สุนัขใช้งานสากล (IGP) คืออะไร

“สุนัขใช้งานสากล”  หรือ IGP คืออะไร ?

สุนัขใช้งานสากล หรือ IGP เป็นการทดสอบความสามารถในการทำงานของสุนัข เพื่อประเมินคุณสมบัติของสุนัขที่เหมาะสมสำหรับนำไปทำงาน ได้แก่ แรงขับจากภายใน (Triebveranlangung) ความมั่นคงในตัวเอง (Selbstsicherheit) และความอดทนต่อการกดดัน (Belastbarkeit) เรียกรวมกันว่า TSB

นอกจากนี้ สุนัขใช้งานสากล หรือ IGP เป็นกีฬาสุนัขที่สนุก ตื่นเต้น เพราะเจ้าของสุนัขและสุนัขได้ใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกัน สร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้น ส่งเสริมการทำงานร่วมกันเป็นทีม เหมาะสำหรับคนทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ


ที่มาของสุนัขใช้งานสากล หรือ IGP

“สุนัขใช้งานสากล” หรือ IGP ย่อมาจาก Internationale Gebrauchshunde Prüfungsordnung (ภาษาเยอรมัน)
หรือ International Utility Dogs Regulations (ภาษาอังกฤษ)
โดยก่อนปี 2019 จะเรียกว่า IPO ซึ่งย่อมาจาก Internationale Prüfungsordnung (ภาษาเยอรมัน) หรือ International Trial Rules (ภาษาอังกฤษ) ส่วนใหญ่นั้นจะรู้จักกันดีในชื่อเดิมว่า “สุนัขอารักขา” หรือ “ชุทซ์ฮุนด์” มาจากคำว่า Schutzhund (ภาษาเยอรมัน) หรือ Protection Dog (ภาษาอังกฤษ)

การทดสอบจัดขึ้นครั้งแรกในประเทศเยอรมนี ปี 1901 โดย Verein für Deutsche Schäferhunde (SV) e.V.​ หรือ "สมาคมสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศเยอรมนี" เพื่อทดสอบจิตประสาท (Temperament) และคัดเลือกคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับทำงานของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด

ต่อมาองค์กรของสุนัขพันธุ์อื่น ๆ และประเทศต่าง ๆ ได้นำการทดสอบนี้ไปใช้ จึงได้กำหนดกติกาสากล โดย Verein für Deutsche Hundesport (VDH) หรือ "สมาคมกีฬาสุนัขแห่งประเทศเยอรมนี" ซึ่งขึ้นกับ Fédération Cynologique Internationale (FCI) และกลายเป็นกีฬาสุนัขที่แพร่หลายไปทั่วโลก


การทดสอบสุนัขใช้งานสากล (IGP) แบ่งออกเป็น 3 ตอน ได้แก่

  • ตอน ก (A) : สะกดรอย (Tracking) 100 คะแนน
  • ตอน ข (B) : เชื่อฟังคำสั่ง (Obedience) 100 คะแนน
  • ตอน ค (C) : ต่อสู้ป้องกัน (Protection) 100 คะแนน

รวมทั้งหมด 300 คะแนน สุนัขที่ผ่านการทดสอบ คะแนนรวมต้องอยู่ในเกณฑ์ผ่าน คือ ไม่น้อยกว่า 210 คะแนนขึ้นไป และคะแนนของทุกตอนต้องอยู่ในเกณฑ์ผ่าน


ตอน ก (A) : สะกดรอย (Tracking)

เป็นการทดสอบความสามารถในการใช้จมูกดมกลิ่นตามรอยเท้าของคน สุนัขจะอยู่ในสายจูงยาว 10 เมตร โดยมีผู้ควบคุมสุนัข (Dog Handler) เดินตามหลัง เมื่อสุนัขพบสิ่งของที่อยู่ในระหว่างทาง ปกติจะให้สุนัขแจ้งเตือนโดยการหมอบ (สิ่งของอยู่ระหว่างขาหน้าของสุนัข)
คะแนนที่ได้จะประเมินจากความมุ่งมั่นตั้งใจดมกลิ่นอยู่ในรอยเท้าตลอดทาง และจำนวนสิ่งของที่พบครบทุกชิ้นตามกติกากำหนด
คะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ผ่านคือ ไม่น้อยกว่า 70 คะแนนขึ้นไป

ตัวอย่างการแข่งขันในไทย

https://www.facebook.com/GSDAThailand/videos/493237631168049/?v=493237631168049


ตอน ข (B) : เชื่อฟังคำสั่ง (Obedience)

เป็นการทดสอบความสามารถในการทำตามคำสั่ง ในแต่ละแบบฝึกหัดต่าง ๆ เช่น

  • การเดินชิดนอกสายจูง (Off-leash Heeling) โดยระหว่างเดินจะยิงปืน เพื่อทดสอบจิตประสาท สุนัขต้องไม่มีการตอบสนองต่อเสียงปืน และสุนัขต้องเดินผ่านกลุ่มคนได้
  • คำสั่ง “นั่ง” “หมอบ” “ยืน” “เรียกกลับมา” “วิ่งไปข้างหน้า”
  • การคาบ “ดัมเบล” (Dumbbell) บนพื้นราบ กระโดดข้ามรั้ว และปีนข้ามกำแพง
  • “หมอบคอย” ระหว่างที่สุนัขอีกตัวกำลังทำการทดสอบ

คะแนนที่ได้จะประเมินจากความถูกต้องแม่นยำ ความมุ่งมั่นตั้งใจและเต็มใจ ความรวดเร็วในการทำตามคำสั่ง
คะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ผ่านคือ ไม่น้อยกว่า 70 คะแนนขึ้นไป


ตอน ค (C) : ต่อสู้ป้องกัน (Protection)

เป็นการทดสอบความกล้าหาญของสุนัข แบ่งออกเป็นแต่ละแบบฝึกหัด เช่น

  • ค้นหาผู้ล่อกัด (Search for the helper) ซึ่งจะซ่อนอยู่ในซุ้ม (Blind) สุดท้าย
  • เห่าและเฝ้าคุม (Bark and Hold) เมื่อสุนัขเจอผู้ล่อกัด จะต้องเห่าแจ้งเตือนอย่างมั่นใจ ข่มขวัญ ต่อเนื่องจนกว่าจะมีคำสั่งต่อไป
  • ยับยั้งผู้ล่อกัดเมื่อหลบหนี (Preventing and escape by the helper) เมื่อผู้ล่อกัดเริ่มวิ่งหนี สุนัขที่หมอบรออยู่จะต้องวิ่งตามไปกัด เพื่อยับยั้งไม่ให้หนีภายในระยะ 20 ก้าว และเมื่อผู้ล่อหยุดแล้ว สุนัขต้องปล่อยปลอกแขนทันที (อาจใช้คำสั่ง “ปล่อย” ในเวลาที่เหมาะสม)
  • ป้องกันการโจมตีขณะเฝ้า (Defense of an attack during the guarding phase) เมื่อผู้ล่อกัดโจมตีสุนัข ด้วยการยกไม้ข่มขู่สุนัข สุนัขจะต้องป้องกันตัวโดยกัดทันที และผู้ล่อกัดจะกดดันสุนัขโดยการใช้ไม้ตีที่บริเวณไหล่ของสุนัข 2 ครั้ง สุนัขจะต้องกัดอย่างมีพลังและต่อเนื่องตลอดจนกว่าผู้ล่อกัดจะหยุด
  • โจมตีสุนัขขณะเคลื่อนที่จากระยะไกล (Attack on the dog out of motion) สุนัขจากริมสนาม วิ่งอย่างรวดเร็ว และไม่ลังเลที่จะกัดผู้ล่อกัดที่ยั่วยุอยู่กลางสนาม หลังจากปล่อยแล้ว ผู้ล่อกัดจะถูกยึดไม้และคุมตัวมาส่งกรรมการตัดสิน

คะแนนที่ได้จะประเมินจากความกล้าหาญในการต่อสู้เพื่อปกป้องตัวสุนัขเองและผู้ควบคุมสุนัข โดยในการกัดทุกครั้ง สุนัขต้องกัดที่ปลอกแขน (Bite Sleeve) เท่านั้น กัดแน่นเต็มปาก มีพลัง มั่นคงจนกว่าผู้ล่อกัดหยุดเคลื่อนไหวหรือมีคำสั่งปล่อย และประเมินความสามารถของสุนัขในการควบคุมตัวเองให้ทำตามคำสั่งได้ แม้อยู่ในระหว่างที่มีแรงขับในการต่อสู้ในระดับ
คะแนนที่อยู่ในเกณฑ์ผ่านคือ ไม่น้อยกว่า 70 คะแนนขึ้นไป

ตัวอย่างการแข่งขันในไทย

http://www.facebook.com/GSDAThailand/videos/1799098420198847/?v=1799098420198847


สุนัขใช้งานสากล (IGP) มี 3 ขั้น แต่ละขั้นจะมีรายละเอียดในการทดสอบแต่ละตอนแตกต่างกัน โดยขั้น 1 เป็นขั้นแรก เมื่อสอบผ่านแล้ว จึงจะสามารถสอบในขั้น 2 และขั้น 3 ตามลำดับต่อไป