ความเข้าใจพื้นฐานสำหรับผู้ฝึกสุนัข บทที่ 3

บทที่ 3 กลไกในสุนัขที่เรานำมาใช้เป็นประโยชน์ในการฝึก

สัญชาตญาณ

   เป็นการถ่ายทอดมาแต่กำเนิดโดยทางสายเลือด อาจเกิดจากการลองผิดลองถูก มักเกี่ยวพันกับการมีชีวิตรอดของสิ่งมีชีวิต ถ้าขาดสัญชาตญาณเหล่านี้แล้ว สัตว์ก็มักจะสูญพันธุ์ไป

   เราสามารถนำสัญชาตญาณบางอย่างมาใช้เพื่อการฝึกใช้งานได้ เช่น สัญชาตญาณในการล่าเพื่อเลี้ยงชีพ ของสุนัข

ปฏิกิริยา ( Reflex )

   เป็นเรื่องของการตอบสนองต่อสิ่งเร้าที่เกิดจากภายนอก ส่วนสัญชาตญาณ เป็นพฤติกรรมของสัตว์ ซึ่งเกิดจากอิทธิพลภายในตัวของสัตว์เอง เกี่ยวข้องกับระบบฮอร์โมนส์ ระบบประสาท ซึ่งทำการตอบสนองต่อสิ่งใดซึ่งหน้า โดยเฉพาะเจาะจงเป็นไปในทางเดียวกัน และซับซ้อน ต้องใช้การทำงานร่วมกันของอิริยาบทหลายๆส่วน ตัวอย่างเช่น ความหิว ความเจ็บปวด ความต้องการทางเพศ

   เราสามารถนำสัญชาตญาณต่างๆ มาใช้เป็นประโยชน์ในการฝึกสุนัขได้ ถ้าเรารู้จักสัญชาตญาณต่าง ๆ ของมัน ที่มาและการตอบสนอง เพื่อนำมาปรับปรุง และใช้ให้เป็นประโยชน์กับมนุษย์เอง 

   พฤติกรรมที่แสดงออกในชีวิตประจำวันของสัตว์ มีทั้งสิ่งที่แสดงจากการเรียนรู้ และสิ่งที่แสดงจากสัญชาตญาณ เช่น การกิน การดูดนม เป็นสัญชาตญาณ แต่การกินจากช้อนเป็นการเรียนรู้ การปัสสาวะ การถ่ายอุจจาระเป็นสัญชาตญาณ แต่การรู้จักเข้าห้องน้ำ เป็นการเรียนรู้

   การพัฒนาสัญชาตญาณ เป็นสิ่งที่เกิดสะสมกันมาเป็นเวลานานมาตลอดสายการพัฒนาของสิ่งมีชีวิต เพื่อการอยู่รอดจากการสูญพันธุ์ของสัตว์แต่ละชนิด และเราสามารถดึงมาใช้ให้เป็นประโยชน์ หรือคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีสัญชาตญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง รุนแรงกว่าปกติได้ เช่น สุนัขป่าเรียนรู้ในการต้อนสัตว์เพื่อนำมาเป็นอาหาร เราสามารถนำสัญชาตญาณนี้มาคัดเลือกให้เข้มข้นขึ้นในสุนัขเลี้ยงแกะ หรือนำสัญชาตญาณเกี่ยวกับการค้นหาและดมกลิ่นของสุนัขป่ามาพัฒนาให้เข้มข้นขึ้น และใช้งานในสุนัขสายพันธุ์ที่ต้องใช้ความสามารถของประสาทการดมกลิ่นรับรู้ สูง ๆได้

   เมื่อเราคัดเลือกสุนัขเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ติดต่อกัน โดยมีวัตถุประสงค์ที่แน่นอนได้ต่อเนื่องไปเป็นเวลานาน เราก็สามารถทำให้การตอบสนองจากสัญชาตญาณในสายพันธุ์นั้นๆ ให้เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆได้ และแม้แต่เปลี่ยนแปลงไปก็ได้เช่น ในเยอรมันเช็พเพอดสายพันธุ์เดิมที่พัฒนามาเพื่อการเลี้ยงแกะ แต่ในปัจจุบัน การพัฒนาสายพันธุ์มีวัตถุประสงค์เพิ่มมากขึ้น  แยกเป็นสายใช้ในงาน เลี้ยงแกะ งานนำทาง งานอารักขา และงานติดตามดมกลิ่น ( ยาเสพติด หรือ วัตถุระเบิด ) เป็นต้น

   เราไม่ได้สร้างสัญชาตญาณขึ้นมาใหม่ แต่เราคัดเลือกจากที่มันมีอยู่แล้ว และพัฒนาพันธุ์ให้มีสัญชาตญาณนั้นๆเข้มข้นขึ้น จนสามารถตอบสนองต่อการกระตุ้นหรือการฝึกได้อย่างง่ายดายกว่าสายพันธุ์อื่น ที่ไม่ได้ทำการคัดเลือกมาโดยเฉพาะ  เช่น สายพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดนี้ 

ความต้องการ

    ความต้องการที่เด่นมากในสัตว์แทบทุกชนิดคือ หนีให้พ้นจากอันตราย นี่อาจเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้ลูกสุนัขโดยธรรมชาติมักจะหนีจากคนถ้ามันไม่คุ้นเคย ดังนั้นเราจึงต้องทำให้มันเกิดความมั่นใจตั้งแต่ยังเด็กว่าคนไม่เป็นอันตราย จึงจะลดนิสัยนี้ได้ และทำให้เกิดความมั่นใจที่จะผูกมิตรกับคนได้ดีขึ้นในตอนโต การป้องกันนิสัยนี้ คือ ให้มั่นใจว่าคุณได้ให้การสัมผัสที่อบอุ่นอย่างเพียงพอกับลูกสุนัขทุกวัน

   ความกลัวเสียงปืน ก็เป็นการแสดงความต้องการหนีจากอันตรายอีกประการหนึ่ง การแก้ไขในกรณีนี้คือ ทำให้มันเข้าใจว่าเสียงปืนหรือกลิ่นดินปืนนั้นไม่ได้เป็นอันตราย จนถึงการทำให้มันเข้าใจว่าเป็นสัญญาณของความสุขหรือความพอใจ เช่น การให้รางวัล หรืออาหารแก่มันพร้อมกับได้ยินเสียงปืน ก็จะช่วยทำให้มันเปลี่ยนทัศนคติต่อความกลัวเดิมนี้ได้

ความหิวและกระหาย

   สุนัขสามารถทนความหิวกระหายได้มากกว่าที่เราคิดมาก อย่ากังวลนักกับการอดอาหารเพื่อประโยชน์ในการฝึก กลับจะเป็นประโยชน์กับสุขภาพของสุนัขด้วย ถ้ามันมีน้ำหนักมากเกินไป

   ความหิวและอิ่มของสุนัขเองมีผลอย่างยิ่งต่อการฝึกโดยใช้อาหาร สุนัขยิ่งหิวย่อมยิ่งสนใจต่ออาหาร และอาหารก็เป็นแรงจูงใจ หรือรางวัลที่มีค่ามากในขณะที่หิว

   จุดที่เหมาะสม ว่าควรจะให้สุนัขอดนานเท่าใด จึงจะทำให้สุนัขสนใจการฝึกอย่างเต็มที่ แต่ไม่หิวจนเกินไป ทำให้ดมหาเป้าไม่ถูก หรือหมดแรงที่จะทำนั้น เคยมีการทดลองพบว่า ให้สุนัขอดอาหารนาน 36 ชั่วโมงก่อนการฝึกจะได้ผลดีที่สุด

   ทั้งนี้ ผู้ฝึกต้องศึกษาอุปนิสัยของสุนัขแต่ละตัวประกอบด้วย ถ้าเป็น สุนัขที่ตั้งใจ หรือตะกละมาก อาจอดอาหารน้อยกว่านั้นก็ได้ผลดี 

ข้อควรระวัง ในกรณีที่สุนัขยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ ไม่ควรอดอาหารมันเกินกว่า 24 ชั่วโมง

   ข้อดีอีกประการของความหิวคือ สุนัขจะกระตือรือร้นในการฝึกมากกว่าสุนัขที่อิ่ม สำนวนที่ว่า หนังท้องตึงหนังตาหย่อนนั้น ใช้ได้ผลกับสุนัขโดยทั่วไปเช่นกัน ในสภาพธรรมชาติ เมื่อสุนัขหิวจะออกล่าเหยื่ออย่างเข้มแข็งอดทน จนกว่าจะได้เหยื่อที่เพียงพอกับความต้องการของมัน หลังจากนั้นก็จะนอนพักผ่อน

   การกระตุ้นให้เกิดความหิวในสัตว์นั้น นอกจากเงื่อนเวลาในการอด เราอาจทำให้สุนัขหิวเร็วขึ้นได้ ด้วยการออกกำลังกาย ซึ่งจะเป็นการทำให้ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดของสุนัขลดลง ก็จะไปกระตุ้นกลไกในร่างกาย ให้คอยสนองออกมาในรูปของความหิว การอดอาหารเป็นครั้งคราว หรือเป็นระยะๆ นั้น ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุนัขแต่อย่างใด

   ความหิวจะได้ผลดีในวันแรก ๆ ของการอด ถ้าเราให้อดนานขึ้น ความต้องการอาหารกลับลดลง เพราะกลไกในร่างกายสุนัขเริ่มปรับตัว ถ้าสุนัขต้องอดอาหารติดต่อกันถึง 4 วันแล้ว แรงกระตุ้นจากการใช้อาหารเป็นตัวล่อจะลดลงอย่างมาก

   ในการฝึกโดยใช้อาหาร ผู้ฝึกควรทยอยให้อาหารเป็นรางวัลทีละน้อย ๆ ไปเรื่อย ๆ เพราะถ้าให้ในปริมาณมากเกินไป จนสุนัขเริ่มอิ่มแรงจูงใจให้ทำตามคำสั่ง เพื่อแลกกับอาหารก็จะลดลงอย่างมาก

 

แหล่งที่มาข้อมูล : เอกสารประกอบการสัมมนา " การฝึกสุนัข " หน้า 7 - 9 โดย หมอไพบูลย์

 

สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง สามารถเข้าร่วมกลุ่มฝึกสุนัข ฟรี!
ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/รวมกลุ่มฝึกสุนัข-สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง/518611368176297

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/ความเข้าใจพื้นฐาน-สำหรับผู้ฝึกสุนัข/524588997578534