คุณสมบัติของผู้ฝึกสุนัข (Dog Trainer) และ ผู้แนะวิธีฝึกสุนัข (Dog Instructor)

โดย Ms. Nienke , Dog Professionais Boarding and Training Kennel, Chiang Mai

   นอกเหนือไปจากการสอนให้สุนัข นั่ง, หมอบ, คอย ฯลฯ แล้วมีสิ่งใดที่แสดงว่าบุคคลนั้นคือ ผู้ฝึกสุนัขที่แท้จริง ? ผู้ฝึกสุนัขจำเป็นต้องมีความรู้และความชำนาญเป็นพิเศษในด้านใดบ้าง ? และจริงๆ แล้วผู้ฝึกสุนัขคืออะไรกันแน่ ?

 

ความแตกต่างระหว่างการฝึก (training) และการให้ศึกษา (education)

   การฝึก จะมุ่งเน้นฝึกให้สุนัขมีความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ได้ใบรับรอง, ปริญญา หรือให้สอบความสามารถเฉพาะด้าน เพื่อให้มีการบันทึกเป็นพิเศษในใบประวัติพันธุ์ผ่าน เช่น BH, ZTP, FH, SchH หรือ IPO ซึ่งมุ่งไปที่การแสดงออกที่ถูกต้องของตัวสุนัขเป็นหลักเช่นการ “ เรียกมาหา ” (Recalling) สุนัขต้องกลับมานั่งตรงหน้าชิดตัวผู้จูง หรือระหว่างเดินสุนัขต้องเดินชิดให้ไหล่เสมอแนวเข่าและมองหน้าผู้จูงตลอดเวลา เป็นต้น ดังนั้นการฝึกจะเน้นที่ตัวสุนัขโดยเฉพาะไม่ค่อยเกี่ยวกับเจ้าของ ไม่ค่อยได้มีความสัมพันธ์กับเจ้าของสุนัข มักจะทำให้สุนัขเชื่อฟังครูฝึก และไม่ค่อยเชื่อฟังเจ้าของ (เว้นแต่เจ้าของจะเป็นผู้ฝึกเอง)

   การให้การศึกษา ไม่ได้ให้ความสำคัญมากนักในเรื่องสุนัขจะต้องเดินให้ไหล่ชิดเข่าผู้จูง หรือต้องมองหน้าผู้จูงหรือสุนัขจะต้องโดดข้ามแผงไปคาบดัมเบล แล้วโดดข้ามแผงกลับมา ขณะที่ในปากต้องคาบดัมเบลด้วย ที่จริงแล้วสิ่งสำคัญคือ เจ้าของจะต้องสามารถควบคุมสุนัขในเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดเป็นประจำวัน เช่นสุนัขต้องมาหาทันทีเวลาเจ้าของเรียก, เมื่ออยู่ในสายจูงต้องเดินไปกับเจ้าของอย่างเรียบร้อยไม่ใช่ลากถูลู่ถูกังกันไป และนั่งคอยอย่างสงบขณะที่เจ้าของกำลังคุยอยู่กับคนอื่น เจ้าของต้องสามารถป้องกัน หรือปรามการแสดงออกที่ไม่พึงปรารถนา เช่น การกระโจน หรือ เห่า โดยไม่มีสาเหตุด้วย

   ดังนั้น การให้การศึกษาสุนัข จะมุ่งการฝึกไปที่เจ้าของสุนัขควบคู่กันไปกับสุนัขของเขาด้วย เพื่อให้เจ้าของเรียนรู้การควบคุมสุนัขให้ถูกวิธี

   อย่างไรก็ตาม ไม่ได้หมายความว่า สุนัขที่ฝึก (training) มาแล้วจะไม่สามารถไม่เชื่อฟังเจ้าของได้อย่างดีหรือสุนัขที่ได้รับการศึกษา (education) มาอย่างดี จะไม่สามารถนำมาฝึกเพื่อสอบหรือแข่งขันความสามารถต่างๆ ดังที่กล่าวมาแล้วได้

   สรุปได้ว่า ผู้ฝึกสุนัข (Dog Trainer)  จะต้องรู้พื้นฐานของตัวสุนัข ขณะที่ผู้แนะวิธีฝึกสุนัข (Dog Instructor) จะต้องเข้าใจผู้คนที่เขาเกี่ยวข้องด้วย รู้ว่าเขาจะต้องวางตัวอย่างไร สามารถวิจารณ์ผู้อื่นและรับฟังผู้อื่นวิจารณ์ตัวเองได้และสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นด้วยก็คือ ความปลอดภัยในสนาม เนื่องจากผู้แนะวิธีการฝึกสุนัข จะต้องทำงานร่วมกับสุนัขและเจ้าของหลายคนในเวลาเดียวกัน

 

A. ความรู้ที่เกี่ยวกับสุนัข

   ความรู้เกี่ยวกับสุนัข และวิธีการฝึกสุนัข พอสรุปโดยสังเขปได้ ดังนี้

  1. พันธุ์ และสายพันธุ์
  2. พื้นฐานทางพฤติกรรม และการจดจำ
  3. ความแตกต่างของวัย
  4. กระบวนการเรียนรู้
  5. ความรู้เรื่องโรค, การบาดเจ็บ และวิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น
  6. รู้จักวิธีการฝึกฝนต่างๆ และรู้จักดัดแปลงใช้

1. ความรู้เรื่องสายพันธุ์

   ผู้ฝึกและผู้แนะวิธีฝึกสุนัข จำเป็นที่จะต้องมีความรู้ด้านสายพันธุ์บ้าง เพราะมันจะดูเป็นมืออาชีพมากกว่า เมื่อรับสุนัขเข้ามาฝึก  และรู้ว่าเป็นสุนัขพันธุ์อะไร, อยู่ในกลุ่มใด ซึ่งจะทำให้รู้ไปถึงพฤติกรรมพื้นฐานของสายพันธุ์นั้นๆได้ ที่ส่วนใหญ่แล้วลักษณะนิสัย ของสุนัขสายพันธุ์ใหม่ๆ มักเกิดจากความตั้งใจที่จะผสมพันธุ์ให้ได้คุณสมบัติที่เหมาะสมกับการใช้งานของสายพันธุ์นั้นๆ โดยเฉพาะ เช่น รีทรีฟเวอร์ ถูกผสมพันธุ์ขึ้นมา เพื่อการติดตามหาและนำเหยื่อกลับมาส่งได้โดยไม่บอบซ้ำ ดังนั้นสุนัขพันธุ์นี้จะต้องมีลักษณะการกัดแบบนุ่มนวล เป็นสายพันธุ์ที่ติดตามและนำเหยื่อมาส่งเจ้าของได้อย่างยอดเยี่ยม แต่โดยทั่วไปมักทำงานอารักขาได้ไม่ดีนัก ตรงข้ามกับสายพันธุ์ที่ผสมขึ้นเพื่อการอารักขา (เยอรมันเช็พเพอด, ร๊อตไวเลอร์, โดเบอร์แมน, ฟิลาบราซิเลโร) จะต้องมีลักษณะการกัดที่รุนแรงกว่า มิฉะนั้นนั้นก็จะไม่สามารถทำงานอารักขาได้ดี เพราะฉะนั้นผู้ฝึกควรรู้ว่าสุนัขนั้นอยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ใด และลักษณะประจำสายพันธุ์นั้น อย่างเช่น การฝึกอารักขา ร๊อตไวเลอร์ ก็จะต่างจากมาลินอยล์, เยอรมันเช็พเพอด หรือ โดเบอร์แมน

2. พฤติกรรมพื้นฐาน

   การที่จะสามารถเข้าใจพฤติกรรมของสุนัขได้ดีนั้น สำคัญมากที่จะต้องรู้ว่าจิตใจหรือสมองของสุนัขทำงานและสื่อสารด้วยวิธีไหน เช่นถ้าเราแสดงอาการก้าวร้าวต่อสุนัขประเภทจ่าฝูงหรือหัวโจก (Dominant) สุนัขจะรู้สึกเหมือนถูกท้าท้าย และจะแสดงอาการก้าวร้าวมากขึ้น บ่อยครั้งที่ผลคือถูกมันกัดเอา แต่ถ้าสุนัขตัวนั้นเป็นพวกขี้กลัว, ผลคือสุนัขจะยิ่งมีอาการขี้กลัวมากกว่าเดิม ดังนั้นยิ่งเราเข้าใจพฤติกรรมสุนัขได้มากเท่าใด ก็จะสามารถหลีกเลี่ยงสิ่งที่จะทำให้ต้องเสียใจได้มากขึ้นเท่านั้น

3. วัยของสุนัข

   ลูกสุนัขเล็กๆ มีวิธีการเรียนรู้ต่างไปจากสุนัขวัยรุ่น, สุนัขวัยหนุ่มสาว, สุนัขเต็มวัย, หรือ สุนัขอายุมาก แม้จะเชื่อกันว่า สุนัขไม่สามารถฝึกได้ก่อนอายุ 6 เดือน แต่สุนัขก็ได้เรียนรู้มาตั้งแต่แรกเกิดแล้ว แน่นอนลูกสุนัขวัย 2 สัปดาห์ ย่อมยังไม่สามารถเข้าใจในคำสั่ง นั่ง เพราะมันเพิ่งจะเริ่มมองเห็นและได้ยินเสียงเป็นครั้งแรกในชีวิต แต่มันเรียนรู้โดยผ่านการดมกลิ่น และการสัมผัส และส่วนที่สำคัญที่สุดสำหรับสุนัขทุกตัว, คือช่วงวัยก่อนอายุ 4 เดือน ซึ่งเป็นช่วงระยะการเลียนแบบ และการเรียนรู้สังคมสุนัข เราต้องฝึก และนำลูกสุนัขเข้าสังคม โดยเริ่มต้นที่อายุประมาณ 8 อาทิตย์ เมื่ออายุถึง 4 เดือน ลูกสุนัขก็จะเข้าใจในคำสั่งเบื้องต้นพออายุ 5 เดือน ก็จะเข้าใจคำสั่งจู่โจม (attack), ปล่อย (loose), ให้ (give), คาบ (bring), หา (Search) และคำสั่งเข้าคอก (cage) และที่สำคัญที่สุด ลูกสุนัขต้องมีความสุข รู้จักปรับตัวได้ดี และไม่มีความรู้สึกถูกกดดัน

4. กระบวนการเรียนรู้

   สุนัขเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของชีวิต กระบวนการเรียนรู้นี้ เริ่มมาตั้งแต่สุนัขแรกเกิด เราคงพอจำกันได้ว่ามี 3 วิธีในขบวนการเรียนรู้ คือ

  1. การลองผิดลองถูก ตัวอย่างเช่น ลูกสุนัขที่เริ่มหัดเดิน ก็จะไม่รู้ว่ามันสามารถเดินอย่างไรได้บ้าง ดังนั้นถ้าลูกสุนัขพยายามที่จะปีนออกจากกล่อง แบบลูกแมว มันก็จะเรียนรู้ได้ในไม่ช้าว่ามันไม่สามารถปีนได้อย่างแมว
  2. การเลียนแบบ สุนัขจะเลียนแบบซึ่งกันและกัน คุณสามารถสังเกตได้จาก การนำสุนัขเล็กไปไว้กับสุนัขเต็มวัย ความจริงพวกคนเลี้ยงแกะใช้ประโยชน์จากการเรียนรู้ด้วยวิธีนี้ได้อย่างมากมายมหาศาล โดยเมื่อลูกสุนัข โตพอที่จะติดตามฝูงแกะไปได้เขาจะเอามันรวมฝูงไปด้วยในการเดินทาง ลูกสุนัขจะเฝ้ามองและทำตามสุนัขโตที่กำลังทำงาน ( ต้อนแกะ ) โดยวิธีนี้มันจะสามารถเรียนรู้กลเม็ดต่างๆ ในการต้อนฝูงแกะได้อย่างมากมาย
  3. การให้กำลังใจ และการลงโทษ

   การให้กำลังใจ หมายถึงรางวัล ด้วยวิธีให้กำลังใจนี้คุณสามารถให้สุนัขทำตามสั่งได้บ่อยเท่าที่ต้องการ มี 2 วิธีคือ

  1. โดยให้สิ่ง ( กระตุ้น ) ที่สุนัขชอบ (เช่น อาหาร, ของเล่น, การชมเชย, การเล่น)
  2. โดยการเอาสิ่ง ( กระตุ้น ) ที่สุนัขไม่ชอบออกไป ( เช่นไม่เข้าเผชิญหน้ากับสุนัขที่ขี้กลัว เป็นต้น )

   การลงโทษ มี 2 วิธีคือ

  1. โดยการแก้ไขให้ทำใหม่ให้ถูกต้อง ต้องระวังอย่าสั่งให้สุนัขทำอย่างเดิมซ้ำกันบ่อยครั้งกันไป
  2. โดยงดรางวัลที่สุนัขคาดหวังว่าจะได้ ดังตารางข้างล่างนี้
  การให้กำลังใจ การลงโทษ
ทางบวก รางวัล ทำซ้ำ
ทางลบ ไม่ต้องทำซ้ำ งดรางวัล

   ทั้งรางวัล และการลงโทษ ควรจะนำไปใช้ด้วยความรอบคอบตัวอย่างเช่น ให้รางวัลมากไป จะทำให้รางวัลไม่มีความหมาย และถ้าลงโทษรุนแรงไป สุนัขจะขี้กลัว หรือก้าวร้าว นั่นคือไม่สามารถเรียนรู้ด้วยวิธีที่ได้ผลสูงสุด

   ช่วงเวลา ของการให้รางวัล และการลงโทษ มีความสำคัญมาก การให้รางวัลหรือลงโทษช้าเกินไป จะทำให้สุนัขเข้าใจผิด คิดว่าเป็นการให้รางวัล หรือลงโทษ สำหรับการกระทำต่อมาของมัน ซึ่งเป็นการผิดวัตถุประสงค์ที่ผู้ฝึกต้องการสื่อ

5. โรค, อาการบาดเจ็บ, การปฐมพยาบาล

   ครูฝึกสุนัขต้องมีความรู้ความเข้าใจในอาการเบื้องต้นของโรคในสุนัข เช่นสุนัขไอ, มีน้ำมูก, มีไข้ อาเจียน, หรือมี อาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง ทางที่ดีที่สุดคือการเลื่อนการฝึกออกไป จนกว่าสุนัขจะดีขึ้น โดยเฉพาะสุนัขที่เดินกระโผลกกระเผลก ซึ่งมักจะมีความเจ็บปวด, แม้จะไม่แสดงออก สุนัขที่อายุยังน้อยถูกปล่อยให้กระโดดมาก ก็มีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกระดูกและข้อต่างๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งพวกพันธุ์กระดูกใหญ่) สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งที่ผู้ฝึกสุนัข หรือผู้แนะวิธีฝึกสุนัข ต้องมีคือความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับสุนัขในด้านกายวิภาควิทยา, สรีรวิทยา, พยาธิวิทยา และการปฐมพยาบาล

6. วิธีการฝึกฝนต่างๆ และรู้จักดัดแปลงไปใช้

   วิธีการฝึกที่ผู้ฝึกใช้กับสุนัข จะส่งอิทธิพลอย่างมากกับการแสดงออกของสุนัข การฝึกด้วยวิธีการลงโทษสุนัขที่ถูกให้แก้ไขทำซ้ำบ่อยๆ ก็จะพยายามหลีกเลี่ยงการทำซ้ำ สิ่งนี้อาจส่งผลให้เกิดพฤติกรรมที่คุณต้องการ แต่บ่อยครั้งส่งผลให้กลายเป็นสุนัขขี้กลัว หรือก้าวร้าวควบคุมไม่ได้ไปเลย ( เมื่อถอดสายจูง จะไม่เชื่อฟังคำสั่งอีกต่อไป ) ในทางกลับกัน การฝึกด้วยวิธีทางส่งเสริมหรือให้รางวัล มักให้ผลในการเพิ่มพฤติกรรมที่คุณต้องการเพราะไม่ว่าสุนัขหรือคนก็ชอบที่จะได้รับรางวัลกันทั้งนั้น

 

B. ความรู้เกี่ยวกับคน (สำหรับผู้แนะวิธีการฝึกสุนัข)

1. พฤติกรรมเบื้องต้นและการรับรู้ ผู้แนะนำวิธีการฝึกสุนัข นอกจากต้องมีความรู้เรื่องเกี่ยวกับสุนัขเป็นอย่างดีแล้ว จำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องของคนที่เขาจะต้องให้คำแนะนำ ( วิธีเลี้ยงสุนัข ) ด้วย เช่น ต้องสังเกตรู้ว่าทั้งสุนัขและเจ้าของมีปฏิกิริยาอย่างไรในการพูดคุยกัน มีท่าทางว่าเบื่อหน่ายหรือมีความสนใจดี ? ฟังทุกอย่างที่พูดและมีความเข้าใจดีหรือไม่ ?

2. กระบวนการเรียนรู้ : ผู้คนต่างก็มีกระบวนการเรียนรู้แตกต่างกันไป บางคนก็ชอบดูตัวอย่างและฟังคำอธิบาย, บางคนเลือกที่จะลงมือทำด้วยตัวเองด้วย ผู้แนะนำวิธีฝึกต้องเรียนรู้ว่าคนไหนชอบอย่างไร

3. เหตุผลที่นำสุนัขมาเรียน : แน่นอน, ผู้แนะนำวิธีฝึกสุนัขต้องรู้ก่อนว่าเหตุใดเจ้าของจึงนำสุนัขของเขามารับการฝึก บางทีเจ้าของอาจต้องการมีสุนัขที่มีนิสัยดี, ปรับตัวเข้ากับสิ่งแวดล้อมได้ดี และควบคุมง่าย หรือเขาอาจอยากให้สุนัขมีการแสดงออกยอดเยี่ยมในสนามประกวด หรือ เพื่อให้มีระดับความสามารถระบุในเพ็ดดิกรี ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ที่เจ้าของจะสามารถฝึกสุนัขด้วยตัวเองจนสามารถสอบผ่านระดับความสามารถตามที่ต้องการได้

4. ความสามารถในการนำเสนอ ( การสอน ) และการแก้ปัญหา ทำอย่างไรจึงจะทำให้เจ้าของสุนัขเข้าใจในกระบวนการฝึก และรู้สึกถึงความสำคัญของตนเองในกระบวนการฝึกนี้ ผู้แนะนำวิธีฝึกต้องมีความสามารถในการจัดทำตารางการสอนสร้างบทเรียนและวางแผนการทำแบบฝึกหัด, ต้องรู้วิธีการนำเสนอ, การใช้ท่าทางและน้ำเสียงที่เหมาะสม ฯลฯ การรู้จักตั้งคำถามที่ถูกต้องก็จะทำให้รู้ได้ว่า เจ้าของสุนัขเข้าใจในสิ่งต่างๆ ดีแล้วหรือไม่

   นอกเหนือไปจากการที่จะต้องรอบรู้ในเรื่องเกี่ยวกับสุนัขและเจ้าของแล้ว ผู้ฝึกสุนัขหรือผู้แนะนำผู้ฝึก ยังจะต้องเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัยของทั้งสุนัขและเจ้าของด้วย ดังนั้นอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึก ต้องมีกฎระเบียบสำหรับควบคุมให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยตลอดเวลา เช่น ระหว่างการฝึก ควรต้องใส่รองเท้ากีฬา ไม่ใช่รองเท้าแตะ หรือรองเท้าที่มีส้น ซึ่งอาจทำให้ลื่น, ข้อเท้าพลิก หรือ พลาดไปเหยียบเท้าสุนัขเจ็บได้

   สุดท้ายคือ ผู้ฝึกหรือ ผู้แนะนำวิธีฝึก ควรรู้จักตัวเองให้ดี พอที่จะรับฟังการวิจารณ์ถึงความผิดพลาดของตนเองได้ด้วย ด้วยวิธีนี้เท่านั้นที่เข้าจะเข้าใจถึงจุดเด่น หรือจุดด้อยของตัวเอง เพื่อจะได้ปรับปรุงแก้ไขตัวเองต่อไป.

   เมื่อคุณได้อ่านโดยตลอดแล้ว ก็จะทราบว่าผู้ฝึกสุนัขไม่ได้เป็นในวันเดียว ผู้ฝึกสุนัขจะต้องเป็นบุคคลที่มีความเข้าใจและตอบสนองทั้งสุนัขและเจ้าของ พร้อมทั้งต้องพร้อมเสมอที่จะรับฟังความคิดเห็นและไม่เป็นแก้วที่เต็มสำหรับความรู้ใหม่ๆ

 

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นของ Ms.Nienke แห่ง Boy Professionals Boarding and Training Kennel Chiangmai ติดต่อท่านได้ที่เบอร์โทร. 089-9978146 หรือ email : dogprofessionals@excite.com

สัตวแพทย์น้ำกร่อย ผู้แปล

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 49 ( ธันวาคม 2545 )

 

สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง สามารถเข้าร่วมกลุ่มฝึกสุนัข ฟรี!
ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.facebook.com /notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/รวมกลุ่มฝึก สุนัข-สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง/518611368176297

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/คุณสมบัติของผู้ฝึกสุนัข-Dog-Trainer-และ-ผู้แนะวิธีฝึกสุนัข-Dog-Instructor/512800545424046