กระเพาะพลิก ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน

หมอไพบูลย์ ปะติดปะต่อ
ข้อมูลจาก Dog Fancy

แหล่งที่มารูปภาพ : http://www.pet-health-pro.com/dog-bloat.html

   อาการที่เป็นปัญหาอย่างรุนแรง และทำให้ได้ข่าวสุนัขตัวดัง และไม่ดัง ทั้งหลายมีอันต้องจากไปก่อนวัยอันควรอยู่เนือง ๆ ก็เห็นจะเป็นอาการที่เราเรียกกันว่า กระเพาะพลิก , ไส้บิด หรือในชื่อว่า Bloat. อาการที่พบ คือ สุนัขนอนอืด ระทดระทวย ลิ้นและเหงือก ซีด หายใจลำบากหรือไม่ก็ลาโลกไปเสียแล้ว ทั้ง ๆ ที่เมื่อคืน ยังดีดดิ้นดี ๆ อยู่เลย

   ถ้าเราผ่าเข้าไปตรวจดูภายในก็จะพบว่า กระเพาะของสุนัข มีขนาดขยายใหญ่มาก และบิดตัว เป็นผลให้บริเวณขั้วทั้ง 2 ข้าง คือ ปลายบน ที่ต่อกับหลอดอาหาร และปลายส่วนที่ต่อกับตอนต้นของลำไส้เล็กนั้นเกิดตีเกลียว คล้าย ๆ กับห่อทอฟฟี่ ทำให้อาหารที่ตกค้างอยู่ภายในและ gas ไม่สามารถระบายไปที่ใดได้

   ผลก็คือมีแรงดันเกิดเพิ่มขึ้นอย่างมากภายในกระเพาะอาหารนั้น และการบิดตัวของกระเพาะอาหารทำให้เส้นเลือดที่มาเลี้ยงกระเพาะอาหารและม้าม ซึ่งบางส่วนจะตีบตันลง ทำให้เกิดการคั่งของเลือดในบริเวณนี้เป็นจำนวนมาก และเลือดไหลไปหัวใจ  เพื่อสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ลดลง สุนัขก็จะเสียชีวิตอย่างทรมานจากการเจ็บปวด และขาดออกซิเจน

   ถ้าเราโชคดี ได้เห็นอาการของสุนัข เมื่อเริ่มเป็นใหม่ ๆ ได้แก่ การกระวนกระวาย ผุดลุกผุดนั่งน้ำลายยืด พยายามอาเจียนแต่ไม่มีอะไรออกมา และท้องเริ่มขยายผิดปกติ ก็อย่าได้รอช้าไปหาหมอได้เลย เพราะถ้าไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที มีแต่ตายสถานเดียว.

   ได้มีนักวิจัยของสหรัฐ คือ Dr. Larry Glickman ออกแบบสอบถามเป็นจำนวนเกือบ 2000 ราย เพื่อเปรียบเทียบหาข้อมูล เกี่ยวกับปัญหานี้ได้ข้อสรุปออกมาหลายประการ ที่น่าสนใจจริง ๆ เพราะเราท่านก็รู้อยู่ว่า สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดนี้ เป็นหนึ่งในพันธุ์ที่เสี่ยงกับการเกิดอาการนี้ได้ หากนำผลการวิจัยนี้มาใช้ประโยชน์ ก็ย่อมทำให้โอกาสจะเกิดเหตุการณ์นี้ลดลงได้  ไม่มากก็น้อย

  1. เริ่มจากปัจจัยแรก เรื่องของพันธุ์เราจะพบอาการนี้เกิดในสุนัขขนาดใหญ่มาก ๆ เช่น เกรทเดน หรือขนาดใหญ่ เช่น ร็อตไวเลอร์ ได้พอ ๆ กัน แต่ไม่ค่อยพบในสุนัขที่มีขนาดเล็กสุนัขพันธุ์เล็กที่มีโอกาสเป็นได้ก็มี คือพันธุ์ที่มีหุ่นแบบ Basset Hound หรือ Dachshunds ในการวิจัยพบว่า สุนัขโดยเฉพาะเกรทเดนมีโอกาสเกิดท้องอืดได้ถึง 42 % ใน 1 ชั่วอายุ หมายความว่าในชั่วอายุหนึ่งสุนัขเกรทเดน 10 ตัว มีโอกาสเกิดอาการนี้ได้ถึง 4 ตัว และในตัวที่เกิดอาการนี้ จำนวน 1/3 จะรุนแรงจนเสียชีวิต นับว่าน่าตกใจ เสียดายที่แกไม่ได้วิจัยพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด เราก็เลยไม่รู้ว่ามีโอกาสเสี่ยงสักเท่าไรในชีวิต   เราลองมาคิดเล่น ๆ ดู สุนัขตัวหนึ่ง ครั้งหนึ่งในชีวิตที่ไม่น่าพบพาน ถ้าดูค่าเฉลี่ยของสุนัขขนาดยักษ์ และใหญ่ โอกาสพบอาการนี้จะได้ออกมาประมาณ 23 – 26 % พันธุ์เยอรมันเช็พเพอดของเราก็น่าจะอยู่ในช่วงนี้ด้วย ถ้าคิดตามสูตรของ Dr. Glickman ก็จะได้ค่าประมาณ 1/4 จะเกิดอาการนี้ได้ และอีก 1/3 ของ 1/4 นี้จะเสียชีวิตจากอาการนี้ได้ก็ตกประมาณ 1/12 ก็ยังนับว่าเป็นจำนวนที่มากเอาการ   ปัจจัยที่เกี่ยวกับพันธุ์อีกประการหนึ่งก็คือหุ่น สุนัขที่มีช่วงท้องลึก แต่แคบ มีโอกาสเสี่ยงมากกว่าพวกที่มีช่วงท้องกว้าง อันนี้ยกตัวอย่างจากพันธุ์ Setter ซึ่งมีรูปร่างของท้องลึกและแคบกับพันธุ์ที่มีขนาดใกล้เคียงกัน คือ ลาบราดอร์  ซึ่งมีช่วงท้องกว้างและตื้นกว่าพบว่า Setter เสี่ยงกว่า ถ้ากรณีนี้เช็พเพอดเราก็เข้าเกณฑ์นี้อย่างจัง เหตุที่เสี่ยงกว่าเพราะช่วงที่ลึกนั้น มีพื้นที่ให้ลำไส้และกระเพาะได้มีโอกาส เคลื่อนที่และพลิกตัวได้ง่ายกว่า และไปสัมพันธ์กับปัจจัยอีกข้างหนึ่งเรื่องอายุด้วย ( ว่าจะว่าต่อไป )
  2. ปัจจัยที่ 2 คือ นิสัย และอารมณ์พบว่าสุนัขที่ขี้กลัวหรือเครียดได้ง่าย เสี่ยงกว่าสุนัขที่มีอารมณ์ดีแจ่มใส อาจจะพอเปรียบเทียบกับคนได้เวลาเราเกิดความเครียด ปัญหาที่มักแถมมาด้วย คือโรคกระเพาะ อันนี้ไปถามดูได้จากผู้บริหารยุค IMF ทั้งหลาย ถ้าคนเครียดแล้วลงกระเพาะได้ ทำไมสุนัขจะเครียดลงกระเพาะบ้างไม่ได้ แหมคิดแล้วก็ยังนับว่าเป็นบุญที่คนเรากระเพาะบิดได้ยาก ขืนบิดได้ง่าย ๆ อย่างสุนัข ก็คงยุ่งกันใหญ่
  3. ปัจจัยที่ 3 อายุพบได้ในทุก ๆ อายุ แต่ในสุนัขพันธุ์ใหญ่พบว่า จะเกิดขึ้นมาก เมื่อมีอายุถึง 3 ปี แต่อาจเกิดขึ้นได้เร็วตั้งแต่ 6 เดือน   การที่พบในสุนัขใหญ่ได้เร็วกว่าสุนัขเล็ก อาจเป็นเพราะสุนัขใหญ่นั้นโตไวแก่ง่ายตายเร็ว ไม่เหมือน……อ๊ะอ๊ะ เรารู้นะว่าคิดอะไรอยู่…… สุนัขพันธุ์น้อย   อีกเหตุหนึ่งก็คือ เมื่ออายุมากขึ้น พวกเส้นเอ็น พังผืด ตลอดจนกล้ามเนื้อต่าง ๆ ก็หย่อนยาน ไม่กระซับ ทำให้กระเพาะมีโอกาสเคลื่อนที่บิดได้มากขึ้นเป็นธรรมดา ปลง ๆ ซะ
  4. ปัจจัยที่ 4 พันธุกรรม   ในแง่พันธุกรรมในกรณีนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยอื่น ๆ อีกหลายประการ เพราะพันธุกรรมก็เป็นตัวกำหนด ขนาด รูปร่าง นิสัย ทำให้แยกเด็ดขาดได้ยากว่าเกี่ยวข้องมากน้อยแค่ไหน หรือไม่ 

การวิเคราะห์จากสุนัขรายตัว ( ไม่คำนึงถึงพันธุ์ )

  1. ปัจจัย เรื่องเพศ   พบว่า ทั้ง 2 เพศมีความเสี่ยงแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย โดยเพศผู้ พบมากกว่า เพศเมีย 14 % ส่วน การตอน หรือไม่ไม่มีผลแตกต่างเด่นชัด
  2. ปัจจัย เรื่องน้ำหนัก   พบว่า สุนัขที่มี น้ำหนัก น้อยกว่ามาตรฐานมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าที่มีน้ำหนักเฉลี่ยเท่ากับหรือสูงกว่ามาตรฐาน การที่สุนัข ที่มีน้ำหนักน้อยกว่ามาตรฐาน อาจเกิดจากการมีปัญหาในระบบทางเดินอาหารของมันเองหรืออุปนิสัยที่ขลาดกลัว  พบว่าเราจะเพิ่มน้ำหนักให้กับสุนัขที่ขลาดกลัวได้ยาก ( ผมขอแจมด้วยอีกหน่อย เพราะสุนัขที่อ้วนย่อมมีไขมันเกาะอยู่ตามอวัยวะภายในมาก ดังนั้นย่อมทำให้มีน้ำหนักถ่วงที่ตัวกระเพาะมากขึ้นและพื้นที่ภายในก็ลดลง เพราะไขมันดังกล่าวย่อมทำให้กระเพาะมีโอกาสพลิกได้ยากขึ้นด้วย )
  3. ปัจจัย เรื่อง ความเร็วในการกินอาหาร ( ความตะกละ ? )   สุนัขที่กินเร็วกว่า มีโอกาสเสี่ยงมากกว่า โดยคาดว่าเกิดจากการที่สุนัขกลืนอากาศเข้าไปด้วย ซึ่งเป็นทฤษฎีหนึ่งที่ใช้ อ้างเหตุในการเกิด Bloat แม้ว่าการเกิดอาการนี้มักจะไม่เกิดทันทีหลังอาหารก็ตาม ความสับสนของการเกิดอาการนี้ที่สำคัญก็คือ ทำไมกระเพาะอาหารจึงเกิดการขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว ?   จากสถิติพบว่า อาการนี้ มักไม่ได้เกิดทันทีหลังอาหารแต่พบว่า 70 % เกิดในช่วงดึกมาก หรือ ใกล้รุ่งเช้า และภายในกระเพาะที่โป่งพองนั้นส่วนใหญ่เกิดจากอากาศ ซึ่งมีเพียง 2 ทางเท่านั้นที่จะเกิดได้คือ จากการย่อย หมักของอาหาร และสุนัขกลืนอากาศเข้าไปเอง.   มีรายงานจากทางยุโรปว่า สุนัขที่มีปัญหาในการกลืนอาหาร จะกลืนอากาศตามเข้าไปเพื่อเกิดแรงดันให้อาหารไหลไปตามหลอดอาหาร
  4. ปัจจัยเรื่อง GASการเกิด gas มากในทางเดินอาหาร สุนัขก็จะสามารถขับออกได้ ทางการเรอ หรือ ผายลม ? ( อันหลังนี้ผมไม่ค่อยแน่ใจว่าเข้าใจถูกหรือไม่ ถ้า Dr. Glickman แกหมายถึงการผายลมจริง ๆ ละก็ทั้งแกและเจ้าของสุนัขที่ให้ข้อมูลนี้ต้องเป็นคนที่ละเอียด และมีความอุตสาหะเป็นอย่างสูงเพราะตัวผมเอง เลี้ยงสุนัขมาตั้งแต่เด็ก แน่นอนว่าเคยพบว่าสุนัขนั้นผายลมได้ แต่ไม่เคยตั้งใจติดตาม ( ดม ) ดูสักที ) พบว่าถ้าสุนัขเรอบ่อย จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ 60 %ถ้าสุนัขผายลมบ่อย จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ 20 % และอันสุดท้ายนี้สำคัญคือถ้าสุนัขมีท้องขยายออกหลังอาหารย่อย จะมีความเสี่ยงมากกว่าปกติ 80 %   Dr. Glickman เชื่อว่าการเกิดท้องอืดหรือกระเพาะบิดนั้น เกิดจากการกลืนอากาศเข้าไปมากเกินไป
  5. ปัจจัยทางพันธุกรรม   พบว่าสุนัขที่เป็นญาติใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ พี่น้อง ถ้ามีประวัติของการเกิดอาการนี้ผู้ร่วมพันธุกรรมนั้นมีโอกาสเสี่ยงเป็น 3 – 4 เท่าของปกติ แม้จะห่างไกลไปถึงระดับ ปู่ ย่า ตา ยายก็ยังมีผลอยู่บ้าง การวิเคราะห์จากพันธุ์ประวัติ ( Pedigree ) ทำได้ค่อนข้างยาก เพราะสุนัขมักเกิดอาการนี้ เมื่อมีอายุมากทำให้ไม่สามารถทราบได้ว่าสุนัขที่เรามีอยู่นั้น มีบรรพบุรุษที่จะเป็นโรคนี้ ( ทั้งในอดีต และในอนาคต) หรือไม่ ?   แต่ถ้ามีการเก็บข้อมูลที่ละเอียดพอ แล้วนำมาวิเคราะห์จะทำให้ทราบถึงความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะนี้ ไปสู่ลูกหลานได้
  6. ปัจจัย ด้านการจัดการ เลี้ยงดู   พบว่ามีความเสี่ยงมากขึ้น ในการควบคุมเรื่องการออกกำลังกาย ก่อนและหลังอาหาร กับเรื่องการให้น้ำ ก่อนและหลังอาหาร ถ้าสุนัขของคุณเป็นพวกที่มีปัจจัยเสี่ยง การจัดการเลี้ยงดูที่ถูกต้องอาจลดโอกาสเกิดอาการนี้ได้ เช่น การให้ยาป้องกันไว้ หรือทำให้อาหารชุ่มชื้น แต่มีปัจจัยหนึ่งที่น่าสนใจ และขัดกับความเชื่อโดยทั่วไปของผู้เลี้ยง คือ การยกจานอาหารขึ้นสูงนั้นทำให้เกิดความเสี่ยงมากขึ้น ในการเกิดอาการนี้ ยิ่งยกสูงมากเท่าไรยิ่งเสี่ยงมากขึ้นเท่านั้น  โดยเข้าใจว่าจานที่ยกสูงเกินไปนั้นจะทำให้สุนัขกลืนอากาศเข้าไปมากขึ้น
  7. จำนวนมื้อ   การให้อาหารทีละน้อยแต่บ่อยจะลดโอกาสในการเกิดอาการนี้ได้มากกว่า พบว่าถ้าแบ่งให้วันละ 3 มื้อ จะดีที่สุด อีกกรณีหนึ่งที่เขาสนใจแต่ไม่มีข้อมูลคือ การตั้งอาหารให้กินได้ตลอดเวลา เพราะไม่นิยมการให้อาหารแบบนี้ในสุนัขพันธุ์ใหญ่ ผลของจำนวนมื้อนี้ น่าจะเกิดจากการกินมากมื้อ ทำให้กระเพาะมีโอกาสขยายน้อยกว่า มื้อเดียว

การลดความเสี่ยง ทำได้โดย

  1. อย่าขยายพันธุ์สุนัขที่เป็นโรคนี้
  2. ถ้าสุนัขของคุณมีความเสี่ยงสูง แนะนำให้ไปทำการผ่าตัดเพื่อยึดกระเพาะ กันไม่ให้พลิก [ Gastropexy ] ( พร้อมกันนี้ก็ได้ให้ข้อแนะนำที่ คงไม่มีใครอยากปฏิบัติตาม เพราะถูกหลักการ แต่ไม่ถูกใจ คือ ให้ทำการตอนไปเสียด้วยเลยเพราะ ถ้าปล่อยให้ขยายพันธุ์ต่อไปก็จะทำให้สุนัขที่มีความเสี่ยงสูงสามารถขยายพันธุ์ออกไปได้เรื่อย ๆ เพราะไม่เกิดชะตาขาด จากกระเพาะพลิกอีกต่อไป ถ้าไม่อยากฝืนชะตาฟ้าลิขิต ก็ปล่อยให้เป็นไปตามดวงก็แล้วกัน อย่าไปผ่ง ไปผ่ามันเลย )
  3. ถ้าสุนัขของคุณกินอาหารเร็วให้หาทางลดความเร็วในการกินของมันลง เช่น เอาโซ่ที่มีน้ำหนักสักหน่อย และใหญ่พอควร ( พอควรในที่นี้ คือจะไม่กลายไปเป็นอาหารของเจ้าจอมตะกละไปด้วย ) เพื่อทำให้เกิดความลำบากในการกิน ทำให้สุนัขต้องค่อย ๆ เลียละเลียดเอาจะสวาปามแบบเดิมไม่ได้ ( ไม่ต้องกลัวเป็นเปรตเพราะแกล้งผู้อื่น เราทำด้วยจิตเมตตาปรารถนาดี ต่อตัวสุนัขเอง )
  4. สุนัขที่มีปัญหาทางอารมณ์ เช่น เครียดง่าย ขี้กังวล หรือ ขี้กลัว ควรได้รับการฝึก เพื่อพัฒนาอารมณ์ ในบางสถานการณ์ อาจใช้ยากล่อมประสาทช่วยได้
  5. กินให้น้อยแต่บ่อย แทนที่จะเป็นมื้อเดียว
  6. อย่ายกจานอาหารสูง
* สุนัขคุณเสี่ยงหรือไม่
  • พันธุ์ยักษ์ , พันธุ์ใหญ่
  • ลำตัวลึก แต่แคบ
  • มีปัญหาทางอารมณ์ ขี้ขลาด ขี้กลัว
  • กินเร็ว
  • มีประวัติท้องขยายมากหลังอาหาร
  • มีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว
  • มีบรรพบุรุษ , ญาติ ใกล้ชิดเป็น
  • สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์
* สุนัขที่มีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่
  • อารมณ์ แจ่มใสมีความสุข
  • น้ำหนัก ตามเกณฑ์ หรือ มากกว่า เกณฑ์เฉลี่ย
* การจัดการเพื่อลดปัญหา
  • แบ่งอาหารหลายมื้อ , อย่ายกจานอาหารสูง

การวางแผนป้องกัน

  • จดจำอาการ หรือ เขียนแปะไว้ในที่เห็นชัด อัตราการรอดชีวิตขึ้นอยู่กับการได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ถ้าเห็นว่าสุนัขของคุณอยู่ในกลุ่มเสี่ยง และมีอาการเข้าเค้าแล้วละก็ อย่าได้รอถึงเช้าแล้วค่อยไปหาหมอ จงไปทันที
  • เตรียมหาร้านหมอที่เปิดตลอด 24 ชม.ไว้ก่อน และจัดพาหนะให้พร้อม
  • ควรหาเบอร์โทร ของร้านหมอที่เปิด 24 ชม. ไว้ แล้วถ้าเกิดอาการขึ้นจะได้โทรไปนัดแนะอย่างน้อยหมอจะได้เตรียมอุปกรณ์ ระหว่างที่คุณกำลังเดินทางไป
  • ถ้าสุนัข ตัวโตเกินกว่าที่คุณจะแบกคนเดียวไหว เตรียมหาผู้ช่วยไว้ด้วย
  • ข้อสำคัญ อีกประการหนึ่ง คือ ควรศึกษาวิธีสอดท่ออาหาร หรือแทงเข็มเพื่อเจาะให้อากาศออกจากกระเพาะของสุนัขได้ โดยเฉพาะถ้าคุณต้องใช้เวลามากในการเดินทาง

การปฐมพยาบาล

  1. อันดับแรกถ้าทำได้ควรพยายามสอดท่ออาหารเข้าไปในกระเพาะ แต่ในทางปฏิบัติทำได้ค่อนข้างยาก เพราะหลอดอาหารมักจะตีเกลียวจนไม่สามารถสอดเข้าไปได้ง่าย ๆ
  2. ต่อมา คือใช้เข็มแทงโดยใช้เข็มเบอร์ใหญ่ และยาวแทงเข้าไปในบริเวณช่องท้องที่เห็นขยายโป่งออก เพื่อปล่อยให้ gas ที่อัดอยู่ในกระเพาะออกมาได้ อาจไปขออุปกรณ์ และคำแนะนำได้จากสัตวแพทย์ของคุณ คุณไม่ต้องกังวลว่า จะทำให้สุนัขได้รับบาดเจ็บหรือเสียเลือดมากจนตายให้เกินไปนัก เพราะถ้าคุณไม่ทำ เมื่อเห็นอาการของสุนัขอย่างชัดเจนแล้ว มันก็จะตายอยู่ดี ถ้าคุณทำสำเร็จมันจะช่วยยืดเวลาได้มากก่อนจะถึงมือหมอ

การรักษา เต็มรูปแบบ

( โดยการเปิดช่องท้อง เอาอาหารที่ตกค้างออก จัดตำแหน่งกระเพาะอยู่ที่เดิม และยึดติดไว้เพื่อกันไม่ให้พลิกได้อีก ) อาจไม่จำเป็นต้องทำทุกครั้งแต่สุนัขที่เคยมีประวัติเป็นแล้วก็มักจะเกิดเป็นซ้ำได้อีก จึงสามารถป้องกันโดยกการตรึงกระเพาะไว้ไม่ให้พลิกได้อีกต่อไป สุนัขที่ถูกตรึงกระเพาะแล้วก็อาจจะท้องอืดได้อีก แต่จะไม่รุนแรงถึงกับเสียชีวิต สุนัขที่เคยเป็นแล้วไม่ได้ตรึง

กระเพาะไว้มีโอกาสจะเกิดอาการนี้ได้อีกครั้งภายใน 1 ปี ถึง 90 % แต่ถ้าได้ตรึงกระเพาะไว้แล้ว จะมีโอกาสเกิดได้เพียง 2 – 4 % ในต่างประเทศ ถ้าสุนัขมีปัจจัยเสี่ยงสูง อาจทำการผ่าตรึงกระเพาะไว้ตั้งแต่ยังไม่ได้แสดงอาการเพราะจะทำได้ง่าย และค่าใช้จ่ายถูกกว่า ทำในขณะเกิดอาการแล้วมาก

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 45 ( กันยายน 2543 )

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม : http://www.pet-health-pro.com/dog-bloat.html

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/กระเพาะพลิก-ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกัน/516915851679182