โครงสร้างโดยรวม (The Complete Package)

   ในฉบับก่อนเราพูดกันถึง ลักษณะของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด โดยแบ่งตามโครงสร้างของร่างกาย ในฉบับนี้เราจะพูดถึงลักษณะโครงสร้างโดยรวมทั้งตัวของสุนัขพันธุ์นี้ที่เป็นมาตรฐานสวยงามและเป็นที่ยอมรับกัน แท้จริงแล้วการที่จะดูว่าลักษณะใดลักษณะหนึ่งว่าแบบไหนสวยงามกว่ากันนั้นไม่ใช่เป็นสิ่งที่ยาก แต่จะพบว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่จะตัดสินความสวยงามของสุนัขแต่ละตัว โดยจะต้องดูและเปรียบเทียบลักษณะโดยรวมทั้งหมดของสุนัขนั้นทั้งตัว

รูปร่างลักษณะที่จัดเป็นมาตรฐานของพันธุ์

   ก่อนอื่นคงต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า ลักษณะของสุนัขในอุดมคติหรือลักษณะที่เป็นมาตรฐานนั้นเป็นอย่างไร โดยทั่วไปเมื่อพูดถึงลักษณะที่เป็นมาตรฐานมักจะเข้าใจกันว่าเป็นลักษณะเดียว ที่ถือกันว่าถูกต้อง ลักษณะอื่นๆที่แตกต่างไปจากนี้จะถือเป็นลักษณะที่ไม่ถูกต้องและไม่ใช่ลักษณะมาตรฐาน (ซึ่งคำว่าถูกต้องในที่นี้คือ ลักษณะที่เป็นที่นิยมและยอมรับกันของคนกลุ่มหนึ่ง ๆ) ที่จริงแล้วคำว่ามาตรฐาน เป็นภาษาเขียนที่จัดเป็นนามธรรมที่มีความหมายกว้างๆ ถึงลักษณะของสุนัขแบบใด ๆ ที่เราคิดกันว่าเป็นลักษณะที่ถูกต้อง ไม่ใช่หมายถึงเป็นรูปธรรมที่แสดงออกเป็นรูปภาพของลักษณะสุนัขแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดจัดเป็นสุนัขสายพันธุ์ที่มีความหลากหลายทางพันธุกรรมพันธุ์หนึ่ง ซึ่งนับว่าเป็นข้อดี และการที่จะคัดเลือกสายพันธุ์ให้ได้สุนัขที่สมบูรณ์เพียบพร้อมที่สุดนั้นไม่มีทางเป็นไปได้ มีก็แต่ได้ลักษณะของสุนัขที่ใกล้เคียงมากที่สุดกับลักษณะในอุดมคติ และมีข้อบกพร่องน้อยที่สุด ถ้ามีสุนัขกลุ่มหนึ่งที่มีความแข็งแรง และจุดบกพร่องของลักษณะเป็นแบบเดียวกันทั้งกลุ่ม การแก้ไขจุดบกพร่องเหล่านี้จะทำยากขึ้นยิ่ง ถ้าสุนัขกลุ่มนี้เพิ่มจำนวนประชากรของสุนัขที่มีความแข็งแรงและจุดบกพร่องต่างไปจากเริ่มแรก 

   สุนัขจากแหล่งเพาะพันธุ์หนึ่งที่มีลักษณะประจำพันธุ์ค่อนข้างคงที่ แสดงให้เห็นว่า ลักษณะดังกล่าวเป็นที่ชื่นชอบของผู้เพาะเลี้ยงนั้นๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่อยู่ในมาตรฐานที่ยอมรับกันได้ และถ้ามีกลุ่มผู้เลี้ยงสุนัขหลายคนที่ชอบลักษณะของสุนัขแบบเดียวกัน อาจจะแปลความหมายได้ว่า ลักษณะดังกล่าวดูจะเป็นที่ชื่นชอบและยอมรับในคนหมู่มาก ซึ่งในที่สุดก็จะสามารถกำหนดเป็นลักษณะที่เป็นมาตรฐานได้ ในขณะที่ลักษณะที่มีผู้คนชื่นชอบหรือยอมรับน้อย ก็อาจจะไม่ได้เป็นที่นิยมและไม่สามารถนับเนื่องเป็นลักษณะมาตรฐานได้หรือถูกมองว่าเป็นลักษณะที่ไม่สวยงาม ตัวอย่างเช่น ถ้าความนิยมในช่วงหนึ่งๆที่นิยมให้สุนัขที่สวยงามต้องมีโครงสร้างที่เป็นเหลี่ยมมุมทางส่วนท้ายมากๆ สุนัขตัวอื่นๆ ที่ไม่มีลักษณะดังกล่าวก็จะถือว่าไม่สวยงาม ไม่มีลักษณะที่ดีและถูกมองข้ามไป และที่ร้ายไปกว่านั้นก็คือถ้าลักษณะใดลักษณะหนึ่งถูกยอมรับว่าเป็นลักษณะที่สวยงาม ในช่วงเวลานั้นเป็นแฟชั่น ก็จะทำให้สุนัขอื่นที่ไม่ได้มีลักษณะดังกล่าวตกรอบไป ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วมีลักษณะที่ดีของส่วนอื่นๆ อยู่ด้วย สุนัขที่มาจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่มีลักษณะภายนอกหลากหลายแต่ยังคงลักษณะเด่นของความแข็งแรงของสะโพกและข้อศอก และใช้งานได้ดี อาจจะไม่ได้รับการยอมรับเท่ากับสุนัขที่มีลักษณะมองดูเผินๆ แล้วสวยงามแต่ไม่มีจุดเด่นตรงส่วนไหนเลยก็ได้

   ผู้เขียนจะไม่แสดงให้เห็นถึงลักษณะของสุนัขในอุดมคติ ทั้งนี้ เพราะอาจจะทำให้ผู้อ่านคิดว่าลักษณะดังกล่าวเป็นเพียงแค่ลักษณะโปรดของผู้เขียนเท่านั้น แต่แท้จริงแล้วอาจจะไม่ใช่ลักษณะที่สวยงามที่สุด ดังนั้นผู้เขียนจึงขอเสนอลักษณะทางกายภาพของสุนัขลักษณะต่าง ๆ 2-3 แบบที่ยอมรับกันว่าเป็นลักษณะที่ถูกต้องของสุนัขพันธุ์นี้ ดังแสดงในรูปที่ 1-7 สุนัขลักษณะดังกล่าวจัดเป็นลักษณะประจำสายพันธุ์ที่มีกำเนิดและพัฒนาจากแหล่งต่างกัน และยากที่บอกความแตกต่างของสุนัขแต่ละสายพันธุ์ได้อย่างเด่นชัด สุนัขในรูปที่ 1-7 ได้แก่


รูปที่ 1 สุนัขสายพันธุ์ v-rated west German showline dog


รูปที่ 2 สุนัขสายพันธุ์ v-rated east German dog


รูปที่ 3 สุนัขสายพันธุ์ multi CC winning English champion


รูปที่ 4 สุนัขสายพันธุ์ early American-bred Grand victor


รูปที่ 5 สุนัขสายพันธุ์ multi-Select Canadian champion


รูปที่ 6 สุนัขสายพันธุ์ V-rated west German working-bred Dog


รูปที่ 7 สุนัขสายพันธุ์ V-rated Czech Dog

ขนาดของสุนัข

   ไม่ว่าจะเป็นสุนัขชนิดใด จะต้องมีมาตรฐานที่ระบุถึงความสูงของพันธุ์เอาไว้ ความสูงของสุนัขเป็นระยะที่วัดจากพื้นถึงวิทเทอร์ (withers) ของสุนัข ในสุนัขเพศผู้จะสูงระหว่าง 60-65 ซม. (23.62-25.59 นิ้ว) โดยมีค่าตัวแปร +­- 1 ซม. ตามข้อกำหนด ของ KK2 สุนัขตัวเมียจะมีความสูง 55 - 60 ซม. +- 1 ซม. (21.65-23.65 นิ้ว) น้ำหนักของสุนัขเพศผู้ที่เป็นมาตรฐานจะอยู่ระหว่าง 30-40 กิโลกรัม (66.13 - 88.18 ปอนด์) และสุนัขเพศเมียน้ำหนักอยู่ระหว่าง 22-32 กิโลกรัม (48.51-70.43 ปอนด์) ขนาดของสุนัขดังกล่าวจะเป็นขนาดที่เหมาะสมสำหรับการใช้งาน และมีขนาดใหญ่เพียงพอที่จะสามารถป้องกันตัวเอง เจ้าของหรือสิ่งของที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลได้ นอกจากนี้แล้วสุนัขพันธุ์นี้จะเห็นว่าขนาดของมันไม่เล็กและไม่ใหญ่จนเกินไป สามารถนำไปใช้งานในที่แคบๆ หรือนำทางคนตาบอดในที่สาธารณะหรือขึ้นรถบัสได้ดี ขนาดของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดจะเป็นขนาดที่ให้ความแข็งแรงของร่างกายได้ดี และสามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างรวดเร็วเมื่อจำเป็นคือมีลักษณะที่ดีทั้งสองลักษณะเมื่อเทียบกับสุนัขพันธุ์อื่น เช่น รอทไวเลอร์ ที่มีแค่ความแข็งแรงหรือสุนัขพันธุ์มาลีนอยที่มีแต่ความเร็ว สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดจัดเป็นสุนัขขนาดกลางที่มีองค์ประกอบทางกายภาพโดยรวมดีที่สุดและเหมาะสมที่สุดที่จะทำงานได้หลายอย่างมากกว่า สุนัข 2 พันธุ์ดังกล่าว ตัวอย่างเช่น สุนัขเพศผู้ที่มีขนาดตัวใหญ่น้ำหนัก 100 ปอนด์จะเป็นสุนัขที่มีขนาดกล้ามเนื้อใหญ่มาก และน่าจะเหมาะในการทำงานได้ดี แต่การทำงานที่ต้องมีการกระโดดขึ้นลงเป็นเวลานานหลายปีโดยน้ำหนักตัวที่มากดังกล่าว จะมีผลทำให้เกิดแรงกดอย่างมากที่หลังและข้อต่อต่างๆ ถึงแม้ว่าสภาพของสุนัขจะได้รับการดูแลอย่างดีที่สุดก็ตาม สุนัขตัวผู้ที่มีขนาดเล็กและมีน้ำหนักน้อยกว่า 70 ปอนด์ อาจจะไม่เกิดปัญหาดังกล่าวเมื่อทำงานผ่านไปหลายปี แต่เนื่องจากน้ำหนักที่น้อยเกินไปจะทำให้ไม่มีกำลังมากพอในการกัด ถ้าจะนำไปใช้งานของตำรวจหรือในงานอารักขา ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลที่ได้จากประสบการณ์ของหน่วย Canadian K9 ที่ทำงานโดยใช้สุนัขมานาน สุนัขที่มีขนาดใหญ่ปานกลางจะสามารถให้พละกำลังมากมากกว่าสุนัขขนาดเล็ก แต่ก็จะไม่เกิดความเสียหายที่ส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เนื่องจากขนาดที่ใหญ่มากๆ และโดยขนาดของมันอย่างเดียวก็น่าจะเพียงพอในการใช้เพื่อการต่อสู้ นอกจากนี้แล้วขนาดยังมีผลต่อเสียงเห่าด้วย สุนัขที่มีขนาดใหญ่จะมีเสียงเห่าที่ดังก้องมีอำนาจ สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดไม่ควรมีเสียงเห่าที่เล็กแหลม

ลักษณะที่แตกต่างระหว่างเพศ (Sex definition)

   ลักษณะสรีระที่แสดงออกถึงเพศผู้และเพศเมียนับว่ามีความสำคัญเช่นกัน เมื่อไรก็ตามที่ความคงที่ของสายพันธุ์ของสุนัขเปลี่ยนแปลงไป ไม่คงที่เช่นเดิม จะพบว่าลักษณะแรกที่จะมองเห็นถึงความเปลี่ยนแปลง ได้แก่ ลักษณะสรีระทางเพศ สุนัขเพศผู้ควรมีลักษณะที่มองแล้วเป็นเพศผู้ และมีพฤติกรรมของสุนัขเพศผู้ นั่นคือ น้ำหนักควรมากกว่าสุนัขเพศเมียไม่น้อยกว่า 20 ปอนด์ ส่วนหัวมีลักษณะกว้างและใหญ่ ส่วนคอและไหล่หนา แสดงออกถึงความน่าเกรงขาม ถึงแม้ว่าขนาดของสุนัขอาจจะไม่ใหญ่มาก แต่ลักษณะของการแสดงออกทางพฤติกรรมหรือสรีระควรเป็นลักษณะของสุนัขเพศผู้ ส่วนสุนัขเพศเมียโดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่า รูปร่างบางกว่าแต่มีความแข็งแรง สุนัขที่มีสายเลือดของกลุ่มที่มีลักษณะรูปร่างบาง มักจะให้สุนัขเพศเมียที่สวยงาม และในขณะเดียวกันก็จะให้สุนัขเพศผู้มีรูปร่างบางคล้ายกับสุนัขเพศเมียได้ ในทำนองเดียวกัน สุนัขสายเลือดที่ให้สุนัขเพศเมียรูปร่างใหญ่หนาคล้ายสุนัขเพศผู้ ก็จะให้สุนัขเพศผู้ที่มีรูปร่างดี แข็งแรง และมีพละกำลัง ซึ่งโดยทั่วไปจะชอบสายพันธุ์ของสุนัขสายพันธุ์หลังมากกว่า


รูปที่ 8 ลักษณะของสุนัขเพศผู้ และเพศเมีย

สัดส่วนของร่างกาย (Proportion)

   โดยทั่วไปแล้วสุนัขที่จัดว่ามีรูปร่างสวยงามจะหมายถึง สุนัขที่มีช่วงความยาวมากกว่าความสูงเล็กน้อย สุนัขจิ้งจอกและสุนัขป่าจะมีสัดส่วนของร่างกายตั้งแต่สี่เหลี่ยมจัตุรัสไปจนถึงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ตามมาตรฐานของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดกำหนดไว้ว่าความยาวของสุนัขควรจะมากกว่าความสูง 10-17 % ซึ่งถ้าเปลี่ยนให้มาอยู่ในรูปของสัดส่วนจะได้เป็นความสูง : ความยาว เท่ากับ 8.5 : 10 ถึง 9.1 : 10 สุนัขที่มีความสูงน้อยกว่า 8.5 จัดว่าเป็นสุนัขที่มีช่วงขาสั้นเกินไปหรือมีลักษณะเตี้ย แต่ถ้ามีความสูงเป็น 9.1 แสดงว่าสุนัขนั้นมีสัดส่วนเหมือนกับสุนัขพันธุ์โดเบอร์แมน ความสูงวัดจากพื้นขณะสุนัขยืนไปยังจุดสูงสุดของวิทเทอร์ (withers) ซึ่งมักจะเป็นจุดสูงสุดของขอบบนของกระดูกสะบัก ความยาวของลำตัววัดจากจุด presternum ซึ่งอยู่ตรงกลางของส่วนอกข้างหน้าไปยังตำแหน่งที่เรียกว่า ischial tuberosity ซึ่งเป็นส่วนยื่นที่อยู่ท้ายสุดของกระดูกเชิงกราน (ดูภาพที่ 9a และ 9b)


รูปที่ 9a


รูปที่ 9b

   สุนัขที่มีสัดส่วนของร่างกายเป็นสี่เหลี่ยมจัตุรัส (คือความสูง = ความยาว) จะเป็นสุนัขที่มีความสามารถในการวิ่งควบและกระโดดสูงได้ดี เนื่องจากมีช่วงขาที่ยาวแต่การวิ่งเหยาะจะทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งคุณสมบัติที่มีความสามารถวิ่งเหยาะได้ดีจะพบได้ในสุนัขที่มีสัดส่วนของร่างกายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ามากกว่า เมื่อเทียบกับม้า เราจะพบว่าม้าที่เป็นสายพันธุ์ที่วิ่งเหยาะได้ดีนั้นมักจะมีสัดส่วนของร่างกาย (คือความยาว > ความสูง) เตี้ยกว่าม้าสายพันธุ์อื่นๆ สุนัขที่สามารถวิ่งเหยาะได้ดีจัดว่าเป็นสุนัขใช้งานที่ดี (เพราะคุณสมบัติของการวิ่งเหยาะเป็นคุณสมบัติที่สำคัญมากของสุนัขใช้งาน) แต่สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดไม่ควรมีความสามารถเฉพาะในการวิ่งเหยาะเท่านั้น ควรมีความสามารถในการวิ่งควบและการกระโดดได้เช่นกัน สุนัขที่มีช่วงลำตัวยาวจะขาดพละกำลังในการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า ทำให้มีการเคลื่อนที่ได้ช้าและโอกาสเกิดการบาดเจ็บได้ง่าย ในขณะที่สุนัขที่ช่วงขาสั้นจะมีความสามารถในการก้าวกระโดดลดลง

   สุนัขพันธุ์อัลเซเชียนที่เลี้ยงกันในช่วงปี 1960 จะมีลักษณะรูปร่างคล้ายกับสุนัขพันธุ์คอร์กี้ (ดังแสดงในรูปที่ 10) ซึ่งเป็นลักษณะที่ไม่เป็นที่นิยมกันในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างสุนัขที่มีสัดส่วนของร่างกายเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสกับสุนัขที่มีสัดส่วนของร่างกายเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จะพบว่าสุนัขที่มีสัดส่วนของร่างกายเป็นแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสจะมีโครงสร้างที่แข็งแรงกว่าและเป็นที่ต้องการมากกว่า (ดังรูปที่ 11)


รูปที่ 10


รูปที่ 11

ขน (Coat)

   สุนัขที่ดีควรมีขนที่หนาสามารถป้องกันร่างกายจากอุณหภูมิที่มีความแตกต่างกัน 150 °F (องศาฟาเรนไฮด์) ได้ นั่นคือสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดที่ทำงานอยู่ในเขตร้อนจะต้องพบกับอุณหภูมิที่สูงซึ่งอาจจะมากกว่า 100 °F ในขณะที่สุนัขพันธุ์นี้ยังสามารถทำงานได้ในสภาพที่มีอุณหภูมิต่ำมาก ๆ ทางตอนเหนือของแคนาดา สุนัขเหล่านี้ต้องมีขนที่สามารถป้องกันร่างกายจากความหนาวเย็นขนาด – 40 °C ( องศาเซลเซียส) ได้ (รูปที่ 12) นอกจากนี้แล้วเรายังพบว่าสภาพแวดล้อมยังมีอิทธิพลในการกำหนดปริมาณของขนชั้นใน ดังนั้นการตัดสินโดยดูจากคุณภาพขนนั้นจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างของสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย ตัวอย่างเช่น ชาวแคนาดามักจะชอบสุนัขเยอรมันเช็พเพอดที่มีขนปกติและมียีนที่ควบคุมขนยาวด้วย (เป็นยีนด้อย) ซึ่งจะมีลักษณะของขนที่มีคุณภาพดีและมีความหนาแน่นของขนไม่มาก (รูปที่ 13) สุนัขกลุ่มที่มีขนยาวเนื่องจากมียีนที่ควบคุมลักษณะขนยาวเป็นยีนเด่น (รูปที่ 14) ลักษณะดังกล่าวในปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมอีกต่อไปและไม่จัดเป็นลักษณะมาตรฐาน สุนัขที่อยู่ในกลุ่มนี้จะมีความแตกต่างของขนมากมาย ตั้งแต่ขนที่เป็นปกติ ร่วมกับมีลักษณะเหมือนชายครุยที่บริเวณหูและด้านหลังของขา ไปจนกระทั่งมีลักษณะของขนยาวเช่นเดียวกับสุนัขพันธุ์คอลลี่ขนยาว จะต้องการทำความสะอาดและการหวีขนที่เป็นระบบ ซึ่งไม่ค่อยเหมาะกับการที่เป็นสุนัขใช้งาน แต่เหมาะกับการเลี้ยงในบริเวณที่มีอากาศหนาวเย็น ผู้เขียนเองไม่เคยพบสุนัขที่ไม่มีขนชั้นในเลย แต่เคยสังเกตว่า สุนัขที่มีขนยาวมากๆ ขนชั้นในที่ยาวและนุ่มมักจะปนไปกับขนชั้นนอกทำให้แยกจากกันได้ยาก ขนที่มีลักษณะเป็นมาตรฐานควรเป็นขนที่ยาวตรง ไม่หยิกหรือม้วน ซึ่งในทางปฏิบัติแล้วจะไม่ค่อยพบ ทั้งนี้เป็นเพราะสุนัขที่มีสายพันธุ์ที่เลี้ยงดูอยู่ในเขตหนาวมักจะมีขนที่หยิกและม้วน ซึ่งจะช่วยให้สามารถทนต่อสภาพอากาศหนาวเย็นและลมแรงได้เป็นเวลานาน ดังนั้นในทางปฏิบัติลักษณะที่ยอมรับได้คือ ขนที่เป็นคลื่นที่บริเวณหลังหรือ Croup ยังพบได้บ้าง


รูปที่ 12 ขนสั้น


รูปที่ 13


รูปที่ 14 ขนยาว

ดุลยภาพของร่างกาย (Balance)

   สิ่งสุดท้ายที่จะกล่าวถึงเกี่ยวกับลักษณะรูปร่างของสุนัขคือ ดุลยภาพของสัดส่วนของร่างกาย ดุลยภาพในความหมายนี้เป็นลักษณะที่ไม่สามารถวัดได้โดยใช้เทปวัด แต่ผู้ที่จะบอกได้ถึงสมบัติข้อนี้จะต้องใช้วิธีมองดูตัวสัตว์ทั้งตัวและตัดสินจากสิ่งที่มองเห็นดุลยภาพโดยทั่วๆ ไปจะหมายถึงการเข้ากันอย่างพอเหมาะพอดีระหว่างโครงสร้างส่วนหน้าและโครงสร้างส่วนท้ายของตัวสัตว์ สุนัขที่มีดุลยภาพของร่างกาย จะมีลักษณะที่แสดงถึงการเข้ากันได้และกลมกลืนกันของส่วนต่างๆ ซึ่งมองดูโดยรวมแล้วดี สวยงาม ไม่ใช่มองไปแล้วเห็นแต่ลักษณะใดลักษณะหนึ่งเด่นขึ้นมา (ไม่ว่าจะเป็นลักษณะที่ดีมากหรือลักษณะที่ไม่ดี) นั่นคือมองดูโดยรวมแล้วดี เหมาะเจาะสวยงาม ตัวอย่างเช่นสุนัขที่มีลักษณะที่บกพร่องไม่ดีในหลายๆจุด แต่เมื่อมองโดยรวมแล้วลักษณะต่างๆ นั้นกลับเข้ากันได้ดี และมองดูสวยงาม เช่นนี้ถือว่าสุนัขตัวนี้มีดุลยภาพและเป็นที่ต้องการมากกว่า เราจะพบว่า เมื่อใดก็ตามที่สุนัขมีลักษณะใดลักษณะหนึ่งได้รับการพัฒนาไปมากหรือไม่ได้รับการพัฒนาเลยนั้น ส่วนอื่นหรือโครงสร้างอื่นของร่างกายจะต้องมีการปรับเพื่อให้ลักษณะโดยรวมแล้วมองดูสวยงามและมีดุลยภาพ ตัวอย่างเช่น สุนัขที่มีลักษณะลำตัวสั้นมากมีส่วนท้ายที่มีโครงสร้างเป็นมุมมากเกินไปก็จะทำให้มองดูแล้วสุนัขตัวนี้ไม่มีดุลยภาพ มีการเคลื่อนที่ที่ไม่สวยงาม (รูปที่ 15) แต่ถ้าเป็นสุนัขตัวเดียวกันนี้ ที่มีลักษณะของลำตัวยาวขึ้นเล็กน้อยก็จะทำให้การเคลื่อนที่เป็นไปในลักษณะที่สอดคล้อง และมองดูสวยงามมากกว่า (รูปที่ 16)

การมองภาพโดยรวม

   ในการประกวดสุนัขจะมีหลายปัจจัยที่นำมาใช้ในการตัดสินสุนัข ปัจจัยหนึ่งได้แก่ลักษณะที่เป็นความผิดปกติของสุนัขนั้นๆลักษณะบางอย่างจะมีผลทำให้ภาพโดยรวมของสุนัขนั้นมองดูแล้วไม่สวยงาม ไม่เป็นมาตรฐาน ลักษณะดังกล่าวได้แก่ ลักษณะหลังโค้ง, จมูกงอนเชิดขึ้น (snipey muzzle), ขนสีอ่อน, ข้อต่อขาหน้า (pastern) ที่ไม่แข็งแรง ในสายตาของผู้เขียนสุนัขที่มีลักษณะดังกล่าวจัดเป็นสุนขัที่ไม่มีดุลยภาพ ถึงแม้ว่าจะมีลักษณะอื่น ๆ ที่สวยงามก็ตาม ลักษณะที่ไม่ถูกต้องนี้ดูเหมือนจะไปบดบังลักษณะที่ดีอื่น ๆ ไว้ และแน่นอนอาจจะมีลักษณะอื่น ๆ อีกที่ดูไม่สวยงามในสายตาของคนอื่น แต่ในสายตาของผู้เขียนกลับเป็นลักษณะที่ยอมรับได้ นั่นเป็นเพราะลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ผู้เขียนชอบ กล่าวโดยรวม สุนัขที่มีลักษณะสมส่วนถูกต้อง จะหมายถึงสุนัขที่ไม่ได้มีความสวยงามมากจนเกินไป แต่ควรจะต้องมีการเคลื่อนไหวที่สวยงามคล้องจองและมีข้อต่อต่าง ๆ อยู่ในสภาพแข็งแรง

   มีปรากฎการณ์ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่ศิลปินหรือนักวาดภาพทั้งหลาย ซึ่งผู้ที่นิยมชมชอบสุนัขควรได้รับทราบเอาไว้ นั่นคือเมื่อได้มองสิ่งหนึ่งสิ่งใดนานพอสมควรเราจะหมดความสนใจกับสิ่งนั้น ช่างวาดภาพอาจจะละเลยตำแหน่งบางตำแหน่งบนแผ่นภาพถึงแม้ว่าจะเป็นจุดที่มีปัญหาเพียงแค่เพราะเขามองภาพนั้นนานเกินไป แต่ถ้าพวกเขาเลิกมองภาพนั้นสัก 2 - 3 วัน แล้วกลับมาดูใหม่ เขาอาจจะมองเห็นจุดบกพร่องของภาพนั้นได้ ผู้เขียนพบว่าปรากฎการณ์ดังกล่าวก็เกิดขึ้นได้ในการมองความสวยงามของสุนัขเช่นกัน เราเรียกกันว่า Kennel blindness นั่นคือ เจ้าของสุนัขบางคนอาจจะมองไม่เห็นจุดบกพร่องของสุนัขของตนเอง เนื่องจากสิ่งที่ตัวเองมองเห็นคือสิ่งที่ชอบ จึงเป็นการยากที่จะมองเห็นข้อบกพร่องของสุนัขของตัวเอง ในขณะที่จะสามารถจำแนกลักษณะที่ไม่ดีในสุนัขของคนอื่นได้ ทั้งนี้เนื่องจากลักษณะดังกล่าวเป็นลักษณะที่ตนเองไม่ชอบ นอกจากนี้แล้วสุนัขที่มีโครงสร้างของกระดูกถูกต้องสวยงาม อาจจะมองดูแปลกประหลาด และไม่เข้าเกณฑ์ ถ้ามันถูกห้อมล้อมด้วยสุนัขกลุ่มใหญ่ที่โครงสร้างมีความเป็นเหลี่ยมมุมมากเกินไป ทั้งนี้เพียงเพราะสุนัขตัวนั้นมีความแตกต่างไปจากตัวอื่น ๆ มาก

   และที่ยิ่งไปกว่านั้นคือ ผู้ตัดสินสุนัขบางคนรับเอาองค์ประกอบหรือปัจจัยดังกล่าวเข้ามาอยู่ในความคิดและการตัดสินใจอย่างถาวร ผู้เขียนเคยพบกับผู้เพาะพันธุ์สุนัขบางคนที่ผสมพันธุ์สุนัขและชอบสุนัขที่มีโครงสร้างของกระดูกเป็นเหลี่ยมเป็นมุมมาเป็นเวลานานแล้ว คนเหล่านี้จะมีความเชื่ออย่างฝังใจ ว่าข้อต่อ hock ของขาหลังที่มีลักษณะเหมือนเคียวมากๆนั้นจะเป็นข้อต่อที่ทรงพลัง, มีประสิทธิภาพและสวยงามกว่าข้อต่อที่ปกติ

   เมื่อพูดถึงการพัฒนาความสามารถในการตัดสินของผู้ที่จะก้าวเข้ามามีหน้าที่ในการตัดสินสุนัขในงานประกวดต่าง ๆ ผู้เขียนแนะนำให้ทำการศึกษาสุนัขที่มีอยู่ทุกแบบสายพันธุ์ให้หมดทั้งแบบที่ตนเองชอบและแบบที่ตนเองไม่ชอบซึ่งจะทำให้เป็นคนที่หูตากว้างและรู้จักสิ่งที่มองดูสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างมีหลักการ ถึงแม้ว่าจะเป็นพันธุ์อื่น ๆ ที่ไม่ใช่พันธุ์เยอรมันเช็พเพอดก็ตาม ก็จะทำให้สามารถมองเห็นถึงความสวยงามแบบต่าง ๆ ในสายพันธุ์อื่นด้วย

แปลจาก : Overall Structure by Linda Shaw
หนังสือ : Schutzhund USA ฉบับ Jan/Feb 2001
โดย : สมาชิก 8024 (น.อ. สุชาติ สาพิทักษ์)
ขอขอบคุณ ร.ศ.สพญ.ดร.มีนา สาริกะภูติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 48 (มิถุนายน 2545)

แหล่งที่มาบทความต้นฉบับและรูปภาพ : http://www.gsdinfo.co.uk/Breed%20Info/Overall%20Structure.htm

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/โครงสร้างโดยรวม-The-Complete-Package-/523993314304769