โรคตาที่ติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด

โรคตาที่ติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ( Heritable Eye Disease in The German Shepherd Dog )

โดย : Dr.Danial Bercier, DVM จาก Schutzhund USA ฉบับ ก.ย.-ต.ค. 2001
แปลโดย : หมอไพบูลย์

 

   จากคำจำกัดความ “ โรคทางกรรมพันธุ์ ” คือโรคที่มีสายพันธุ์เป็นองค์ประกอบ คือมันสามารถจะถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ สุนัขแต่ละพันธุ์มีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคของสายพันธุ์ บทความนี้จะเล่าถึงโรคที่เกี่ยวกับตาของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด ด้วยความหวังว่าจะเป็นการเตือนให้แก่ผู้ผสมพันธุ์ และถ้าได้ตรวจตาเป็นประจำ จะทำให้สามารถรับทราบปัญหาได้รวดเร็วแต่ต้นมือ และลดการพัฒนาการของโรคได้

 

แหล่งที่มารูปภาพ : http://emergency-vets.com/wp-content/uploads/2012/10/dog-canine-eye.jpg

แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.eyebankthai.com/images/bank/03_10_49_paypal002001.gif

 

PANNUS กระจกตาอักเสบเรื้อรัง

   เป็นความผิดปกติของตาที่พบได้ง่ายในสุนัขพันธุ์นี้ ( มีอาการอักเสบอย่างเรื้อรังบริเวณผิวของกระจกตา หรือ โรคภูมิแพ้ที่ทำให้กระจกตาและลูกตาขาวอักเสบเรื้อรัง )

   เป็นโรคที่เกิดกับกระจกตา ( CORNEA ) หรือเยื่อใสๆ ที่เป็นช่องผ่านของแสงเข้าสู่ลูกตา ปกติจะใสเพราะการเรียงตัวอย่างสมบูรณ์แบบของเซลล์ ถ้าเมื่อใดที่การจัดตัวนี้ถูกรบกวนก็จะเกิดการขุ่นมัว และเกิดการเปลี่ยนแปลงของผิวกระจกตานี้ ซึ่งเป็นปัญหาขัดขวางในการมองเห็น

   โรคนี้หมายถึง การที่มีเส้นเลือดฝอยรุกเข้าไปในบริเวณที่ปกติจะไม่มีในกระจกตา มากกว่า 80 % ของโรคนี้ พบในสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด และกลุ่มญาติๆ ในตระกูลสุนัขเลี้ยงแกะ

   สาเหตุที่แน่ชัดของโรคนี้ยังไม่ทราบ แต่มีความเกี่ยวข้องกับการรับแสงอุลตร้าไวโอเลตในระดับสูงๆ หรือการระคายเคือง เช่น จากสภาพแวดล้อมที่มีฝุ่นหรือลมแรง การติดเชื้อเรื้อรังของลูกตา

   มีทฤษฎีหนึ่งกล่าวว่า แสงอุลตร้าไวโอเลตเปลี่ยนสภาพเนื้อเยื่อของกระจกตา ทำให้ร่างกายรู้สึกว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมาทำลายกระจกตานั้นเสียเอง ปกติจะเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้างพร้อมๆ กัน

   จะพบว่าเกิดมีเส้นเลือดฝอยใหม่ๆ แทรกเข้าไปในผิวของกระจกตา มักเริ่มจากขอบตาด้านนอก ( หางตา ) ก่อนแล้วจึงมาบริเวณหัวตา จากนั้นก็จะลุกลามเข้าหากันบริเวณกลาง ขณะลุกลามเข้าหากันนี้ ก็จะกินลึกลงไปด้วย เส้นเลือดฝอยเหล่านี้ทำให้เกิดแผลเป็นเล็กๆ ซึ่งมีผลทำให้กระจกตาที่เคยใสเกิดความขุ่นมัว

   โชคไม่ดีที่มักจะเริ่มสังเกตอาการเมื่อตาเริ่มบอดแล้ว การรักษาจะชะลออาการของโรคได้แต่ต้องทำอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ยังไม่มีการรักษาให้หายขาด เป็นเพียงแต่พยายามเข้าไปชะลออาการให้ได้โดยเร็วที่สุด

   Dr.Severin ผู้มีชื่อเสียงทางโรคตาพบว่าสุนัขที่เลี้ยงอยู่ในที่สูงๆ ตอบสนองการรักษาไม่ได้ดีเท่ากับพวกที่อยู่ใกล้ระดับน้ำทะเล สุนัขในที่สูงจะมีการลุกลามของโรครวดเร็วและรุนแรงกว่า ทั้งพบในอายุน้อยกว่าตั้งแต่ 1 - 2 ปี จากปกติที่จะพบเมื่ออายุประมาณ 5 - 7 ปีนี้ หรือต้อแก้วตาอาจเป็นอีกปัจจัยจากแสงอุลตร้าไวโอเลต

 

CATARACTS ต้อกระจก

   ต้อโดยกำเนิดและต้อในลูกสุนัข เป็นอีกโรคทางกรรมพันธุ์ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด การพัฒนาของโรคนี้มีตั้งแต่สุนัขยังเป็นตัวอ่อนในท้องแม่ ดังนั้นจึงสามาถพบได้ตั้งแต่เกิดโดยที่เจ้าของอาจไม่ทันได้สังเกตเป็นเวลาหลายสัปดาห์

   ไม่ใช่ต้อกระจกทุกชนิดที่เป็นตั้งแต่เกิดจะเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ แต่มีอีกชนิดหนึ่งที่ใช้เวลาในการพัฒนาในระหว่างที่สุนัขยังมีอายุน้อย

   ต้อแก้วตาคือ อาการขุ่นมัวของเลนส์นัยตา มีหลายแบบทั้งรูปร่าง, ขนาด และตำแหน่งที่เกิด อาจพบได้ในชั้นใดชั้นหนึ่งหรือหลายๆ ชั้นของเลนส์ตาก็ได้ และอาจเป็นได้จากหลายๆ สาเหตุ

   เลนส์เป็นอวัยวะที่อยู่หลังม่านตา ( ส่วนที่เห็นเป็นสีต่างๆ เช่น น้ำตาล, ดำ ในเอเซีย หรือฟ้าในทางยุโรป ) และมีหน้าที่ปรับระยะใกล้ไกลในการมอง เพื่อให้แสงรวมตัวตกกระทบที่จอรับภาพของตา ในการมองเห็น

   ปกติในสัตว์อายุน้อย เลนส์จะใสให้แสงผ่านได้ ด้วยการเรียงตัวขนานกันอย่างมีระเบียบของเนื้อเยื่อ ต้อทำให้บางส่วนของเลนส์เกิดทึบแสงและจำกัดแสงที่จะผ่านไปกระทบจอตา เจ้าของสุนัขอาจเห็นตาเป็นสีฟ้า เมื่อมองทะลุผ่านไปหลังม่านตาซึ่งจะเปิดกว้างขยายผิดปกติ เพื่อปรับตัวให้แสงเข้าไปให้ได้มากที่สุดเพื่อจะได้มองเห็น

   สุนัขเยอรมันเช็พเพอด เป็นพันธุ์ที่พบโรคต้อกระจกหลายชนิด สามารถถ่ายทอดทางกรรมพันธุ์ แต่โดยส่วนมากแล้ว โรคนี้มักไม่ใช่โรคทางกรรมพันธุ์ แต่มักเกี่ยวข้องกับการเสื่อมเมื่อมีอายุมากขึ้นมากกว่า

   ปัจจุบันสัตวแพทย์เกี่ยวกับโรคทางตาสามารถรักษาโรคนี้ได้ผลดีด้วยการผ่าตัด

 

PROGRESSIVE RETINAL DEGENERATION ( PRD ) จอตาเสื่อม

   จอตาเสื่อมพบได้ทั่วๆ ไปในสุนัขหลายๆ พันธุ์ คือ อาการผิดปกติของจอรับภาพของตาซึ่งเป็นชั้นของเนื้อเยื่อประสาทตาที่บุอยู่ด้านในกระบอกตา ทำหน้าที่รับแสงและแปรสัญญาณส่งไปตามประสาทตา เพื่อให้สมองประมวลว่าเป็นภาพอะไร

   จอตาประกอบด้วยเซลล์ประสาทพิเศษจำนวนมาก และใช้พลังงานอย่างมากในการทำหน้าที่ของมัน โดยเส้นเลือดที่มาเลี้ยงมันจะนำอาหารมาให้ และนำของเสียออกไป เป็นปัจจัยสำคัญในภารกิจนี้ ถ้าเกิดเหตุรบกวนทำให้การทำงานสะดุด จะมีผลให้เกิดการขาดออกซิเจน, หากเนื้อเยื่อตายจะทำให้ไม่สามารถทำงานได้เต็มที่และการมองเห็นด้อยลง

   อาการจอตาเสื่อมมีหลายชนิด ขึ้นอยู่กับบริเวณของจอตาที่มีปัญหา และชนิดของการลอกหลุด บางชนิดเกิดจากความผิดปกติในพัฒนาการของตัวอ่อน, บางชนิดเกิดจากเนื้อเยื่อเก็บสะสมของเสียมากเกินไป, บางชนิดเกิดจากการเสื่อมของเซลล์แต่ละแบบ

   อาการที่เห็นได้บ่อยคือ มองภาพได้ไม่ชัดเจนในที่มีแสงน้อย และเจ้าของจะรู้สึกว่าตาแวววาวผิดปกติ เนื่องจากม่านตาขยายเพื่อให้แสงผ่านไปได้มากขึ้น สุนัขอาจเห็นภาพได้แคบลงจึงต้องหันหัวมองตรงไปยังจุดที่สนใจ

   สุนัขสามารถปรับตัวเพื่อชดเชยความสามารถในการมองเห็นที่ลดลงได้ดี จึงให้ไม่สามารถสังเกตเห็นอาการในระยะแรกๆ ได้ จนทำให้เจ้าของอาจนึกว่าสุนัขเกิดมองไม่เห็นอย่างกระทันหัน เมื่อเปลี่ยนสภาพแวดล้อม ซึ่งไม่คุ้นเคยกับสุนัข แล้วสุนัขชนสิ่งของที่มันไม่คาดว่าจะมีอยู่ในบริเวณนั้นอย่างสะเปะสะปะ

   ส่วนใหญ่อาการนี้ไม่สามารถรักษาได้ แต่ไม่ใช่ทุกตัวที่เป็นจะต้องตาบอดอย่างสมบูรณ์ โรคนี้มีลักษณะเฉพาะที่ตรวจพบได้ แม้ในระยะแรกๆ แต่ต้องเป็นการตรวจตาอย่างละเอียด

   จอตาเสื่อม บางชนิดสามารถวินิจฉัยได้ ก่อนที่จะพบอาการผิดปกติของการมองเห็นได้ล่วงหน้าเป็นเดือนหรืออาจเป็นปี ด้วยเครื่อง Electroretinography ซึ่งมีอยู่ตามมหาวิทยาลัยที่มีคณะสัตวแพทยศาสตร์ ซึ่งจะบันทึกคลื่นไฟฟ้าที่ส่งมาจากจอตาเมื่อถูกระตุ้นด้วยแสงคล้ายๆ กับการบันทึกผลการตอบสนองกับการบันทึกผลการตอบสนองของหัวใจ เมื่อเราวัดคลื่นหัวใจ

 

การตรวจสอบ CERF

   การตรวจตาโดยปกติ มักไม่ได้รับการขอจากเจ้าของสัตว์ แต่ถ้าได้ตรวจตามโอกาสอย่างเหมาะสม จะช่วยให้สามารถพบอาการของโรคได้ตั้งแต่ต้น ซึ่งจะช่วยทำให้บรรเทาหรือแก้ไขปัญหาได้

 

CANINE EYE REGISTRY FOUNDATION  ( CERF )

   เป็นองค์กรของสัตวแพทย์เกี่ยวกับโรคตา ซึ่งจะบันทึกโรคทางพันธุกรรมเกี่ยวกับตาในสุนัขพันธุ์แท้ จักษุสัตวแพทย์คือสัตวแพทย์ที่ได้ทำการฝึกฝนเกี่ยวกับการรักษาโรคตาไม่น้อยกว่า 3 ปี และแนะนำให้ทำการตรวจสุนัขทุกตัวก่อนที่จะผสมพันธุ์ เพื่อค้นหาโรคที่แอบแฝงเหล่านี้

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 48 ( มิถุนายน 2545 )

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/โรคตาที่ติดต่อได้ทางกรรมพันธุ์ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด/523993184304782