โครงสร้างส่วนหลัง (Hindquarters)

   โครงสร้างส่วนหลังของสุนัขประกอบด้วยกระดูกเชิงกราน (pelvis) ตะโพก, ขาหลัง และหาง โครงสร้างส่วนหลังจัดเป็นบริเวณที่ให้พละกำลังส่วนใหญ่ของร่างกายที่สุนัขต้องใช้ในการเคลื่อนที่ ย่างก้าว และยังเป็นส่วนที่คอยรับแรงกดจากโครงสร้างอื่น ๆ ของร่างกายอีกด้วย หากโครงสร้างส่วนหลังนี้อ่อนแอ จะมีผลอย่างมากต่อความสามารถในการเคลื่อนที่ของสุนัขซึ่งเราสามารถสังเกต ได้ถึงความอ่อนแอของโครงสร้างนั้นได้ (ดูรูปที่ 1)


รูปที่ 1

กระดูกเชิงกราน (The pelvis)

   เชิงกรานเป็นโครงสร้างที่ซับซ้อนประกอบด้วยกระดูกหลายชิ้น เป็นส่วนที่รวบรวมพละกำลังที่ส่งจากขาหลัง และส่งผ่านไปข้างหน้าตามแนวของกระดูกสันหลัง ในจังหวะแรกของการย่างก้าวของสุนัข อุ้งเท้าของสุนัขจะอยู่ที่ตำแหน่งใต้ข้อตะโพก (hip joint) เมื่อขาเหยียดตรงแรงจะถูกส่งผ่านขาขึ้นมาเป็นแนวตรง จังหวะสุดท้ายของการก้าวเดินถึงเมื่ออุ้งเท้าถูกยกขึ้นในสภาพ follow through พละกำลังจะถูกส่งผ่านทำมุม 45 องศาไปข้างหน้า ตามแนวเหยียดตรงของขา ดังรูปที่ 2 พละกำลังที่ส่งขึ้นมาจากขาจะส่งผ่านข้อตะโพกไปยังเชิงกรานซึ่งจะรวบรวมพลังเหล่านี้ และส่งไปยังข้อต่อระหว่างกระดูกสันหลังเหนือก้นกบ (sacrum) กับกระดูกสันหลังส่วนเอว (lumbar) ท่อนสุดท้าย (ท่อนที่ 7) จากนั้นจะผ่านเป็นแนวตรงไปตามกระดูกสันหลังขนานไปกับพื้น การวางตัวของกระดูกเชิงกรานในมุมที่ถูกต้องจะมีผลทำให้การส่งผ่านพละกำลังไปตามแนวสันหลังเป็นไปอย่างราบรื่น ลักษณะดังกล่าวนี้พบได้ในสัตว์จำพวกสุนัขทุกชนิดรวมทั้งสัตว์นักล่าขนาดใหญ่ด้วย


รูปที่ 2

   ในสัตว์เลี้ยงในบ้านทั่วไปโดยเฉพาะสุนัขสายสวยงาม (ผสมพันธุ์เพื่อการประกวด) มักมีมุมลาดของเชิงกรานผิดไป เพราะร่างกายไม่ได้ถูกใช้งานในลักษณะตามธรรมชาติดั้งเดิมมานานหลายชั่วอายุแล้ว ผู้เขียนมีวิธีวัดมุมของเชิงกรานได้โดยการลากเส้นผ่านแนวสูงสุดด้านบนของเชิงกรานมากกว่าที่จะลากเส้นทะลุเชิงกราน วิธีแรกให้ผลที่น่าเชื่อถือมากกว่าและสามารถมองเห็นมุมได้ชัดเจนกว่า ดังรูปที่ 3 รูปนี้เป็นรูปเชิงกรานของสุนัขที่ยืนอยู่ในท่าปกติขาตรง (four-square) เชิงกรานจะทำมุม 30-35 องศา จากแนวขนานกับพื้นหรือขนานกับแนวกระดูกสันหลัง การวัดอีกวิธีหนึ่งโดยการลากเส้นผ่านกึ่งกลางของสันตะโพก (ilial crest) หรือปุ่มข้อสะโพก และผ่านกระดูกก้นกบ (ischial tuberosity) หรือปุ่มของกระดูกที่ก้น (buttock) ซึ่งมุมที่ได้คือประมาณ 20-25 องศา ในกรณีที่สุนัขยืนในท่าประกวด (Show-post) อาจจะมองเห็นมุมดังกล่าวชันขึ้น


รูปที่ 3

   เชิงกรานที่มีลักษณะแบนราบมากๆ ทำให้พลังส่งจากขาหลัง ต้องสูญเปล่าไปบางส่วน โดยกระจายออกไปยังส่วนบนของโพรงกระดูกเชิงกราน บริเวณที่รองรับหัวกระดูกขาท่อนบน (acetabulum) ดังรูปที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับเชิงกรานที่มีมุมชันมากเกินไป (steep) ที่มักพบได้ในสุนัขทั่วไปนั้น พลังส่งจะผ่านขึ้นไปยังข้อต่อของกระดูกสันหลังท้าย (Sacral joints) แทนที่จะส่งผ่านไปทางด้านหน้า (ดูรูปที่ 5) สุนัขที่มีโครงสร้างของเชิงกรานทั้งสองลักษณะจะมีช่วงก้าวเท้าหลังสั้น เนื่องจากเชิงกรานที่แบนราบจะส่งผ่านแรงไปทางด้านหน้าได้ยาก ส่วนเชิงกรานที่มีมุมชันจะทำให้สุนัขไม่สามารถก้าวย่างต่อเนื่อง (follow-through) ได้อย่างราบรื่นเป็นระยะทางไกล


รูปที่ 4


รูปที่ 5

   สุนัขสายประกวดทั้งในเยอรมันและอเมริกามักจะมีมุมเชิงกรานชัน เนื่องจากในการประกวดมีการพิจารณาการย่างก้าวทางด้านข้าง (sidegait) สุนัขที่สามารถย่างก้าวทางด้านข้างได้ดีจะมีลำตัวยาว ถ้าโครงสร้างของเชิงกรานมีมุมชันก็จะทำให้มองเห็นลำตัวสั้นลง สุนัขสายพันธุ์อเมริกันจะมีส่วนสันหลัง (spine) ที่ยาว และทำมุมชันมากลงมาที่บริเวณข้อต่อกระดูกก้น (sacrum) ดังรูปที่ 6 ส่วนสุนัขสายพันธุ์เยอรมันที่มีมุมเชิงกรานชันมากจะทำให้สันหลัง (spine) โค้งลาดลงมาเกินไป ตั้งแต่บริเวณกลางหลัง ดังรูปที่ 7 มีสุนัขจำนวนน้อยเท่านั้นที่โครงสร้างเชิงกรานแบนราบโดยที่สันหลัง (spine) ยังคงลาดโค้งตามลักษณะเดิม


รูปที่ 6


รูปที่ 7

   เชิงกรานที่มีมุมถูกต้องจะมีผลให้การเคลื่อนไหวมีประสิทธิภาพและมีพลัง แต่จะต้องมีจุดเริ่มต้นของมุมที่ถูกต้องด้วย มุมของเชิงกรานโดยปกติจะเริ่มที่บริเวณข้อต่อของกระดูกเหนือก้นกบ (sacrum) ไม่ใช่ส่วนกระดูกสันหลังเหนือขึ้นไป เนื่องจากสันหลังไม่สามารถรับแรงส่งได้มากถ้าอยู่ในลักษณะโค้ง และยิ่งถ้ามีความโค้งมากจะถือว่ามีความผิดปกติมาก

   ความกว้างของเชิงกรานก็มีความสำคัญมากเช่นกัน สำหรับเป็นที่ยึดเกาะของกล้ามเนื้อส่วนเอวและตะโพก นอกจากนี้ สุนัขตัวเมียที่มีเชิงกรานที่กว้างจะไม่มีปัญหาในการคลอดลูก ลักษณะเชิงกรานที่แคบมักพบในสุนัขที่ผสมพันธุ์เพื่อได้คุณสมบัติของการย่างก้าวทางด้านข้าง (sidegait) แต่จะไม่ค่อยมีพลังเมื่อเทียบกับสุนัขที่มีเชิงกรานกว้างกว่า (ดูรูปที่ 8)


รูปที่ 8

ส่วนตะโพก (The croup)

   สะโพกหรือที่เราเรียกกัน (ในวงการเช็พเพอด) ว่า ”กรุ๊ป” ประกอบด้วยกระดูกสันหลังส่วนท้ายเหนือก้นกบ (sacrum) และกระดูกสันหลังส่วนหาง 2-3 ชิ้นแรก ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าสะโพกของสุนัขนั้นยาวเท่าใด (ดูรูปที่ 9) กระดูกสันหลังส่วนท้าย (sacrum) นี้อยู่ด้านบนเหมือนหลังคาของเชิงกราน


รูปที่ 9

   ความลาดของกรุ๊ปมาจากความลาดของเชิงกรานนั่นเอง แต่ไม่ใช่ทุกกรณีไป ส่วนมากแล้วสุนัขที่เชิงกรานชันมาก ๆ มักจะมีกรุ๊ปชันมากด้วย ในบางกรณีพบว่า เชิงกรานที่ลาดชันและนั้นมีส่วนโคนหางสูงทำให้กรุ๊ปไม่ชัน แต่กลับแบนและสั้นได้

   เชิงกรานที่แบนราบทำให้กรุ๊ปแบนราบเช่นกัน แต่กรุ๊ปจะยาวหรือสั้นขึ้นกับลักษณะและที่ตั้งของหาง แม้ว่ามุมของเชิงกรานจะถูกต้องกรุ๊ปก็อาจยาวหรือสั้นก็ได้เช่นกัน ความจริงแล้วกรุ๊ปมีผลน้อยหรือแทบไม่มีผลเลยต่อการย่างก้าวเดิน กล้ามเนื้อบริเวณกรุ๊ปช่วยในการส่งผ่านพละกำลังไปตามแนวสันหลัง โดยทำหน้าที่เหมือน stabilizer นอกจากนี้ความยาวของกรุ๊ปก็ไม่มีผลต่อขนาดก้าวแต่อย่างใด                                                                                                                   

   องศาความลาดเอียงของเชิงกรานมีผลกระทบอย่างมากต่อการเคลื่อนไหวของสุนัข รวมถึงข้อกำหนดที่ว่ากรุ๊ปต้องยาวและลาดลงตลอดจนหางที่ต้องห้อยต่ำเหล่านี้ล้วนเกี่ยวกับความสวยงามมากกว่าความเหมาะสมคล่องตัว แม้สุนัขที่มีกรุ๊ปยาวมากมีแนวโน้มว่าจะก่อปัญหาได้ แต่ก็เป็นที่ต้องการมากในวงการสุนัขประกวดสวยงาม ซึ่งสุนัขที่กรุ๊ปยาวมักจะมาจากสายที่ไม่ก้าวร้าว เช่นเดียวกับหางที่ยาวและห้อยต่ำ สุนัขที่จิตประสาทมั่นคงแข็งแกร่ง, มีความเป็นผู้นำสูง, แรงขับสูงมักจะยกหางขึ้นสูงเมื่อตื่นตัวและมักจะมีกรุ๊ปสั้น

ส่วนหาง (The tail)

   ส่วนหางไม่มีผลต่อการเคลื่อนที่ของสุนัข แต่ในความเป็นจริงแล้ว การที่เห็นหางที่แกว่งไปมาในระดับเส้นหลังย่อมน่าดูกว่าการที่มองเห็นหางยกชี้ขึ้นสูง หางไม่มีบทบาทมากนักต่อการเคลื่อนไหวของส่วนท้าย

   เป็นความจริงที่ว่าสุนัขที่มีหางยาวและได้เสียหางไป อาจจะมีปัญหาในการปรับความสมดุลของร่างกาย แต่ในสุนัขที่มีโครงสร้างของร่างกายสมบูรณ์ และไม่มีหางตั้งแต่เกิดก็ไม่พบว่ามีปัญหาการรักษาสมดุลของร่างกายหรือปัญหาในการเดินเลย

   เราต้องการสุนัขที่มีหางสวยงามยาว ขนแน่นเต็มเป็นพวงทอดยาวลงมาผ่านข้อขาหลัง (hock) และโค้งขึ้นนิดหน่อยไม่มีการบิด, หงิก หรืองอซึ่งเป็นข้อด้อยด้านความสวยงามมากกว่าโครงสร้าง (ดูรูปที่ 10)


รูปที่ 10

   ตราบใดที่หางห้อยลงในลักษณะปกติเมื่อ สุนัขยืนนิ่ง ก็ถือว่าเป็นลักษณะพื้นฐานที่ถูกต้อง เมื่อมีการเคลื่อนไหว ส่วนหางจะแสดงถึงภาวะอารมณ์ของสุนัขในขณะนั้น สุนัขที่แข็งแรงและเป็นผู้นำมักจะยกหางขึ้นสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุนัขตัวผู้ที่อยู่ในกลุ่มของสุนัขตัวผู้ด้วยกัน

   ในสุนัขสายใช้งานมักจะมีหางยกสูง ลักษณะหางที่ยกสูง กับการยกหางขึ้นสูง นั้นไม่เหมือนกัน สุนัขที่แข็งแรงและมีลักษณะหางถูกต้องตามปกติ สามารถยกหางได้สูงทำมุมใกล้เคียงกับ 45 องศา จากพื้นราบ (ดูรูปที่ 11) แต่ถ้าพบการยกหางที่สูงกว่านั้น อาจเป็นความผิดปกติที่หางได้ ดังนั้นการคัดเลือกแต่เฉพาะสุนัขที่หางห้อยตกในระดับต่ำมาก อาจจะมีปัญหาด้านอารมณ์ได้ (เช่น ขี้ระแวง, ตื่นกลัวง่าย) ลักษณะของหางที่ส่วนโคนหางต่อเนื่องเป็นแนวเดียวกับกรุ๊ปจะสวยงามน่าดูกว่าส่วนหางที่ดูเหมือนกับงอกออกมาจากกรุ๊ปเลย มีข้อบ่งชี้ที่แสดงว่า สุนัขที่มีหางห้อยต่ำมากๆ จนแนบไปกับก้นมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคแผลชอนทะลุรอบรูทวาร (pevianal fistula) ได้มาก


รูปที่ 11

ขาหลังส่วนบนและขาหลังส่วนล่าง (The upper and lower thighs)

   ความสัมพันธ์ของขาหลังส่วนบนและขาหลังส่วนล่างที่ยึดเกาะกันทำมุม (stifle) ที่เหมาะสมนั้นเป็นจุดสร้างพลังที่ใช้ในการเคลื่อนไหวของสุนัข มุมระหว่างกระดูกขาหลังส่วนบน (femur) และกระดูกขาหลังส่วนล่าง (tibia/fibula) จะมีลักษณะเช่นเดียวกับมุมที่อยู่ระหว่างกระดูกขาหน้าท่อนบน (humerus) และกระดูกหัวไหล่หรือสะบัก (scapula) ซึ่งสร้างความสมดุลในการเคลื่อนไหวที่ราบเรียบ, มั่นคงและมีพลัง (ดูรูปที่ 12)


รูปที่ 12

   มุมของส่วนท้ายนี้มักจะเป็นที่มาของความขัดแย้งและก่อให้เกิดความสับสน เช่นเดียวกับส่วนหน้า, เป็นลักษณะทางกายภาพอย่างหนึ่งที่ใช้แยกประเภทของสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด มุมระหว่างกระดูกขาหลังส่วนบน (femur) กับกระดูกขาหลังส่วนล่าง (Tibia/Fibula) ไม่จำเป็นต้องเป็น 90 องศาเสมอไป เมื่อสุนัขเคลื่อนไหวศูนย์กลางของแรงโน้มถ่วงจะต่ำลงและลำตัวจะลดระดับต่ำลงเล็กน้อย ซึ่งทำให้มุมดังกล่าวมีขนาดใกล้เคียง 90 องศา เมื่ออยู่ในท่าที่รองรับน้ำหนัก ที่จริงแล้วโครงสร้างส่วนท้ายนี้ไม่ได้รับน้ำหนักส่วนใหญ่ของสุนัข ดังนั้นจึงเป็นไปได้ที่บางครั้งมุมดังกล่าวสามารถมีองศากว้างขึ้นได้

   การวัดมุมสามารถทำได้เมื่อจัดให้สุนัขยืนในท่าปกติขาตรง (four square) กล่าวคือ เท้าหลังทั้งสองข้างจะอยู่ในแนวตรงดิ่งลงมาจากข้อตะโพก สัตว์ที่มีมุมของข้อต่อถูกต้อง ข้อต่อ hock จะอยู่ในแนวเส้นดิ่งลงมาจากกระดูกก้น (ischial tuberosity) เช่นเดียวกับม้า อย่างไรก็ตามเพราะไม่เหมือนม้า,  กระดูกส่วนแข้งหลัง (metatarsus) หรือที่เราเรียกว่า hock จะเอียงไปข้างหน้าขนานกับแนวกระดูกขาหลังท่อนบน (femur) กล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า เมื่อสุนัขอยู่ในท่า four square ข้อต่อ hock จะไม่อยู่ในแนวดิ่ง โครงสร้างที่มีความขนานกันของเหลี่ยมมุมต่างๆเหล่านี้รวมกับลักษณะของกระดูกแข้งหลัง (metatarsus) ที่สั้น จะพบได้ในสัตว์จำพวกสุนัขทุกชนิดยกเว้นสุนัขป่าขายาว (long-legged maned wolf)

   สัตว์ที่เป็นนักล่าจะสามารถเดินทางได้เป็นระยะทางไกล ๆ ด้วยความเร็วพอสมควร และยังคงสามารถเร่งความเร็วสูงสุดได้ในช่วงสั้นเมื่อเข้าจู่โจมเหยื่อ โครงสร้างทางกายภาพของสัตว์ที่เป็นผู้ล่าจะต่างจากสัตว์ที่เป็นเหยื่อซึ่งได้แก่ กวาง, antelope หรือม้า ซึ่งพวกนี้จะมีช่วงขาที่ยาวและสามารถวิ่งด้วยความเร็วสูงเป็นระยะทางไกล ๆ ได้

   กระดูกขาหลังท่อนบน (femur) ควรจะขนานกับกระดูกหัวไหล่หรือสะบัก ( scapula ) ส่วนกระดูกขาหลังท่อนล่าง (tibia/fibula) จะขนานไปกับกระดูกขาหน้าท่อนบน (humerus) กระดูกขาหลังทั้งสองส่วนควรยาวเท่ากันและเท่ากับความยาวของกระดูกขาหน้าท่อนบน (humerus) เพราะกระดูกเหล่านี้มีความสำคัญมาก เป็นเสมือนคันโยกที่ทำให้เกิดความเร็วในการเคลื่อนที่ กระดูกที่ยาวเท่ากัน จะทำให้เกิดแรงขับเคลื่อนมากที่สุด โดยใช้พลังงานน้อยที่สุด สัตว์จำพวกกวางและ antelope จะมีกระดูกขาหลังท่อนล่างยาวกว่าท่อนบนมาก ทำให้สามารถเพิ่มความเร็วในการวิ่งหรือการกระโดดได้ตามต้องการ  และการทำเช่นนี้ต้องใช้พลังงานของร่างกายมากด้วย ดังนั้นในสภาพปกติสัตว์เหล่านี้จะมีการเคลื่อนที่อย่างช้าๆ เพื่อเก็บพลังงานส่วนใหญ่ไว้ใช้ในการหนีศัตรู

   สุนัขป่าและสุนัขเยอรมันเช็พเพอดเป็นพวกวิ่งเรียบหรือวิ่งเหยาะ (trotter) ได้ระยะทางไกล ๆ ซึ่งไม่ต้องใช้พลังงานมากนักในการหาอาหาร (หรือต้อนแกะ) ดังนั้นจึงมีกระดูกขาที่ยาวเท่ากันดังกล่าวแล้ว

   จากคุณสมบัติดังกล่าวพบว่า โครงสร้างของกระดูกขาหลังท่อนบนและท่อนล่างควรจะทำมุมกัน 95 องศา ที่หัวไหล่ก็เช่นเดียวกัน ตามมาตรฐานกำหนดว่ามุมควรจะเป็น 120 องศา ซึ่งน่าจะหมายถึงมุมของข้อเข่า (stifle) เมื่อดึงขามาทางด้านหลังในท่าของการยืนโชว์ (show post) ดังแสดงในรูปที่ 13 อย่างไรก็ตามวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องในการวัดมุมของข้อเข่า (stifle) เพราะสุนัขส่วนมากที่ได้รับการฝึกให้ยืนได้อย่างสบายในท่า show post นี้ จะมีส่วนท้ายที่ต่ำลงและขาหลังจะย่อลงกว่าปกติซึ่งไปมีผลเพิ่มมุมของข้อต่อแข้งหลัง (hock) และเปลี่ยนแปลงแนวขนานระหว่างข้อต่อแข้งหลัง (hock) กับกระดูกขาหลังส่วนบน (ดูรูปที่ 13)


รูปที่ 13

   ผู้จูงสุนัขที่ชำนาญจะสามารถจัดท่าทางของสุนัข ให้มองดูเหมือนมีมุมของโครงสร้างส่วนต่างๆดีกว่าที่เป็นจริง ดังนั้นการที่จะวัดมุมของกระดูกหรือข้อต่อต่างๆ ของสุนัขจึงควรทำในขณะที่สุนัขยืนอยู่ในท่าที่เป็นธรรมชาติไม่ต้องจัดท่า (ขาหลังทั้ง 2 ข้างตรงกัน) จะทำให้มองเห็นการจัดวางตัวของกระดูกได้อย่างง่ายและชัดเจน

   กระดูกจะทำหน้าที่เหมือนคานงัดคานดีดในขณะกล้ามเนื้อให้พลังในการขับเคลื่อน สัตว์ที่มีลักษณะของโครงสร้างไม่เป็นมุมเหมือนกับสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอด อาจจะไม่สามารถวิ่งเรียบด้วยก้าวย่างที่ยาวได้เนื้อที่และดูสวยงามในสนามประกวด แต่ก็ไม่ได้แปลว่าสัตว์นั้นไม่มีพละกำลัง

   สุนัขที่มีการคัดเลือกมาเพื่อเป็นสุนัขสายใช้งานนั้นอาจจะมีการย่างก้าวที่ไม่สวยงามยามวิ่งเรียบ (Trot) แต่ก็สามารถใช้ทำงานได้อย่างดีเยี่ยม และมีพลังแรงมากในการวิ่งควบตลอดจนการกระโดดเพราะกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่แรง ย่อมทำให้เกิดพละกำลังและความเร็วได้แม้ว่าสภาพโครงสร้างอาจจะไม่สมดุลเลย เช่นสุนัขในตระกูลไฮยีน่า (hyena) ซึ่งมีความสามารถในการวิ่งได้เร็วและล่าเหยื่อเพื่อการดำรงชีพได้ เป็นตัวอย่างหนึ่งของการชดเชยระบบโครงสร้างที่ไม่ดีด้วยระบบของกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่แข็งแรง

   มุมของโครงสร้างกระดูกและข้อต่อแตกต่างกันไปโดยขึ้นกับขนาดของสุนัขด้วย พบว่าสุนัขป่าขนาดใหญ่จะมีมุมน้อยกว่าสุนัขจิ้งจอกขนาดเล็ก (ดูรูปที่ 14 และ 15)


รูปที่ 14


รูปที่ 15

   สุนัขที่มีน้ำหนักตัวน้อยจะมีความยืดหยุ่นของมุมต่างๆมากกว่าเมื่อต้องรับน้ำหนักของโครงสร้างเวลาเคลื่อนไหว สุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดมีโครงสร้างเป็นมุมมาก, จะไม่มีปัญหาในสุนัขขนาดเล็กหรือสุนัขตัวเมีย แต่จะมีปัญหาในตัวสุนัขตัวผู้ที่มีโครงสร้างใหญ่โตและหนักโดยขาดความคล่องตัว, การเคลื่อนไหวขาดพลัง ไม่มีกล้ามเนื้อจำนวนมากพอที่จะยึดโครงสร้างเพื่อรองรับน้ำหนักตัวในขณะที่ต้องเคลื่อนไหวในมุมต่าง ๆ

   มุมของโครงสร้างที่มากเกินไปทำให้เกิดผลเสียตามมาได้ ยิ่งมุมแคบ (มุมแหลม) มาก ๆ จะทำให้สุนัขยิ่งต้องใช้พลังงานมากทั้งในการดีดตัวยกขึ้น ขณะเมื่อลุกยืนและการเคลื่อนไหวเมื่อก้าวเดิน ถ้ามุมระหว่างกระดูกขาหลังส่วนบนกับส่วนล่างแคบ (เป็นมุมแหลม) แสดงว่ากระดูกท่อนล่าง (tibia/fibula) มีความยาวมากกว่ากระดูกท่อนบน (femur) ซึ่งจะทำให้ข้อต่อ (hock) ลดระดับลงใกล้พื้นมากขึ้น และมุมระหว่างกระดูกท่อนล่าง (tibia/fibula) กับกระดูกแข้ง (metatarsus) กว้างมากขึ้น ทำให้ข้อต่อแข้งหลัง (hock) มีลักษณะโค้งคล้ายเคียว (sickle)

   เป็นไปได้ที่ว่าสุนัขที่โครงสร้างส่วนท้ายมีมุมค่อนข้างแคบ (เป็นมุมแหลมมากกว่า) จะย่างก้าวได้เนื้อที่และสวยงามน่าดูโดยไม่ต้องใช้แรงมาก แต่ทั้งนี้ต้องมีกระดูกขาหลังบนและล่างยาวเท่ากัน, มีกล้ามเนื้อที่มีพละกำลังและเส้นเอ็นที่แข็งแรงรวมไปถึงขนาดร่างกายที่ได้มาตรฐานด้วย เพราะถ้าปราศจากลักษณะดังกล่าวนั้นสุนัขจะสามารถทำได้เพียงวิ่งเรียบได้สวยเท่านั้น แต่การวิ่งควบ, การกระโดด หรือการวิ่งลัดเลี้ยวอย่างรวดเร็วจะดูไม่มีพลังเท่าที่ควร

   การวิ่งเรียบหรือวิ่งเหยาะ (trot) นี้ เป็นท่าเคลื่อนไหวที่ไม่ต้องใช้พลังงานมาก จึงไม่ควรเหยียดส่วนหน้าหรือส่วนท้ายออกมากเกินไป เพราะจะทำให้สูญเสียพลังงานที่จะต้องใช้เมื่อจำเป็น เช่นในการวิ่งควบอย่างเร็ว ซึ่งต้องเหยียดส่วนหน้าและส่วนท้ายจนสุด

   รูปที่ 16 แสดงให้เห็นถึงระดับของมุมในโครงสร้างส่วนท้ายของสุนัขทั้งในท่าที่ยืนตามธรรมชาติและท่าที่ยืนประกวด (pose)

  • สุนัข A มีส่วนท้ายที่ไม่ดีจะมีช่วงก้าวย่างสั้นและจะเดินเหมือนมีไม้ต่อขา (stilted)
  • สุนัข B มีส่วนท้ายมีคุณสมบัติเป็นสุนัขใช้งานได้ ถึงแม้ว่าจะมีการก้าวย่างในการวิ่งเรียบไม่ได้เนื้อที่ (roomy trot)
  • สุนัข C จัดว่ามีลักษณะมุมของส่วนท้ายที่สมบูรณ์แบบพอที่จะทำให้เคลื่อนไหวได้สวยงามแต่ไม่มีพลังมากนัก
  • สุนัข D มีมุมมากไปนิดแต่ยังพอใช้ได้ สุนัขลักษณะนี้จะมีก้าวย่างในการวิ่งเรียบที่สวยงามแต่ไม่มีพละกำลังพอในช่วงกระโดดหรือการวิ่งควบ (gallop) สุนัข D นี้หากนำไปผสมกับสุนัข B ก็จะสามารถให้ลูกที่มีลักษณะดีได้
  • สุนัข E เป็นสุนัขที่มีมุมมากเกินไปทำให้ข้อต่อแข้งหลัง (hock) มีลักษณะเป็นเคียว (sickle hock) การเคลื่อนไหวไม่ถูกต้องกลมกลืน การวิ่งลดเลี้ยวไม่คล่องตัว


รูปที่ 16

ข้อต่อแข้งหลัง (hock) และเท้า (The hock and foot)

   เมื่อขาหลังของสุนัขด้านใดด้านหนึ่งถูกดึงไปทางด้านหลัง เช่น ในกรณีของการดึงขาหลังซ้ายมาทางด้านหลัง เพื่อจัดให้สุนัขยืนอยู่ในท่าประกวด (pose) ข้อต่อ (hock) ควรจะอยู่ในแนวดิ่งและไม่ว่าสุนัขจะยืนอยู่ในท่าใดก็ตาม แข้งหลัง (hock) ควรจะขนานกับกระดูกขาหลังส่วนบน (femur) โดยที่มุมของข้อต่อแข้งหลัง (hock) กับข้อเข่า (stifle) จะเท่ากัน

   สุนัขพันธุ์เชา-เชาแข้งหลัง (hock) อยู่ในแนวตรงเมื่อเทียบกับข้อเข่า (stifle) ทำให้สุนัขพันธุ์นี้มีช่วงก้าวขาที่สั้น วิ่งได้ไม่เร็วและกระโดดไม่สูง สุนัขเยอรมันเช็พเพอดสายประกวดที่มีข้อต่อแข้งหลัง (hock) เป็นรูปเคียว (sickle hock) แนวแข้งหลังจะเอียงทำมุมมากกว่ากระดูกขาหลังท่อนบน (femur) (ดูรูปที่ 16 สุนัข E) และจะไม่สามารถวิ่งเรียบได้อย่างถูกต้อง

   ข้อต่อแข้งหลัง (hock) ที่มีลักษณะเป็นรูปโค้ง (sickle hock) อย่างมากนั้นจะมีกระดูกข้อเท้า (metatarsus) เกือบจะราบไปกับพื้นเช่นเดียวกับกระดูกฝ่าเท้าของหมี ซึ่งเป็นลักษณะที่ถือเป็นข้อผิดอย่างมาก

   ข้อต่อแข้งหลัง (hock) เป็นข้อต่อที่ค่อนข้างเปราะบาง มีกล้ามเนื้อเกาะเกี่ยวอยู่น้อยมาก ความแข็งแรงของส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับความตึงแน่นและแข็งแรงของเส้นเอ็นต่าง ๆ (ligament และ tendon) บริเวณนั้น ข้อต่อแข้งหลัง (hock) ที่โค้งมาก (sickle hock) มักจะมีเอ็นร้อยหวายหรือเอ็นข้อเท้า (Achilles) ที่ยาวหย่อนเกินไปทำให้กระดูกแข้งหลัง (hock) ไม่สามารถเหยียดตรงเพื่อถีบตัวไปข้างหน้าในการวิ่งเรียบ กรณีที่แย่มากกว่านี้, กระดูกแข้งหลัง (hock) ยกขึ้นจากพื้นในแนวดิ่ง ซึ่งแทบจะไม่มีแรงส่งเลยในลักษณะนี้ ดังรูปที่ 17


รูปที่ 17

   ข้อต่อแข้งหลัง (hock) ที่โค้ง (Sickle hock) อาจจะไม่สามารถสังเกตได้ชัดเจนเมื่อมีการวิ่งเรียบอย่างเร็ว (fast trot) เพราะขณะวิ่งแรงเหวี่ยงกลับด้านหลังจะทำให้มุมข้อต่อเปิดกว้าง มองดูหลอกตาได้ส่วนในการวิ่งควบ สุนัขที่มีข้อต่อแข้งหลัง (hock) โค้ง (sickle hock) วิ่งกระโดดกระเดกเหมือนจิงโจ้ แต่ก็ไม่สามารถกระโดดได้ ข้อต่อแข้งหลัง (hock) แบบนี้ไม่มีความมั่นคง (instability) มักมีลักษณะแข้งหลังแบบวัว (cow hock) ร่วมด้วย เมื่อย่างก้าวขาจะแกว่งไปมาในลักษณะเหมือนเครื่องตีไข่ (eggbeater movement)

   ข้อต่อแข้งหลังแบบวัว (cow hock) หมายถึงแข้งหลังที่ชี้เข้าหากัน ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ใน 2 สภาพคืออาจเนื่องมาจากช่วงขาทั้งหมดบิดออกจากตะโพกเล็กน้อย หรืออาจเนื่องมาจากการบิดของข้อต่อแข้งหลัง (hock) กับข้อเข่า (stifle)

   ในสภาพแรก (ดูรูปที่ 18) สุนัขจะยืนโดยขาหลังกางออก นิ้วเท้าและข้อเข่า (stifle) ชี้ออกด้านนอกเล็กน้อย ข้อต่อแข้งหลัง (hock) หันเข้าด้านในเล็กน้อย เป็นลักษณะที่พบบ่อยและถือว่าเป็นปกติ ทั้งนี้เนื่องจากกระดูกท่อนยาวจะวางตัวอยู่ในแนวตรงซึ่งกันและกัน เมื่อสุนัขเคลื่อนที่เท้าจะหันเข้าด้านในยังเส้นกึ่งกลางซึ่งเป็นแนวรอยเท้าเดี่ยว (single-track) ตรงไปข้างหน้า (ไม่เป็น 2 แนวรอยเท้าของเท้าซ้าย-ขวา)


รูปที่ 18

   สภาพที่สองแสดงความผิดปกติในขณะเคลื่อนไหวเนื่องมาจากมีกระดูกยาวหลายชิ้นบิดเข้าหากัน ดังรูป 19 พวกที่เดินเป็นแนวรอยเท้าเดียว (single-track) จะมีการเคลื่อนไหวแกว่งไปมาเหมือนเครื่องตีไข่ ส่วนอีกพวกหนึ่งก็มีแข้งหลังชิดกัน แต่เท้าแบะออก ส่วนมากมีการวางเท้าในท่าที่ถูกต้องในช่วงต้นของการก้าวเดิน จากนั้นเท้าจะบิดออกขณะเหยียดขาไปข้างหลัง และข้อต่อแข้งหลัง (hock) จะบิดเข้าด้านใน บางครั้งจะพบลักษณะดังกล่าวได้ในขณะที่สุนัขยืนอยู่ในท่าโชว์ (pose)


รูปที่ 19

   ข้อต่อแข้งหลังแบบวัว (cow hock) บ่งชี้ถึงความอ่อนแอในจุดที่ต้องการความแข็งแรงที่สุด ช่วงสิ้นสุดย่างก้าวแต่ละก้าวในการวิ่งเรียบ (trot) สุนัขจะถ่ายเทพลังงานขับเคลื่อนทั้งหมดผ่านจุดข้อต่อแข้งหลัง (hock joint) แต่ละข้าง ส่วนในการวิ่งควบ (gallop) ข้อต่อทั้ง 2 ข้างจะส่งผ่านแรงขับพร้อมกัน และเมื่อกระโดดก็ยิ่งต้องใช้พลังงานมากขึ้นในการยกลำตัวและเคลื่อนไปข้างหน้า ข้อต่อ (hock) จะต้องรับหน้าที่นี้ทั้งหมด ดังนั้นสุนัขที่นำมาใช้งานจะต้องเป็นสุนัขที่มีโครงสร้างของข้อต่อแข้งหลัง (hock) ที่ถูกต้อง

   อุ้งเท้าหลังที่หนาและแข็งแรงมีความสำคัญมากกว่าฝ่าเท้าหน้า เพราะพลังอันมากมายมหาศาลที่ส่งจากพื้นจะต้องส่งผ่านฝ่าเท้าขึ้นสู่ขาหลัง (ดูรูปที่ 20) อุ้งเท้าหลังจะต้องสามารถส่งผ่านพลังขับดันมาด้วยตัวเอง นิ้วเท้าที่โค้งและแข็งแรงจะยืดออกไปข้างหน้าในขณะที่เท้าจะถูกดันไปข้างหลัง จากนั้นเส้นเอ็นจะยืดออกและรวบรวมพละกำลังส่งผ่านไปยังลำตัวเมื่อยกเท้าขึ้นจากพื้นทำให้จังหวะการก้าวมั่นคงและรวดเร็ว อุ้งเท้าหลังโดยทั่วไปจะมีขนาดเล็กกว่าอุ้งเท้าหน้า ทำให้มีผิวสัมผัสกับพื้นที่วิ่งน้อยลง สามารถรวบรวมพละกำลังและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้ดี


รูปที่ 20

บทสรุป

   ถ้าปราศจากแหล่งให้พละกำลังทางส่วนท้ายของร่างกาย สุนัขจะไม่สามารถทำงานต่อเนื่องได้เป็นเวลาหลายชั่วโมง หรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพและหลบหลีกสิ่งกีดขวางได้ องค์ประกอบของส่วนท้ายที่ดีจะต้องมีความยาวของกระดูกที่พอเหมาะ มีการวางตัวของกระดูกที่สัมพันธ์กัน กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นที่แข็งแรง ข้อต่อต่าง ๆ เป็นปกติไม่มีลักษณะข้อตะโพกวิการ (hip dysphasia), OCD หรือโรคอื่น ๆ ถ้าปราศจากส่วนท้ายที่ถูกต้องและทรงพลังเสียแล้ว คุณจะได้แต่สุนัขที่สวยงามแต่ใช้งานไม่ได้ !

แปลจาก :  The Hindquarters by Linda Shaw
หนังสือ : Schutzhund USA ฉบับ Nov/Dec 2000
โดย : สมาชิก  8024 (น.อ. สุชาติ สาพิทักษ์)
ขอขอบคุณ ร.ศ.สพญ.ดร.มีนา สาริกะภูติ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

แหล่งที่มาข้อมูล : วารสารเช็พเพอด ฉบับที่ 47 (ตุลาคม 2544)

แหล่งที่มาบทความต้นฉบับและรูปภาพ : http://www.gsdinfo.co.uk/General%20Info/Hindquarters.htm

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/โครงสร้างส่วนหลัง-Hindquarters-/515254615178639