การฝึกชั้นอนุบาล ตอนที่ 1

ชื่อ

   บทเรียนบทแรกของสุนัข มักจะเป็นการทำให้มันรู้จักชื่อของตัวเอง

   ชื่อที่ดีคือชื่อที่เรียกได้ง่าย ชัดเจน และถ้าไม่ซ้ำกับคนอื่นๆ ก็จะทำให้สุนัขแยกได้ง่ายขึ้น

จุดประสงค์ เมื่อเราเรียกชื่อมันแล้ว สุนัขจะต้องสนใจ และพร้อมที่จะรับคำสั่งที่จะตามมาได้ในทันทีด้วยความยินดี

   ดังนั้นในขั้นต้นเราต้องนำการเรียกชื่อของมันเชื่อมเข้ากับแรงกระตุ้นทางบวก เช่น รางวัล การชมเชย หรืออาหาร และอย่านำชื่อของมันไปเชื่อมกับสิ่งที่เป็นลบเป็นอันขาด เช่น การลงโทษ หรือไม่เรียกชื่อของมันเมื่อมันทำผิด

การฝึก

   เรียกชื่อสุนัขเมื่อมันหิว เมื่อสุนัขมาหาและระหว่างกินอาหารนั้น เรียกชื่อของมันไปด้วย พร้อมกับชมเชย

   เรียกชื่อสุนัขเมื่อมันเห็นคุณและแสดงอาการพร้อมหรือยินดีที่จะมาหาคุณ เมื่อมันมาถึงให้การชมเชย หรือควรปลอบมัน จนกว่าที่มันจะจับความหมายได้ว่า การมาหาคุณเมื่อถูกเรียกชื่อจะได้รับความพอใจเสมอ

ข้อแนะนำ อย่าเรียกชื่อสุนัขตลอดเวลา จนมันเคยชินและไม่ตอบสนอง

   สุนัขที่เรียกแล้วไม่มาก็ไม่มีประโยชน์ เพราะไม่สามารถจะใช้การอะไรมันได้ นอกจากชื่อ อาจใช้เสียงอื่น ๆ เช่น นกหวีดเป่าสั้น ๆ และหนักแน่นก็ใช้แทนได้ดี ในกรณีต้องสั่งการจากระยะไกล

 

คำสั่ง “ ไม่ ”

วัตถุประสงค์ เพื่อให้สุนัขหยุดการกระทำ ที่กำลังทำอยู่

แผนการฝึก ทำให้สุนัขได้รับความตกใจ หรือถูกลงโทษ (โดยไม่ทราบว่าคุณเป็นผู้ทำ ) พร้อมกับได้ยินคำสั่ง “ ไม่ ” เมื่อสุนัขหยุดการกระทำนั้น ๆ แล้ว หรือตื่นตกใจจากการถูกลงโทษ เรียกสุนัขมาหาแล้วปลอบใจ

ข้อแนะนำ ไม่ควรลงมือลงโทษสุนัขด้วยตัวคุณเอง เพราะจะทำให้มันกลัวคุณ แผนที่สมบูรณ์คือ ทำให้สุนัขเข้าใจว่าการกระทำผิดของมันคือ ต้นเหตุที่ทำให้มันได้รับโทษ ไม่ใช่เพราะคุณมา มันจึงถูกลงโทษ คุณเป็นเพียงผู้ช่วยเตือนภัยที่กำลังจะเกิดจากผลการกระทำของตัวสุนัขเอง น้ำเสียงที่ใช้ได้ผลดีในคำสั่งนี้ไม่ใช่เสียงดัง แต่เป็นเสียงคล้ายเสียงคำรามในลำคอ ( เช่นการข่มขู่ของแม่สุนัขปรามลูกสุนัขของมัน ) เพราะสุนัขจะเข้าใจได้ดีกว่า

   ในกรณีของลูกสุนัข การลงโทษที่ได้ผลดีหลังจากใช้คำสั่ง “ ไม่ ” แล้วไม่ได้ผลคือ ขยุ้มหนังคอของมันอย่างรุนแรงพอสมควร หรือยกตัวให้ลอยขึ้น พร้อมกับใช้คำสั่ง “ ไม่ ”

 

คำสั่งหมอบ

   คำสั่งหมอบเป็นคำสั่งหลักคำสั่งหนึ่งที่ใช้กับสุนัข พื้นฐานทางธรรมชาติ การหมอบลงต่ำนั้นเป็นการยอมรับว่าอยู่ในฐานะทางสังคมที่ต่ำกว่า หรือยอมแพ้ ดังนั้นคุณจะพบปัญหาในการใช้คำสั่งนี้ ถ้าสุนัขไม่ยอมรับหรือไม่ยอมแพ้คุณ และกลับกัน คำสั่งนี้ก็เป็นคำสั่งที่ดีมาก และควรใช้ฝึกอย่างสม่ำเสมอในสุนัขที่มีความก้าวร้าวสูง ๆ ( เพื่อตรวจสอบว่ามันยินยอมรับ หรือยังยอมอยู่ใต้อำนาจของคุณหรือไม่ )

   การฝึกในคำสั่งนี้ ควรใช้ควบคู่กับคำสั่ง “ มา ” หรือคำสั่ง “ ไป ” เพื่อไม่สุนัขเข้าใจว่ามันจะต้องหมอบตลอดไป  ( ทำให้สุนัขรู้สึกว่าถูกกดขี่เป็นเวลานาน ) และไม่ควรจบการฝึกที่คำสั่งหมอบนี้

   จากเหตุผลข้างต้น การทำให้สุนัขยอมหมอบโดยความสมัครใจ จึงเป็นสิ่งที่ง่ายและได้ผลดีกว่าการบังคับด้วยกำลัง ดังนั้นจึงขอแนะนำวิธีการฝึกให้สุนัขหมอบโดยการใช้อาหารเป็นแรงจูงใจสำคัญ

 

การขับถ่าย

   ถ้ามีโอกาส สุนัขจะเลือกขับถ่ายในบริเวณที่มันเคยขับถ่ายมาก่อน อาศัยตามรู้สึกคุ้นเคย หรือสัมผัสกับพื้นผิวแบบนั้นและกลิ่น สุนัขจะไม่ขับถ่ายในที่นอน หรือกรงของมันถ้าไม่จำเป็น เมื่อเราทราบจิตวิทยาพื้นฐาน 2 ประการนี้แล้ว สามารถนำมาวางแผนการฝึก ดังนี้

  1. อย่าให้สุนัขได้ขับถ่ายในที่ ๆ คุณไม่ต้องการ เพราะจะเป็นการสร้างความคุ้นเคยต่อสถานที่และกลิ่นดังกล่าว ( ถ้าเกิดผิดพลาดขึ้นคุณจะต้องทำความสะอาดและกลบกลิ่นที่มันได้ขับถ่ายไว้ออกให้หมด )
  2. จะต้องเตรียมสถานที่ ที่ต้องการให้มันไปถ่าย ลักษณะสถานที่ ที่เหมาะสมหรือจะทำให้สุนัขขับถ่ายได้โดยสะดวก เช่น มันสามารถไปขับถ่ายได้ด้วยตนเอง เช่น เป็นกรงที่มีบริเวณลานวิ่ง ( สุนัขจะถ่ายบนลานวิ่งมากกว่าในกรงนอน ถ้ามันเลือกได้ ) ถ้าบ้านคุณไม่มีลานวิ่ง หรือสนาม อาจจัดเตรียมได้โดยจัดเตรียมกล่อง หรือกระบะที่มีขนาดใหญ่พอสมควรกับตัวของสุนัขและปูด้วยวัสดุที่เปลี่ยน หรือทำความสะอาดได้ง่าย เช่น ทราย ขี้เลื่อย หรือหนังสือพิมพ์ สถานที่ ที่ไม่เหมาะสมคือ หน้าบ้านของเพื่อนบ้าน
  3. เมื่อคุณได้เตรียมสถานที่เรียบร้อยแล้ว สังเกตว่าสุนัขจะถ่ายเมื่อใด ( โดยปกติลูกสุนัขมักจะขับถ่าย หลังจากตื่นนอนหรือหลังจากทานอาหารแล้ว ) คุณก็รีบนำไปยังสถานที่ ที่ได้จัดเตรียมไว้แล้วนี้ เมื่อสุนัขขับถ่ายเรียบร้อยแล้ว  คุณก็ชมเชยมัน เมื่อสุนัขคุ้นเคยกับส้วมส่วนตัวของมันแล้ว ต่อไปเมื่อจะขับถ่ายมันก็จะตรงไปยังส้วมของมันเอง

ข้อแนะนำ ในระยะแรก ๆ ควรขยายสถานที่ให้ค่อนข้างใหญ่ เพื่อทำให้เกิดความสะดวก เช่น ปูกระดาษหนังสือพิมพ์หลาย ๆ แผ่น เมื่อสุนัขคุ้นเคยดีแล้ว ก็ค่อย ๆ หดพื้นที่ลงได้

   ถ้าสุนัขถ่ายผิดที่ อย่าไปลงโทษสุนัข โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าสุนัขขับถ่ายเสร็จไปเรียบร้อยแล้ว เพราะสุนัขจะไม่เข้าใจว่าการถูกลงโทษนั้นเป็นผลที่มาจากขับถ่ายผิดที่ของมันเอง และจะทำให้มันสับสนและกลัวคุณ ควรแนะนำวิธีและสถานที่ ที่ถูกให้กับมันมากกว่า

 

แหล่งที่มาข้อมูล : เอกสารประกอบการสัมมนา " การฝึกสุนัข " หน้า 18 - 19 โดย หมอไพบูลย์

 

สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง สามารถเข้าร่วมกลุ่มฝึกสุนัข ฟรี!
ดูรายละเอียดได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/รวมกลุ่มฝึกสุนัข-สำหรับผู้ที่สนใจฝึกสุนัขด้วยตัวเอง/518611368176297

อ่านบทความใน Facebook ได้ที่ http://www.facebook.com/notes/สมาคมผู้เลี้ยงสุนัขพันธุ์เยอรมันเช็พเพอดแห่งประเทศไทย/การฝึกชั้นอนุบาล-ตอนที่-1/523990394305061