เรื่องน่าจะรู้ ... แต่อาจไม่น่าจะอ่าน เกี่ยวกับโรคทางพันธุกรรม (Genetic Disease)

เพราะมันไม่ใช่นิยาย และคนเล่าก็ไม่ใช่นักเล่านิทาน
แต่มันเป็นข้อเท็จจริง ที่เล่าโดยคนที่ค่อนข้างจริงจัง
ก็เลยอาจจะจืดชืดไร้รสชาติ.....แต่ความจริง..
มันคือข้อมูลที่มีประโยชน์ ที่อยากให้คนเลี้ยงหมา ได้อ่านไว้

รู้ไว้ ก็ใช่ว่า....จะต้องมายกใส่บ่า..และแบกหาม

ไหนๆ เช็พเพอดของเรา ก็ได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนโลก ในเรื่องของโรคทางพันธุกรรม
เป็นที่เข็ดขยาด หวาดระแวง แก่คนทั่วไป จนเรียกขานกันติดปากว่า..เช็พเพอดหมาขี้โรค 

พวกเรา คนเลี้ยงและรัก เช็พเพอด ก็ควรหาโอกาส ทำความรู้จักคุ้นเคย
กับคำว่า กรรมพันธุ์ หรือ โรคทางพันธุกรรม กันไว้พอเป็นสังเขป
ไม่จำเป็นต้องรู้ละเอียดลึกซึ้ง ถึงขั้นนักวิชาการ
เอาแค่ได้ยินคำนี้แล้ว ก็พอเข้าใจความหมายที่แท้จริงบ้างตามสมควร

ถ้าหมาของเรา ถูกหมายหัวว่า เป็นโรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม
จะได้ตั้งสติ พิจารณาได้ว่า เรากำลังรับมือกับอะไรอยู่
ไม่งันงกตกใจ ฟูมฟายสติแตก จนเกินกว่าเหตุ

เพราะโรคทางพันธุกรรมนั้น มันไม่ได้มีแค่ โรคฮิตติดอันดับ
อย่าง Hip Dysplasia แต่มันมีอีกเยอะแยะ มากมายหลายโรค
ที่เรายังไม่เคยรู้จัก ไม่เคยได้ยิน แต่อาจจะมีหมาที่เลี้ยงอยู่เคยเป็นมาแล้ว

ซึ่งในที่สุด ทั้งหมอ ทั้งเจ้าของหมา ก็สรุปกันว่า หมามันเป็นโรค " อะไรก็ไม่รู้ "
หรือว่าโรค " รอผลเลือด " หรือ โรค " ยังไม่แน่ใจ " ..ฯลฯ...ฯลฯ

โรคทางพันธุกรรม ที่มักจะพูดกันติดปากนั้น
มันมีอะไรที่น่าสนใจศึกษาอยู่มากเหมือนกัน
ในเรื่องความหลากหลาย และความผกผันเปลี่ยนแปลง
ของ หน่วยชีวพันธุกรรม หรือ Genes ...ตัวเอกของเรื่อง

เริ่มแรกนี้ เรามาคุยกันถึงความหมายทั่วๆไป ของคำว่า โรคทางพันธุกรรม ก่อน
ต่อไปจะได้แยกแยะ ให้เข้าใจกันชัดเจนอีกระดับหนึ่ง
ว่า โรค ( ที่เรียกกันว่า ) ทางพันธุกรรม นั้น แต่ละโรคมันมีลักษณะเฉพาะของมันอย่างไร

อ้อ..ต้องบอกกันก่อนว่า เราคุยกันแบบภูมิปัญญาชาวบ้านเด้อ
ไม่ใช่นักวิชาการ หรือศาสตราจารย์ นายสัตวแพทย์..ฯลฯ

แต่ก็มีที่อ้างอิง ที่มา ที่ไป พอน่าเชื่อถือได้ในระดับหนึ่ง
ไม่ได้นั่งเทียนเขียนเอาเองหรอกนะ

โรคที่สืบทอดทางพันธุกรรม

คนเลี้ยงสุนัขทั่วๆไป มักจะเหมารวมปัญหาด้านสุขภาพ ที่ดูเหมือนจะสืบทอดมาตามสายเลือด
ว่า มันคือ โรคทางพันธุกรรม หรือ โรคที่เป็นกรรมพันธุ์ ( Genetic Disease )
คือ โรคที่ส่งผ่านโดยมีหน่วยชีวพันธุกรรม หรือ ยีนส์เป็นตัวกำหนด

ซึ่ง แม้ว่าโรคแบบนี้ จะมีอยู่จริงๆ แต่ก็ยังคงมีความหลากหลายของปัญหา
หรืออาการของโรค ในหลายรูปแบบ ที่แม้จะ สืบทอดทางสายเลือดได้
แต่ก็มีต้นเหตุ ที่มาของปัญหา ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

การที่จะรับมือกับปัญหา หรืออาการที่เกี่ยวข้องกับโรคทางพันธุกรรมต่างๆนั้น
ต้องทำความเข้าใจเรื่องของ หน่วยพันธุกรรม ( Genotype )
และ ลักษณะทางกายภาพตามกรรมพันธุ์ ( Phenotype )
ซึ่งผู้คนมักจะพูดรวมๆกันไปเป็นเรื่องเดียว

**ความผิดปกติ ( บกพร่อง ) ของกระบวนการเผาผลาญพลังงาน ( Metabolism ) :
 โรคที่เป็นพันธุกรรม ( Genetic Disease ) ของแท้

เมื่อระบบในร่างกาย ไม่สามารถเผาผลาญเพื่อเปลี่ยนแปลง กรดอะมิโนบางอย่าง
ทำให้เกิดการสะสม อยู่ตามผิวหนัง และกระดูกอ่อน อันนำไปสู่อาการ ข้ออักเสบ
ส่วนที่เหลือ ก็ถูกขับออกทางปัสสาวะ

การที่ร่างกายไม่สามารถเปลี่ยนแปลงและดูดซึมสารอาหารไปใช้ได้นี้
เป็นเพราะ ร่างกายไม่ผลิตเอนไซม์ ตัวที่ใช้เฉพาะในการย่อยสารอาหารนั้นๆ นั่นเอง

โรคที่เกิดจากสาเหตุแบบนี้ มีหลายโรค หลายอาการ
บ้างก็สามารถ ป้องกันได้ ด้วยการควบคุมอาหาร อย่างถูกต้องเหมาะสม
บ้างก็ไม่สามารถป้องกัน หรือ รักษาได้เลย

ทั้งที่เมื่อแรกเกิด ดูปกติดีทุกอย่าง แต่จะเริ่มมีอาการ และเป็นหนักขึ้นเรื่อยๆ
จนอาจจะถึงเสียชีวิต ภายในอายุ ไม่เกินสามปี โดยไม่มีทางรักษา ก็มี

อาการของโรคเหล่านี้ ส่วนใหญ่ หรือเกือบทั้งหมด
เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงลักษณะ ( Mutations ) ของหน่วยชีวพันธุกรรม ( Genes )
ซึ่งนำไปสู่ ความผิดปกติในกระบวนการผลิตเอนไซม์
ทำให้ได้เอนไซม์ที่ทำงานบกพร่อง ไม่เป็นไปตามที่ควร
หรือ อาจจะไม่ผลิตเอนไซม์ที่จำเป็นต้องใช้เลยด้วยซ้ำ

กรณีที่มียีนส์ในคู่ ไม่เหมือนกัน ( Heterozygote )
ยีนส์ตัวที่ดี ในคู่นั้น ก็ยังสามารถผลิตเอนไซม์เพียงพอสำหรับใช้ในสถานการณ์ปกติได้
แต่ในบางกรณี เอนไซม์ที่ผลิตได้อาจจะไม่พอเพียงในการย่อยกรดอมิโนตัวใดตัวหนึ่ง
การเลี้ยงดู ก็จำเป็นต้องเพิ่มความระวังดูแลเรื่องอาหาร
ซึ่งก็จะช่วยได้มาก จนบางตัวแทบจะไม่แสดงอาการของโรคให้ปรากฏ

การเปลี่ยนแปลงลักษณะของหน่วยชีวพันธุกรรม หรือ Mutations นี้
ไม่ใช่จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการเผาผลาญเพื่อการเปลี่ยนแปลงพลังงาน ( Metabolism ) เท่านั้น
บางกรณีก็เกี่ยวข้องไปถึงโปรตีนซึ่งเป็นโครงสร้างหลัก ภายในเซล และเนื้อเยื่อ
นอกจากนี้ ยังรวมไปถึง หน่วยชีวพันธุกรรม ( Genes ) ที่ควบคุมกระบวนการพัฒนาโครงสร้าง
และระบบกลไกการทำงานในร่างกาย ที่ถูกต้องเหมาะสม   

ซึ่งในกรณีนี้ อาจจะนำไปสู่ปัญหาเกี่ยวกับโรคลิ้นหัวใจบกพร่อง หรือ ปัญหาไตไม่พัฒนาอย่างสมบูณ์เมื่อโตขึ้น 
โรคเหล่านี้ นับได้ว่าเป็น โรคทางพันธุกรรม เพราะมันคือ....

โรคที่เกิดจาก การเปลี่ยนแปลงลักษณะของหน่วยชีวพันธุกรรมหนึ่ง
ที่มีผลกระทบโดยตรงต่อปัญหาใดปัญหาหนึ่งโดยเฉพาะ

ความผิดปกติของลักษณะทางกายภาพ :
โรคจากผลของการคัดเลือกคู่ผสมพันธุ์ไม่เหมาะสม ( ผิดธรรมชาติ )

อาการของโรค หรือ ปัญหาทางร่างกาย เช่น โรค กระเพาะพลิก หรือ Bloat ( ซึ่งทำให้ท้องอืดจากแก๊สที่อัดแน่นในช่องท้อง )
และ โรคข้อตะโพกวิการ หรือ Hip Dysplasia
เป็นปัญหาที่ มีต้นเหตุ ส่วนหนึ่ง เกิดจากพันธุกรรม อย่างแน่นอน...
แต่ก็ไม่ทั้งหมด โดยบางส่วน มีผลกระทบ จากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมในการดำรงชีวิตร่วมด้วย
อาจกล่าวได้ว่า  ได้รับอิทธิพลเพียง บางส่วน มาจากหน่วยชีวพันธุกรรม ( Genes )
 นั่นเอง

โรคกระเพาะพลิก ไม่ใช่ โรคทางพันธุกรรม ( Genetic Disease )
ในความหมายเดียวกับเรื่องเกี่ยวกับการเผาผลาญเพื่อเปลี่ยนแปลงพลังงาน ( Metabolism ) ที่พูดถึงไปแล้ว
เพราะ เราไม่สามารถระบุชัดเจนลงไปได้ ว่า หน่วยชีวพันธุกรรมหน่วยใดหน่วยหนึ่ง ที่เป็นสาเหตุโดยตรงของ โรคกระเพาะพลิก

เปรียบเทียบได้กับโรคเกี่ยวกับระบบย่อยอาหารในคน
บางคน เป็นแบบที่เรียกกันว่า ธาตุอ่อน คือ หากได้รับอาหารที่ไม่เคยชิน ก็จะท้องเสียง่ายกว่า กลุ่มที่เรียกกันว่า ธาตุแข็ง
ซึ่งลักษณะเฉพาะตัวแบบนี้ ก็มีแนวโน้มความเป็นไปได้ ที่จะมีส่วนที่สืบทอดทางพันธุกรรม
แต่ยังมีบางส่วนที่เกิดจากองค์ประกอบอื่นๆร่วมด้วย
มีผลงานวิจัย ที่แสดงให้เห็นว่า โรคกระเพาะพลิก ( Bloat ) นี้ มีสาเหตุร่วมที่สำคัญ จาก อาหาร , พฤติกรรม และ ลักษณะทางโครงสร้างของสุนัขตัวนั้นด้วย

ในที่นี้ จะเน้นเรื่องของโครงสร้างกันก่อน
จากผลงานวิจัย แสดงถึง แนวโน้มของสุนัขที่เป็นโรคกระเพาะพลิก
ว่า จะสูงมากขึ้นตามขนาดตัว และสัดส่วนความลึก-กว้างของช่องอก ของสุนัข
ซึ่งสิ่งเหล่านี้ คือ ปัญหาของลักษณะทางโครงสร้างร่างกาย ไม่ใช่ โรคทางพันธุกรรม

จริงอยู่ ที่พัฒนาการโดยรวม ของลักษณะโครงสร้างร่างกาย
จะถูกควบคุมโดย หน่วยชีวพันธุกรรม ( Genes ) ,
แต่ก็ ไม่ใช่ หน่วยใดหน่วยหนึ่งโดยเฉพาะ
อาจจะมีเป็นสิบ เป็นร้อย หน่วยชีวพันธุกรรม
ที่ควบคุม รูปร่าง และ ขนาด ของ  หัว , ลำตัว , แขน , ขา ฯลฯ ของสุนัขแต่ละตัว
หน่วยชีวพันธุกรรมที่หลายหลายนี้เอง
ที่ทำให้ผู้เพาะพันธุ์ สามารถคัดเลือกคู่ผสม เพื่อให้ได้ รูปร่าง ขนาด สีสันที่สวยงามน่าพอใจ   

หากผู้เพาะพันธุ์ นิยมชมชอบ สุนัขที่มีโครงสร้าง สูงใหญ่ มีส่วนอกลึกมากๆ
ก็จะพยายามคัดสรรสุนัขที่มีขนาดและโครงสร้างแบบที่ชอบ สำหรับผสมพันธุ์สืบต่อไป
ผลก็คือ ในอนาคต ก็จะมีสุนัขที่มีโครงสร้าง ที่เสี่ยงต่อ การเป็นโรคกระเพาะพลิก มากขึ้นๆ

ทำไมจึงบอกว่า  

สุนัขที่ โครงสร้างสูงใหญ่ และช่องอกลึกๆ
จึงมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคกระเพาะพลิกได้ง่าย ??

ก็เพราะในสุนัขโครงสร้างแบบนั้น จะมีที่ว่างในช่องอกไปจนถึงช่องท้องมาก
เอื้ออำนวย ให้กระเพาะกลิ้งไปกลิ้งมาได้สบายมากไปด้วย

สุนัขที่มีนิสัยการกินที่กินเร็ว ลุกรี้ลุกรน และมักจะงับเอาอากาศเข้าไปด้วยมาก
หลังกินอาหารเสร็จ ก็ชอบกระโดดโลดเต้น วิ่งไปมา ทำให้กระเพาะขยับไปตามแรงเหวี่ยง

ถ้าโชคร้ายได้จังหวะพอดี กระเพาะแกว่งพลิกไปแล้ว ไม่พลิกกลับ
อย่างที่บอกว่าในช่องอกและช่องท้องมีที่ว่างมากพอให้กระเพาะกลิ้งได้

กระเพาะก็จะบิด ทำให้ช่วงหัวท้ายบล๊อคอยู่ อาหารก้จะไม่ผ่านตามกระบวนการย่อยปกติ
แก๊สในกระเพาะก้จะเพิ่มมากขึ้น โดยไม่มีทางระบายออก เลือดก็จะไม่ไหลเวียนในระบบตามปกติ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสุนัขมีอารมณ์ไม่มั่นคง ขี้ระแวง เครียดง่าย
แก๊สในกระเพาะก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวกับคน

สรุปได้ว่า  

โรคนี้ มีต้นเหตุที่เริ่มจาก หน่วยพันธุกรรมหรือยีนส์ที่กำหนด และควบคุมพัฒนาการ รูปร่างลักษณะโครงสร้างของสุนัข
ให้มีขนาดใหญ่โต และมีช่องอกที่ลึก แคบ อันเป็นลักษณะที่เสี่ยงต่อ อาการกระเพาะพลิก ได้ง่าย
โดยมีส่วนประกอบจากสิ่งแวดล้อม และพฤติกรรมการกินอาหาร ตลอดจนอารมณ์ของสุนัขร่วมด้วยดังอธิบายมาแล้ว

โรคประเภทนี้ จึงอาจเรียกได้ว่า เป็นโรคที่เกิดจาก ลักษณะทางกายภาพตามพันธุกรรม ประกอบกับพฤติกรรมและสิ่งแวดล้อม...นั้นแล

วิธีลด หรือ แก้ไขปัญหาของโรค กระเพาะพลิก นี้ ก็ทำได้ง่ายๆ
แค่ หยุดผสมพันธุ์สุนัข ที่ โครงสร้างมีความเสี่ยงต่อโรคกระเพาะพลิก
และ เลือกเพาะพันธุ์สุนัขให้มีขนาดปานกลาง และมีโครงสร้างของช่องอกที่ไม่ลึก และแคบมากเกินไป

ความคิดแบบนี้ อาจถูกมองว่า เป็นการถอยหลังเข้าป่า
แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็น ที่เราต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง
ว่า จะเพาะพันธุ์โดยคัดเลือกคู่ผสมให้มีโครงสร้างที่เสี่ยงต่อโรคนี้ลดลง
หรือจะเพาะพันธุ์ให้ได้สุนัขที่มีโครงสร้างที่ชอบ หรือเป็นความนิยม โดยไม่คำนึงถึงผลที่จะตามมา

ไม่ต้องเสียเวลามาถกเถียงกัน ในแง่ความเป็นไปได้
ว่า สุนัขที่มีโครงสร้างแบบอื่น ก็อาจจะมีหน่วยชีวพันธุกรรม
ที่จะมีความเสี่ยงต่อโรคกระเพาะพลิกแฝงอยู่ได้เหมือนกัน
เพราะถ้าจะมาถกเถียงกันในเรื่องนี้ ก็ไม่มีวันจบ

แต่ความเป็นจริง อันเป็นสัจธรรมที่เถียงไม่ได้ ก็คือ 

การคัดเลือกจับคู่ผสมพันธุ์ เพียงเพื่อให้ได้รูปร่างลักษณะ โครงสร้างตามความพอใจ
โดยไม่ได้คำนึงถึงการทำงานตามธรรมชาติของมันนั้น
ถือเป็น หายนะของสายพันธุ์ ทีเดียว

สัตว์นักล่าตามธรรมชาติ อย่างสุนัขป่า จะเคลื่อนไหวอย่างคล่องแคล่ว
ไม่มีการงุ่มง่ามเงอะงะ หรืออืดอาดยืดยาด
ตัวไหนที่ไม่เหมือนพวกพ้อง ก็จะถูกกำจัดไปเองโดยอัตโนมัติ
ด้วยสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติของป่า   

ระบบการทำงานของโครงสร้างกระดูก และกล้ามเนื้อของ สุนัขป่าทั่วไป
ถูกพัฒนามานานนับพันปี ให้มีความเหมาะสม เพื่อการใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพ

แน่นอนที่ ความแปรผัน ในการรวมตัวของหน่วยพันธุกรรมที่หลากหลาย
ย่อมทำให้มีความแตกต่างในผลลัพธ์ที่ออกมาเสมอ ไม่มากก็น้อย     

จึงไม่มีลูกสุนัขป่า ( รวมไปถึงสัตว์อื่นๆในโลก ) ครอกไหน
ที่ออกมาเหมือนกันเป๊ะไปหมดทุกตัวทั้งครอก
อาจมีบางตัวที่มีความว่องไวและมีประสิทธิภาพในการล่าสูงมากเป็นพิเศษ
บางตัวก็ปานกลาง และอาจจะมีตัวที่เคลื่อนไหวเชื่องช้าผิดพี่น้อง
ย่อมเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ทั้งนั้น

ส่วน ในโลกของการประกวดสุนัขด้านความสวยงามของโครงสร้างร่างกาย
ผู้เพาะพันธุ์ สามารถคัดเลือกเอาสุนัขที่มีรูปร่างลักษณะสวยงามในแบบที่นิยมสูงสุดในยุคนั้น
ทั้งพ่อ และแม่มาจับคู่ผสมกัน เพื่อให้ได้ลูกที่มีลักษณะ ( สวยงาม ) สุดโต่ง ของทั้งพ่อ และแม่  

เมื่อมีการรวมตัวกันของหน่วยพันธุกรรม
ที่มีลักษณะสุดโต่งทั้งพ่อและแม่เข้าด้วยกัน
ย่อมเกิดสิ่งที่สวยงามที่สุด ของความสุดโต่ง

ซึ่ง ในความสุดโต่งของพ่อและแม่นั้น
ได้มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะทางพันธุกรรม
ตามธรรมชาติดั้งเดิมไปส่วนหนึ่งแล้ว     

เมื่อนำสิ่งที่มีการเปลี่ยนแปลงแล้ว สองสิ่งมารวมกัน
ย่อมเกิดเป็นสิ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงมากขึ้นกว่าเดิมไปเรื่อยๆ
( กรณีที่มีการจับคู่ผสมพันธุ์เพื่อวัตถุประสงค์นี้ต่อไปอีก )  

ผลลัพธ์ที่ตามมา คือการที่โครงสร้างร่างกายถูกทำให้เปลี่ยนแปลง
ไปจากธรรมชาติดั้งเดิมมากขึ้น....มากขึ้น.....
จนอาจถึงขั้น ผิดรูปไปเลยในช่วงพัฒนาการของลูกสุนัข
( ยกตัวอย่างเช่น ลักษณะ หลังที่โค้งมากเกินไป หรือ hock ที่ยาวมากเกินไป )

กรณีที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น ปัญหาไม่ได้เกิดจาก หน่วยพันธุกรรมที่บกพร่อง หรือ เป็นโรคทางพันธุกรรม
แต่เป็นการจับคู่ผสมพันธุ์ที่ทำให้เกิดผลที่ผิดธรรมชาติ อันเป็นการนำหายนะมาสู่สายพันธุ์ ที่รักของเรานั่นเอง

อือมมม...เรื่องมันไม่น่าอ่านจริงๆเสียด้วยซี
ไม่มีการตอบรับเลย...แต่ก็ไม่เป็นไร
เป็นเรื่องธรรมดา ถ้าเรื่องไหนไม่ฮา..เรื่องนั้นก็ไม่ฮิต

ถ้าใครโชคร้ายผ่านเข้ามาอ่าน
และได้เก็บเกี่ยวเอาอะไรๆไปได้บ้างพอให้รกสมอง
ผู้เล่าเรื่องนี้..ก็ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว

เอาละ...จะลองพยายามสรุปให้สั้นที่สุด และเข้าใจง่ายที่สุดกัน
เอาให้จบได้ภายใน สักสองบรรทัด.....เพื่อไม่ให้น่าเบื่อหน่ายไปกว่าที่เป็นอยู่

โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือกรรมพันธุ์ มีสองประเภทหลักๆคือ

  1. โรคที่ ถ่ายทอดโดยหน่วยพันธุกรรม ( Genes ) ที่ถูกเปลี่ยนแปลง ( Mutations ) และมีผลกระทบต่อระบบการทำงานของร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่ง ( หรือหลายส่วน ) โดยตรง
  2. โรคที่ ถ่ายทอดโดยหน่วยพันธุกรรม ( Genes ) ปกติ ที่ควบคุมรูปร่างลักษณะ ส่วนใดส่วนหนึ่ง ( หรือหลายส่วน ) ของร่างกาย และมีผลให้เกิดรูปร่างลักษณะ ที่ทำให้เกิดโรคนั้นๆได้

อันว่าประโยชน์ของเรื่องนี้ มันก็มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล อย่างที่คาดไม่ถึง

ถ้าผู้เลี้ยง หรือ ผู้เพาะพันธุ์ เข้าใจในธรรมชาติของ โรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ชัดเจนขึ้น พอสมควรแล้ว

** ผู้เลี้ยง หรือผู้ที่คิดจะหาซื้อลูกสุนัขมาเลี้ยง ก็จะรู้ว่า ควรจะใสใจเป็นพิเศษต่อสิ่งใดบ้าง ในการทำการบ้าน ก่อนซื้อลูกสุนัขสักตัว
และ
** ผู้เพาะพันธุ์ที่มีจรรยาบรรณ ที่ตั้งใจเพาะพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกสุนัขที่มีคุณภาพดี มีความเสี่ยงต่อโรคทางพันธุกรรมน้อยที่สุดนั้น
ก็จะสามารถหาแนวทาง ในการวางแผนการผสมพันธุ์ โดยคัดสรรคู่ผสมที่เหมาะสมกับ สายของตนเองให้มากที่สุด

นอกเหนือไปจาก ธรรมชาติการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ที่เล่ามาแล้ว
ยังมีเรื่องน่าสนใจ ที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์ต่อเนื่อง ไป อีกเรื่องหนึ่ง คือ  

ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม หรือ Heritability
ที่เราเคยได้ยินบรรดาบรีดเดอร์ หรือเซียนเขาคุยกัน ว่า ตัวนั้นถ่ายลูกดี ตัวนี้ ไม่ถ่าย

เรื่อง ถ่ายดี , ถ่ายไม่ดี , หรือไม่ถ่าย นั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องท้องผูกท้องเสียแต่อย่างใด
แต่ หมายความถึง ความสามารถเฉพาะตัว ในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม ไปสู่ลูกหลาน

ซึ่งจะมาเล่าสู่กันฟังต่อไป...หลังจากพัก หายเบื่อ จากนิทานเรื่อง โรคทางพันธุกรรม ( Genetic Disease )

เรื่องที่เกี่ยวข้องสืบเนื่องกับ..โรคทางพันธุกรรม หรือ Genetic Disease..ขั้นต่อมาก็คือ เรื่องของ........   

ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ( Heritability )

เราคงเคยได้ยินบ่อยๆ ที่ผู้คนทั่วๆไป มักจะพูดถึง โรค ที่ ( เชื่อกันว่า ) เป็นกรรมพันธุ์ ว่า  

ถ้าสุนัขตัวไหน ปลอดจากยีนส์ของโรคที่เป็นกรรมพันธุ์ นั้นแล้วละก้อ...ไม่ว่าจะเลี้ยงดูอย่างไร ในสิ่งแวดล้อมแบบไหน ก็ไม่มีทางเป็น ( แสดงอาการ ) โรคนั้นๆได้ และ

ถ้ามียีนส์ของโรคนั้นๆอยู่ในสายเลือดแล้ว แม้จะเลี้ยงดูให้เลิศเลอเปอร์เฝคขนาดไหน ก็จะต้อง เป็น หรือ แสดงอาการ ของโรคนั้นจนได้สักวันแหละน่า

เมื่อเข้าใจดังนั้นแล้ว......หาก เกิดได้ทราบว่า สุนัขของตัวเอง มีอาการของโรคทางกรรมพันธุ์
หรือ มีคนบอกว่า เป็นโรคทางกรรมพันธุ์ หรือบังเอิญได้รู้ว่า บรรพบุรุษของมันเป็นโรคนี้
เจ้าของสุนัข ผู้โชคร้าย ตัวนั้น ก็มักจะหมดอาลัยตายอยาก หดหู่สิ้นหวัง ซังกะตาย หายอยาก เลี้ยงไปเลย

ความเข้าใจดังกล่าวนั้น  ก็ถูกต้องอยู่.......ส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังมี ส่วนรายละเอียดปลีกย่อยอื่นๆ อีกมากมาย
ที่ ผู้เลี้ยง และ ผู้เพาะพันธุ์ ควรเปิดโลกทรรศน์ มุมมอง และ รับรู้ข้อมูล ส่วนที่แตกต่างจากที่เคยรู้ , เคยเข้าใจ ไปบ้าง
เพื่อจะได้มองเห็น และ เข้าใจถึงลักษณะที่แท้จริงของการเกิด , การพัฒนาอาการ และการแสดงให้ปรากฏ ของโรคทางพันธุกรรม
เพื่อ ประโยชน์ที่จะช่วยให้สายพันธุ์ที่เรารัก มีคุณชีวิตในภาพรวมที่ดี ( แม้จะเป็นโรคทางพันธุกรรม ) ได้เท่าเทียม หรือดีกว่า สุนัขปกติทั่วไป        

เมื่อพูดถึง การถ่ายทอดลักษณะโดยทางพันธุกรรม ( inherited characteristics ) และ ผลกระทบอันเนื่องมาจากจากสิ่งแวดล้อม ( environmental effects)
ผู้เลี้ยง และผู้เพาะพันธุ์ ก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำความเข้าใจในเรื่องพวกนี้ให้ดี ก่อนที่คิดจะผสมพันธุ์   

ก่อนอื่น ต้องเข้าใจ และแยกแยะความหมายที่แตกต่าง ของ ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ( heritability ) และ การรับสืบทอดทางพันธุกรรม ( inheritance ) ให้ชัดเจน   

ลองนึกถึง โรคข้อตะโพกวิการ หรือ Hip Dysplasia ที่ส่งผ่านโดยทางหน่วยพันธุกรรม ( Genes ) 100 %
แต่ลักษณะอาการของโรคนี้ ไม่ได้เป็นไปตามที่คาด.ทั้ง 100 % ( โดยการเอ็กซเรย์ )
ข้อที่น่าคิด ข้อแรก คือ มีการรับสืบทอดลักษณะทางพันธุกรรม อย่างไร และ
อีกข้อหนึ่งคือ ลักษณะทางพันธุกรรมนั้น ได้รับสืบทอดมา มากน้อยแค่ไหน ( ทั้งในลักษณะที่มองเห็นได้ หรือจากการอ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ )

เราจะไม่พูดกันลงลึกถึงรายละเอียดการทำงานของกระบวนการทางชีวพันธุกรรม ที่ลึกซึ้งเกินกว่าสติปัญญาชาวบ้านของผู้เล่าเรื่องนี้
แต่จะบอกเล่าสู่กันฟัง พอเป็นสังเขปเท่าที่ตัวเองพอจะเข้าใจได้ ในระดับที่จะสามารถนำมาวิเคราะห์การวางแผนการผสมพันธุ์
เพื่อให้การสืบทอดลักษณะทางพันธุกรรม ( จากการผสมพันธุ์ครั้งนี้ ) มีความเสี่ยงต่อโรคต่างๆน้อยที่สุด

ในแง่ของนักวิจัย ความสามารถในการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม หรือ Heritability
ก็คือ ค่าประเมินความแปรผันของลักษณะทางพันธุกรรม ( phenotypic variation ) ในกลุ่มเป้าหมายการวิจัย
ที่เป็นต้นกำเนิดของพันธุกรรม ( genetic origin ) นั้นๆ  

หมายถึง ค่าความแปรผันที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันเกิดจากหน่วยพันธุกรรม ( Genes ) ไม่ใช่จาก โรค 

ยกตัวอย่างเช่น ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรมของโรค Hip Dysplasia ของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด
ใน ช่วงปี 1980 อยู่ที่ประมาณ 0.25  หรือ 25 % ( ตัวเลขสมมติ ) ก็หมายความว่า 25 % ของลักษณะทางพันธุกรรมที่แปรผันไปจากปกติ ( phenotypic variance )
หรือ การแสดงอาการของ Hip Dysplasia นั้น เกิดจาก ( การทำงานที่ผิดปกติของ ) หน่วยพันธุกรรม ( Genes )  

คราวนี้ มาพูดถึงประเด็น เรื่อง การพัฒนาการของโรค ( Development of Hip Dysplasia ) กันบ้าง
ไม่ใช่แค่ มีอาการของโรค เท่านั้นแต่หมายถึง อาการที่พัฒนารุนแรงขึ้น ในลักษณะต่างๆกัน
พัฒนาการของโรค Hip Dysplasia นี้ ว่ากันว่า 70 %  ได้รับอิทธิพลจาก หน่วยพันธุกรรม ( Genes )

ส่วน พัฒนาการของโรค Hip Dysplasia อีก 30 % อันหมายความรวมถึง ความรุนแรงของอาการที่เพิ่มขึ้น , อายุขัยที่โรคแสดงอาการให้ปรากฏ และ
ร่องรอยเฉพาะโรค ต่างๆ เช่น กระดูกงอก , กระดูกเสื่อม , ข้อต่อกระดูกหลวม  ฯลฯ ได้รับอิทธิพลจากสภาพแวดล้อมร่วมด้วย
ตัวอย่างที่พบบ่อย เช่น การให้กินอาหารมากเกินไป ( เมื่อเทียบกับน้ำหนักตัว )  

ความจริง เรื่องของสภาพแวดล้อม นั้น ไม่ได้ทำให้เกิดผลกระทบ
ที่เกี่ยวข้อง โดยตรงต่อ หน่วยพันธุกรรมที่ถ่ายทอดโรค ( genotype of the disorder ) แต่อย่างใด
แต่จะมีส่วนค่อนข้างมาก ในช่วงพัฒนาการของโรค ดังกล่าวมาแล้วข้างบน

สรุปได้ว่า ในการเก็บรวบรวมข้อมูล หรือหลักฐานการตรวจสภาพของร่างกาย
เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการ วางแผนการผสมพันธุ์ เพื่อพัฒนาสายพันธุ์นั้น
สภาพแวดล้อม ย่อมมีส่วนเกี่ยวข้องที่สำคัญมากในระดับหนึ่งเหมือนกัน
แม้ว่า จะไม่มีอิทธิพลต่อการเปลี่ยนแปลงหน่วยพันธุกรรม ที่ทำให้เกิดโรคโดยตรงก็ตาม

เราจะรู้ ความแปรผันของลักษณะพันธุกรรม ( phenotypic variance ) ของโรคข้อตะโพกวิการ ได้
โดยการประเมินจาก ผลการเอ็กซเรย์กระดูกตะโพก ของสุนัขจำนวนมาก
ที่เลี้ยงดูอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกัน ( เช่น ให้อาหารชนิดเดียวกัน และสัดส่วนปริมาณอาหารต่อน้ำหนักตัวสุนัขเท่ากัน เป็นต้น )

การประเมินค่าความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ( Heritability ) นี้ มีประโยชน์มาก
เพราะทำให้เราสามารถคาดการณ์ล่วงหน้า ( อย่างค่อนข้างน่าเชื่อถือได้ ) ถึงลักษณะของรุ่นลูกหลานที่จะสืบสายพันธุ์ต่อไป
เมื่อคัดเลือกลักษณะทางพันธุกรรมเฉพาะเจาะจง ( certain phenotype ) ที่เหมาะสมที่สุด สำหรับนำเข้ามาจับคู่ผสมพันธุ์ให้ได้ผลตามต้องการ

การประเมินค่า ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ของลักษณะที่เจาะจงโดยเฉพาะนั้น
เราจะต้องใช้ข้อมูลพื้นฐาน จากสุนัขที่มีลักษณะตรงตามที่กำหนดไว้
ให้ได้จำนวนมากที่สุด จากช่วงระยะเวลาที่กำหนด และ
อยู่ในสภาวะแวดล้อมที่ใกล้เคียงกันมากที่สุด
ในการนำมาประกอบการพิจารณาวางแผนการผสมพันธุ์   

ในกรณีของโรค ข้อตะโพกวิการ หรือ Hip Dysplasia เราจะสามารถคาดหวังผลที่จะออกมาได้ค่อนข้างถูกต้อง
โดย วางแผนการผสมพันธุ์ แบบข้ามสาย ( outcross ) ให้มากขึ้น
โดยคัดเลือกคู่ผสมที่มีประวัติ ลักษณะข้อตะโพกที่ดีที่สุดมาผสมเท่านั้น
เพื่อยกระดับคุณภาพของสายของเราให้ดีขึ้นเรื่อยๆ

เปรียบ เหมือนการคัดเลือกนักดนตรีฝีมือดีๆเข้ามาเสริมในวง ยิ่งได้นักดนตรีที่มีฝีมือเข้ามามากเท่าไหร่ พวกที่ฝีมือด้อยๆก็จะถูกคัดออกไปมากเท่านั้น และแน่นอน ย่อมยิ่งทำให้วงดนตรีของเรามีคุณภาพดีขึ้นเรื่อยๆ

ที่สำคัญ ระบบ หรือ วิธีการ ตรวจสอบ และวินิจฉัย ลักษณะอาการ และ ระดับความรุนแรงของโรค
ที่ให้ผลที่ ละเอียด และ ถูกต้องใกล้เคียงความเป็นจริงที่สุด
จะทำให้ผลการประเมิน ความสามารถในการถ่ายทอดทางพันธุกรรม ถูกต้องแม่นยำ
สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสายพันธุ์ได้มากที่สุด

ผู้เขียน : คุณวิภาดา

แหล่งที่มาข้อมูล : http://www.thaigsdclub.org/gsdboard/index.php?topic=474.0