เจ้าของจึงมักเลือกวิธีนี้ 

   สัตว์แพทย์ส่วนใหญ่จะแนะนำวิธีต่างๆ ข้างล่างนี้ควบคู่ไปกับการใช้ยา เพื่อลดอาการปวดและไม่เพิ่มความรุนแรงของโรค

  1. การควบคุมน้ำหนัก ควรควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ที่หมอแนะนำ
  2. การออกกำลังกาย จะช่วยสร้างกล้ามเนื้อและจำกัดการเสื่อมของข้อกระดูกได้ดี การเดิน การว่ายน้ำ การจ๊อกกิ้งเป็นวิธีการที่ดี แต่ควรจะขึ้นอยู่กับอาการของสุนัขแต่ละตัว จำไว้ว่าควรออกกำลังกายทุกวัน การออกกำลังกายเพียงอาทิตย์ละหน อาจจะเป็นอันตรายมากกว่าดี ควรปรึกษาหมอสำหรับรูปแบบการออกกำลังกายของสุนัขคุณ
  3. ควรจัดเตรียมที่นอนที่ดีและอบอุ่น อากาศเย็นจะทำให้สุนัขมีอาการที่แย่ลง ควรทำให้สุนัขอบอุ่น เช่น สวมเสื้อให้ หรือ ปรับอุณหภูมิในบ้านให้อบอุ่น ควรจัดหาฟูกนอนที่ดีเพื่อลดแรงกดที่มีต่อข้อกระดูกและยังช่วยให้สุนัขลุกขึ้นได้ง่าย
  4. การนวดและการบำบัดทางกายภาพ คุณหมอสามารถสอนการบำบัดและการนวดเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดให้คุณได้ จำไว้ว่าสุนัขของคุณกำลังปวด ควรเริ่มนวดอย่างช้าๆนิ่มนวล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับสุนัขของคุณ
  5. ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆในแต่ละวัน เช่น สุนัขพันธุ์ใหญ่ควรหาแท่นวางชามข้าว ชามน้ำให้มีความสูงที่เหมาะสมเพื่อสุนัขไม่ต้องก้มลงไปกิน
  6. การให้อาหารเสริมต่างๆ ปรึกษาคุณหมอถึงอาหารเสริมในการรักษา

ป้องกันโรคข้อสะโพกได้อย่างไร

  มีอยู่สิ่งหนึ่งที่นักวิจัยลงความเห็นร่วมกัน นั่นคือ การเลือกหรือการพิจารณาการผสมพันธุ์ที่ดี ยังมีอีกหลายข้อมูลที่ยังรอการศึกษาในอนาคต แต่ในขณะนี้เราต้องยึดกับสิ่งที่เรารู้และมั่นใจนั่น คือ การเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มีข้อสะโพกที่ดีในการผสมพันธุ์ ถึงแม้จะไม่สามารถรับประกันได้ 100 % แต่ก็ลดความเสี่ยงลงไปได้มาก 

รวมถึงผู้ที่กำลังเลือกซื้อลูกสุนัขต้องมีการพิจารณาถึงพ่อแม่พันธุ์ด้วย

**อ้างอิงข้อมูลจาก Pet education.com

 

แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.thaigsdclub.org/gsdboard/index.php?topic=1224.0

ขอบคุณผู้เอื้อเฟื้อข้อมูล : คุณวิภาดา

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ข้อมูลสรุปของโรคข้อสะโพกวิการ-Hip-Dysplasia-/518938384810262